ชีวิตที่พอเพียง 3462. เครือข่ายองค์กรสมรรถนะสูง : กิจกรรมเหย้าเยือนครั้งที่ ๔ (HPON MOS 4)



ครั้งที่ ๑ ()   ครั้งที่ ๒ (๒)  ครั้งที่ ๓ (๓)

 กิจกรรมเหย้าเยือน (MOS - Member  Organization Sharing) ครั้งที่ ๔ ของเครือข่ายองค์กรสมรรถนะสูง (High Performance Organization Network – HPON) นี้ มีบริษัทเบทาโกร เป็นเจ้าภาพ    จัดในวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒ เวลา ๘.๓๐ - ๑๖.๐๐ น.   ในบรรยากาศเรียนรู้อย่างสนุกสนาน อิ่มอร่อยทั้งสมองและท้อง สมกับไปประชุมที่บริษัทธุรกิจด้านอาหาร     โดยท่านประธานคณะกรรมการบริหารของเครือเบทาโกร คุณวนัส แต้ไพสิฐพงษ์ อยู่ร่วมประชุมโดยตลอด    และมีคุณอรรถกร ใจโทน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิศวกรรมเพิ่มผลผลิต เป็นโต้โผงาน    ร่วมกับทีมงานที่เข้มแข็ง

ผมขออนุญาตย้ำว่า สคส. ชักชวนภาคีองค์กรเริ่มก่อตั้ง ๑๐ องค์กร ทำงานริเริ่มและประสานงานเครือข่ายนี้ เพื่อการเรียนรู้สู่การขับเคลื่อนสังคมไทยให้เป็นสังคมเรียนรู้    หวังผลกระทบต่อสังคมในภาพใหญ่   โดยเมื่อเริ่มดำเนินการเครือข่าย และชักชวนองค์กรเอกชนขนาดใหญ่เข้าร่วมเครือข่าย    เราก็ไม่ชัดเจนว่าจะเป็นที่ต้องการขององค์กรขนาดใหญ่ของประเทศแค่ไหน   

แต่เมื่อดำเนินการประชุมมาถึงครั้งที่ ๔   มีองค์กรเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้มากขึ้น (คราวนี้มี ๑๔ องค์กร)    มีผู้ใหญ่ในองค์กรมาร่วมประชุม และใช้การประชุมเป็นที่พบปะหาความร่วมมือ    และแต่ละองค์กรที่รับเป็นเจ้าภาพต่างก็มีเรื่องราวของการใช้เครื่องมือจัดการความรู้ ที่แปลกใหม่น่าตื่นตาตื่นใจ (และตื่นสมอง) ไม่ซ้ำแบบกัน    การประชุม ๑ วันจึงประเทืองปัญญายิ่งนักสำหรับผม    และผู้เข้าร่วมจำนวนกว่า ๑๐๐ คน ต่างก็ประทับใจ และเต็มอิ่มไปตามๆ กัน    

ข้อเรียนรู้ชิ้นใหญ่สำหรับผมคือ องค์กรขนาดใหญ่และผ่านประสบการณ์ฟันฝ่าความยากลำบาก และประสบการณ์ความสำเร็จ ขึ้นๆ ลงๆ    ย่อมต้องมีเรื่องราวดีๆ วิธีการดีๆ ในการสร้างความเข้มแข็งขององค์กร    สำหรับบริษัทเบทาโกร อาวุธสำคัญคือ ERP (Enterprise Resources Planning) ซึ่งเป็นระบบข้อมูลเพื่อการจัดการอย่างเป็นระบบเชื่อมโยงกัน   กับ KAIZEN และ  TPm (Total Productivity Management) ใช้โมเดลญี่ปุ่น    และเริ่มใช้ KM เข้าเสริมเมื่อเกือบ ๒ ปีที่ผ่านมา   

แต่กล่าวอย่างนี้อาจจะผิด    เพราะในกิจกรรม TPm และ Kaizen นั่นเอง มีกิจกรรม KM แฝงอยู่โดยไม่ได้ใช้ชื่อ KM    หรือไม่รู้ตัวว่าใช้ KM ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว    และนอกจากนั้นบริษัทเบทาโกรยังใช้เครื่องมือ constructionism ในการส่งเสริมการเรียนรู้ของชาวบ้านในพื้นที่ที่คุณวนัส แต้ไพสิฐพงษ์ เรียกว่า  “หน้าบ้าน”    คือพื้นที่ที่มีหน่วยงานของบริษัทตั้งอยู่   

Constructionism คือเครื่องมือเรียนรู้จากการปฏิบัติ ตามด้วยการใคร่ครวญสะท้อนคิด    จึงเป็นเครื่องมือเพื่อการเรียนรู้ตระกูลเดียวกันกับ KM

ในการประชุม ได้นำเอาวิดีทัศน์เรื่องราวชีวิตของ “น้าน้อย” () มาให้ชม    น่าประทับใจมาก ที่การเรียนรู้ช่วยเปลี่ยนชีวิตของน้าน้อยโดยสิ้นเชิง    เรื่องของน้าน้อย น่าจะเป็น KM ด้าน CSC ที่จะกล่าวถึงต่อไป 

คุณขวัญชัย เหม็นต้นสาย แห่งหน่วย KM เบทาโกร ตีความหลักการ KM ที่เบทาโกรดำเนินการในช่วง ๑ ปีเศษที่ผ่านมา ให้ที่ประชุมฟังอย่างน่าทึ่ง    โดยเน้นที่ความรู้ปฏิบัติ (Experiential Knowledge)   

ที่ถือว่าเป็นนวัตกรรมในการดำเนินการ KM ของเบทาโกรคือ การใช้เกมช่วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Gamification of Learning)   โดยว่าจ้างให้ทีม “Deschooling Game by เถื่อนเกม” มาร่วมกับพนักงานของบริษัท ออกแบบเกม และนำเอาเกมชิ้นส่วนหมู  กับเกม Super Sale    ให้ผู้เข้าร่วมประชุมเล่นกันอย่างสนุกสนานในช่วงบ่าย              

 บริษัทเบทาโกรตั้งชื่อการประชุมครั้งนี้ว่า KM in Multi-Generation Workforce   เพราะบริษัทมีอายุถึง ๕๒ ปีแล้ว    และในช่วงหลังพนักงานเป็น Gen Z และ Gen M     แต่ผมตีความว่า ในการประชุมนี้ ผู้เข้าร่วมยังได้เรียนรู้ KM อีก ๒ บริบท    คือ KM ชาวบ้าน    กับ KM Supply Chain    ดังแสดงในรูปที่ ๕ Betagro SD Thought Model   

น่าชื่นชมยิ่ง ที่บริษัทเบทาโกรมีอุดมการณ์การดำรงอยู่อย่างสมดุลและ “เติบโตไปพร้อมกันกับสังคม” (ดูรูปที่ ๕)    กิจการจึงมี ๓ ด้าน คือ CSR, CRM, และ CSC   ในเรื่อง CRM เราได้ดูวิดีทัศน์เรื่อง “เจ๊จงหมูทอด” (๕)ที่ชีวิตสบายขึ้นมากเมื่อหันมาใช้หมูของเบทาโกร    ที่ผมเชื่อว่า ในความเป็นจริงน่าจะมี KM ระหว่างเจ๊จงกับพนักงานขายของเบทาโกรด้วย    แต่ผู้จัดทำวิดีทัศน์ไม่ได้สนใจประเด็นด้านการเรียนรู้ระหว่างกัน    

ผมชื่นชมมากที่ เบทาโกร ตีความ CSR ลึกกว่า CSR ขององค์กรอื่นๆ ที่ผมได้ยินมา     คือตีความว่า เป็นการทำธุรกิจโดยรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น ลูกจ้าง ลูกค้า คู่ค้า ชุมชน และสิ่งแวดล้อม   รวมทั้งดำเนินกิจการด้วยความโปร่งใส มีธรรมาภิบาล   ผมเชื่อว่า หาก “ขุดค้น” ให้ดีๆ จะพบกิจกรรมการเรียนรู้ (KM) อีกมากมายในกิจกรรม CSR, CRM, และ CSC ของบริษัทเบทาโกร    แต่นั่นคืออดีต   

จุดเน้นของ KM ของบริษัทเบทาโกรในปัจจุบัน เน้นที่การส่งต่อและจัดเก็บความรู้ของผู้เชี่ยวชาญที่กำลังจะเกษียณอายุออกไป    และที่การเรียนรู้อย่างรวดเร็วของพนักงานใหม่ที่เป็นมนุษย์ Gen Z และ Gen M          

กิจกรรมเหย้าเยือนของเครือข่าย HPO Learning Network ครั้งที่ ๕ บริษัทการบินไทยเป็นเจ้าภาพ     จัดในวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๒  

ผมมีความมั่นใจขึ้น ว่ากิจกรรมเหย้าเยือนของเครือข่ายองค์กรสมรรถนะสูง    เป็น “ยุทธศาสตร์การเรียนรู้ข้ามแดน” ที่ทรงพลัง   ช่วยให้องค์กรสมาชิกได้เรียนรู้ยุทธศาสตร์ และวิธีการจัดการความรู้จากการปฏิบัติงาน เพื่อความเข้มแข็งขององค์กร ได้อย่างดียิ่ง    สำหรับนำเอาไปปรับใช้ให้เหมาะสมในองค์กรของตน    โดยที่ประเด็นที่จะเรียนรู้ได้มีหลายระดับ    ผมเชื่อว่า หากมีผู้บริหารระดับสูงขององค์กรมาร่วม     จะสามารถจับประเด็นลึกๆ เอาไปใช้ประโยชน์ต่อองค์กรของตนได้ดียิ่งขึ้น    

วิจารณ์ พานิช

๒๔ พ.ค. ๖๑

  


1 บรรยากาศในห้องประชุมตอนเช้า

2 กลุ่มหลังห้อง

3 บรรยากาศช่วงบ่าย

4 เล่นเกมชิ้นส่วนหมู

5 Betagro SD Thought Model

6 เครื่องมือพัฒนาผลิตภาพ

7 รูปหมู่ผู้ใหญ่ขององค์กรสมาชิก

8 มอบธงให้แก่การบินไทย เจ้าภาพกิจกรรมเหย้าเยือนของ HPON ครั้งที่ ๕

หมายเลขบันทึก: 662258เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2019 15:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มิถุนายน 2019 15:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท