ฝึกทักษะวิจัยสองยุค



        การเสวนาในที่ต่างๆ ในช่วงนี้ นำผมสู่หัวข้อบันทึกนี้   

            กว่าห้าสิบปีมาแล้ว ผมเริ่มเข้าสู่วงการวิจัย    โดยเข้าทำงาน (ฝึก) ในสำนักอานันทราช มี ศ. คุณ พญ. สุภา ณ นคร  และ ศ. นพ. ประเวศ วะสี เป็นเจ้าสำนัก    ทุกเช้าวันเสาร์ ระหว่างเวลา ๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น.  มีกิจกรรม Journal Club   โดยกำหนดตัวผู้อ่านรายงานผลการวิจัยมานำเสนอ ๒ คนต่อครั้ง    ผมได้เรียนรู้วิธีค้นหารายงานผลงานวิจัยที่นำเสนอความรู้ใหม่ที่น่าสนใจ ในวารสาร    หลายครั้งอ่านแล้วก็ไม่เข้าใจหรือเข้าใจไม่ทะลุ ก็ต้องอ่านเอกสารอ้างอิงที่ช่วยไขความกระจ่าง    เพื่อให้ผมสามารถนำเสนอได้อย่างชัดเจน    หรือหากถูกถามก็ตอบได้   

ได้เรียนรู้วิธีพูดเสนอในการประชุม ที่ทีความชัดเจน น่าสนใจ    โดยเรียนจากตัวอย่างของอาจารย์    ผมฟังการเสนอของอาจารย์หมอประเวศ ที่ช่วยให้เข้าใจง่าย ด้วยความพิศวง     และตั้งคำถามกับตนเองว่า ทำอย่างไรผมจึงจะมีความสามารถสักครึ่งหนึ่งของท่าน   

จากบรรยากาศ และสาระของความก้าวหน้าทางวิชาการ ที่เรียนจาก Journal Club   จากบรรยากาศการทำงาน    และจากการอ่านตำรา และจากการขยันอ่านรายงานผลการวิจัยในวารสารวิชาการ    ผมเริ่มเรียนรู้วิธีตั้งโจทย์วิจัย    วิธีทบทวนวรรณกรรมเรื่องที่มีความสำคัญ    วิธีเขียนบทความทบทวนวรรณกรรมลงตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ โดยเริ่มที่สารศิริราช   

สมัยนั้น การทบทวนสภาพความรู้ (state of knowledge) ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งด้านการแพทย์ ใช้วิธีค้นในเอกสาร Index Medicus หาผลงานตีพิมพ์ตามคำหลักที่เรากำหนด    แล้วตามไปอ่านต้นฉบับในวารสาร    วารสารที่ไม่มีในห้องสมุด ก็ขอให้ทางห้องสมุดขอ inter-library loan ได้สำเนาบทความมาจากต่างประเทศ รอประมาณ ๑ เดือน  

จากความรู้เรื่อง state of knowledge ว่าโลกเขารู้อะไรบ้างแล้วในเรื่องที่เราสนใจ  และความรู้ใดที่ยังเป็นช่องว่าง หรือยังไม่รู้    ก็จะเป็นโอกาสให้เราตั้งโจทย์ทำวิจัยเพื่อเพิ่มความรู้ของโลก    ก็จะเป็นโอกาสให้เมื่อทำวิจัยเสร็จก็จะมีโอกาสสูงที่จะได้รับการตีพิมพ์ในวารสารชั้นดี    รวมทั้งได้รู้ว่า ผลงานวิจัยของเราน่าจะส่งไปขอตีพิมพ์ในวารสารใด  

สมัยนี้ โลกวิชาการเปลี่ยนไป ทั้งขนาด  ความเร็ว  และความสะดวกในการค้นคว้า     ทำได้เร็วผ่าน internet    แต่จำนวนรายงานผลการวิจัยเพิ่มขึ้นมากมาย    และเป็นที่รู้กันว่าบางรายงานก็ไม่น่าเชื่อถือ จากหลากหลายปัจจัย    จึงเกิดศาสตร์ที่เรียกว่า evidence synthesis  และ meta-analysis    ในการรวบรวม คัดกรอง รายงานผลงานวิจัย โดยใช้ ไอที ช่วย    จนเหลือเฉพาะรายงานวิจัยจำนวนน้อย ที่พอดีกำลังนักวิจัยจะเข้าไปอ่านเอง     และใช้ ไอที ช่วยจัดกลุ่ม visualize ผลสรุปที่แตกต่างระหว่างผลงานวิจัยที่หลากหลาย ในแต่ละแง่มุม   

นักวิจัยยุคใหม่ ต้องทำ evidence synthesis  และ meta-analysis เป็น    เพื่อนำไปสู่การตั้งโจทย์ที่ทั้งตรงความต้องการของสังคม   และสอดคล้องกับสถานภาพความรู้ในปัจจุบัน

โจทย์ของงานวิจัยในปัจจุบัน หากเป็นโจทย์ที่มีความสำคัญสูง มักเป็นโจทย์ที่ซับซ้อน    ทำคนเดียวหรือสาขาวิชาเดียวไม่สำเร็จ    ในหลายกรณีต้องร่วมมือกันหลายทีม ในหลายประเทศ และต้องทำเป็นระยะเวลานาน    จึงเกิดมี research consortium เพื่อร่วมกันทำวิจัย ทีมละหนึ่งโจทย์ย่อย หรือทำโจทย์เดียวกันในต่างบริบท หรือทำโจทย์เดียวกันภายใต้เงื่อนไขเดียวกันให้ได้จำนวนผู้ถูกทดลองจำนวนมาก    รายงานผลงานวิจัยที่ระบุเจ้าของผลงานว่า Consortium on … มีมากขึ้นเรื่อยๆ

ทักษะของนักวิจัยยุคนี้ จึงต้องรวมทักษะในการแสวงหาความร่วมมือ  หรือทักษะในการเข้าร่วมทีมวิจัย   

ผมทำนายว่า ผลงานวิจัยในอนาคตอันใกล้จะยิ่งซับซ้อนขึ้นไปอีก จากการสนับสนุนของ big data analytics    เราจะได้เรียนรู้แนวโน้มสู่อนาคตของเรื่องต่างๆ มากมาย    และจะช่วยให้ศาสตร์ต่างสาขามาบรรจบกันที่โลกแห่งความเป็นจริง 

 วิจารณ์ พานิช

๑๔ ธ.ค. ๖๑


หมายเลขบันทึก: 659234เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2019 20:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มกราคม 2019 20:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Thank you for this useful pointer.

I think we need more narratives and examples on Evidence Synthesis and Meta-analysis. I think they are tools that we need for Thailand development. (and I also think that we do need to develop and implement [scientific] evidence based policies and methodologies in our political system.)

Similar to evidence synthesis is a tool of “joint concepts” where optimization of two or more operations/operating systems within a certain environment for a certain goal is sought. (I think there are many more tools in the broad category: dialogue, negotiation, brainstorming, reflection, mind-map, etc.)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท