“ช้าๆ ณ คร๊าฟ” ฝึกสร้างสมาธิด้วยใจตัวเอง


“ทักษะชีวิตเพื่อการพึ่งพาตนเอง สู่การสร้างเสริมสุขภาวะ”

            ทุกสัปดาห์น้องๆ นักเรียนโรงเรียนชุมชนวัดท่าผา อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ราว 20 คน จะจับกลุ่มจดจ่อกับการทำกิจกรรมบางอย่างอย่างขะมักเขม้นอย่างมีความสุข

    อย่างเช่นสัปดาห์นี้น้องๆ กำลังใช้ดินสอขีดเขียนลงบนชิ้นกระดาษแผ่นเล็กๆ ที่ดูแปลกตา และน่าแปลกใจ ว่า คืออะไร

            น.ส.ปริศนาลักษณ์ เครือเมฆ  เฉลยว่า ที่น้องๆ กำลังวาดอยู่นั้น เรียกว่าภาพวาดเซนแทนเกิล เป็นกิจกรรมที่ทำง่ายๆ เพียงมีดินสอและกระดาษแผ่นเล็กๆขีดเขียนลาดเส้น ก็ทำได้แล้ว โดยเรามีลายเส้นตัวอย่างให้วาดตาม แล้วให้ทุกคนปล่อยจินตนาการลากเส้นไปตามใจนึกของตัวเอง

            เซนแทนเกิล เป็นศิลปะที่ก่อให้เกิดสมาธิ คือการวาดภาพแนวนามธรรมที่สร้างขึ้นโดยใช้ลวดลายซ้ำๆ ซึ่งมีหลายแพทเทิร์นบนพื้นที่กรอบสี่เหลี่ยมขนาด 3.5 ตางรางนิ้ว และจะต้องใช้หมึกดำวาดบนกระดาษขาวโดยสามารถใช้ดินสอสีเทาแรเงาได้ ไม่มีการวางแผนล่วงหน้า มีอิสระ ไม่มีเทคโนโลยีอุปกรณ์พิเศษมาช่วย

          การวาดภาพเซนแทนเกิลจึงเป็นการทำสมาธิอย่างหนึ่ง ช่วยให้มีจิตใจผ่อนคลาย ควบคุมจิตใจให้มีสมาธิและมั่นคงมากขึ้น และเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ ช่วยปรับอารมณ์ทำให้สงบเมื่อมีความเครียด เพิ่มความมั่นใจให้กับตนเอง

            กิจกรรมการวาดภาพเซนแทนเกิล เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “ช้าๆ ณ คร๊าฟ” ที่ทางโรงเรียนได้จัดทำขึ้น ภายใต้ชุดโครงการ “ทักษะชีวิตเพื่อการพึ่งพาตนเอง สู่การสร้างเสริมสุขภาวะ” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)   

 ช้าๆ ณ คร๊าฟ  เป็นกิจกรรมที่นำเอานักเรียนชั้น ป.5-ป.6 ร่ววกับเด็กพิเศษอีกจำนวนหนึ่งมาทำกิจกรรมประดิษฐ์ศิลปะจากระดาษ “เปเปอร์มาเช่” และต่อยอดไปเป็นผลิตภัณฑ์สามารถจำหน่ายได้ และยังมีกิจกรรมเสริมในการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลเพื่อจัดทำแผนที่ชุมชนเพื่อปักหมุดพื้นที่อันตรายและพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชน

ปริศนาลักษณ์ ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ “ช้าๆ ณ คร๊าฟ” บอกถึงที่มีของโครงการว่า เรามองว่าเดี๋ยวนี้เด็กไม่มีสมาธิ  อยู่นิ่งไม่ได้เลย เราเลยอยากมาทำกิจกรรมให้เด็กๆ ช้าลง ให้อยู่กับตัวเองบ้าง จัดการจัดของตัวเอง ได้เจอตัวเอง ได้เจอใจตัวเอง เพราะเวลาเราไปอยู่กับคนอื่น เราก็จะไปมองแต่คนอื่น  ถ้าจัดการใจของตัวเองให้แข็งแรงแล้วก็สามารถไปช่วยเหลือคนอื่นได้

            ก่อนที่จะเริ่มทำกิจกรรมในแต่ละครั้ง สิ่งแรกที่น้องๆ ต้องทำคือ จัดการใจตัวเองให้สงบก่อน ด้วยการวาดภาพเซนแทนเกิล

เซนแทนเกิล ซึ่งถือเป็นลายเส้นเพื่อการบำบัด สามารถใช้กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้ เราเลยเอามาลองใช้กับเด็ก โดยเลือกลายที่คิดว่าเขาเข้าใจง่าย แต่ละคนก็จะวาดออกมาไม่เหมือนกัน ตามจินตนาการ ซึ่งลวดลายที่ออกมาแต่ละครั้งสามารถบ่งบอกภายในใจของผู้วาดขณะนั้นเป็นอย่างไร เช่น บางคนชอบวาดรูปกลมๆ ไม่กล้าวาดเหลี่ยม แสดงว่า เป็นคนไม่กล้าพูดอะไรตรงๆ

“มันไม่ใช่การรักษา แต่ช่วยให้เขามีสมาธิมากขึ้น เพราะเด็กส่วนใหญ่ไม่มีสมาธิ ทำให้เขาอยู่กับตัวเองมากขึ้น เขาช้าลง จะรู้จักตัวเองมากขึ้น เขาจะเบาลง เวลาเขาไม่มีความสุข ไม่สบายใจ ไม่มีใครก็มาอยู่กับเซนแทนเกิลเพื่อผ่อนคลาย บรรเทาใจให้เย็นลง” ปริศนาลักษณ์ เผยถึงสิ่งที่ได้จากศิลปะแขนงนี้

          กิจกรรมนอกห้องเรียนมีความสำคัญในการช่วยเสริมให้เด็กเรียนรู้และมีพัฒนาการได้อย่างไรนั้น ปริศนาลักษณ์ ในฐานะที่มีประสบการณ์และเป็นกระบวนกรให้กับโรงเรียนหลายแห่ง ให้ความเห็นว่า กิจกรรมเราใช้ในช่วง “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” กิจกรรมนอกห้องเรียนบางอย่าง เขาได้ลงมือ ได้สนุก เราจะรู้สึกไม่เหมือนการเรียน บางคนเรียนไม่ได้แต่อาจจะชอบศิลปะ หรือมีความสามารรเป็นเลิศด้านอื่นๆ ก็ได้  ฉะนั้นในห้องเรียนจึงไม่ใช่ทำอย่างเสมอไป

เช่นเดียวกับกลุ่มเด็กพิเศษที่สังคมอาจจะมองตัวเองว่าไม่ได้เรื่อง เป็นภาระ แต่ถ้าเราฝึกได้เขาได้อยู่ร่วมกันในสังคมให้เขาช่วยเหลือตัวเองได้ และยอมรับในความพิเศษที่ไม่เหมือนกัน ส่งเสริมให้เขาในทางที่ควรจะเป็นเขาก็จะดีได้ ดังนั้นเราเชื่อว่าใน 9 สัปดาห์ของกิจกรรมช้าๆ ณ คร๊าฟ จะทำให้เด็กมีความมั่นใจในตัวเอง และมีสมาธิ จัดการใจ และมีความสุขกับตัวเองมากขึ้น

น.ส.อัจฉริยา สิทธิกิตติศรี ผู้รับผิดชอบชุดโครงการ “ทักษะชีวิตเพื่อการพึ่งพาตนเอง สู่การสร้างเสริมสุขภาวะ” อธิบายเป้าหมายของชุดโครงการให้ฟังว่า เรามองหาพื้นที่หรือชุมชนที่ทำงานด้านนี้ทั้งในระบบและนอกระบบที่ต้องการการสนับสนุน เราก็จะลงมาช่วยกัน พัฒนาโครงการร่วมกัน โดยเน้นการปฏิบัติ ไม่เน้นผลลัพธ์ เน้นผลที่เกิดขับกับเด็กให้ทำเป็นพัฒนาต่อยอดเกิดเป็นทักษะชีวิต(Lifeskill) จนมีความรู้ ชำนาญ และมีใจในการทำงานร่วมกัน

ทั้งนี้โครงการอาจะไม่ตอบโจทย์สำหรับเด็ก แต่ทำให้เขาเห็นโลกภายนอก ด้วยการมีส่วนร่วม สามารถสร้างสรรค์ผลงานออกมาสวยงามได้

ความซน ไม่นิ่ง กับเด็กๆ มักเป็นของคู่กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กในยุคปัจจุบัน ซึ่งมีสิ่งเร้าความกระตุ้นความสนใจมากมาย จนอาจนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่ดีในการปรับตัวอยู่ในสังคมในอนาคตได้ ดังนั้นการฝึกเด็กให้มีสมาธิ สงบนิ่ง จัดการจัดตัวเองในสิ่งทางที่ถูกที่ควร อย่างเช่น “ช้าๆ ณ คร๊าฟ” จึงเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญในการพัฒนาเด็กให้เพรียบพร้อมกับการเป็นอนาคตของชาติที่มีคุณภาพ

หมายเลขบันทึก: 659775เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2019 09:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2019 09:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท