รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๒-๒๕๖๑ (๑) วิพากษ์ การเขียนโครงการ (๑)


รายวิชา ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ประจำปีการศึกษา ๒-๒๕๖๒ พัฒนาการเรียนรู้มาสู่การเน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติ เรียนรู้จากการทำงานกลุ่มร่วมกัน ให้นิสิตในกลุ่มได้ทำโครงการร่วมกัน (Project-based Learning) โดยเฉพาะโครงการบริการสังคม เพื่อส่งเสริมจิตอาสาและความเสียสละให้กับผู้นำรุ่นใหม่ทุกคน

บันทึกนี้ต้องการจะวิพากษ์การเขียนโครงการ อันเป็นทักษะจำเป็นในการทำงานในระบบราชการ ตัวอักษรสีน้ำเงินคือ งานที่นิสิตเขียนมาส่ง ส่วนตัวอักษรสีดำ คือสิ่งที่ผมนำเสนอในการวิพากษ์ครับ

๑) กลุ่ม เช กาบารา

ชื่อโครงการ : โครงการรณรงค์ทิ้งขยะให้เป็นที่ ( Let’ keep it all! )


วิพากษ์ : ชัดเจนตรงที่บอกว่า จะรณรงค์ และจะรณรงค์ให้คนทิ้งขยะให้เป็นที่ แต่ไม่ดีตรงที่ไม่ค่อยน่าสนใจนัก เพราะคำว่ารณรงค์เป็นคำกลาง ๆ กว้าง ๆ ( ไม่ Specific) สิ่งที่น่าสนใจคือ จะรณรงค์อย่างให้สำเร็จ ควรหยิบเอากิริยาปฏิบัตินั้นมาไว้ในชื่อด้วย

หลักการและเหตุผล
จากการสำรวจพฤติกรรมและปริมาณขยะจากการทิ้งในแต่ละวันของพื้นที่ในเขตท่าขอนยางรอบๆมหาวิทยาลัยมหาสารคามนั้นพบว่าพฤติกรรมของผู้คนในเรื่องการจัดการขยะของตนเองในแต่ละวันนั้นยังคงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาด้านขยะ เพราะมีขยะจำนวนมากที่เกลื่อนตามถนน ข้างหอพัก หรือแม้กระทั่งรอบๆบริเวณที่ทิ้งขยะ
ผู้รับผิดชอบโครงการจึงมีความคิดที่ต้องการจะปรับพฤติกรรมการทิ้งขยะเพื่อลดปริมาณขยะที่ทิ้งไม่ถูกที่ โดยการเริ่มรณรง์ผ่านแผ่นประกาศหรือโปสเตอร์ในจุดสำคัญที่ผู้คนมองเห็นได้ง่ายและเห็นได้บ่อย เพื่อกระตุ้นความคิดให้มีความรับผิดชอบตนเองในเรื่องการจัดการขยะมากขึ้น
โครงการนี้จัดทำขึ้นและคาดหวังให้ปริมาณของขยะที่เกลื่อนนั้นลดลงจากพฤติกรรมการจัดการขยะของผู้คนที่ถูกปรับให้ดีขึ้น อีกทั้งพฤติกรรมของผู้คนที่ถูกปรับในทางที่ดีขึ้นด้านการจัดการขยะสามารถคงอยู่ได้นาน และถ่ายทอดวิธีการดูแลหรือจัดเก็บขยะของตนเองให้กับผู้อื่นได้

วิพากษ์ :

  • ควรกล่าวถึงปัญหาและบริบทของปัญหาให้ชัดเจนขึ้น การเขียนระบุพื้นที่ซึ่งจะเป็นพื้นที่เป้าหมายของการจัดการปัญหา จะช่วยให้เขียนได้ชัดเจนขึ้น
  • ไม่ชัดเจนนักว่า ผลของปัญหา คือ การนำขยะไปทิ้งไม่เรียบร้อย หรือ เป็นการนำขยะไปทิ้งในที่ห้ามทิ้ง หรือ เป็นการมักง่ายทิ้งขยะเกลื่อน ... เข้าใจว่าน่าจะเป็นประเด็นแรก
  • การแก้ปัญหา พฤติกรรมการทิ้งขยะไม่เรียบร้อย อาจจะแก้ได้บ้างโดยการติดป้ายรณรงค์ ณ ที่ตำแหน่งทิ้งขยะนั้น ๆ แต่อ่านแล้วพบว่า จะทำป้ายไปติดที่จุดสำคัญ ๆ ที่มองเห็นง่าย ซึ่งเป็นการยากที่คนจะระลึกขึ้นได้เมื่อต้องไปทิ้งขยะจริง ๆ

วัตถุประสงค์ของโครงการ
1. ปริมาณขยะบริเวณโดยรอบของมหาวิทยาลัยนั้นมีปริมาณที่ลดลง
2. ผู้คนมีพฤติกรรมทิ้งขยะเป็นที่มากขึ้น (ประเมิณจากขยะถูกทิ้งเป็นที่ ขยะเกลื่อนน้อยลง)
3. พฤติกรรมการทิ้งขยะที่ถูกปรับนั้นอยู่ได้ยาวนาน (ประเมิณจากการถอดป้ายประกาศแล้ว แต่การทิ้งขยะยังคงถูกที่ และปริมาณขยะเกลื่อนมีน้อยเหมือนเดิม)

วิพากษ์ : เขียนได้สอดคล้องและเป็นลำดับเหตุผลได้ดีครับ แต่

  • ทำให้สำเร็จได้ยากยิ่ง ด้วยการติดป้ายรณรงค์
  • ประเมินได้ยาก

ตัวชี้วัดความสำเร็จและเป้าหมาย
1. กลุ่มเป้าหมายมีเจตคติที่ดีต่อการปรับพฤติกรรมการทิ้งขยะ
2. จำนวนพื้นที่ขยะเกลื่อนลดน้อยลง
3. ระยะเวลาที่ขยะถูกทิ้งเป็นที่ยาวนานมากขึ้น


วิพากษ์ :  เจตคติ คือ ทัศนคติ มีโอกาสน้อยมากที่คนจะเปลี่ยนเจตคติด้วยการเห็นป้ายรณรงค์

๒) กลุ่มจอร์จ วอชิงตัน

1. ชื่อโครงการ:     ร่วมใจคัดแยกขยะ สู่อนาคตที่สดใส

วิพากษ์ : ชอบที่คำว่า "ร่วมใจคัดแยกขยะ" เพราะทำให้เห็นแนวทางและจุดเน้น แตะพอเพิ่มคำว่า "สู่อนาคตที่สดใส" ชื่อจึงกลายคล้ายคำกล่าว สุนทรพจน์ไป แนะนำให้กำหนดว่าใครหรือที่ไหน เช่น โครงการหอพักยุคใหม่ร่วมใจคัดแยกขยะ เป็นต้น 2. ผู้รับผิดชอบโครงการ : (ไม่แสดง)

3. หลักการและเหตุผล

ปัญหาขยะมูลฝอย (หมายถึง ขยะทั่วไปที่เกิดจากการอุปโภค บริโภค กิจกรรมทั้งหลายของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน ชุมชน ตลาด ร้านค้า และโรงงาน) ในประเทศไทยถือเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่เกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์ ซึ่ง มีปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกันในหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็น พฤติกรรมการบริโภคและการแยกขยะจากต้นทาง การจัดการขยะที่ไม่ได้มาตรฐานก่อให้เกิดมลพิษและไม่เกิดการนำกลับมาใช้ซ้ำ ปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อม เช่น ปฏิกิริยาเรือนกระจกที่มีสาเหตุจาก ขยะเทกอง ที่ปล่อยก๊าซมีเทน ซัลเฟอร์กับคาร์บอนไดออกไซต์ออกมา ปัญหาขยะในทะเลที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของสัตว์ในทะเล เป็นต้น

วิพากษ์ : อ่านแล้วเป็นเหมือนบทนำหรือเกริ่นนำในรายงานเรื่องขยะครับ ไม่เห็นปัญหา ไม่เห็นบริบทของปัญหาที่เราจะเข้าไปแก้ไข โครงการที่เราจะทำเป็นโครงการขนาดเล็ก จึงควรระบุลึกลงไปในพื้นที่หรือปัญหาให้ชัดไปเลยครับ

วิธีการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย คือ การคัดแยกขยะ นอกจากนี้ขยะมูลฝอยเป็นขยะที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้งานได้อีก ซึ่งนอกจากจะเป็นของจำพวกพลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้ เศษวัสดุเหลือใช้ เศษอาหาร ยังมีของจำพวกขยะอันตรายที่ถูกทิ้งปะปนไปกับขยะอื่นๆ เช่น ซากเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แบตเตอรี่ ที่สามารถปล่อยสารเคมีไปปนเปื้อนกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างง่ายดาย การคัดแยกขยะตามประเภทการคัดแยกขยะแต่ละประเภทควรใส่ไว้ในถุงเดียวกัน อาจจะเป็นถุงดำหรือถุงพลาสติกขนาดใหญ่และมัดปากถุงให้สนิท ก่อนนำไปทิ้งที่ถังขยะสาธารณะที่แบ่งประเภทของขยะนั้นๆ ไว้แล้ว ได้แก่ ขยะทั่วไป ,ขยะเปียก ,ขยะรีไซเคิล ,ขยะอันตราย และ การลดขยะที่ต้นทางปัญหาการเพิ่มขึ้นของขยะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากเราทุกคน การช่วยลดปัญหานี้ให้เบาลงได้คือการเริ่มสร้างจิตสำนึกของตนเองก่อนทิ้งขยะทุกครั้ง ควรแยกถังขยะออกไปตามประเภทของขยะ เพื่อการจัดการขยะในขั้นตอนต่อไปที่ง่ายลง โดยสามารถทำได้ตั้งแต่ตัวเอง ครอบครัว และชุมชน ให้มีสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีวิธีการลดปริมาณขยะให้น้อยลงได้ด้วยวิธีดังนี้

1.ลดการใช้งาน (Reduse)2.นำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse)3.นำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle)

หากปฏิบัติตามแบบแผนที่ได้กำหนดไว้ กลุ่มเป้าหมายมีจิตสำนึกในเรื่องการคัดแยกขยะ และสามารถคัดแยกขยะก่อนทิ้งได้อย่างถูกต้อง, ความรู้เรื่องการกำจัดขยะอย่างถูกวิธี ,ความรู้เรื่องการรีไซเคิลขยะ และสามารถนำขยะมารีไซเคิลได้ , รับรู้ถึงปัญหาเรื่องขยะที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งบอกแนวทาง การปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาได้ และทำให้สังคมมีความสะอาดและเรียบร้อย

วิพากษ์ :

  • เป็นการเขียนแบบหลักการหรือเชิงวิชาการ ให้พยายามเขียนให้เห็นแนวปฏิบัติให้ชัดขึ้น ใคร จะทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ฯลฯ
  • ปัญหาการเขียนโครงการของกลุ่มนี้ ไม่ใช่การเขียน ผู้เขียนมีทักษะการเขียนดี ใช้คำได้ดี ปัญหาอยู่ที่ความชัดเจนในแนวทางการเขียนครับ

4. วัตถุประสงค์ของโครงการ

4.1 เพื่อลดปริมาณขยะและกำจัดขยะอย่างถูกวิธี

4.2 สร้างจิตสำนึกที่ดีให้กับกลุ่มเป้าหมายและสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

4.3 เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

วิพากษ์ :

  • วัตถุประสงค์ 4.1 และ 4.2 มีหลายประเด็นในข้อเดียว ...ลดปริมาณขยะ กำจัดถูกวิธี สร้างจิตสำนึก สามารถนำไปใช้ได้ หลายประเด็นครับ แต่ละประเด็นต้องวัดผล จึงต้องอยู่แยกกัน
  • วัตถุประสงค์ข้อที่ 4.3 เป็นคำกว้างใหญ่ ยากจะเชื่อว่าโครงการจะสามารถทำได้ ควรกำหนดพื้นที่เป้าหมายลงไปเลย
  • การสร้างจิตสำนึก ไม่สำเร็จได้ด้วยการอบรมเพียงครั้งเดียว

5. ตัวชี้วัดความสำเร็จและเป้าหมาย

             5.1 ตัวชี้วัดความสำเร็จและเป้าหมายเชิงปริมาณ

            5.1.1 จํานวนผู้เข้าร่วมโครงการ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของกลุ่มเป้าหมาย

               5.1.2 ร้อยละของผู้เข้าอบรมนําความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ร้อยละ 50

               5.1.3 จำนวนผู้ผ่านการทดสอบความรู้ความเข้าใจเรื่อง การคัดแยกขยะ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60

            5.2 ตัวชี้วัดความสำเร็จและเป้าหมายเชิงคุณภาพ

               5.2.1 กลุ่มเป้าหมายเห็นความสำคัญในการแยกขยะ

               5.2.2 ทำให้สังคมสะอาดมากขึ้น

วิพากษ์ :

  • เขียนได้ดีครับ ถูกหลัก มีการแยกตัวชี้วัดเชิงปริมาณกับเชิงคุณภาพ แต่
  • ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ อ่านตัวชี้วัดแล้วจะเน้นไปที่ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการคัดแยกขยะ
  • ตัวชี้วัดต้องบอกได้ว่า วัตถุประสงค์สำเร็จหรือไม่

6. กลุ่มเป้าหมายและระยะเวลาดำเนินการ

6.1 กลุ่มเป้าหมาย

6.1.1 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

6.2 ระยะเวลาดำเนินการ

6.2.1 วันเริ่มโครงการ 1 เมษายน 2562 วันสิ้นสุดโครงการ 30 เมษายน 2562

วิพากษ์ :

  • กลุ่มเป้าหมายไม่ชัดเจน ให้ระบุจำนวนกลุ่มเป้าหมาย และหรือรายละเอียดให้ชัดเจนเท่าที่จะกำหนดได้
  • การกำหนดระยะเวลาดำเนินการใช้ได้ครับ

๓) กลุ่มลุ่งมิ่ง มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์

1.ชื่อโครงการ “ โครงการน้องถังถัง จัดการขยะ”

วิพากษ์ :

  • อ่านแล้วเข้าใจว่า จะทำถังขยะ ใช้ถังช่วยจัดการขยะ แต่พออ่านหลักการเหตุผลแล้วไม่ใช่ ... ชื่อให้สอดคล้องและสื่อให้ตรงกับเจตนาของโครงการครับ

2.รายชื่อสมาชิก (ไม่แสดง)

3.หลักการและเหตุผล

           คณะผู้จัดทำพบปัญหาที่เกิดขึ้น คือ มีขยะทิ้งอยู่ข้างถนนเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นการทิ้งขยะแบบไม่ถูกวิธี ทิ้งขยะไม่ถูกที่ ไม่มีการแยกขยะ ส่งผลให้มีกลิ่นเหม็น ไม่น่ามอง และถนนเส้นนี้เป็นสายหลักที่เป็นทางเข้าของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทำให้ส่งผลเสียแก่ภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัย และส่งผลเสียเรื่องสุขภาพ สุขอนามัยแก่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่

           โดยมีการวางแผน คือ สำรวจบริเวณการทิ้งขยะไม่ถูกที่ และกำหนดจุดที่วางถังขยะ ประสานงานกับเทศบาลในการจัดวางถังขยะในแต่ละจุดที่กำหนด เพื่อให้ชาวบ้านที่พักอาศัยโดยรอบพื้นที่ได้การทิ้งขยะให้เป็นจุด เพื่อแก้ปัญหาการทิ้งขยะไม่ถูกที

             ปริมาณขยะรอบ ๆถนน ถูกกำจัดอย่างถูกวิธี ทิ้งในที่ที่เหมาะสมคือ ถังขยะที่คณะผู้จัดทำได้จัดเตรียมไว้ กลิ่นเหม็นจากขยะลดลง ถนนมีความสะอาดเพิ่มขึ้น ภาพลักษณ์ของมหาลัยดีขึ้น ชาวบ้านมีสุขภาพที่ดีทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

วิพากษ์ :

  • เขียนบริบทของปัญหาได้ชัดเจนดีมากครับ ขาดแต่เพียงความสมบูรณ์ของประโยคเพื่อให้เห็นชัดขึ้น เห็นที่มาที่ไปมากขึ้น เช่น เริ่มด้วย "จากการสำรวจปัญหาขยะบริเวณถนนเส้นมหาวิทยาลัยมหาสารคามไปบ้านดอนยม พบว่า.... " เป็นต้น
  • เห็นแนวทางว่าจะสำรวจ และกำหนดจุดทิ้งขยะ แต่ไม่อธิบายถึงวิธีกำหนดอย่างไร หรือจะสร้างการรับรู้กับประชาชนผู้ทิ้งขยะอย่างไร
  • ปัญหาชัดดีแล้ว แต่วิธีการไม่ชัด ไม่สอดคล้องกับปัญหา และภาพความสำเร็จค่อนข้างเป็นภาพไกลเกิน ให้เชื่อมกับสิ่งที่จะทำ

4.วัตถุประสงค์

1. เพื่อให้มีการจัดการขยะอย่างเป็นระบบมากขึ้น

2. เพื่อลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตามมาจากขยะ เช่น ปัญหาทางด้านสุขภาพเนื่องมาจากกระจายของสารพิษและสิ่งปนเปื้อนต่างๆในขยะ

3. เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกให้แก่ชาวบ้านตามหลักสุขอนามัยที่ดี

4. เพื่อส่งเสริมภูมิทัศน์ สิ่งแวดล้อม รวมถึงภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยและชุมชนให้ดีขึ้น

5. เพื่อรณรงค์ให้เยาวชนรับรู้และตระหนักถึงปัญหาขยะที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในชุมชน

วิพากษ์ :

  • หนึ่งข้อหนึ่งประเด็น ใช้ได้ครับ แต่
  • ไม่สอดคล้องรับกับการเขียนหลักการและเหตุผล ในหลักการไม่ได้ระบบว่า ปัญหาคือ การจัดการขยะไม่เป็นระบบ
  • วัตถุประสงค์ข้อสอง วัดได้ค่อนข้างยาก คำว่าเป็น "เป็นระบบ" คืออะไร

5.ตัวชี้วัดความสำเร็จ

1. เกิดประโยชน์ที่มากมายและมีคุณค่าต่อชุมชน เช่น คนในชุมชนมีสุขอนามัยที่ดีขึ้น มีภาพลักษณ์โดยรวมที่ดีมากขึ้น

2. คนในชุมชนมีจิตสำนึกที่ดีต่อการกำจัดขยะมากขึ้น มีการจัดวางระเบียบการทิ้งขยะอย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นวิธีการทิ้ง และสถานที่ของการทิ้งขยะ


วิพากษ์ : ยังเขียนไม่ถูกต้องตามหลักนะครับ ให้กำหนดตัวชี้วัดโดยเอาวัตถุประสงค์ตั้ง แล้วพิจารณาว่า เราจะประเมินว่าวัตถุประสงค์นั้นสำเร็จ จะต้องประเมินอะไร

๔) กลุ่มพี่ตูน อาทิวรา คงมาลัย

ชื่อโครงการ โครงการรณรงค์ให้ประชาชนคัดแยกขยะก่อนทิ้ง

วิพากษ์ :

  • เขียนได้ดีครับชัดเจน ... ทำอย่างไรจะให้น่าสนใจขึ้นอีก และเหมาะสมกับสิ่งที่ทำในโครงการ

หลักการและเหตุผล

                ปัญหาขยะเป็นปัญหาใหญ่ในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันปริมาณขยะมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุของการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะมีสาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของประชากร และพฤติกรรมการทิ้งขยะไม่ถูกวิธีของมนุษย์

                ซึ่งหากคนในชุมชนมีการคัดแยกขยะก่อนทิ้งเราจะสามารถลดปริมาณขยะได้จำนวนมาก การคัดแยกขยะเราจะสามารถแยกขยะได้เป็น ขยะทั่วไป ขยะเปียก ขยะรีไซเคิล ซึ่งถ้าเราคัดแยกขยะจะมีเพียงขยะทั่วไปเท่านั้นที่เราจะทิ้งแต่ถ้าเราไม่มีการคัดแยกขยะก่อนทิ้งปริมาณขยะที่เราจะทิ้งก็จะมีปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น

                การคัดแยกขยะในครัวเรือนถือเป็นการลดปริมาณขยะจากต้นทาง และปริมาณขยะที่ต้องทิ้งก็จะลดลงอีกด้วย หากคนในชุมชนเห็นความสำคัญของการคัดแยกขยะประโยชน์ที่จะตามก็คือ สามารถมีรายได้จากการขายขยะ มีปุ๋ยและอาหารสัตว์จากเศษอาหาร และปริมาณขยะที่ทิ้งก็จะมีปริมาณลดลง

วิพากษ์ :

  • อ่านแล้วเหมือนเป็นบทนำ บทเกริ่น อารัมบท ในรายงานเรื่องขยะ
  • ไม่เห็นปัญหา ไม่เห็นบริบทของปัญหา ไม่เห็นความรุนแรงของปัญหา
  • เห็นแนวทางการแก้ปัญหา รู้ว่าจะทำอะไรแต่ไม่ชัดว่า จะทำอย่างไร
  • ทำให้เมื่อมาเขียนย่อหน้าสุดท้าย จึงกลายเป็นบทภาพฝัน หรือ ภาพใหญ่ไป

วัตถุประสงค์ของโครงการ

1. เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี

2. เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญในการคัดแยกขยะในครัวเรือน และมีการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง

3. เพื่อลดปริมาณขยะในชุมชน

วิพากษ์ :

  • วัตถุประสงค์ไม่สอดคล้องหลักการและเหตุผล ปัญหาคือ ประชาชนขาดความรู้ในการคัดแยกขยะ จึงจะสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ข้อ 1. แต่ปัญหาที่เขียนในหลักการและเหตุผลคือ ประชาชนไม่คัดแยกขยะ
  • วัตถุประสงค์ข้อ 2. มีหลายประเด็น ให้ตระหนัก และ ให้คัดแยก ควรมีประเด็นเดียวในหนึ่งข้อครับ

ตัวชี้วัดความสำเร็จและเป้าหมาย

1. ประชาชน มีความรู้เกี่ยวกับขยะประเภทต่างๆ ตลอดจนทราบถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากขยะ

2. ประชาชน มีความรู้เกี่ยวกับวิธีการลดปริมาณขยะ วิธีการคัดแยก การนำกลับมาใช้ใหม่

3. ประชาชนมีความรู้เกี่ยวกับวิธีการกำจัดขยะประเภทต่างๆ อย่างถูกวิธี

4. ประชาชนในหมู่บ้านเป้าหมายเรียนรู้ในการบริหารจัดการตนเองในการคัดแยกขยะ

5. ขยะในชุมชนมีปริมาณลดลง

วิพากษ์ :

  • ตัวชี้วัดตรงกับวัตถุประสงค์ แต่ซ้ำซ้อนกันหลายข้อ ข้อ 1. ถึง ข้อ 4. เป็นประเด็นความรู้ความเข้าใจ ทั้งหมด
  • ยังเขียนเป้าหมายไม่เป็นนะครับ เช่น ข้อ 5. ควรเขียนบอกว่า ปริมาณขยะที่ลดลง จะให้ลดลองเท่าใด อย่างน้อยเท่าใด กี่ตันต่อวัน ? ฯลฯ

๕) กลุ่มธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

1.ชื่อโครงการ: โครงการถังขยะจากว่าที่ขยะ

วิพากษ์ :

  • อ่านแล้วทำให้เกิดความสงสัย ว่า คืออะไร สร้างถังขยะ? คิดได้แต่ไม่ทันทีว่า น่าจะเป็นการนำสิ่งเหลือใช้มาสร้างถังขยะ ...
  • จะดี ถ้าอ่านแล้วรู้ได้ทันที เช่น โครงการประดิษฐ์ถังขยะจากของเหลือใช้ ฯลฯ

2.ผู้รับผิดชอบโครงการ
3.หลักการและเหตุผล

ปัจจุบันปัญหาขยะประเภทขวดพลาสติกในบริเวณหอพักหญิงมหาวิทยาลัยมหาสารคาม(เขตพื้นที่ในเมือง) มีจำนวนมาก เนื่องจากนิสิตนิยมซื้อน้ำดื่มมากกว่าการกดน้ำดื่มหยอดเหรียญจากตู้เพราะปลอดภัยจากสารปนเปื้อนน้อยกว่า จึงทำให้ขวดพลาสติกมีจำนวนมาก

โครงการถังขยะจากว่าที่ขยะเป็นการนำเอาขวดพลาสติกมาประดิษฐ์เป็นถังขยะโดยการนำขวดพลาสติกจากหอพักหญิงมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (เขตพื้นที่ในเมือง) มาประดิษฐ์เป็นถังขยะและนำไปวางไว้ที่อยู่ในหอพักหญิง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (เขตพื้นที่ในเมือง)แต่ละพื้นที่ซึ้งเป็นการลดจำนวนของขยะประเภทขวดพลาสติก

วิพากษ์ :

  • ปัญหาชัดเจนดีครับ แต่จะดีขึ้นถ้าสามารถระบุจำนวนเป็นตัวเลข ให้เห็นความรุนแรงของปัญหา
  • วิธีจะจัดการกับปัญหาก็ชัดเจนดีครับ แต่อาจมีไอเดียที่ดีกว่า เพราะขวดพลาสติกสามารถนำไปขาย รีไซเคิลได้ และปัญหาไม่ใช่ การขาดแคลนถังขยะ

4.วัตถุประสงค์ :

4.1.เพื่อประดิษฐ์ถังขยะจากว่าที่ขยะ

4.2.เพื่อสามารถลดจำนวนขยะจากขวดพลาสติก

4.3.เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับขวดน้ำพลาสติก

วิพากษ์ :

  • วัตถุประสงค์เขียนได้เป็นประเด็นดี แต่
  • ข้อ 4.1 คำว่า "ว่าที่ขยะ" เป็นภาษาพูด ไม่ใช่ภาษาเขียน และทำให้เกิดความสงสัย
  • ข้อ 4.3 ไม่ชัดว่า จะเพิ่มมูลค่าได้อย่างไร เพราะไม่ได้นำไปขาย ... หรืออาจเป็นเพิ่มคุณค่าด้วยการนำมาใช้ใหม่ ???

5. ตัวชี้วัดความสำเร็จและเป้าหมาย

5.1.จำนวนขยะขวดพลาสติกลดลง
5.2 ถังขยะจากว่าที่ขยะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง

วิพากษ์ :

  • ให้เขียนให้เป็นตัวชี้วัด ให้แตกต่างระหว่างตัวชี้วัดกับวัตถุประสงค์ เช่น จำนวนขยะขวดพลาสติกลดลง เป็นวัตถุประสงค์ ส่วน จำนวนขยะขวดพลาสติกในหอพักฯ ที่ลดลง คือตัวชี้วัด
  • และต้องเติมค่าเป้าหมายด้วย เช่น .... ลดลงร้อยละ ๒๐ เป็นต้น
  • ข้อ 5.2 ก็ต้องแก้ไขในทำนองเดียวกัน

โดยสรุปสำหรับ ๕ กลุ่มนี้ ยังพบว่า นิสิตสามารถเขียนโครงการได้ในระดับรูปแบบ แต่ยังขาดวิธีคิดและความชัดเจนตรงประเด็นในการเขียน อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีบางกลุ่มที่ยังไม่เข้าใจได้ศึกษาด้วยตนเองตามเอกสารเลย จึงทำให้การเขียนไม่ถูกต้องตามที่ได้กำหนดในเอกสารประกอบการสอนเลย

(เจอกันใหม่ในบันทึกหน้าครับ)

หมายเลขบันทึก: 661306เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2019 14:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 เมษายน 2019 15:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท