การศึกษาเพื่อ "การพัฒนาที่ยั่งยืน" (๑๐) : เส้นปกติของชีวิต (baseline of Life)


เส้นมาตรฐานที่กำลังพูดถึงนี้ ไม่เกี่ยวกับมาตรฐานการศึกษาใด ๆ ที่กำลังใช้กันอยู่ขณะนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นไปในแนวการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่มั่งคั่ง (รวย)

เส้นมาตรฐานของการศึกษาเพื่อความยั่งยืน คือ "เส้นปกติ" เส้นแห่งความเป็นปกติของมนุษย์  คำว่า "ปกติ" เป็นผล เหตุของความเป็นปกติก็คือ การปฏิบัติให้มีศีล สำหรับปุถุชนคนธรรมดา เส้นปกติก็คือ ศีล ๕  โดยเฉพาะอินทรียสังวรศีล (สติ-ระลึกห้ามเจตนา)


ชีวิตของแต่ละบุคคลธรรมดาจะขึ้น ๆ ลง ๆ  เจริญแล้วเสื่อม ๆ  เหมือนคลื่นชีวิต  ทุกท่านคงทราบและยอมรับในข้อนี้ดี จึงไม่มีอะไรจะคุยต่อ แต่เส้นปกติของสังคม เป็นสิ่งเหมาะสมที่ควรจะมาพิจารณาหาข้อยุติกัน เพื่อสร้างระบบการศึกษาที่จะนำพาคนไปสู่ความเจริญแบบยั่งยืน

ขอยกตัวอย่าง เส้นมาตรฐานการเป็นไปของสังคม ๓ เส้น ได้แก่

  • "เส้นปกติ" คือ คนส่วนใหญ่ในสังคม มีศีล ๕ เป็นปกติ มีความละอายและเกรงกลัวต่อการประพฤติผิดต่อศีล ๕  
  • "เส้นเจริญ" คือ คนส่วนใหญ่ในสังคม นอกจากมีศีล ๕ เป็นปกติ แล้วยังปฏิบัติธรรม เจริญสติ ภาวนา พัฒนา ชำระจิตใจให้ผ่องใส  เส้นนี้จะนำคนไปสู่การบรรลุธรรม มีปัญญารู้แจ้ง 
  • "เส้นเสื่อม" คือ เส้นที่คนส่วนใหญ่ในสังคม ประพฤติผิดศีล ๕ ไม่ละอายชั่วกลัวบาปจากการทำผิดศีล 
เมื่อพิจารณาแบบนี้แล้ว ท่านว่า โลกปัจจุบันนี้ กำลังเป็นไปตามเส้นใด คงไม่มีใครเถียงว่า สังคมไทยและสังคมโลกกำลังมุ่งไปตามเส้นเสื่อม ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์ต่อไปนี้ 
  • ผู้ที่ถือศีล ๕ ถูกเรียกหรือถูกตั้งสมญาว่า  "หลวงพ่อ"  ส่อว่า เป็นคนส่วนน้อยของสังคม
  • ครูในโรงเรียนหรืออาจารย์ในมหาวิทยาลัย เป็นส่วนน้อยที่ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างในการรักษาศีล ๕ ... จึงเป็นธรรมดาที่ "ศีล ๕" จะไม่ใช่เรื่องที่ครูสอนในชั้นเรียน 
  • คำว่าพัฒนา คำว่า เจริญ คำว่าก้าวหน้า ล้วนแต่ไม่เกี่ยวกับศีล ๕ เลยแม้แต่น้อย มุ่งแต่จะก้าวไปสู่ความมั่งคั่ง ร่ำรวย  .... ปัญหาของการศึกษาคือ การสอนให้ทุกคนเป็นคนรวย นั่นเอง (ผมเคยเขียนเรื่องนี้ไว้ที่นี่)

ถ้าเราเชื่อว่า เรากำลังอยู่ในสังคมที่กำลังเดินไปตาม "เส้นเสื่อม" เราอยู่ในยุคเสื่อม เราจะทำอย่างไร....

ในหลวง ร.๙ ทรงพระราชทานแนวทางการศึกษาที่ถูกต้อง การศึกษาที่จะนำพาคนในประเทศไปตาม "เส้นเจริญ"  ไปสู่ความสุขความเจริญที่ยั่งยืน ไว้แล้ว  การศึกษาตามแนวพระราชดำริแบบ "ปูทะเลย์มหาวิชชาลัย" นั่นเองที่ทุกหน่วยงานและสถานศึกษาต้องหันมาดู (โปรดอย่าเข้าใจผิดว่า ปูทะเลย์มหาวิชชาลัย ที่กล่าวถึงนี้ คือ ชื่อของโรงเรียนที่มีการตั้งกันขึ้นมาก่อน ...  ผมพยายามสื่อว่า  ทุกโรงเรียน ทุกมหาวิทยาลัย ทุกหน่วยงาน สถานศึกษา ต้องมาพัฒนาตามแนวทางแห่ง "ปูทะเลย์มหาวิชาลัย" โดยไม่ต้องเปลี่ยนชื่อแต่อย่างใด)

หมายเลขบันทึก: 670527เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2019 23:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 ตุลาคม 2019 23:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท