บันทึกเข้าร่วมประชุม 10th AAAH ที่ฮานอย : 3. Day 2 : Institutional Mechanisms & Accreditation


       ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๑

วันนี้ย้ายห้อง  และจัดที่นั่งเป็นโต๊ะจีน   เพื่อประชุมกลุ่ม


Inclusive Institutional Mechanisms which coordinate intersectoral workforce agenda

ครึ่งวันเช้า จับประเด็นกลไกกำกับดูแล (governance) ระบบ HRH  ที่เป็นกลไกที่มีส่วนร่วมรอบด้าน    ไม่จำกัดอยู่เฉพาะในวงการสุขภาพ    โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องไม่ละเลยภาคธุรกิจเอกชน    ต้องให้ชุมชนมีส่วนออกข้อคิดเห็น    มีกลไกการเสวนาเรื่องนี้ในสังคม   โดยอาจมีหน่วย HRH ทำหน้าที่นี้


หลักการที่สำคัญคือ หน้าที่ (function) ต้องเป็นตัวกำหนดโครงสร้าง (structure) ของกลไกนี้    ศ. James Buchan จาก UTS ออสเตรเลีย บอกว่าประสบการณ์ของท่านที่ Scotland, England, Australia   หน่วยงานที่ทำหน้าที่นี้เปลี่ยนวนไปมา ระหว่างการเป็นหน่วยราชการ  หน่วยงานอิสระ  และเป็นงานว่าจ้างหน่วยภายนอก    ขึ้นกับนโยบายการเมือง     key functions ของกลไก HRH Governance แสดงในรูปที่ ๑     


SEARO ศึกษา HRH Unit ของประเทศสมาชิก ๑๑ ประเทศ    โดยส่งแบบสอบถามให้กรอก    ได้รับคำตอบจาก ๑๐ ประเทศ (เกาหลีเหนือไม่ตอบ)    ได้ความว่ามี ๗ ประเทศ มี HRH Unit   ๓ ประเทศไม่มี    หมอออมบอกผมว่า ไทยเป็นหนึ่งในสามประเทศนั้น    แสดงว่าประเทศไทยมี function โดยไม่มี structure   แถมยังทำหน้าที่ได้ดีพอสมควรเสียด้วย    ข้อสรุปของการศึกษานี้อยู่ในรูปที่ ๒   ผู้นำเสนอบอกว่า ในหลายประเทศหัวหน้าหน่วย HRH  มาเอาตำแหน่งแล้วก็ไป    ไม่ได้เป็นผู้นำด้าน HRH policy อย่างแท้จริง   


ที่จริงชื่อหัวข้อนี้เป็นการเปรียบเทียบระหว่าง กลไกประสานงาน กับหน่วย HRH    ว่ากลไกไหนให้ผลดีกว่า ในการทำให้ระบบกำลังคนด้านสุขภาพมีความเข้มแข็งต่อการหนุนระบบคุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้า  และการทำให้เกิด health equity  


ผมรู้สึกว่าผู้ปฏิบัติงานด้านกำลังคนในระบบสุขภาพของประเทศใน SEAR และ WPR ยังมีความรู้เชิงทฤษฎีเกี่ยวกับกำลังคนด้านสุขภาพจำกัด    ยังไม่ค่อยมีการสร้างความรู้จากการปฏิบัติ    ประเด็นความรู้จากการปฏิบัติที่จะนำมาแลกเปลี่ยนกันในเวที Action Aliance อย่างนี้จึงมีน้อย         


Accreditation in HPE Institutes

หลักการคือกลไกรับรองคุณภาพสถานศึกษาช่วยให้บุคลากรสุขภาพมีคุณภาพสูง    และองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ทุกประเทศมีกลไกนี้   


วิทยากรท่านแรกคือ ศ. พญ. วณิชา ชื่นกองแก้ว อธิบายหลักการทั่วไปของ accreditation   ซึ่งหากยึดตามนิยาม ต้องเป็นกระบวนการที่เมื่อประเมินไม่ผ่านสถาบันนั้น หรือกิจการนั้นต้องปิดดำเนินการ    ซึ่งหากยึดนิยามนั้น ประเทศไทยไม่มีกลไก accreditation    


วิทยากรท่านที่สอง Prof. Ducksun Ahn, Professor Emeritus Korea University, Vice President WFME บรรยายเรื่อง Impact of Accreditation on Medical Educational Institutes & its challenges – S. Korean Perspectives   ให้ความรู้มาก   ว่า accreditationช่วยยกระดับคุณภาพของสถานศึกษาของบุคลากรสุขภาพได้จริง    ที่ผมประทับใจคือ เขามีการพัฒนาระบบ accreditation  เรียกว่า meta-evaluation   และมีการประเมินระบบ CQI ของสถาบันการศึกษาด้วย    คือเขาไม่มองระบบ accreditation ว่าถูกต้องสมบูรณ์แล้ว    ใช้มุมมองของการพัฒนาคุณภาพต่อเนื่องในทุกเรื่องทุกกลไก    ของการผลิตบุคลากรสุขภาพ  


ผมตีความว่า accreditation เป็นการประเมินตามเกณฑ์ขั้นต่ำ    และประเมินที่ input และ process    ดังนั้น ย่อมมีข้อผิดพลาดที่ผลการประเมินผ่านเกณฑ์ แต่คุณภาพของบัณฑิตหรือกำลังคนที่ผลิตมีสมรรถนะต่ำกว่ามาตรฐาน    ตอนประชุมกลุ่ม ผมถามนายกสภาการพยาบาลของอินเดียว่า accreditation การันตีคุณภาพของบัณฑิตไหม    เขาตอบว่า เกณฑ์อย่างหนึ่งของการประเมินคือการได้งานทำของบัณฑิต  ดังนั้นหากผลการประเมินผ่านเกณฑ์ย่อมสะท้อนว่าบัณฑิตมีคุณภาพ    แต่ตอนเสนอผลการประชุมกลุ่ม ๒ ระบุชัดเจนว่า ในฟิลิปปินส์ มีกรณีที่สถาบันผ่าน accreditation แต่บัณฑิตมีคุณภาพตกต่ำลง            


ตอนประชุมกลุ่ม ๑ (อินเดีย  ลาว  ไทย) เกิดการถกเถียงกันว่า accreditation เป็นเรื่องของกลไกรับรองคุณภาพภายนอก    ทำให้ผมนึกว่า จริงๆ แล้วเราสนใจเรื่องคุณภาพของบุคลากรสุขภาพที่ผลิต    ซึ่งตรงกับที่ Prof. Ahn เรียกว่า outcome accreditation   ซึ่งน่าจะเป็นประเด็นท้าทายในอนาคต    น่าเสียดายที่ไม่มีคนเอ่ยถึง  


ในที่ประชุม มีการชี้ความต่างระหว่าง Accreditation กับ licensing    โดยที่ accreditation เป็นการรับรองสถาบันและโปรแกรม อยู่ในความรับผิดชอบของสถาบัน    ส่วน licensing เป็นการรับรองคุณภาพของบัณฑิต เป็นความรับผิดชอบของนักศึกษา 


เนื่องจากกระบวนการ เป็นเรื่องใหญ่สำหรับสถาบัน    การดำเนินการจึงต้องทำอย่างแม่นยำระมัดระวัง    โดยต้องแยก assessor ผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูล   กับคณะกรรมการตัดสิน (decision committee)     โดยที่ในกลุ่มกรรมการตัดสินควรมีคนนอกวงการนั้นอยู่ด้วย     


หลังนำเสนอผลการประชุมกลุ่ม ศ. นพ. พงษ์ศักดิ์ วรรณไกรโรจน์ ประธาน session สรุปประเด็นสำคัญของ accreditation อย่างงดงามครบถ้วน  คือ

  • เป็นกิจกรรมระดับประเทศ
  • ควรบังคับ  ไม่ใช่สมัครใจ
  • เป็นกิจกรรมที่มีกระบวนการเป็นขั้นเป็นตอน ที่กำหนดไว้ชัดเจน
  • หน่วยประเมินและรับรอง  ควรเป็นหน่วยงานอิสระ  ที่มีกฎหมายให้อำนาจ  มีงบประมาณสนับสนุนเพียงพอ  และมีระบบกำกับดูแลอย่างดี  มีความโปร่งใส
  • มาตรฐานที่ใช้  มีทั้งมาตรฐานกลาง  และมาตรฐานของแต่ละวิชาชีพสุขภาพ    มีความเหมาะสมและเข้มงวดเพียงพอที่จะเป็นกระบวนการที่มีคุณภาพ  และได้ผลการประเมินที่แม่นยำ    รวมทั้งมีการปรับปรุงสม่ำเสมอ
  • กระบวนการประเมินและรับรอง   มีขั้นตอน (protocol) ชัดเจน    ดำเนินการตามมาตรฐานสากล   มีรายงานประเมินตนเอง (SAR – Self-Assessment Report)   และการตรวจเยี่ยมสถานที่   มีความตรงไปตรงมา โปร่งใส และไม่มีผลประโยชน์ขัดกัน    ทีมตรวจเยี่ยมทำงานเข้าขากัน   และมีการประกาศผลต่อสาธารณะ
  •  ผู้ตรวจเยี่ยม (assessor)    มีคุณสมบัติครบถ้วน มีประสบการณ์การจัดการศึกษาและการประเมินและรับรอง    มีการกำหนดบทบาทชัดเจน   มีการฝึกอบรมสม่ำเสมอเพื่อให้แต่ละคนยึกถือมาตรฐานเดียวกัน  มีการประเมินผู้ตรวจเยี่ยม  มีเกณฑ์การรับรองผู้ตรวจเยี่ยม
  • การฝึกอบรมภายในสถาบันการศึกษา    มีข้อกำหนดเรื่องการประเมินและรับรองคุณภาพ   และมีการฝึกอบรมสม่ำเสมอ เพื่อให้เข้าใจมาตรฐานและกระบวนการประเมินและรับรอง    ควรให้บริการคำปรึกษาแก่สถาบันอื่น โดยระมัดระวังเรื่องผลประโยชน์ขัดกัน   
  • กระบวนการตัดสิน   มีความเที่ยงธรรม โปร่งใส ไม่มีผลประโยชน์ขัดกัน    เปิดโอกาสให้สถาบันแก้ไขส่วนที่ยังไม่ได้มาตรฐาน   มีกระบวนการทบทวนผล ก่อนตัดสิน    ควรมีคนนอกวงการร่วมพิจารณาและตัดสิน
  • รายงานผล   ครบถ้วน  มีคุณค่าต่อสถาบัน  มีการเก็บบันทึกไว้    
  • การติดตามผลหลังประเมิน   มีการติดตามผลใกล้ชิด สม่ำเสมอ พร้อมกับให้ feedback แก่สถาบัน    รับการโต้แย้งจากสถาบันหรือตัวบุคคล  รวมทั้งรับรู้ผลร้ายที่เกิดขึ้นจากการประเมิน
  • นโยบายที่ต้องกำหนด  ด้าน ความโปร่งใส  การไม่มีผลประโยชน์ขัดกัน  การกำหนดให้เก็บผลการประเมินเป็นความลับ หรือกำหนดให้เปิดเผยต่อสาธารณะ    


หลังการประชุม ผมไปพักที่ห้อง ๖๐๔ ด้วยความอนุเคราห์ของ ผศ. ทพ. วีระศักดิ์ พุทธาศรี    เพราะผมเช็คเอ๊าท์จากห้องพักตอนบ่ายโมง    พอ ๑๘ น. เรา (นพ. สุวิทย์, จนท. WHO, และผม) ก็นั่งแท็กซี่ไปสนามบินนอยไบ    เพื่อขึ้น TG 565 กลับกรุงเทพ     แต่ตอนจะขึ้นแท็กซี่ขลุกขลักเล็กน้อย    เพราะระบบรักษาความปลอดภัยให้แก่ประธานาธิบดีอินเดียที่ไปเยือนเวียดนาม เป็นแขกของประธานาธิบดีเวียดนาม   นสพ. ลงข่าวว่าท่านไปเยี่ยมเมืองเก่าของอาณาจักรจัมปา ที่ My Son ซึ่งเป็นมรดกโลก    เพราะมีข้อตกลงความร่วมมือวิจัยโบราณคดีจามระหว่างพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอินเดียกับพิพิธภัณฑสถานดานัง


เย็นวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ผมนั่งเครื่องบินบางกอกแอร์เวย์ส จากเชียงใหม่กลับกรุงเทพ   พบว่านิตยสารฟ้าไทย มีบทความเรื่อง Charm of the Chams ()    ลงรูปโบราณสถานอายุพันปีของอาณาจักรจัมปา ที่ My Son    และเรื่องราวชีวิตคนจามจำนวน ๑๖๐,๐๐๐ คน ในบริเวณนั้น

วิจารณ์ พานิช

๒๑ พ.ย. ๖๑  เพิ่มเติม ๒๔ พ.ย. ๖๑  

1 หน้าที่หลักของกลไก HRH Governance

2 ข้อสรุปของ SEARO Study

3 ศ. พญ. วณิชา ชื่นกองแก้ว กล่าวนำเรื่อง accreditation

4 Prof. Ducksung Ahn บรรยายประสบการณ์ของเกาหลีในการใช้ accreditation ยกระดับคูภาพของแพทย์

5 ศ. นพ. พงษ์ศักดิ์ วรรณไกรโรจน์ กว่าวสรุปประเด็นสำคัญของ accreditation

หมายเลขบันทึก: 658934เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2018 16:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 ธันวาคม 2018 20:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท