การศึกษาคุณภาพสูงระดับโลก : 5. การศึกษาระบบสหพันธรัฐ : เรียนรู้จากออสเตรเลีย



หนังสือ A World-Class Education : Learning from International Models of Excellence and Innovation (2012) (1) เขียนโดย Vivien Stewart   แนะนำ ๕ ประเทศ สำหรับเป็นแบบอย่างการพัฒนาระบบการศึกษาที่ดี คือ สิงคโปร์  แคนาดา  ฟินแลนด์  เซี่ยงไฮ้ (จีน)  และออสเตรเลีย    ในบันทึกนี้จะเล่าเรื่องการศึกษาของออสเตรเลีย โดยตีความจากหนังสือดังกล่าว หน้า ๗๒ – ๗๘

หลักสูตรแห่งชาติออสเตรเลีย

ประเทศออสเตรเลียแบ่งเขตการบริหารเป็นรัฐ แบบเดียวกันกับสหรัฐอเมริกาและแคนาดา และระดับคุณภาพของออสเตรเลียตาม PISA ถือว่าคุณภาพสูง    สภาพในห้องเรียนคล้ายในสหรัฐอเมริกามากกว่าในอังกฤษ แม้จะเคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ    แต่คุณภาพการศึกษาดีกว่าในสหรัฐอเมริกา    เนื่องจากเป็นประเทศที่กว้างใหญ่มาก   มีเด็กที่อยู่ห่างไกล    จึงมีการใช้เทคโนโลยีช่วยการศึกษามาก    ในโรงเรียนมีเด็กที่ teleconference จากที่ห่างไกลเข้ามาเรียน ในลักษณะของการเรียนทางไกล   

แนวโน้มผลการสอบ PISA บอกว่า คุณภาพการศึกษาของออสเตรเลียถดถอยลง    นอกจากนั้นยังมีระดับความเท่าเทียม (equity) ต่ำ     จึงเริ่มปฏิรูปการศึกษาระดับประเทศ ในปี ค.ศ. 2008   มีกระบวนการปรึกษาหารือระหว่างรัฐต่างๆ    มีการพัฒนาเป้าหมายและกรอบการทำงาน (framework) ระดับประเทศในปี 2009    

วิสัยทัศน์ของหลักสูตรคือ “เพื่อพัฒนาเยาวชนออสเตรเลีย ให้มีทักษะ ความรู้ ความเข้าใจ และความสามารถ ในการอยู่ร่วมและก้าวหน้าในสังคม   รวมทั้งมีความสามารถในการแข่งขันในโลกแห่งโลกาภิวัตน์    มีความสามรถประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานในอนาคตที่ต้องใช้ข้อมูลที่ซับซ้อน    หลักสูตรดังกล่าวจะต้องเข้าถึงเยาวชนออสเตรเลียทุกคน  ไม่ว่าจะอยู่ในครอบครัวที่มีเศรษฐฐานะใด หรืออยู่ในโรงเรียนใด”    เป็นวิสัยทัศน์ที่เน้นความเท่าเทียม (equity) อย่างชัดเจน

หลักสูตรใหม่นี้ครอบคลุมตั้งแต่ชั้นอนุบาล ถึงเกรด ๑๒   เน้นการเรียนเป็นรายวิชา   โดยดำเนินการเป็น ๓ ขั้นตอน 

  • ขั้นตอนแรก วิชา ภาษาอังกฤษ  คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และประวัติศาสตร์ 
  • ขั้นตอนที่สอง  วิชา ภูมิศาสตร์  ภาษาต่างประเทศ  และศิลปะ
  • ขั้นตอนที่สาม วิชา ไอซีที  การออกแบบและเทคโนโลยี  เศรษฐศาสตร์  และหน้าที่พลเมือง   

แม้ว่าหลักสูตรจะเน้นรายวิชา    แต่ก็คำนึงถึงการพัฒนาขีดความสามารถทั่วไปด้วย เช่น ความริเริ่มสร้างสรรค์  การเป็นคนดีมีจริยธรรม  ความเข้าใจคนต่างวัฒนธรรม  อ่านออกเขียนได้  คิดเลขเป็น  จัดการตนเอง  ทักษะทางสังคม  การทำงานเป็นทีม  และทักษะการคิด  

หลักสูตรยังเอาใจใส่ “cross curriculum themes” ได้แก่ โลกทัศน์ของคนพื้นเมือง  เอเซียและความผูกพันของออสเตรเลียต่อเอเซีย  รวมทั้งการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน   

ประเด็นสำคัญเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา แม้ว่าหลักสูตรจะไปทางแนวอนุรักษ์นิยม (เน้นรายวิชา) คือการกำหนด ความคาดหวังสูงต่อนักเรียนทุกคน (หลักการ High expectation, High support)     

เอกสารหลักสูตรอยู่บน ออนไลน์    และมีการพัฒนา national digital resource เชื่อมกับหลักสูตร   

ข้อมูลและการสื่อสารสาธารณะ

มีการจัดตั้ง ACARA (The Australian Curriculum, Assessment, and Reporting Authority) โดยรัฐสภาของประเทศ ในปี 2008   หน่วยงานนี้มีสภารัฐมนตรีศึกษาธิการของทุกรัฐทำหน้าที่กำหนดนโยบาย    ACARA ทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบผลสัมฤทธิ์ของระบบโรงเรียน โดยจัด National Assessment of Literacy and Numeracy ต่อนักเรียนเกรด ๓, ๕, ๗, ๙    นอกจากนั้นยังมีการสุ่มสอบนักเรียนในบางวิชา เช่น วิทยาศาสตร์  หน้าที่พลเมือง  ความสามารถด้าน ไอซีที เป็นต้น    ACARA ทำหน้าที่เชื่อมโยงออสเตรเลียกับการทดสอบนานาชาติ เช่น PISA, IEA 

อีกมาตรการหนึ่งคือ สร้างความโปร่งใสของผลสัมฤทธิ์ของแต่ละโรงเรียน (ทั้งประเทศมีกว่า ๑๐,๐๐๐ โรงเรียน) ต่อสาธารณชน โดยจัดตั้งเว็บไซต์ MySchool (2) เปิดเผยข้อมูลของแต่ละโรงเรียนต่อพ่อแม่ ครู และประชาชนทุกคน               

  

 Australian Institute for Teaching and School Leadership

จัดตั้งในปี 2010 (3) ทำหน้าที่ส่งเสริมความเป็นเลิศของอาชีพครูและภาวะผู้นำทางการศึกษา    โดยดำเนินการ

  • พัฒนามาตรฐานวิชาชีพครูที่มีมาตรฐานสูง
  • ดำเนินการให้การรับรอง (accreditation) หรือให้ใบประกอบวิชาชีพครู ตามมาตรฐานที่กำหนด
  • ดำเนินการรับรองหลักสูตรการผลิตครูระดับชาติ
  • ส่งเสริมการพัฒนาวิชาชีพครูประจำการ
  • เชื่อมโยงกับการวิจัยและพัฒนาระดับนานาชาติ
  • ทำงานร่วมกับภาคี เช่น สหภาพครู  ธุรกิจ  กลุ่มโรงเรียน  และ ACARA

ความท้าทายด้านการศึกษาของออสเตรเลีย

เนื่องจากหนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ปี 2012    ข้อมูลของการปฏิรูปอย่างดีก็น่าจะถึงปี 2011    โดยที่ในทางปฏิบัติการปฏิรูปเริ่มปี 2010     จึงเร็วเกินไปที่จะประเมินผลการปฏิรูป    ในเชิงหลักการ ความท้าทายหลักๆ มี ๓ ประการคือ

  1. 1. โรงเรียนในออสเตรเลียมีความแตกต่างหลากหลายมาก    การประยุกต์หลักการที่กล่าวข้างต้นจึงต้องคำนึงถึงรายละเอียดที่ซับซ้อน
  2. 2. การเน้นช่วยเหลือโรงเรียนที่อ่อนแอเป็นพิเศษ
  3. 3. การเปลี่ยนหลักสูตรผลิตครู  และการพัฒนาครูประจำการ ให้ทำงานสนองหลักสูตรใหม่อย่างได้ผลดี  

ข้อเรียนรู้ต่อวงการศึกษาไทย

นี่คือการตีความของผมเอง ไม่ได้ระบุในหนังสือแต่อย่างใด   

แม้ว่าคุณภาพการศึกษาของออสเตรเลียตามผลการทดสอบนานาชาติจะสูงอยู่แล้ว  ออสเตรเลียก็ยังมุ่งมั่นยกระดับ เพื่อสร้างคุณภาพพลเมืองให้แข่งขันได้    โดยมีจุดเน้นสำคัญที่สุดคือคาดหวังผลลัพธ์การเรียนรู้ในระดับสูงสำหรับนักเรียนทุกคน     ซึ่งเป็นการเน้นความเท่าเทียม (equity) ในการศึกษานั่นเอง     ผมเรียกว่าเป็นนโยบาย High expectation for all    เป็นประเด็นท้าทายในการปฏิรูปเชิงโครงสร้างของระบบการศึกษาไทย     ซึ่งเราเพิ่งมี กสศ. ซึ่งได้รับการจัดตั้งในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ ทำหน้าที่นี้

ผู้เขียน (Vivien Stewart) บอกว่า   ในออสเตรเลีย หาง (การประเมิน) ไม่กระดิกหมา (ระบบการศึกษา) เป็นตัวอย่างที่ดี     แต่เขาไม่ได้อธิบายรายละเอียดว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น    ผมจึงขอเดาจากการอ่านระหว่างบรรทัดว่า เขาเน้นใช้ระบบประเมิน (รับผิดชอบโดย ACARA) เพื่อ feedback ระบบ    ไม่ใช่เพื่อเน้นบอกเป็นรายโรงเรียนว่าโรงเรียนไหนดีไม่ดี    คือเน้นเป็น formative assessment มากกว่าเป็น summative evaluation   

ขอขอบคุณ นพ. สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ. ที่กรุณาส่งหนังสือเล่มนี้มาให้   

วิจารณ์ พานิช

๖ ม..ค. ๖๒


หมายเลขบันทึก: 660099เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2019 17:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2019 17:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท