หลักสูตรที่เรียนรู้และปรับตัว ผ่านการบริหารหลักสูตรแบบ inquiry-based



ในการประชุมสภาวิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๒    มีการนำเสนอขออนุมัติหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (ศึกษาศาสตร์)  หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต  และหลักสูตรด้านการศึกษาอื่นๆ รวม ๕ หลักสูตร ที่เป็นหลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๖๒   สำหรับใช้ในปีการศึกษา ๒๕๖๒    ที่ต้องปรับปรุงก็เพราะมีการลดจำนวนปี จาก ๕ เป็น ๔ ปี    โดยที่หลักสูตร ๕ ปี ใช้มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๗

ผมพยายามอ่านลงรายละเอียดเพื่อจับสาระระหว่างบรรทัดว่า หลักสูตรที่เขียนมีกลไกของการเรียนรู้และปรับตัวของหลักสูตร และวิธีประยุกต์ใช้หลักสูตรหรือไม่  

เอกสารหลักสูตรนี้มี ๘ หมวด ตามเกณฑ์ของ สกอ.   ที่ผมชอบคือมีหมวดที่ ๖ การพัฒนาคณาจารย์    ซึ่งเมื่อเข้าไปอ่านรายละเอียด พบว่ามี ๒ ส่วนคือ (๑) การเตรียมอาจารย์ใหม่  (๒) การพัฒนาความรู้และทักษะให้แก่อาจารย์    ซึ่งผมตีความว่า เขียนภายใต้กระบวนทัศน์ที่ล้าหลังทางการศึกษา   (ผมอาจตีความผิด)    เพราะเป็นกระบวนทัศน์ของ passive learning   ไม่ใช่  inquiry-based learning  

Inquiry-based curriculum management จะนำไปสู่การเรียนรู้ร่วมกันของอาจารย์ที่สอนในหลักสูตร    ทำให้หมวดที่ ๖ เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกันของคณาจารย์    ผ่านการตั้งคำถาม เช่น ผลการเรียนรู้ที่ระบุในหมวดที่ ๔ ผลการเรียนรู้ กลยุทธการสอน และการประเมินผล    เมื่อนำไปใช้สอนในสถานการณ์จริง นักศึกษาทุกคนเกิดการเรียนรู้ระดับ mastery learning หรือ deep learning หรือไม่     รู้ได้อย่างไรว่าเกิด   หากนักศึกษาบางคนไม่เกิด จะช่วยเหลืออย่างไร    

 Inquiry-based curriculum management จะนำไปสู่ระบบการจัดการหลักสูตรที่มี Embedded CQI (Continuous Quality Improvement) ของการเรียนการสอนโดยปริยาย   

การจัดการหลักสูตรด้วยท่าที “ไม่มั่นใจ มีข้อสงสัย” ว่าจะทำให้บัณฑิตทุกคนมีผลลัพธ์การเรียนรู้ตามที่เขียนในหลักสูตร   ในลักษณะที่เป็น deep learning หรือไม่   จะนำไปสู่ “การจัดการหลักสูตรแบบเรียนรู้และปรับตัว” (learning and adaptive curriculum management)   มีผลให้เกิดการสร้างวัฒนธรรมเรียนรู้ตลอดชีวิตขึ้นในวงการศึกษาไทย    โดยที่ผมตีความว่า ในปัจจุบันระบบการศึกษาไทยพร่องสมรรถนะและวัฒนธรรมนี้  

การจัดการหลักสูตรแบบดังกล่าว จะทำให้บัณฑิตศึกษาศาสตร์ครุศาสตร์ ได้วัฒนธรรมเรียนรู้จากการทำงานในหน้าที่ครูไปตลอดชีวิต    ทำให้โรงเรียนและชั้นเรียนเป็นพื้นที่เรียนรู้ของครูด้วย ไม่ใช่แค่พื้นที่เรียนรู้ของนักเรียน 

อ่านระหว่างบรรทัด จากเอกสารหลักสูตร    ผมตีความว่าเป็น Defensive Curriculum Management    คือมุ่งทำตามข้อกำหนดของ สกอ.   ไม่ได้มุ่งทำให้บัณฑิตมีสมรรถนะในการเป็นครูแห่งศตวรรษที่ ๒๑ อย่างแท้จริง    คือเป็น rule-based curriculum  ไม่เป็น result-based curriculum    

ในที่ประชุม มีผู้ถามเรื่องวิธีการจัดการเรียนรู้เพื่อบรรลุเป้าหมายสมรรถนะที่กำหนด    ได้คำตอบว่า กิจกรรมหลักอย่างหนึ่งคือ WIL (Work-Integrated Learning)  ซึ่งก็คือการฝึกงานในโรงเรียน    ซึ่งก็มีทั้งที่นักศึกษาไปฝึกที่โรงเรียนดี ได้รับการฝึกที่ดี    กับนักศึกษาโชคร้าย ไปฝึกที่โรงเรียนอ่อนแอ ก็จะได้ฝึกน้อย   หรือไปเผชิญสภาพที่ไม่ดี    ทำให้ผมเกิดข้อสงสัยเรื่องการจัดการการไปฝึกงานในโรงเรียน   ท่านคณบดีคณะศึกษาศาสตร์จึงอธิบายว่า มีการเลือกโรงเรียนตามเกณฑ์ของคุรุสภา และตามผลการประเมินของ สมศ.    แต่หลังจาก สมศ. ถูกยุบก็ไม่มีเกณฑ์ของ สมศ. ให้ใช้    คำอธิบายนี้ยิ่งทำให้ผมมีข้อสงสัยเรื่องการจัดการหลักสูตร   

ผมได้ให้ความเห็นต่อที่ประชุมว่า    ที่เสนอมานั้น เพื่อสนองข้อกำหนดของ สกอ.  ซึ่งก็ควรทำ แต่ควรเอาจริงเอาจังในภาคปฏิบัติ เพื่อเป้าหมายบัณฑิตคุณภาพสูง     ออกไปเป็นครูที่ดีมีความสามารถ    และได้เสนอแนะว่า ต้องมีการจัดการให้เกิดการเรียนรู้คุณภาพสูงจาก WIL    โดยมีการดำเนินการ

  • กำหนดเกณฑ์ในการเลือกโรงเรียนฝึก ที่ไม่ใช่แค่อิง สมศ. และคุรุสภา    ต้องพิจารณาคุณภาพของการจัดการเรียนการสอน และวัฒนธรรมการทำงานที่ดีของโรงเรียน
  • โรงเรียนนั้นต้องมีครูสอนเก่ง (master teacher)  ทำหน้าที่เป็นโค้ช หรือเป็นพี่เลี้ยง (mentor) ให้แก่นักศึกษาที่ไปฝึกงาน
  • มีการทำความตกลงความร่วมมือกับโรงเรียน    ในการโค้ชนักศึกษาฝึกสอน โดยครูสอนเก่ง    และจัดระบบให้การมีนักศึกษาไปฝึกสอน ก่อผลดีต่อการพัฒนาโรงเรียน    และมีการเก็บข้อมูลใช้เป็น feedback นำมาใช้พัฒนาการจัดการหลักสูตร
  • มีการทำ Reflection  และกำหนดให้นักศึกษาเขียน reflective journal ลงใน social media ของนักศึกษาในกลุ่ม เพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน   และให้อาจารย์ที่ปรึกษาเข้าไปอ่านและทำหน้าที่ online coaching    เพื่อให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ที่ลึกและเชื่อมโยง    และเกิด transformative learning ได้ผลที่นักศึกษาเกิดภาวะผู้นำ   จบออกไปเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง     

วิจารณ์ พานิช

๒๑ ม..ค. ๖๒


หมายเลขบันทึก: 659791เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2019 14:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2019 14:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท