สาราณียธรรม 6


สาราณียธรรม 6

โสภณ จาเลิศ

              มนุษย์เป็นสัตว์สังคม อยู่ร่วมกันเป็นหมู่เหล่า หากสังคมใดมีผู้คนที่มีความรักความสามัคคีต่อกัน รักใคร่เห็นอกเห็นใจ มีความปรารถนาดีต่อกัน สังคมนั้นย่อมอยู่ร่วมกันอย่างสันติ สงบสุข จะทำการสิ่งใดย่อมได้รับความร่วมมือจากสมาชิกของสังคม ก่อให้เกิดความสำเร็จทั้งปวง พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสหลักธรรมที่เป็นการเสริมสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในสังคมไว้มากมาย ในที่นี้จะกล่าวถึงหลักธรรมที่เรียกว่า "สาราณียธรรม 6"

             พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)  ได้กล่าวถึง สาราณียธรรม 6 ว่า เป็นธรรมที่เป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกัน, ธรรมที่ทำให้เกิดความสามัคคี, หลักการอยู่ร่วมกัน (state of conciliation: virtues for fraternal livings) ประกอบด้วย

            1. เมตตากายกรรม หมายถึง ตั้งเมตตากายกรรมในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือช่วยเหลือกิจธุระของผู้ร่วมหมู่คณะด้วยความเต็มใจ แสดงกิริยาอาการสุภาพ เคารพนับถือกันทั้งต่อหน้าและลับหลัง (to be amiable in deed, openly and in private)

            2. เมตตาวจีกรรม  หมายถึง ตั้งเมตตาวจีกรรมในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ ช่วยบอกแจ้งสิ่งที่เป็นประโยชน์ สั่งสอน แนะนำตักเตือนด้วยความหวังดี กล่าววาจาสุภาพ แสดงความเคารพนับถือกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง (to be amiable in word, openly and in private)

            3. เมตตามโนกรรม หมายถึง ตั้งเมตตามโนกรรม ในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือตั้งจิตปรารถนาดี คิดทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่กัน มองกันในแง่ดี มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสต่อกัน (to be amiable in thought, openly and in private)

            4. สาธารณโภคิตา (หรือ สาธารณโภคี) หมายถึง ได้ของสิ่งใดมาก็แบ่งปันกัน คือ เมื่อได้สิ่งใดมาโดยชอบธรรม แม้เป็นของเล็กน้อย ก็ไม่หวงไว้ผู้เดียว นำมาแบ่งปันเฉลี่ยเจือจาน ให้ได้มีส่วนร่วมใช้สอยบริโภคทั่วกัน (to share any lawful gains with virtuous fellows) ข้อนี้ ใช้ อัปปฏิวิภัตตโภคี ก็ได้ สำหรับข้อที่ 4 นี้    วีรศักดิ์ ปอ สุรเมธี ใช้ว่า “สาธารณโภคี” หมายถึง การรู้จักแบ่งปันผลประโยชน์กันด้วยความยุติธรรมช่วยเหลือกัน ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ไม่เอารัดเอาเปรียบ และมีความเสมอภาคต่อกัน เอื้อเฟื้อซึ่งกันและกันอยู่เสมอ

            5. สีลสามัญญตา หมายถึง มีศีลบริสุทธิ์เสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ มีความประพฤติสุจริตดีงาม ถูกต้องตามระเบียบวินัย ไม่ทำตนให้เป็นที่น่ารังเกียจของหมู่คณะ (to keep without blemish the rules of conduct along with one’s fellows, openly and in private)

            6. ทิฏฐิสามัญญตา หมายถึง มีทิฏฐิดีงามเสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ มีความเห็นชอบร่วมกัน ในข้อที่เป็นหลักการสำคัญที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้น สิ้นทุกข์ หรือขจัดปัญหา (to be endowed with right views along with one’s fellows, openly and in private)

เอกสารอ้างอิง

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 
                 24. รุงเทพฯ: โรงพิมพ์พระพุทธศาสนาของธรรมสภา, 2556. หน้า 200 – 201.
วีรศักดิ์ ปอ สุรเมธ. สาราณียธรรม 6. [ออนไลน์] แหล่งที่มา:  https://www.gotoknow.org/
                  posts/460447 [7 ก.พ. 2562.]

             


โปรดคลิกที่นี่     https://forms.gle/uC4kjHi79az3NXyJ9  

[email protected]


 


 

หมายเลขบันทึก: 659770เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2019 17:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มกราคม 2023 17:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท