การบริหารกิจการประปาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เก็บตก)


การบริหารกิจการประปาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เก็บตก)

7 ธันวาคม 2561

ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย  [1]

ได้อ่านบทความวิชาการเรื่อง “ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการประกอบกิจการประปาและแนวทางการพัฒนากฎหมาย” (วารสารนิติศาสตร์ มธ., 2554) [2], ประกอบกับบทความที่ผู้เขียนได้เขียนไว้เมื่อปี 2559 รวม 2 บทความ [3]ทำให้ทราบว่ายังมีประเด็นตกหล่นอีกหลายประการที่ยังไม่ได้วิพากษ์กล่าวถึง เพราะเรื่องการประปาต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องเทคนิคเฉพาะทางที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่เป็น อปท. เกิดใหม่ หรือเป็น อปท.ขนาดเล็กยังไม่ทราบและเข้าใจทางปฏิบัติและทางกฎหมาย เป็นองค์ความรู้ทาง “วิทยาศาสตร์ประยุกต์” (Applied Science) ในหลายสาขามาก ลองมาเก็บตกต่อในประเด็นที่ขาดหายไป หรือ เพิ่มเติมตอกย้ำในบางประเด็นที่เคยว่ากล่าวมาแล้ว

อำนาจหน้าที่ปัจจุบันของ อปท.สรุปสั้นได้ 2 ข้อคือ (1) การบริการสาธารณะ (2) การบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งอำนาจหน้าที่เหล่านี้มีที่มาจาก 3 ทางด้วยกัน คือ (1) หน้าที่ประจำหรือบังคับตาม พรบ.จัดตั้ง อปท. หรือกฎหมายอื่น ที่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของ อปท. (2) หน้าที่โดยภารกิจถ่ายโอน (3) ภารกิจหน้าที่ร่วมกันในพื้นที่ร่วมกับชุมชน ประชาคม หน่วยงานราชการ หรือร่วม อปท.อื่น และ อำเภอ จังหวัด กลุ่มจังหวัด ตามนโยบายรัฐ ตามโครงการพระราชดำริฯ

เป็นปัญหามากว่ามี “กลุ่มคน” และหน่วยงานราชการอื่นต่างล้วนมาแย่งชิงบทบาทในท้องถิ่นด้านการใช้อำนาจที่มีผลต่อสังคม เช่น แม้จะมีการแยกกลุ่มอาชีพ กลุ่มแรงงาน กลุ่มเลือกตั้งไว้คนละพวกก็ตาม แต่ทุกกลุ่มล้วนก็ต้องการยศศักดิ์ทั้งนั้น แม้เป้าหมายแท้จริงมีเพียง “การจัดการด้านสาธารณะให้เหมาะสมและการ พัฒนาเท่านั้น” อำนาจที่แท้จริงในที่นี้ก็คือ “การใช้เงินงบประมาณ และการมีอำนาจ ออกคำสั่ง” ที่ทุกคนมุ่งไปสู่ตรงนั้น  ตามแต่ฐานะและโอกาส ซึ่งทั้งเรื่องงบประมาณและการมีอำนาจนั่น เป็นเครื่องแสดงถึง “ความเป็นอภิสิทธิชน” ได้ ดูตัวอย่างว่า หากเราเขียนโครงสร้างและเป้าหมายว่า การทำให้ภารกิจสำเร็จโดยใช้โดยอย่างน้อยที่สุดก็ประกอบด้วย (1) เงิน (2) คน (3) เวลา เครื่องไม้เครื่องมือ และ (4) อำนาจ ทั้ง 4 ข้อจึงเป็นความสำเร็จได้ แบบนี้ภาคราชการที่เล่นยี่เก เตะถ่วง โยนกลอง ก็คงน้อยลง ดังนั้น อปท.ต้องตั้งภารกิจ และกระบวนงาน (Authority & Duty & Task) พร้อมกำหนดเป้าหมายไว้ให้ชัดเจนด้วย มันก็จะบรรลุผล และจะเกิดนวัตกรรม (Innovation) และสิ่งประดิษฐ์ท้องถิ่นส่วนรวม (Public) หลากหลายมากมาย เป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจริง ชาวบ้านได้ยึดเป็นอาชีพได้จริง และไม่ถูกครอบงำโดยกิจการใหญ่ครอบงำภูมิปัญญาไทยไว้ ดังเช่นญี่ปุ่นที่เป็นแม่แบบที่เรากล่าวถึงอยากเป็นเหมือนเขา การสร้าง SME OTOP ก็จะเป็นจริง ไม่ใช้แค่งาน Event หลอกล่อลวง จูงใจสร้างภาพ ชี้นำชักจูง จากหน่วยงานรัฐเท่านั้น ว่ากันว่า 5 บ้าหายนะในระบบราชการไทย คือ (1) บ้าอบรม (2) บ้าประกวด (3) บ้าประเมิน (4) บ้าแข่งขัน (5) บ้านโยบาย บ้าจริงบ้างไม่จริงบ้างก็จะต้องหายไป เมื่อถึงวันนั้น อปท.ไทยก็จะเข้มแข็งได้จริง การแย่งชิง อำนาจวาสนา บรรดาศักดิ์ ที่ว่าก็จะถูกลดเลือนหายไป เมื่อสังคมมองเห็นแจ้งความจริงแล้ว

ว่าด้วยการบริการจัดการน้ำ

ทั้งน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน รวมน้ำทะเลและน้ำฝนด้วย น้ำที่กล่าวถึงจะมีหน่วยงาน บริหารจัดการ อยู่มาก่อนแล้ว เช่น กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ฝายหมู่บ้าน ฝายเอกชน ฝายโยธา ฝาย รพช. ฯลฯ การนำแหล่งน้ำไปผลิตเป็นประปา ต้องได้รับความเห็นชอบ จากหน่วยงานเหล่านี้ ซึ่งหน่วยเหล่านี้ แบ่งเป็น 2 จำพวก คือ (1) พวกดั้งเดิม เช่น กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิต กรมเจ้าท่า (2) พวกมารวมใหม่หรือตั้งใหม่ คือ กรมทรัพยากรน้ำ มาจากโยธา รพช. อนามัย ทรัพยากรธรณี ฯลฯ ตาม พรบ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวงกรม พ.ศ. 2545 ที่มีทั้งกฎหมายเก่า และกฎหมายใหม่ การกำหนดภารกิจหน่วยงานที่ปรับปรุงใหม่ จึงมีความแตกต่าง มากน้อย แล้วแต่กฎหมายกำหนด การเก็บกักน้ำชลประทาน ในเหมืองฝาย เพื่อกิจการเกษตร เป็นลำดับต้นๆ การปศุสัตว์ การอุปโภค บริโภค การเลี้ยงสัตว์น้ำ การทำน้ำประปา การดับเพลิง เป็นเป้าหมายรองลงมา

พรบ.การชลประทานหลวง และชลประทานราษฎร์ฯ [4]ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี (สร.) ว่าด้วยการใช้น้ำฯ [5]และอื่น ๆ เป็นกฎหมาย กำหนดการจัดสรรปันส่วนการใช้น้ำ ส่วนการผลิตน้ำประปา ถือเป็นกิจการที่รัฐต้องควบคุม เพราะเป็นงานบริหารสาธารณะ แม้จะดำเนินการโดยเอกชนก็ตาม เป็นแง่มุมในการวิพากษ์ที่น่าติดตามสนใจและต้องให้ความสำคัญกันให้มากโดยเฉพาะในบริบทของท้องถิ่นไทย ที่ยังขาดตกบกพร่องอยู่ในหลายอย่าง

ประเด็นการบริหารจัดการประปา อปท.

    กิจการประปาเป็นบริหารสาธารณะประเภทหนึ่งของรัฐที่ต้องกระทำ มีประเด็นที่อยากวิพากษ์ ขอแยกเป็นดังนี้ (1) กิจการประปาสัมปทาน และไม่ต้องขอสัมปทาน ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 มกราคม 2515 ข้อ 6 [6] ซึ่งสัมปทานเป็นกิจการเอกชนที่แสวงหากำไร ผูกขาด ตัดตอน เช่น การประปาในหมู่บ้าน จัดสรรที่ดำเนินการเอง เพราะการนำน้ำไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำผิวดิน ใต้ดินก็ต้องได้รับอนุญาต  สำหรับกรณีที่ไม่สัมปทาน ได้แก่ การประปานครหลวง (กปน.) [7] การประปาภูมิภาค (กปภ.) [8] การประปาของนิคมอุตสาหกรรม [9] รวมทั้งการประปาเทศบาลดั้งเดิมด้วย ซึ่งต่อมา พรบ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ [10] แยกประปาเทศบาล ไม่ต้องสัมปทาน ที่กล่าวมานี้ ยังไม่พูดถึง การประปาในหน่วยงานราชการ เช่น ในค่ายทหาร และ การประปาหมู่บ้าน [11] หรือ การประปา อบต. ที่ยังมีปัญหาในการบริหารจัดการ เพราะ บางแห่งเป็นกิจการที่มิใช่ “งบประมาณเฉพาะการ” ตามระเบียบ มท. ว่าด้วยวิธีการงบประมาณฯ (2) ผู้ดำเนินการคือใคร (3) อัตราค่าบริการประปา (4) เป็นกิจการที่ไม่หวังผลกำไรแม้ดำเนินการโดยเอกชน (5) ขอบเขตผู้พิจารณาอนุญาต (6) ความไม่ชัดเจนของหน่วยราชการผู้มีอำนาจเก่าและใหม่ ระหว่าง กรมชลประทาน กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ( ทส.) (7) กฎหมายเกี่ยวกับน้ำ กับทรัพยากรธรรมชาติ มีหลายหน่วยงาน ซ้ำ ๆ กัน ที่ก่อให้เกิดคำถามตามมามากมาย ได้แก่ (7.1) ผู้ที่ให้อนุญาตดำเนินกิจการประปาจะเป็นหน่วยราชการใดกันแน่ เกิดอำนาจซ้ำซ้อนกันทั้งหน่วยที่ให้อนุญาต และหน่วยที่ให้บริการ ที่ยังไม่รวมถึงหน่วยงานที่กระทำโดยไม่มีอำนาจ ที่เรียก “ลักไก่ตีกิน” (7.2) แหล่งน้ำที่จะนำมาผลิต ใครจะเป็นผู้ดูแลจัดหารักษา (7.3) กฎหมายเกี่ยวข้องมีหลากหลาย แต่ต่างหน่วยงานต่างคิดต่างทำ (7.4) การขัดแย้งหน่วยงานเองอยู่ในตัวในเรื่องต้นทุนการผลิต กับค่าธรรมเนียมบริการ ซึ่งก็เลยไปถึงมาตรฐานและคุณภาพ น้ำประปาด้วย ปัญหาเหล่านี้จะลามไปถึงเอกชนผู้จำหน่ายวัสดุที่ใช้ในกิจการประปา (เรื่องน้ำอุปโภคบริโภคฯ) ที่จำเป็นต้องให้บริการด้วยแน่ๆ

เทคนิคพื้นฐานการกรองการกลั่นการฟอกกลิ่นสี

น้ำผิวดิน ในเขื่อน ในหนอง ในคลอง แม่น้ำ คือน้ำผิวดิน ส่วนน้ำใต้ดิน คือน้ำสูบมาจากบ่อ หรือใต้ดิน ที่ยังไม่นับรวม น้ำทะเล และน้ำฝน ลองมาดูการประปาผิวดินที่มิใช่การประปาบาดาล (น้ำใต้ดิน) [12]มีเทคนิคพื้น ๆ ในการจัดการน้ำให้สะอาดในเรื่อง “การกรองการกลั่นการฟอกกลิ่นสี”

ความหมาย “การกรอง” (Filtration) คือ การเอาวัสดุกรองชิ้นส่วนที่ปะปนเล็ก ๆ ในน้ำออก “การกลั่น” (Distillation) คือการทำให้เกิดเป็นไอน้ำแล้วควบแน่นเป็นหยดน้ำ

สำหรับการประปานั้น มีทั้งสารที่แขวนลอย และสารละลาย ที่อยู่ในน้ำ ซึ่งจะแยกออกจากน้ำได้คือ (1) สารแขวนลอยที่อยู่ในน้ำ จะมองเห็น น้ำจะสีขุ่น เช่น ดิน สาหร่าย เศษผง สามารถแยกออกโดยวิธีการกรอง (2) สารละลาย (Solution) ที่อยู่ในน้ำปกติจะมองไม่เห็น เช่น เกลือ หินปูน ต้องใช้วิธีกลั่น (ต้ม นำไอน้ำ ไปควบแน่น เป็นหยดน้ำ) แยกออกโดยวิธีการกลั่น นอกจากนี้ (3) “กลิ่น” เช่น กลิ่นอับ กลิ่นหญ้าเน่า และสี (น้ำแดงขี้โคลน) ที่ปนอยู่ในน้ำ ก็จะแยกออกโดยวิธีเติมอากาศ เช่น การพ่นอากาศ แบบน้ำพุ หรือน้ำตก พร้อมพัดลมดูดอากาศ เช่น คูลลิ่งทาวเวอร์

เครื่องวัดความขุ่นของน้ำ (Turbidity Meter) หน่วยวัดก็เป็น ppm [13] การทดสอบ jar test (เหยีอกทดลอง) โดยการนำสารส้มละลายน้ำให้ค่าคงที่ระดับหนึ่ง หยดลงใน jar test ในแต่ละ jar ให้มีปริมาณหยดต่างกัน ใช้ช้อนกวน รอให้ตกตะกอน ดูว่า jar ใด ใสสุด คือค่าที่อ่านได้ ที่จะนำไปเป็นสูตรจ่ายสารส้มต่อไป นอกนั้น จะมีค่า H คือความสูงในแนวดิ่ง ที่ประสิทธิภาพปั๊มน้ำจะ ดูดน้ำ ส่งน้ำได้โดยมีแรงโน้มถ่วงของโลก [14]เกี่ยวข้องด้วย นอกนั้นคือสูตร การคำนวณการไหลของน้ำ (เวียร์)

มีสารเคมีจำเป็นที่ใช้กับประปา [15]ได้แก่ (1) ปูนขาว (Lime) เป็นของแข็ง ใช้ลดความเป็นกรด (2) สารส้ม (Alum) มีสภาพเป็นกรด ชื่อเต็มว่า อะลูมิเนียมซัลเฟต เป็นของแข็งใช้เร่งให้แยกสารแขวนลอย เกาะตัวเป็นกลุ่มหนักตกตะกอน (นอนก้น) เพื่อแยกเอาน้ำใส (Clear water) ไปใช้ การเร่งสารส้ม ผสมกับน้ำ  ด้วยวิธีกวนน้ำ หรือทำทางไหลวน (3) คลอรีน (Chlorine) เป็นสารอันตราย ฆ่าเชื้อโรคได้ มีสภาพเป็นแก๊ส

ปัญหาการผลิตน้ำดื่มและการประปาของเมืองร้อน

สภาพน้ำในเมืองหนาวไม่มีสิ่งมีชีวิต เช่น จุลินทรีย์ หรือสาหร่ายเซลเดียว จึงเป็นน้ำที่สะอาดโดยธรรมชาติ เมื่อนำไปทำน้ำประปา จึงดื่มได้ ส่วนเมืองร้อนไม่เหมาะสมต้องนำน้ำไปผ่านระบบพาสเจอไรส์เสียก่อน เพราะคุณภาพน้ำแปรเปลี่ยนไปกับภูมิอากาศ โดยเฉพาะเมืองร้อนแบบไทย หรือ การส่งน้ำไปในท่อใต้ดิน ในเมืองหนาวมีหิมะน้ำจะไม่เป็นน้ำแข็ง เหมือนน้ำบนดิน จึงมีความจำเป็น ต้องส่งตามท่อ ส่วนเมืองร้อน นิยมขายเป็นขวดเป็นถัง ฉะนั้น การทำน้ำประปาถึงขั้นดื่มได้จึงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

ปัญหาว่าระบบประปาหมู่บ้านถูกต้องตามหลักวิชาการเป็นมาตรฐานเพียงใด ยิ่งหน้าฝนที่มีน้ำขุ่นโคลนสีแดงจึงมักถูกชาวบ้านด่าประจำ ว่าน้ำขุ่นไม่ใส่คลอรีนไม่ใส่สารส้ม ด้วยความไม่เข้าในในระบบการจัดการน้ำประปา เพราะที่การใส่สารส้มใส่มากหรือใส่น้อยขึ้นอยู่กับสภาพน้ำดิบ อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่า มาตรฐานการประปาหมู่บ้านยังอยู่ไกล ด้วยสาเหตุการขาดแคลนบุคลากรช่างเทคนิคเฉพาะทางเป็นเหตุผลประการหนึ่งที่การประปาภูมิภาค (กปภ.) อยากรับโอนภารกิจมาดำเนินการ ซึ่งรวมทั้ง อปท.ขนาดเล็กที่มีระบบประปาด้วย ประปา อปท. บางแห่งจึงยอมโอนไปอยู่ กปภ. [16]ด้วย อปท.บริหารงานยุ่งยากไม่ดี ขาดทุนมาก และมีโบนัสมากกว่า เป็นต้น แต่ อปท.หลายแห่งไม่ยอมโอน เพราะฝ่ายการเมืองท้องถิ่นหวังเก็บไว้เป็นคะแนนในการหาสียงเลือกตั้งครั้งต่อไป

ปัญหาโดยเฉพาะ อปท.ขนาดเล็กที่ขาดแคลนบุคคลากรเฉพาะทางประปา จะไม่เชี่ยวชาญเทคนิค คือรู้ไม่จริง การบริการงานไม่ใช่แบบมืออาชีพ จึงบริการงานติดขัด การลักใช้น้ำ ก็มีมาก การรั่วไหลรั่วซึม หรือการสูญเสียน้ำก็มีมาก ทำให้การผลิตเกิดความสูญเสีย ไม่คุ้มค่าสมดุลกัน เป็นปัญหาเชิงเทคนิค และ ปัญหาเชิงวิชาการ จุดสำคัญคือ การวัดวิเคราะห์น้ำ การจ่ายสารเคมี พร้อมกับระบบการทำงานของเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ต้องพอเหมาะพอดีกัน

วิทยาการด้านการประปา

สรุปว่าประปาจะใช้ความรู้หลายสาขาได้แก่ (1) ช่างเครื่องกล ไฟฟ้า ก่อสร้าง (2) กฎหมาย (3) วิทยาศาสตร์ (4) การเงิน การบัญชี  (5) ชลประทาน (6) อุทกวิทยา (7) การบริหารองค์กร และอีกหลาย ๆ สาขา แต่ที่แน่ ๆ ความซื่อสัตย์ ต่อคน ต่อเวลา ต่อหน่วยวัด จำเป็นมาก เป็นงานละเอียดอ่อน ที่คนมองข้าม ยิ่งฝ่ายการเมืองที่หวังหาเสียงจากกิจการประปา

การ เปิดเผยแง่มุมมุมมองการประปาท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาที่ดีกว่าไม่คิดจะจมปลักอยู่กับสิ่งไม่ดีไม่ถูกต้องพาลทำให้การพัฒนาเสียได้ สังคมคนสอพลอมาก แต่กลับได้ดีก้าวหน้า เป็นแรงบั่นทอนข้าราชการที่ทุ่มเทแรงกายใจในสิ่งที่ถูก นี่ไง จุดเหมาะสม คุ้มทุน คุ้มค่า ในการคิด ออกแบบ การบริหารจัดการประปาของ อปท. ไทย จึงยังไม่ตกผลึก ระบบบริหารจัดการการบริหารคน บริหารตำแหน่ง ยังล้าสมัยอยู่ ชาวบ้านจึงลำบาก เพราะการประปา ก็คือสายหนึ่งของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่เรียกว่า “สาธารณสมบัติของแผ่นดินในเรื่องการใช้น้ำ”

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 66 ฉบับที่ 13 วันศุกร์ที่ 7 -  วันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม 2561, เจาะประเด็นร้อน อปท.หน้า 66 

[2]ณรงค์ ใจหาญ, ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการประกอบกิจการประปาและแนวทางการพัฒนากฎหมาย, วารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีที่ 40 ฉบับที่ 2 (มิถุนายน 2554), หน้า 217-237, http://publications.law.tu.ac.th/upload/magazine/2014-12-04-1417673258-82975.pdf    

[3]การบริหารกิจการประปาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตอนที่ 1, 9 มิถุนายน 2559, https://www.gotoknow.org/posts/608015  

& การบริหารกิจการประปาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตอนที่ 2, 16 มิถุนายน 2559, https://www.gotoknow.org/posts/608391     

[4]พรบ.การชลประทานหลวง พ.ศ. 2484 แก้ไข (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2497 (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2507 (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2518 (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2530 รวม ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 146 ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2515, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 59 ตอนที่ 62 วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2485 หน้า 1676, http://kromchol.rid.go.th/person/main/images/low_rid_pdf/003.pdf 

& และ พรบ. การชลประทานราษฎร์ พ.ศ. 2482 แก้ไข (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2523 (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2526, , ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 56 วันที่ 26 ตุลาคม 2482 หน้า 1294, http://irrigation.rid.go.th/rid1/webrid1/plb_news/004.pdf    

[5]ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย ว่าด้วยการบริหารทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ.2550, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนพิเศษ 84 ง ตอนที่ วันที่ 13 กรกฎาคม 2550 หน้า 9, http://www.dwr.go.th/informationcenter/Scrip/ระเบียบสำนักนายก.pdf

ข้อ 4 ในระเบียบนี้

“ทรัพยากรน้ำ” หมายความว่า น้ำบนผิวดิน น้ำใต้ดิน และน้ำในทะเลอาณาเขต ที่อยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติหรือที่มนุษย์สร้างขึ้น รวมทั้งแหล่งน้ำระหว่างประเทศที่ประเทศไทยอาจนำมาใช้ประโยชน์ได้

“การบริหารทรัพยากรน้ำ” หมายความว่า กระบวนการบริหารจัดการ การจัดหา การใช้ประโยชน์ การบำรุงรักษา การพัฒนา การป้องกัน การแก้ไขปัญหา การอนุรักษ์ การฟื้นฟูและการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำ   

[6]ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 มกราคม 2515, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 15 ตอนที่ 3 พ. ลงวันที่ 27 มกราคม 2515, https://www.caat.or.th/wp-content/uploads/2016/04/ประกาศคณะปฏิบัติฉบับที่-58-ลงวันที่-26-มกราคม-2515.pdf

ข้อ 3 กิจการดังต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นกิจการค้าขายอันเป็นสาธารณูปโภค

(1) การรถไฟ

(2) การรถราง

(3) การขุดคลอง

(4) การเดินอากาศ

(5) การประปา

(6) การชลประทาน

(7) การไฟฟ้า

(8) การผลิตเพื่อจำหน่ายหรือจำหน่ายก๊าซโดยระบบเส้นท่อไปยังอาคารต่าง ๆ

(9) บรรดากิจการอื่นอันกระทบกระเทือนถึงความปลอดภัยหรือผาสุกของประชาชนตามที่ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกา

การตราพระราชกฤษฎีกาตาม (9) ให้กำหนดกระทรวงผู้มีอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับกิจการนั้นด้วย

ข้อ 6 ในกรณีที่มีกฎหมายเฉพาะว่าด้วยกิจการตามที่ระบุไว้ในข้อ 3 หรือข้อ 5 การประกอบกิจการดังกล่าว ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยกิจการนั้น   

[7]พระราชบัญญัติการประปานครหลวง พ.ศ. 2510 แก้ไข (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2516 (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2535, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 84 ตอนที่ 75 วันที่ 15 สิงหาคม 2510 หน้า 601, https://www.mwa.co.th/download/file_upload/about_mwa/06_rules/01_prb/01-2510.pdf    

[8]พระราชบัญญัติการประปาส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2522, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 96 ตอนที่ 26 วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2522, https://www.pwa.co.th/contents/about/prb    

[9]พระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 แก้ไข (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2534 (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2539 (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2550, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 96 ตอนที่ 41 ฉบับพิเศษ วันที่ 24 มีนาคม 2522 หน้า 10, http://hydrolaw.thaiwater.net/web/2016/03/15/พระราชบัญญัติการนิคมอุ-2/       

[10]พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 แก้ไข (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2549, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 114 ก วันที่ 17 พฤศจิกายน 2542 หน้า 48, http://hydrolaw.thaiwater.net/web/2016/03/15/พระราชบัญญัติกำหนดแผนแ-2/      

[11]ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการบริหารกิจการและการบำรุงรักษาระบบประปาหมู่บ้าน พ.ศ. 2548, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 122 ตอนพิเศษ 125 ง วันที่ 3 พฤศจิกายน 2548 หน้า 8, http://hydrolaw.thaiwater.net/web/2016/07/04/ระเบียบกระทรวงมหาดไทย-ว/

& ดูกรณีศึกษา ดร.มยุรี โยธาวุธ , รายงานผลการวิจัยเรื่อง การบริหารจัดการระบบประปาหมู่บ้านของประเทศไทย : กรณีศึกษาชุมชน จังหวัดนครนายก, มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, 2560, http://www.dpu.ac.th/dpurc/assets/uploads/public/ba8xdui72n4kk8w0sg.pdf    

[12]กรณีการประปาบาดาลเป็นระบบประปาอีกระบบหนึ่ง ไม่ใช่การประปาผิวดิน ดู รายงานผลการวิจัย เรื่อง โครงการศึกษารูปแบบและการนำร่องการถ่ายโอนภารกิจด้านน้ำบาดาลของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (รายงานฉบับสมบูรณ์), เสนอโดย กรมทรัพยากรน้ำบาดาล โดย ศูนย์บริการวิชาการสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2553, http://www.dgr.go.th/isdgr/orportor/no1.pdf

[13]Part Per Million (ppm) หมายถึง หนึ่งส่วนในล้านส่วน(1 ใน 1,000,000) หน่วยวัด   

[14]เรียก Power water เป็นน้ำที่มีแรงดัน

[15]ดู พรศักดิ์ สมรไกรสรกิจ, สารเคมีที่ใช้ในกระบวนการผลิตน้ำประปาและการคำนวณ, การประปานครหลวง, https://www.mwa.co.th/download/prd01/water_technology/pdf.../che_00051.pdf    

[16]ดู กปภ. ยืนยันศักยภาพพร้อมรับโอนกิจการประปา, 10 กันยายน 2561, https://www.pwa.co.th/news/view/69753

& กปภ.รับโอนประปาภูธรเพิ่มผู้ใช้น้ำ8แสนคน, ประชาชาติธุรกิจ, 11 มิถุนายน 2558

หมายเลขบันทึก: 658594เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2018 00:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ธันวาคม 2018 18:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท