เลียบเลาะตู้หนังสือนายแผ่นดิน (21) สายน้ำและชายชรา : เรื่องเล่าจากคอนผีหลง


ผมไม่ใช่นักอ่านที่สามารถอ่านแล้วถอดรหัสประเด็นอันล้ำลึกของวรรณกรรมได้ และไม่ใช่คนอ่านที่หลงใหลวรรณกรรมที่ประดับเกียรติด้วยรางวัลต่างๆ แต่ผมชอบอ่านงานในเชิงที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งก็คงมาจากการเติบโตจากสังคมชนบทที่แวดล้อมไปด้วยความเรียบง่ายและทรงพลังของธรรมชาตินั่นเอง

การอยู่ติดบ้านในวันหยุด  ชีวิตรื่นรมย์เป็นพิเศษ  มีกิจกรรมภายในบ้านให้จัดการมากมาย  กิจกรรมทั้งปวงล้วนแล้วแต่ช่วยให้เราได้ออกกำลังกายและกำลังสมองไปในตัวอย่างรื่นรมย์  ไม่ว่าจะเป็นงานบ้าน หรือกระทั่งการสบตากับหนังสือ

ครั้งนี้ก็เช่นกัน  ผมหยิบนวนิยายเรื่อง “สายน้ำและชายชรา : เรื่องเล่าจากคอนผีหลง”  ของ “วุฐิศานติ์  จันทร์วิบูล”  ขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้ง  ซึ่งแท้จริงแล้วผมอ่านจบไปนานแล้ว  เพียงแต่ไม่มีเวลานำมาสื่อสารใน G2K  เท่านั้นเอง

นวนิยายเรื่องดังกล่าวเป็นนวนิยายขนาดสั้น  จัดพิมพ์และเผยแพร่โดยแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ  มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ (มสส.)  โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และได้รับรางวัลนวนิยายดีเด่นรางวัลลูกโลกสีเขียวประจำปี  2554

ผมได้หนังสือเล่มนี้จากน้องชายท่านหนึ่ง (บรรจง  บุรินประโคน)  เขายื่นให้กับผมในวันที่เรานัดจิบกาแฟในร้านอันคุ้นเคยของเราในเมืองมหาสารคาม  วันนั้นตรงกับวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 

นวนิยายเรื่องดังกล่าวบอกเล่าเรื่องราวของชายชราในวัย 76 ปี (อุ๊ยอินคำ) ที่ใช้ชีวิตเป็น “คนหาปลา”  ในแม่น้ำโขงมาตั้งแต่เล็กจนแก่เฒ่า ซึ่งครานี้อุ๊ยอินคำได้หาปลาในแม่น้ำโขงกับหลานชาย (มอน) ที่กลับมาเยือนบ้านเกิดในลุ่มน้ำโขงและมีโอกาสได้หาปลาร่วมกับตาอีกครั้ง โดยไม่อาจรู้ได้เลยว่านั่นคือครั้งสุดท้ายของชีวิตที่ได้ลงเรือหาปลากับตา  โดยก่อนหน้านี้เด็กหนุ่มได้พลัดบ้านไปเรียนหนังสืออยู่กับพ่อและแม่ในกรุงเทพฯ  จนแทบลืมไปเลยว่าเจ้าตัวเองก็เป็น “ลูกแม่น้ำโขง”

ผมชื่นชอบนวนิยายเล่มนี้  ไม่ใช่เพราะเป็นนวนิยายขนาดสั้น อ่านง่าย และจบในเวลาอันไม่นานนัก หากแต่ชอบในเรื่องประเด็นของการนำเสนอเรื่องสำนึกการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีทั้งสำนึกหรือกระบวนทัศน์อันคุณและโทษที่มีต่อนิเวศวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง  ดังจะเห็นได้จากวิถีของการมุ่งพัฒนาแม่น้ำโขงที่สะท้อนให้เห็นทั้งมิติการผสมผสานและปะทุปะทะกันระหว่างภูมิปัญญากับความเป็นเทคโนโลยี  ผูกโยงถึงประเด็นกระแสหลักของการระเบิดทลายเกาะแก่งและทำเขื่อนกักเก็บน้ำโขงของคนจีนที่ส่งผลต่อทิศทางการไหลของน้ำ และความแห้งเหือดของน้ำ ซึ่งมีผลต่อการดำรงชีวิตของผู้และสรรพสิ่งในลุ่มน้ำโขง


แม่น้ำโขง : สายน้ำแห่งชีวิต

ผมคงไม่สามารถบอกเล่าอะไรได้มากมายหลายประเด็น  แต่จะขอยกตัวอย่างในบางประเด็นที่ปรากฏในนวนิยายเรื่องนี้มาสื่อสาร  เพื่อเชื่อมโยงให้เห็นว่านวนิยายเรื่องนี้ได้ทำหน้าที่ในการสื่อสารความเป็นมนุษย์กับธรรมชาติอย่างไรบ้าง  เป็นต้นว่า  การบอกเล่าบทบาทและสถานนะของ “แม่น้ำโขง” หรือที่เรียกอีกชื่อว่า “แม่น้ำของ”  ซึ่งทำหน้าที่เป็นประหนึ่งสายน้ำแห่งชีวิต  หรือสายโลหิตที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนทั้งฝั่งไทยและฝั่งลาวที่มิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะการ “จับปลา” เท่านั้น  ทว่ายังช่วยให้ผู้คนได้ “ร่อนทอง” สร้างชีวิต

  • ตลอดเส้นทางขึ้นไปถึงผากันตุง  เราพบเห็นความมีชีวิตชีวาของผู้คนและสายน้ำยามบ่าย  เพราะมีคนพากันออกมาหาปลากันหลายคน  บางคนเดินทอดแหอยู่ตามหาด  บางคนตกสอดซ้อนลูกกุ้งอยู่ตามฝั่งน้ำ  บ้างปล่อยมองหลอยู่บนเรือ  หรือไม่ก็ใส่เบ็ดอยู่ตามเกาะแก่งหินผา  เหนือบ้านเมืองกาญจน์ขึ้นมาไม่ไกลนัก  เขาเห็นแม่หญิงลาวหลายคนชักชวนเด็กๆ ออกมาร่อนหาทองอยู่ตามหาด (หน้า 52)

จากข้อความข้างต้น ไม่ใช่เพียงการสื่อให้เห็นถึงการร่อยทอง  หาแต่สะท้อนให้เห็นถึงวิธีของการจับปลาของผู้คนไปในตัวอย่างเสร็จสรรพ  สะท้อน “ภูมิปัญญา”ที่ส่องทะลุให้เห็นถึง “เครื่องมือ” หรือ “อุปกรณ์การจับปลา” เช่นเดียวกับอีกห้วงหนึ่งที่การสะท้อนให้เห็นพัฒนาการอันเป็นภูมิปัญญาของการสร้างเครื่องมือล่าปลาบึกในตอนหนึ่ง

  • ในสมัยก่อนจะมีการล่าปลาบึกด้วยสะแบง  มันเป็นเหล็กแหลมคมที่ต่อเข้ากับด้ามไม้  มีลักษณะเหมือนฉมวกผูกต่อด้วยเชือกยาว ใช้พุ่งแทงปลาที่ลอยตัวขึ้นมาว่ายอยู่บนผิวน้ำ จนกระทั่งตอนหลังเครื่องมือล่าปลาบึกเริ่มพัฒนาขึ้นมาเป็นกวัก นาม และมองบึกในที่สุด (หน้า 60)

หรือการปักหมุดว่าแม่น้ำโขงเป็นศูนย์รวมของสรรพสิ่ง ผ่านมุมมองของ “มอน” หลายชายของอุ๊ยอินคำ

  • เขาไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าเกาะแก่งในแม่น้ำโขง  จะมีความสำคัญกับปลาและกับผู้คนอย่างมากมายถึงเพียงนี้  อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งชนิดขาดไปเสียไม่ได้  เพราะนอกจากเกาะแก่งหินผาจะเป็นที่อยู่อาศัย  ที่หากินวางไข่และเลี้ยงลูกจนเติบโตแล้ว  มันยังเป็นบ้านของสัตว์นานาชนิด ทั้งนก และแมลงต่างๆ อีกมากมาย  นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งทำมาหากินของผู้คนอีกด้วย  (หน้า 132)



เชื่อและศรัทธา : ไม่มีที่ใดปราศจากเรื่องเล่าและตำนาน

นิยายเรื่อง “สายน้ำและชายชรา : เรื่องเล่าจากคอนผีหลง”  สะท้อนภาพชีวิตความคิดความเชื่อ หรือความศรัทธาของผู้คนที่มีต่อสถานที่ (ตำนานบ้านตำนานเมือง) อันเป็นสายน้ำ ปลา บุคคล  หรืออื่นๆ อย่างน่าสนใจ ความเชื่อความศรัทธาเหล่านั้นผูกโยงไปสู่พิธีกรรม หรือจารีตต่างๆ  ดังเช่นในตอนที่ “อุ๊ยอินคำ” เล่าถึงตำนานการก่อเกิดหินผาต่างๆ ในลุ่มน้ำโขงที่เกี่ยวโยงกับ “ปู่ละหึ่ง” หรือ “อ้ายคำฟ้า” ที่คนเชื่อว่าเป็นบรรพชนของคนลุ่มน้ำโขงในแถวเชียงของ ประหนึ่งการปักหมุดสื่อถึงเรื่องตำนานบ้านตำนานเมือง ดังว่า

  • ในสมัยก่อนแผ่นดินไม่ได้เป็นแบบนี้ แม่น้ำไม่ได้กว้างใหญ่ถึงเพียงนี้ หากจะมีก็เพียงปู่ละหึ่งเท่านั้นที่มีร่างกายใหญ่โต ก้าวแต่ละครั้งจะมีเสียงสั่นสะเทือนเลื่อนลั่นติดตามไปทุกฝีก้าว ปู่ละหึ่งมีอาชีพเผาถ่านขาย ได้เดินทางย่ำย่างหาบถ่านไปขายตามที่ต่างๆ ทุกรอยเท้าที่ก้าวเดินกลายเป็นร่องน้ำสายน้ำหลากไหล วันหนึ่งปู่ละหึ่งหาบคอนถ่านเดินทางขึ้นไปขายทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมือง แต่ด้วยถ่านมีน้ำหนักมากเกินไปไม้คานจึงเกิดหักลง ถ่านจึงตกลงมากระจัดกระจายอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำ แล้วกลับกลายมาเป็นหินผา ซึ่งมีหินผาโขดหนึ่งอยู่ที่ริมฝั่งน้ำวัดท่ากลาง ชาวบ้านเรียกกันว่าผาถ่าน เพราะมันมีลักษณะคล้ายกองภูเขาถ่าน ซึ่งชาวบ้านวัดหลวงจะมาทำพิธีบวงสรวงกันทุกปี ส่วนไม้คานที่หักหล่นจึงเกิดเป็นบ้านเมืองกานขึ้น  (หน้า 27-28)

ในอีกมุมหนึ่ง นวนิยายเรื่องนี้ไม่ได้สื่อให้เห็นแค่มุมที่มนุษย์พึ่งพิงหรือใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงแต่เพียงฝ่ายเดียว  แต่กลับสื่อสารในมุมกลับกันให้เห็นว่ามนุษย์ให้ความเคารพยำเกรงต่อแม่น้ำโขง หรือจะเรียกว่ามีสำนึกอันดีงามต่อท้องน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตของพวกเขา  ดังจะเห็นได้จากความเชื่อว่าปลาบึกไม่ใช่ปลาธรรมดาทั่วไป  ก่อนออกล่าปลาบึกจึงต้องมีพิธีกรรมก่อนเสมอ  เช่น

  • ปลาบึกหรือปลาหึกที่แกเรียกจนเคยชินนั้น  เป็นปลาที่มีขาดใหญ่โตมาก  ผู้คนนับถือว่าเป็นปลาเทพเจ้า  ฉะนั้นก่อนที่จะมีการออกล่าปลาบึก  ชาวบ้านต้องทำพิธีบวงสรวงเทพเจ้าปลาบึก  ไหว้ผีโพ้ง  ผีสวงและผีแม่ย่านางเรือทุกครั้งก่อนออกล่า  เพราะบางบึกมีผีวงผู้เป็นใหญ่แห่งวังปลาเป็นเจ้าของ จนมีถ้อยคำที่บอกต่อกันมาว่า “ล่าไม่ได้ แต่ให้ขอ” .. .ครั้นทำพิธีไหว้ผีโพ้ง ผีลวงและผีเรือด้วยเครื่องเซ่นไหว้จำพวกเหล้าไห ไก่คู่ กระจก หวี ดอกไม้แดง และผ้าพับแล้วแกและเพื่อนจะเตรียมเรือออกไปนอนเฝ้าบนหาดของดอนแวงหลายคืน (หน้า 60)



ปัญญาปฏิบัติ : ภูมิปัญญาและการผ่องถ่ายความรู้จากรุ่นสู่รุ่น


จุดเด่นอีกจุดของนวนิยายเรื่องดังกล่าว  คือการสื่อให้เห็นถึงปัญญาปฏิบัติ หรือภูมิปัญญาของอุ๊ยอินคำที่สั่งสมมาจากการฝังตัวใช้ชีวิตหรือปฏิบัติมาอย่างโชกโชน จนเกิดเป็นความรู้และทักษะอันเชี่ยวชาญ สามารถเข้าใจปรากฏการณ์ของธรรมชาติได้อย่างดียิ่ง  และเพียรผ่องถ่ายความรู้เหล่านี้ให้กับหลานชาย  เป็นการส่งผ่านความรู้โดยมิได้สร้างความกดดันว่าหลานชายจะต้องรับช่วง แบกหามสิ่งเหล่านี้หรือไม่ 

กรณีดังกล่าวนี้เห็นได้ชัดเจนในหลายตอน  เช่นการ “ถอดรหัสธรรมชาติ”  อันเกิดจาการสั่งสมมายาวนาน หรือ “ปัญญาปฏิบัติ”ที่เข้าใจปรากฏการณ์ของธรรมชาติ  แล้วผูกโยงเข้าสู่การดำรงชีวิตด้วยการเตรียมตัวออกจับ “ปลาบึก”  ดังว่า 

  • มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า เมื่อดอกซอมพอ (เป็นชื่อเรียกดอกหางนกยูงของคนเหนือ)  แย้มบานในหน้าร้อน ชาวบ้านจะเร่งตระเตรียมมองสำหรับการล่าปลาบึก  และเมื่อเห็นฝูงนกนางนวลบินขึ้นมาจากปลายน้ำ  พรานปลาบึกจะเริ่มออกไหลมองบริเวณร่องน้ำตรงหน้าวัดหาดไคร้กับดอนแวง  เพราะพวกเขาเชื่อกันว่านกนางนวลเป็นล่ามที่จะนำพาปลาบึกให้ว่ายน้ำตามขึ้นมา” (หน้า 25) 

หรือในตอนที่อุ๊ยอินคำพูดถึงระบบนิเวศที่เปลี่ยนผ่านตามฤดูกาล ก่อเกิดระบบชีวิตในน้ำโขง ดังว่า

  • ฝนเริ่มตกลงมาบ้างแล้ว สังเกตจากสีของน้ำที่ขุ่นกว่าตอนหน้าแล้ง  มีลาหลายชนิดที่จะว่ายทวนน้ำตามกลิ่นน้ำฝนขึ้นมา  เช่น  ปลาบึก  ปลายอน  ปลาบอก ปลากด  หลังจากนั้นไม่นานพวกปลาเพี้ย ปลากว่าง  ปลาค้าว  ปลาสิกก็จะตากันขึ้นมา  และช่วงนี้ก็จะมีปลาบึกขึ้นตามมาด้วย  เพราะเป็นช่วงที่อาหารเริ่มมีความอุดมสมบูรณ์ ทั้งไก ทั้งต้นไคร้น้ำ ไคร้หางนาค  มีทั้งเศษซากสัตว์และใบไม้แห้งหมักหมม  สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอาหารของปลาทั้งนั้น (หน้า 56)

รวมถึงการ “สอนชีวิต”  ผ่านปรากฏการณ์ของธรรมชาติ  ดังว่า...

  • ช่วงน้ำลด เอ็งต้องคอยสังเกตร่องน้ำให้ดี  โดยเฉพาะร่องน้ำทางซ้ายมือ  แต่ไม่ต้องไปกลัวมันหรอก  เพราะถ้าเรายิ่งกลัว น้ำของก็จะยิ่งทำให้เราหวาดกลัวยิ่งขึ้น (หน้า 31)
  • ชายชราชี้ให้เขาดูร่องรอยสีน้ำตาลเป็นปื้นขนาดฝ่ามือทารกแรกเกิดบนหินผา  และบอว่ามันคือร่องรอยของฟันปลาเพี้ยที่มาหากินอยู่บริเวณวังน้ำแห่งนี้  ในช่วงที่ระดับน้ำท่วมสูงขึ้นมาจนสามารถกลืนกินทุกสิ่งทุกอย่าง  (หน้า 80)



สำนึกนิเวศ : ความเป็นลูกแม่น้ำโขง

นวนิยายเรื่องนี้สอดแทรกแนวคิดว่าด้วย “สำนึกนิเวศ” ได้อย่างน่าชื่นชม  ตอกย้ำให้เห็นถึงจิตสำนึกอันดีงามของ “ลูกแม่น้ำโขง” ที่ต้องปกป้องสายน้ำที่เป็นประดุจมารดา  หรือการสื่อให้เห็นการอยู่ร่วมระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ 

ประเด็นเรื่องสำนึกนิเวศ  ปรากฏพบในหลายตอน  เช่น  การลุกมาต่อต้านการสร้างเขื่อน หรือการระเบิดหินหรือแอ่งในแม่น้ำโขงของจีน  เพราะจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอันหมายถึงทั้งคนและสรรพ

  • กลุ่มนักอนุรักษ์ได้ขึ้นมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนา  โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนและการระเบิดเกาะแก่งของจีน  ด้วยต้องการช่วงชิงทรัพยากรธรรมชาติจากแม่น้ำโขง....เป้าหมายของจีนคือการทะลุทะลวงทวารของแม่น้ำโขงเพื่อออกไปสู่ทะเลจีนใต้ที่ปากแม่น้ำเวียดนาม  จึงมีโครงการระเบิดเกาะแก่งหินผาในแม่น้ำ  เพื่อสะดวกในการเดินเรือขนาดใหญ่  (หน้า 116)
  • ผลกระทบของการสร้างเขื่อนและการระเบิดแก่ง  ที่เห็นได้ชัดคือระดับน้ำที่ขึ้นลงไม่ปกติ  ซึ่งก่อผลกระทบกับคนที่หาปลาโดยตรง  เพราะปลาจะว่ายน้ำทวนน้ำขึ้นมาวางไข่และกลับลงไปตามฤดูกาลของมัน  ซึ่งระดับน้ำที่ขึ้นลงผิดปกติจะก่อความสับสนให้ปลาและอาจทำให้วงจรชีวิตของมันเปลี่ยนไป นอกจากนั้นยังมีผลต่อชาวบ้านที่ปลูกพืชผัก อยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำและคนเก็บไกในแม่น้ำ  การระเบิดแก่งทำให้ตลิ่งพังทลาย  ยกตัวอย่างที่บ้านปากอิงต้องสูญเสียที่ดินริมฝั่งไปหลายสิบไร่  (หน้า 117)

อุ๊ยอินคำ  แสดงตัวตนชัดเจนในเรื่องสำนึกที่ดีงาม  ดังจะเห็นได้จากการลุกมาประกาศตนยอมตาย เพื่อขัดขวางมิให้มีการระเบิดแก่งหินในแม่น้ำโขง 

  • ถ้ามันมาระเบิด  ผมจะไปนั่งให้มันระเบิดพร้อมกับมะหินมะผาพวกนั้น  เพราะมะหินมะผามันเป็นชีวิตของเรา  เป็นชีวิตของทุกคน  (หน้า 118)

รวมถึงการที่อุ๊ยอินคำเฝ้าฝันว่า แม้ตายไปแล้ว ก็ยังอยากเกิดมาเป็นปลาบึกเพื่อปกปักษ์รักษาแม่น้ำโขง

  • บางทีข้าอาจกลับมาอยู่ที่นี่ก็ได้ กลับมาเกิดเป็นปลาบึกอีกครั้งหนึ่ง  ข้าจะได้คอยดูแลปกป้องน้ำของอยู่ที่นี่  (หน้า 131)

สำนึกอันดีงามต่อระบบนิเวศของแม่น้ำโขง  ไม่ได้สื่อผ่านแต่เฉพาะวิธีการชูป้ายประท้วงคัดค้าน หรือยอมตาย อันเป็นจิตวิญญาณอันแรงกล้าของอุ๊ยอินคำเท่านั้น  แต่ชายชราผู้ทรงคุณค่ายังสื่อให้เห็นถึงแนวทางอื่นๆ เสมอเหมือนการสะท้อนถึงแนวทางของการบูรณาการระหว่างภูมิปัญญากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ผ่านระบบและกลไกของ "นักวิจัยชาวบ้าน" (วิจัยชุมชน)  ซึ่งอุ๊ยอินคำได้ส่งสารผ่านหลานชายในเรื่องบทบาทและสถานะของการศึกษาและคนรุ่นใหม่อย่างน่าสนใจ

  • ก็ทำเหมือนพวกครูใหญ่ทำนั่นแหละ  เขาเรียกงานวิจัยชาวบ้าน  โดยการสำรวจพันธุ์ปลา  พรรณพืช  ค้าหาภูมิปัญญาเกี่ยวกับคนลุ่มน้ำของที่ถูกหลงลืม  แล้วทำเป็นหนังสือ  เป็นแบบเรียนเพื่อให้ผู้คนได้รู้ถึงความสำคัญของน้ำของ  แต่ข้ามันเป็นคนไม่มีการศึกษา  ข้าจึงไม่เห็นวิธีอื่นที่ดีกว่าวิธีนี้  (หน้า 130)

เหนือสิ่งอื่นใด

ผมยืนยันว่า  ผมไม่ใช่นักอ่านที่สามารถอ่านแล้วถอดรหัสประเด็นอันล้ำลึกของวรรณกรรมได้  และไม่ใช่คนอ่านที่หลงใหลวรรณกรรมที่ประดับเกียรติด้วยรางวัลต่างๆ  แต่ผมชอบอ่านงานในเชิงที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก  ส่วนหนึ่งก็คงมาจากการเติบโตจากสังคมชนบทที่แวดล้อมไปด้วยความเรียบง่ายและทรงพลังของธรรมชาตินั่นเอง

ผมชื่นชอบนวนิยายเรื่องนี้  เพราะอ่านแล้วเข้าใจง่าย ไม่ต้องขบคิดตีความให้ปวดหัว  แต่นั่นก็ไม่ใช่ว่าผู้เขียนไร้ซึ่งกลวิธีเลยสักนิด  ตรงกันข้ามผมหมายถึงคุณค่าในมิติ “ง่ายและงาม” อย่างไม่ต้องกังขา 

ไว้มีเวลาจะมาขยายประเด็นเพิ่มเติม  หรือแม้แต่การตัดทอนประเด็นอื่นๆ มาแชร์อีกรอบก็แล้วกัน

หมายเลขบันทึก: 660544เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2019 11:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มีนาคม 2019 11:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

-สวัสดีครับอาจารย์-สบายดีนะครับ?-ด้วยความระลึกถึงครับ?-วรรณกรรมชีวิต….

สวัสดีครับ อ.เพชรน้ำหนึ่ง

เห็นภาพการเรียนรู้หลากวัยในชุดพื้นบ้านเช่นนี้แล้ว โลกและชีวิต ชุ่มฉ่ำกลายเป็นสีเขียวเลยทีเดียวครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท