“สินค้าดี” ต้องมาก่อนการสร้างแบรนด์


แม้ว่าชื่อร้านอย่าง “ณะโมตัดสระ” “จะกินอย่าบ่น” “ป้าท้อนะ” หรือ “จวนเจ๊งซีฟู๊ด” จะไม่ได้บ่งบอกว่าชื่อเหล่านี้จะสร้างภาพที่เป็นลักษณะเด่นเกี่ยวกับตัวสินค้าหรือบริการโดยตรง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าชื่อที่แปลกแหวกแนวนี้สามารถเรียกความสนใจจากลูกค้าได้ไม่น้อย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องพึงระลึกก็คือ การสร้างชื่อให้คนจำได้นั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าจะทำให้แบรนด์ที่สร้างขึ้นมามีความมั่นคง และยั่งยืนได้อย่างแท้จริง ก็ต้องกลับมาดูที่จุดเริ่มต้นก่อนว่าสินค้าหรือบริการของเรานั้นมีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหรือไม่?

“สินค้าดี” ต้องมาก่อนการสร้างแบรนด์

อรรถการ สัตยพาณิชย์

        การตั้งชื่อร้านให้ดูแปลกๆ ขำๆ แต่ก็ช่วยให้คนจำได้ ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่หลายคนนำมาใช้ในการเรียกลูกค้า

            อย่างร้านทำผม ทำเล็บแห่งหนึ่ง ตั้งชื่อร้านว่า “ณะโมตัดสระ” ถ้าฟังแบบผ่านๆ ไม่ได้อ่านชื่อด้วยตัวเองก็อาจจะเข้าใจไปว่าร้านนี้จะต้องเกี่ยวข้องกับพระสงฆ์องค์เจ้าอย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารอีกแห่งหนึ่งตั้งชื่อแบบไม่ง้อใครว่า “จะกินอย่าบ่น”ก็ทำให้เกิดจินตนาการถึงความสงบเสงี่ยมเจียมตัวของลูกค้าเวลาเข้าไปร้านนี้ เพราะกลัวเจ้าของร้านจะโวยวายเวลาต้องตามอาหารที่สั่งแล้วไม่มาสักที


            ส่วนอีกร้านหนึ่ง ฟังแล้วช่างน่าเห็นอกเห็นใจ และเป็นกำลังใจให้แม่ค้าร้านนี้อย่างยิ่ง เพราะป้าแกตั้งชื่อร้านว่า “ป้าท้อนะ”แค่ได้เห็น ได้ฟังชื่อก็น่ารันทดใจไม่น้อย หนักเข้าไปอีก ร้านอาหารทะเลแห่งหนึ่งตั้งชื่อดูจะไม่เป็นศิริมงคลสักเท่าไหร่ เพราะตั้งชื่อแบบไม่แคร์ผู้ใดว่า “จวนเจ๊งซีฟู๊ด” แถมวงเล็บที่ป้ายไฟที่เป็นชื่อร้านด้วยว่า (กรุณามาก่อนเจ๊ง)

            เอากับเขาสิ!!! ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่ามีร้านค้าที่ตั้งชื่อแบบนี้จริงๆ

            แต่ถ้ายังจำกันได้ถึงแนวคิดในการสร้างแบรนด์ โดยเฉพาะในการตั้งชื่อ หรือการออกแบบโลโก้  หลักคิดสำคัญที่บรรดาผู้รู้ในการสร้างแบรนด์ได้แนะนำไว้ก็คือ ชื่อหรือโลโก้ที่คิดขึ้นมานั้นจะต้องสนับสนุน ส่งเสริม และตอกย้ำความเชื่อ ความรู้สึกที่เราต้องการสร้างให้เกิดขึ้นในใจของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

            อย่างไอศกรีม baskin robbins ดูให้ดีๆ ในโลโก้ BR จะมีเลข 31เพื่อบอกเล่าเรื่องราวว่าไอติม baskin นั้นเริ่มต้นจาก 31 รสชาติ เครื่องดื่มน้ำดำ Coca-Cola ชื่อที่ตั้งก็ต้องการบอกให้รู้ว่าน้ำดำยี่ห้อนี้สกัดมาจากเมล็ดโคล่า เป็นต้น


            แม้ว่าชื่อร้านอย่าง “ณะโมตัดสระ” “จะกินอย่าบ่น” “ป้าท้อนะ” หรือ “จวนเจ๊งซีฟู๊ด” จะไม่ได้บ่งบอกว่าชื่อเหล่านี้จะสร้างภาพที่เป็นลักษณะเด่นเกี่ยวกับตัวสินค้าหรือบริการโดยตรง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าชื่อที่แปลกแหวกแนวนี้สามารถเรียกความสนใจจากลูกค้าได้ไม่น้อย

            อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องพึงระลึกก็คือ การสร้างชื่อให้คนจำได้นั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าจะทำให้แบรนด์ที่สร้างขึ้นมามีความมั่นคง และยั่งยืนได้อย่างแท้จริง ก็ต้องกลับมาดูที่จุดเริ่มต้นก่อนว่าสินค้าหรือบริการของเรานั้นมีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหรือไม่?             

หมายเลขบันทึก: 662035เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2019 23:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2019 23:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

-สวัสดีครับอาจารย์-ที่มาของชื่อร้านหรือโลโก้ของร้านถ้ามีเรื่องเล่าหรือ Story ก็จะเสริมให้มีความมั่นคงและยั่งยืนได้อีกทางหนึ่งใช่รึเปล่าครับ-เคยได้เห็นบ่อยๆ กับการตั้งชื่อร้านแบบใช้”คำพ้องเสียง”น่ะครับ-เช่น “ร้านลาภ”หรือร้้านขายกาแฟ/เสต๊ก ชื่อ “รฤก”ครับอาจารย์-ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ คุณเพชรน้ำหนึ่ง เรื่องการเล่าเรื่องหรือ Story Telling ก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแบรนด์ได้ครับ อย่าง “รฤก” ถ้าผมจินตนาการร้าน ถ้าร้าน “รฤก” การจัดร้านเป็นแนวร้านคลาสิก หรือจัดแบบย้อนยุคหน่อยก็เข้าข่าย “ชื่อร้าน” ช่วยสร้างแบรนด์ หรือสร้าง “ความรู้สึก” บางอย่างที่เราต้องการสื่อสารให้เกิดขึ้นในใจกลุ่มเป้าหมายเราได้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท