สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลน ๘. วิทยาการเรียนรู้บอกข่าวดีจากบรรยากาศเชิงบวก



บันทึกชุด สอนเข้ม เพื่อศิษย์ขาดแคลนนี้ ตีความจากหนังสือ Poor Students, Rich Teaching : Seven High-Impact Mindsets for Students from Poverty (Revised Edition, 2019)  เขียนโดย Eric Jensen ผู้ที่ในวัยเด็กมีประสบการณ์การเป็นเด็กขาดแคลนอย่างรุนแรง และมีปัญหาการเรียน    และเคยเป็นครูมาก่อน    เวลานี้เป็นวิทยากรพัฒนาครู    ผมคิดว่าสาระในหนังสือเล่มนี้ เป็นชุดความรู้ที่เหมาะสมต่อ “ครูเพื่อศิษย์” ที่สอนนักเรียนที่มีพื้นฐานขาดแคลน ผมเข้าใจว่าในประเทศไทยนักเรียนกลุ่มนี้เป็นนักเรียนส่วนใหญ่ของประเทศ   

บันทึกที่ ๘ วิทยาการเรียนรู้บอกข่าวดีจากบรรยากาศเชิงบวก  นี้เป็นบันทึกแรกใน ๔ บันทึกภายใต้ชุดความคิดบวก (positivity mindset)    ตีความจาก Part Three : Why the Positivity Mindset?      โดยที่บันทึกที่ ๘ นี้ว่าด้วยทฤษฎีเกี่ยวกับผลกระทบของบรรยากาศเชิงบวก ต่อผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน   ว่ามีกลไกทางสมองอย่างไร     ส่วนในบันทึกที่ ๙ - ๑๑ จะเป็นเรื่องการประยุกต์ทฤษฎีสู่ภาคปฏิบัติ  

อ่านรายละเอียดจากผลงานวิจัยเหล่านี้แล้ว  ผมสรุปกับตนเองว่า  นี่คือหลักฐานบอกว่าสมองมนุษย์มีความสามารถฟื้นตัว (brain plasticity) ได้เก่งมาก    โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมองของเด็ก  

ความรู้เหล่านี้ บอกเราว่า การดำเนินการที่ถูกต้อง เอาใจใส่ และมีใจเมตตาของครู    มีคุณค่าต่อชีวิตของเด็กนักเรียนขาดแคลนอย่างยิ่ง    หรือกล่าวใหม่ว่า ยิ่งเด็กขาดแคลนอ่อนแอมากเพียงใด    ก็เป็นโอกาสของครู ที่จะจัดการเรียนรู้ให้เกิดคุณค่าต่อชีวิตของศิษย์ได้มากเพียงนั้น    โดยที่การเรียนรู้ที่เป็นหัวใจคือการปลูกฝังเจตคติ หรือชุดความคิด (รวม ๗ ชุดหลัก) ที่จะติดตัวเด็ก ก่อคุณค่าไปตลอดชีวิต  

จุดเริ่มต้นคือ ชุดความคิดบวกของครู    ที่ยึดเอาผลประโยชน์ของศิษย์เป็นตัวตั้ง    หาวิธีดำเนินการหลากหลายมิติ เพื่อปลูกฝังความแข็งแรง และความดีงาม ในตัวศิษย์    โดยครูต้องไม่ดูดาย ไม่แก้ตัว ที่จะไม่จัดการเพื่อแก้ปัญหาความอ่อนแอขาดแคลนที่นักเรียนมีติดตัวมาจากบ้าน   

ถึงตอนนี้ผมอดเถียง Eric Jensen ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ไม่ได้    ว่านักเรียนที่ติดลบมาจากบ้าน ไม่ได้มีเฉพาะที่ติดลบเพราะความขาดแคลน และความเลวร้ายของชีวิตทางสังคมที่บ้านและชุมชนโดยรอบ เท่านั้น    ยังมีนักเรียนติดลบมาจากบ้านที่ร่ำรวย หรือเศรษฐฐานะดี    แต่ติดลบด้านการมองโลกแง่ดี  การมีชุดความคิดหยุดนิ่ง (fixed mindset)  หรือด้านความเห็นแก่ตัว ที่พ่อแม่ทำตัวเป็นแบบอย่าง เป็นต้น       

เมื่อครูมีชุดความคิดบวก มันจะช่วยหนุนความเอาใจใส่ความรู้สึกของนักเรียน (empathy)      เสียงในหัวของครูที่มีชุดความคิดบวกคือ    “ฉันเป็นผู้มองโลกแง่ดี และเป็นพันธมิตรของเด็ก ที่ทั้งขอบคุณเด็กและพร้อมที่จะช่วยเด็กให้สร้างเป้าหมายชีวิตที่ดีในอนาคต”   และ “ฉันรักความเป็นครู    แม้ชีวิตครูไม่ใช่ชีวิตที่ดีพร้อม   แต่ฉันก็ใช้พลังบวกทุกวัน เพื่อสนองความต้องการของศิษย์”   

ข้อมูลหลักฐาน

พฤติกรรมของนักเรียน พัฒนาขึ้นที่บ้าน    มีหลักฐานบอกว่าเด็กจากครอบครัวยากจนขาดแคลน ได้รับความเครียดแบบทันทีทันใด (acute stress) และบาดแผลทางใจ (trauma) มากกว่าเด็กทั่วไป    ความรู้นี้บอกครูว่า พฤติกรรมก้าวร้าว หรือไม่เหมาะสมของเด็กที่โรงเรียนอาจมีจุดกำเนิดที่บ้าน    ซึ่งอยู่นอกการควบคุมของครู    ครูพึงเข้าใจแหล่งกำเนิดความเครียดของนักเรียน ต่อไปนี้

  • ประวัติชีวิตของแม่ยากจน มีผลต่อพฤติกรรมของเด็กในห้องเรียน    ในสหรัฐอเมริกา แม่ที่เป็นคนดำ อยู่ในชุมชนคนยากจน  อาจมีประสบการณ์ในบรรยากาศการคุกคามทางเพศ  ส่งผลให้มีพื้นฐานจิตใจที่เครียดเรื้อรัง (chronic stress)   หดหู่ (depressed)    อยากฆ่าตัวตาย   หรือหลีกหนีสังคม    มองกลับมาที่สังคมไทย  เวลานี้มีเด็กกว่าครึ่งที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่    อาจอยู่ในสภาพแม่หรือพ่อเลี้ยงเดี่ยว    หรือไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เพราะพ่อแม่แยกกัน เอาลูกไปฝากปู่ย่า หรือตายาย ช่วยเลี้ยง    หรือพ่อแม่เข้าเมืองไปหางานทำ ทิ้งลูกไว้กับปู่ย่า หรือตายาย หรือญาติ    เด็กเหล่านี้อยู่ในสภาพจิตใจที่ติดลบทั้งสิ้น    
  • คนอพยพเข้าเมือง  มักมีประสบการณ์ถูกกดขี่ ข่มเหง รังแก ฉกฉวยผลประโยชน์   รวมทั้งหวาดกลัวว่าจะถูกขับไล่    ปัญหาคล้ายคลึงกันเกิดกับคนไร้รัฐ  พลัดพรากจากพ่อแม่  และยากจนสุดๆ    คนเหล่านี้มีบาดแผลทางใจจากความหวาดกลัว,  ความหดหู่,   ความว้าเหว่,   ความเศร้า,  และความเครียดเรื้อรัง    ครูมีโอกาสช่วยสร้างทักษะการกำกับตนเองเชิงบวก ในห้องเรียน   ช่วยพัฒนาทั้งคุณลักษณะส่วนตัว และผลลัพธ์การเรียนรู้ 
  • การเหยียดผิว  เหยียดชนชั้น สร้างความเครียดให้แก่เด็ก    ทำให้เด็กมีปมด้อย  และมีความเครียดเรื้อรัง   รวมทั้งมีผลต่อสุขภาพด้วย           

สภาพเหล่านี้ทำให้นักเรียนมาโรงเรียนพร้อมกับชุดความคิดเชิงลบ    และอาจถูกครูตราหน้าว่าเป็นเด็กเลว    ทั้งๆ ที่เด็กเลือกเกิดไม่ได้   เลือก ดีเอ็นเอ   พ่อแม่  ชุมชน  และวัฒนธรรมแวดล้อม ไม่ได้    แต่ครูช่วยให้ศิษย์พัฒนาชุดความคิดบวก และพัฒนาตนเองสู่อนาคตที่ดีได้

      ผลกระทบของการดำเนินการเชิงบวกต่อความสำเร็จของนักเรียน

              มีงานวิจัยในสหรัฐอเมริกา ทำโดยเอาเครื่องบันทึกเสียงไปไว้ที่บ้านของคนฐานะดี  ฐานะปานกลาง  และ ฐานะยากจน จำนวนหนึ่ง และรายงานผลการวิจัยในปี ค.ศ. 2006   พบว่าสัดส่วนของถ้อยคำเชิงบวก ต่อถ้อยคำเชิงลบ แตกต่างกันอย่างน่าตกใจ    คือในครอบครัวฐานะดี  ถ้อยคำเชิงบวก : ถ้อยคำเชิงลบ เท่ากับ ๖ : ๑   ตัวเลขนี้ในครอบครัวฐานะปานกลางเท่ากับ ๒ : ๑    แต่ในครอบครัวยากจนเท่ากับ  ๑ : ๒    สะท้อนภาพติดลบของนักเรียนจากครอบครัวยากจน   

มีผลงานวิจัยบอกว่า อารมณ์บวกมีผลต่อความยืดหยุ่นในการเรียนรู้ และต่อความมานะพยายาม     จึงเป็นหน้าที่ของครูที่จะต้องสร้างบรรยากาศเชิงบวกในชั้นเรียน   และสร้างอารมณ์บวกในนักเรียน    โดยมีผลงานวิจัยบอกว่า อารมณ์บวกช่วยขยายหรือเพิ่มแนวทางการแสดงออกเชิงพฤติกรรม    และช่วยพัฒนาปัญญาญาณ (intuition)  และความริเริ่มสร้างสรรค์ (creativity)   

ความแตกต่างของผลกระทบ ในห้องเรียนที่มีบรรยากาศเชิงบวก กับห้องเรียนที่มีบรรยากาศเชิงลบ แสดงในตารางข้างล่าง

ครูคิดลบ มักคิดว่าการสร้างชุดความคิดบวกของศิษย์เป็นเรื่องนอกหน้าที่ครู    นี่คือความคิดที่ผิด   และนำไปสู่พฤติกรรมที่ทำลายเกียรติศักดิ์ของครู   

มีงานวิจัย ทดลองในนักเรียน ในนักเรียนมัธยมต้นในเขตยากจนในเมือง ของสหรัฐอเมริกา กลุ่มทดลอง ๙๔ คน  เทียบกับกลุ่มควบคุม    กลุ่มทดลองได้รับกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นสร้างความคิดบวก ผ่านการตั้งเป้า  การดำเนินการ และการเตรียมเผชิญอุปสรรค   โดยดำเนินการใน ๔ ภาคการศึกษาแบบ quarter   พบว่านักเรียนกลุ่มทดลอง มีผลการเรียน  อัตราการมาโรงเรียน  และความประพฤติในห้องเรียน  สูงกว่ากลุ่มทดลองอย่างชัดเจน   

เขาสรุปว่า กลยุทธฝึกการควบคุมอารมณ์และควบคุมการเรียนรู้ (cognitive control)  มีผลช่วยให้เด็กยากจนเรียนรู้ได้ดีขึ้น    

นอกจากนั้น ยังมีผลการวิจัยสรุปว่า การฝึกอารมณ์บวกสม่ำเสมอ ช่วยเป็นปราการป้องกันเรื่องเลวร้ายในชีวิตของเด็ก     บรรยากาศเชิงบวกในห้องเรียน ทำให้ระดับฮอร์โมนเครียด (คอร์ติซอล) ในนักเรียนลดต่ำลง    เพิ่มสารสื่อประสาท (โดปามีน) ซึ่งส่งผลดีต่อการเรียนรู้    เขาจึงแนะนำครู ให้สร้างบรรยกาศในห้องเรียนให้อบอวลไปด้วยความหวังและการมองโลกในแง่ดี 

      ผลกระทบของการดำเนินการเชิงบวกต่อสมอง

              มีงานวิจัยในโรงเรียน ๙๖ แห่ง    เลือกครูแบบสุ่ม (random sample)    แยกครูที่ใช้คำพูดเชิงลบ (เช่น อย่าหวังเลยว่าเธอจะได้ A)    กับครูที่ใช้คำพูดเชิงบวก เชิงให้ความหวังแก่ศิษย์    สรุปได้ว่า บรรยากาศเชิงบวกมีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน

               อีกงานวิจัยหนึ่ง ทดลองสอดแทรกการดำเนินการให้เด็กมีความสุขในกระบวนการเรียนการสอนตามปกติ  โดยใช้เครื่องมือ ๒ ชิ้นคือ การแสดงความขอบคุณ  และการแสดงความเมตตากรุณา    พบว่าช่วยเพิ่มอารมณ์บวก และเพิ่มความสนใจเรียน    สรุปแบบกำปั้นทุบดินได้ว่า เมื่อนักเรียนอยู่ในสภาพอารมณ์ดี สิ่งดีๆ จะเกิดขึ้น   

             ในทางชีววิทยา มีสารสื่อประสาท ๓ ชนิด ที่มีผลช่วยให้จิตใจดีขึ้น  ได้แก่ โดปามีน  ซีโรโทนิน  และ นอร์อะดรีนาลิน    หากทำให้สารสามตัวนี้อยู่ในระดับพอดี จะเป็นผลดีต่อการเรียนรู้ของนักเรียนสูงยิ่ง    โดยมีรายละอียดดังนี้

  • โดปามีนในระดับสูง นำไปสู่การเรียนรู้ที่สูง  การพัฒนาความจำใช้งาน (working memory)   ความยืดหยุ่นในการเรียน  และเพิ่มความมานะพยายาม    ครูสามารถเพิ่มระดับโดปามีนในตัวนักเรียนได้โดยการเคลื่อนไหวร่างกาย  กิจกรรมที่ให้ความสนุกสนาน  ให้ความประหลาดใจ  และความคาดหวังรางวัล
  • ซีโรโทนินในระดับสูง ช่วยเพิ่มปริมาณเซลล์สมอง   เพิ่มจิตจดจ่อ  การเรียนรู้  การควบคุมอารมณ์  และความจำระยะยาว (longterm memory)    ครูช่วยเพิ่มระดับซีโรโทนินในตัวนักเรียนได้โดยให้ชั้นเรียนมีความสงบ   ความรู้สึกว่าทุกอย่างอยู่ในระเบียบ  พิธีกรรมที่คุ้นเคย   ความเป็นมิตรและร่วมมือกัน    พูดง่ายๆ ว่า บรรยากาศที่ปลอดภัย ช่วยเพิ่มระดับซีโรโทนินในร่างกาย
  •  นอร์อะดรีนาลิน  ช่วยพุ่งความสนใจอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  และช่วยเพิ่มความจำระยะยาว    ครูช่วยเพิ่มระดับ นอร์อะดรีนาลิน ได้โดยสร้างบรรยากาศคึกคัก  รีบร้อน  ตื่นเต้น  และรู้สึกว่ามีความเสี่ยง    เช่นตอนที่นักเรียนต้องนำเสนอผลงานหน้าชั้น    

สรุปว่า สารเคมีในสมองของนักเรียน มีผลต่อห้องเรียน ดังต่อไปนี้

โดปามีน: อารมณ์  รางวัล  ความมานะพยายาม  ความมีจิตจดจ่อ  แรงจูงใจ  เจริญอาหาร

ซีโรโทนิน: ความมีจิตจดจ่อ  การบังคับ  ความจำ  ความวิตกกังวล  อารมณ์

นอร์อะดรีนาลิน: การพุ่งความสนใจ  ความจำ  ความตื่นตัว         

ครูควรใช้ความรู้เชิงชีววิทยาเกี่ยวกับฮอร์โมนทั้ง ๓ นี้ ในการจัดบรรยากาศของชั้นเรียน   ให้หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนบรรยากาศ ที่กระตุ้นสารสื่อประสาทตัวที่เหมาะสมต่อเป้าหมายการเรียนรู้ในขณะนั้น       

ครูที่มีความรู้ทางชีววิทยาเกี่ยวกับสมอง  สามารถใช้ความรู้นั้นให้เป็นประโยชน์ในการสร้างบรรยกาศในชั้นเรียนให้เหมาะสมต่อการเรียนรู้ของศิษย์ในแต่ละช่วงได้    ก็จะเกิดสภาพห้องเรียนที่มีชีวิตชีวา มีหลายบรรยากาศ    และถูกจริตของนักเรียน เพราะไม่น่าเบื่อ   

วิจารณ์ พานิช

๑๖ เม.ย. ๖๒
    

หมายเลขบันทึก: 662030เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2019 18:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2019 18:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท