มีความหมายใดในการ (จะ) "ไปค่าย"


เช่นเดียวกับการบอกย้ำนิสิตว่า “ขอให้เชื่อมั่นใจพลังการเรียนรู้ของค่ายอาสาพัฒนาว่าจะช่วยให้นิสิตได้สัมผัสถึงคุณค่าและความหมายของการดำรงชีวิต ทั้งในมิติส่วนตัวและสังคม เพราะนี่คือการเรียนรู้ความจริงของชีวิตและสังคม เป็นความจริงที่แตกต่างจากที่มีอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย และเป็นความจริงที่นิสิตจะนำไปใช้ได้จริงเมื่อจบออกไปจากมหาวิทยาลัยฯ”

วันนี้ (วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม 2561)  ผมและทีมงานจากกลุ่มงานกิจกรรมนิสิต  จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "แนวคิดของการบริหารจัดการค่ายอาสาพัฒนา" ระหว่างเวลา 17.30-19.30 น. ณ ห้องประชุม 2 อาคารพัฒนานิสิต  กองกิจการนิสิต  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

กลุ่มเป้าหมายหลักที่เข้าร่วมในวันนี้คือเหล่าบรรดา “แกนนำค่ายอาสาพัฒนา”  ของแต่ละองค์กร  ซึ่งเป็นกลุ่มที่กำลังจะออกเดินทางไปจัดกิจกรรมนอกหลักสูตรในวิถีค่ายอาสาพัฒนาในเดือนธันวาคม 2561 ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น เลย อุดรธานี อุบลราชธานี 

ในส่วนองค์กรนิสิตที่จะเดินทางออกไปจัดกิจกรรมในครั้งนี้  ประกอบด้วย  กลุ่มนิสิตชาวดิน  (พรรคชาวดิน)  ชมรมรุ่นสัมพันธ์  ชมรมสานฝันคนสร้างป่า  ชมรมนาฏศิลป์และดนตรีพื้นเมือง (วงแคน)  ศูนย์ประสานงานเครือข่ายนิสิตจิตอาสาเพื่อสังคม (ทำดีเพื่อพ่อ ทำดีเพื่อแผ่นดิน) และเครือข่ายนิสิต ๙ต่อ Before After

ส่วนรูปแบบของกิจกรรม  ทุกองค์การมุ่งเน้นกิจกรรม “เรียนรู้คู่บริการ”  ด้วยกันทั้งนั้น   รวมถึงการจัดกิจกรรมในลักษณะ "สหกิจกรรม หรือบูรณาการกิจกรรม"  มีกิจกรรมหลัก-กิจกรรมรอง  มีการเรียนรู้ชุมชนควบคู่ไปกับการบริการสังคมไปในตัวอย่างเสร็จสรรพ

มอบหมายภารกิจ : เจ้าหน้าที่เป็นกระบวนกร

ช่วงเช้าของวันนี้  ผมหารือกับทีมงานตามหลักคิด “สอนงานสร้างทีม”  ในแบบ “มีส่วนร่วม”   อันหมายถึง  ร่วมหารือเกี่ยวกับสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง “รูปแบบ/กระบวนการ” ที่จะหนุนเสริมเติมการเรียนรู้ให้แก่นิสิต  โดยยึดหลัก “ร่วมออกแบบ  ร่วมตัดสินใจ  ร่วมลงมือทำ และร่วมรับผิดชอบด้วยกัน”

สิ่งที่มอบหมายแต่ละคนก็ไม่มีอะไรมาก  อาทิเช่น  จัดกระบวนการประเมินทัศนคติ-ความคาดหวังของการเรียนรู้ (ไปค่าย)  ถ่ายทอดและเชื่อมกระบวนการเรียนรู้ในประเด็นภาพรวมกิจกรรมของแต่ละองค์กร  ความรู้ว่าด้วยกรอบแนวคิดการจัดการค่ายอาสาพัฒนา  การประเมินผลกิจกรรม 

ทั้งปวงนั้น  ผมฝากให้เจ้าหน้าที่ใช้กระบวนการ "ถ่ายทอด"  ผสมผสานไปกับการ "ถามตอบ"  เพื่อปลุกเร้าให้นิสิตได้ "เล่าเรื่อง"  อันเป็นความรู้ ประสบการณ์ และข้อมูลของตนเองเป็นสำคัญ  เพื่อชี้ให้เห็นถึงการแสวงหาความรู้จากคนรอบข้าง  หรือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (ลปรร.) หรือการแบ่งปันความรู้ต่อกัน -


มีความหมายใดในการ “ไปค่าย”

เวทีครั้งนี้  ผมและทีมงานไม่ทำสื่อใดๆ มาใช้มากมายเหมือนทุกครั้ง  เอาง่ายๆ เลยก็คือ   ครั้งนี้ไม่มีการนำคลิป – วีดีทัศน์ใดๆ มาใช้เป็นโจทย์ของการเรียนรู้

เราเปิดเวทีผ่าน “บัตรคำ” ในกระบวนการ “BAR” (Before  Action  Review)  โดยเจ้าหน้าที่มุ่งให้นิสิตได้เขียนสะท้อนความจริงอันเป็นเหตุผลของการ "ไปค่าย" (ไปออกค่าย)  เพื่อประเมินถึง "จุดมุ่งหมาย"  ของแต่ละคน  ซึ่งจุดมุ่งหมายเชิงบุคคลนั้น ผมมองว่าย่อมเกี่ยวโยงถึงภาพรวมของกิจกรรมในองค์กรไปโดยปริยาย

และโดยส่วนตัวผมก็เชื่อว่าประเด็นคำถามที่ว่านั้น  จะช่วยทำให้เราได้รู้ถึง “ทัศนคติ” ของนิสิตที่มีต่อการจัดกิจกรรมไปในตัว  และข้อมูลที่ได้มา  บางทีเราอาจต้อง “ปรับจูน” กันในเวทีนี้  เพื่อให้การออกค่ายได้ทำหน้าที่ "บ่มเพาะเรื่องจิตอาสาแก่นิสิตได้อย่างเต็มที่"

แต่เบื้องต้น  เราก็สื่อสารชัดเจนว่า “ขอให้นิสิตสะท้อนออกมาอย่างสัตย์จริง” 

ครั้นพอแต่ละคนเขียนบัตรคำเสร็จแล้ว  เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบกระบวนการก็เดินเก็บจากนิสิต  จากนั้นจึงหยิบมาสะท้อนให้ทุกคนได้ร่วมรับรู้รับฟังร่วมกัน –

และนี่คือประเด็นอันเป็นจุดมุ่งหมายในการ “ไปค่าย” ของเหล่าบรรดาแกนนำนิสิตที่อยู่ในเวที ณ วันนี้

  • อยากไปทำความดี / ไปเรียนรู้เรื่องจิตอาสา
  • ไปเรียนรู้การทำงานอย่างเป็นระบบร่วมกับผู้อื่น
  •  ไปพัฒนาโรงเรียน  ไปช่วยเหลือชุมชนผู้ประสบภัย
  • ไปเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสมาชิกในชมรมและผู้ที่ไปร่วมค่าย
  • ไปเพื่อสืบสานเจตนา/ปรัชญาชมรม
  • ไปเรียนรู้ชีวิต และเรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชน





  • ไปเรียนรู้เพื่อนใหม่ โดยเฉพาะเพื่อนต่างคณะ ต่างสาขา
  • ไปฝึกทักษะการถ่ายทอดความรู้ให้กับนักเรียน
  • ไปแนะแนวการศึกษา  / ไปถ่ายทอดความรู้ในวิชาต่างๆ แก่นักเรียน  / ไปสร้างแรงบันดาลใจแก่นักเรียนให้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา
  • ไปเก็บชั่วโมงกิจกรรมเพื่อประกอบการกู้ยืมเงินกองทุน กยศ.และ กรอ.
  • กลับไปเยี่ยม “พ่อฮัก-แม่ฮัก”
  • ไปเพราะเป็นประธานชมรม อยากทำหน้าที่ของประธานให้ดีที่สุด
  • ไปเพราะเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ / เป็นผู้เขียนโครงการ
  • ประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม


ในจุดมุ่งหมายนั้น : ไม่มีอะไรด้อยค่า ทุกอย่างคือการเรียนรู้

นั่นคือส่วนหนึ่งที่ผมและทีมงานสกัดออกมาจากประเด็นหลายๆ ประเด็น

แต่ที่แน่  จะพบว่า  จุดมุ่งหมาย หรือความคาดหวังเหล่านั้น  สะท้อนสถานะหลากเรื่องของแกนนำชาวค่าย  เป็นต้นว่า  

  • การไปค่ายด้วยบทบาทหน้าที่ที่มีต่อองค์กร/โครงการ   
  • การไปค่ายเพราะอยากเรียนรู้กระบวนการทำงานและอยู่ร่วมกับคนอื่น  
  • การไปค่ายเพราะเชื่อในอานุภาพของค่ายที่จะทำให้ตนเองซึมซับกับความเป็น “จิตอาสา-อาสาสมัคร”  หรือนำสู่การเติบโตและอยู่ร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีคุณค่าและความหมาย

เช่นเดียวกับการปรารถนาที่จะนำองค์ความรู้ของตนเองไปบริการต่อสังคม  พร้อมๆ กับการเรียนรู้ชุมชนไปในตัวตามครรลอง “เรียนรู้คู่บริการ”  หรือการเรียนรู้สถานะและวิธีการของการเป็น “ผู้ให้-ผู้รับ” ไปพร้อมๆ กัน

หรือแม้แต่การยืนยันถึงการไปค่าย  เพียงเพราะต้องการ “ชั่วโมงจิตอาสา”  เพื่อใช้เป็นหลักฐานยื่นประกอบการขอกู้ยืมเงินจากกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือที่เรียกว่า “กยศ.” และ “กรอ.”  และผมก็ยืนยันหนักแน่นว่า "ไม่ผิด-ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย ขอเพียงจริงใจต่อการเรียนรู้ และไม่สร้างปัญหาให้คนทำงานก็พอ"  

แต่ที่แน่ๆ  ข้อความที่นิสิตสะท้อนออกมานั้น  ร้อยทั้งร้อยเป็นมุมมองเชิงบวก  หรือทัศนคติเชิงบวกด้วยกันทั้งนั้น  ยังผลให้ผมพลอยอุ่นใจว่า  การมองบวก-มองโลกในแง่ดีเช่นนี้  คือปัจจัยความสำเร็จของการเรียนรู้และทำงานร่วมกัน 

หรือกระทั่ง ข้อความเหล่านั้นยังเป็นเสมือนกระจกเงาที่สะท้อนให้เห็นถึง “รูปแบบกิจกรรม”  ว่าจะไปทำอะไรบ้าง  เช่น  

  • ไปซ่อมแซมอาคารเรียน  
  • ไปสอนหนังสือ  
  • ไปแนะแนวการศึกษา  
  • ไปทำฝายชะลอน้ำ  
  • ไปมอบอุปกรณ์การเรียนการสอน  
  • ไปมอบเครื่องกันหนาว  
  • ฯลฯ

รวมถึงการกลับไปเยี่ยม “พ่อฮักแม่ฮัก”  ที่เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่โผล่ขึ้นมา  จึงทำให้เรารู้ว่าองค์กรนิสิตกลับไปจัดกิจกรรมบริการสังคมในชุมชนเดิม เป็นการกลับไปต่อยอดกิจกรรมและถามไถ่สารทุกข์สุขดิบของคนในชุมชนอีกรอบ  เสมอเหมือนการกลับไปประเมินผลการใช้ประโยชน์ต่อสิ่งที่นิสิตและชาวบ้านได้ร่วมกันปลูกสร้างขึ้นก็ว่าได้ -

นั่นคือมุมมองที่ผมมองและสื่อสารกลับไปยังนิสิต และเจ้าหน้าที่

เหนือสิ่งอื่นใด  ผมยืนยันกับนิสิตว่าประเด็นที่สะท้อนมานั้น ไม่มีอะไรผิด  ขอเพียง “จริงจังและจริงใจ” ต่อการทำหน้าที่และการเรียนรู้คู่บริการในครั้งนี้ก็พอแล้ว  

เช่นเดียวกับการบอกย้ำนิสิตว่า “ขอให้เชื่อมั่นใจพลังการเรียนรู้ของค่ายอาสาพัฒนาว่าจะช่วยให้นิสิตได้สัมผัสถึงคุณค่าและความหมายของการดำรงชีวิต ทั้งในมิติส่วนตัวและสังคม  เพราะนี่คือการเรียนรู้ความจริงของชีวิตและสังคม เป็นความจริงที่แตกต่างจากที่มีอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย และเป็นความจริงที่นิสิตจะนำไปใช้ได้จริงเมื่อจบออกไปจากมหาวิทยาลัยฯ” 

ใช่ครับ - ขอเพียงเปิดใจเรียนรู้  เราก็จะรู้ถึงนิยามของการมีชีวิต
ขอเพียงเราเรียนรู้   เราก็ย่อมรู้นิยามของโลกและชีวิต


เขียน : พุธที่ 19 ธันวาคม 2561
ภาพ : พนัส ปรีวาสนา/จิรัฎฐ์ อภิวิชญ์ทีปกร

หมายเลขบันทึก: 658842เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2018 13:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ธันวาคม 2018 12:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

การไปค่ายของนิสิต เขาจะจดจำความประทับใจในการไปค่ายชั่วชีวิตค่ะ

สวัสดีครับ พี่แก้ว..อุบล จ๋วงพานิช

ค่าย มีมนต์ขลัง และมนต์เสน่ห์ต่อการเรียนรู้ของคนหนุ่มสาวอย่างไม่รู้จบเลยทีเดียวครับ สำหรับช่วงนี้ก็เริ่มจะขยับถอดบทเรียนการเรียนรู้จากค่ายต่างๆ บ้างแล้วครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท