พหุศิลปศึกษากับการศึกษาปฐมวัย



พหุศิลปศึกษากับการศึกษาปฐมวัย

บทที่ 2

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

ศากุล ตานะเศรษฐ.(2553).กล่าวว่า พหุศิลปศึกษา (arts education) ประกอบด้วย 5 แนวคิด ดังนี้
1. พหุศิลปศึกษาเชิงผู้มีความสามารถพิเศษ (Gifted Child Arts Education)
2. พหุศิลปศึกษาเชิงแบบแผน ( Discipline Based Arts Education)                

     3. พหุศิลปศึกษาเชิงพหุปัญญา (Multiple Intelligences Arts Education)

     4. พหุศิลปศึกษาเชิงภูมิปัญญาไทย (Thai Wisdom Arts Education)

   5. พหุศิลปศึกษาเชิงศิลปะหลังสมัยใหม่ (Post-Modern Arts Education)

1. พหุศิลปศึกษาเชิงความสามารถพิเศษ (Gitted Arts Education)

แนวความคิดและทฤษฎี
เด็กและเยาวชนมีความสามารถพิเศษหมายถึงเด็กที่แสดงออกซึ่งความสามารถอันโดดเด่น ด้านใดด้านหนึ่งหลายด้าน ในด้านสติปัญญา ความคิดสร้างสรรค์การใช้ภาษา การเป็นผู้นำ การสร้างงานทางทัศนศิลป์และศิลปะการแสดง ความสามารถทางด้านกีฬา และความสามารถทางวิชาการในสาขาใดสาขาหนึ่งหรือหลายสาขาอย่างเป็นที่ประจักษ์เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่มีอายุระดับเดียวกัน สภาพแวดล้อมหรือประสบการณ์เดียวกัน การทำความเข้าใจกับผู้ที่มีความสามารถพิเศษ มีความสลับซับซ้อน และมีปัจจัยมากมายหลายอย่างที่จะต้องศึกษาค้นคว้า เพื่อองค์ความรู้ ค้นหาปัจจัยและองค์ประกอบที่ก่อให้เกิดความสามารถพิเศษ ค้นหาตัวบ่งชี้บุคลิกลักษณะของผู้ที่มีความสามารถพิเศษ ค้นหาเครื่องมือที่จะตรวจวัดและตรวจสอบ ค้นหาปัจจัยที่เอื้อต่อการพัฒนาผู้ที่มีความสามารถพิเศษให้เต็มศักยภาพ ค้นหาปัจจัยสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู ค้นหาแบบแผนของหลักสูตรและกระบวนการ การเรียนการสอนที่เอื้อต่อความสามารถพิเศษรวมถึงกระบวนการส่งต่อ ทั้งระบบโรงเรียนและระบบสังคมหากมีกระบวนการแสวงหาและพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษได้อย่างคลอบคลุมทุกด้าน ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ ภาษา กีฬา ดนตรี ศิลปะการแสดง ทัศนศิลป์ นาฏศิลป์ ฯลฯ สังคมไทยย่อมมีความหมายมากขึ้น
         ทฤษฎีพหุศิลปศึกษาเชิงความสามรถพิเศษ เป็นการบูรณาการแนวความคิด ทั้งแนวคิดทางด้านความสามารถพิเศษ แนวคิดทางด้านจิตวิทยาศิลปะ แนวคิดเกี่ยวกับสมองและสร้างสรรค์แนวคิดเกี่ยวกับสุนทรียศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับพหุปัญญา และการสร้างสรรค์ศิลปะ

2. พหุศิลปศึกษาเชิงแบบแผน ( DBAE ) (Discipline-based Art Education )

แนวคิดและทฤษฎี
การศึกษาและศิลปศึกษากระแสสากลในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นกระแสการศึกษาแบบพิพัฒนาการนิยม (Progressivism) ที่สอดผสานกับกระบวนการเสรีภาพลัทธิสมัยใหม่ในสังคมมีการเรียนการสอนแบบยึดถือเด็กเป็นศูนย์กลาง (child-cemtered Movement) เน้นการแสดงออกเฉพาะตัวทั้งกระบวนการศึกษาในสหรัฐอเมริกาและยุโรปโดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิทยาลัยวิชาการศึกษา แนวคิดและการปฏิบัติได้พัฒนาสืบมาในสังคมไทย ช่วงทศวรรษ 1970-1980 ได้มีกระบวนการเคลื่อนไหวความคิดทางการศึกษาและศิลปศึกษาเกิดขึ้นใหม่ในสหรัฐอเมริกา โดยมุ่งเน้นแบบแผนหรือหลักเกณฑ์แทนการแสดงออกเฉพาะตัว (self-expression) พัฒนาการดังกล่าวประสานสัมพันธ์กับพัฒนาการของลัทธิใหม่ ศิลปศึกษาเชิงแบบแผน (Discipline-based Arts Education) ได้พัฒนาแกนสำคัญในการสอน 4 แกน ดังนี้
1. แกนประวัติศาสตร์ศิลป์ (Art History)
2. แกนสุนทรียศาสตร์ (Aesthetics)
3. แกนศิลปวิจารณ์ (Art critisism)
4. แกนศิลปะสร้างสรรค์ (Art Production)

       ด้วยความเชื่อดังกล่าว ได้ส่งผลให้ศิลปศึกษาเชิงแบบแผนพัฒนาผู้ที่ผ่านแนวความคิดและกระบวนการเรียนรู้การสอนนี้ มองและสร้างสรรค์ศิลปะด้วยหลักความรู้ ความคิด ความงาม สร้างความสมดุลในการรับรู้และการสร้างสรรค์ ระหว่างสุนทรียศาสตร์เชิงปรัชญาและสุนทรียศาสตร์เชิงวิทยาศาสตร์ ( philosophical and scientific aesthetics) ในปัจจุบัน
      กิจกรรม กระบวนการเรียนการสอน และกระบวนการเรียนรู้ ตามทฤษฎีพหุศิลปศึกษาเชิงแบบแผน ควรได้รับการพัฒนาทั้งในลักษณะบูรณาการและการแยกอิสระระหว่าง ทัศนศิลป์ การแสดง ดนตรี ทั้งเพื่อการสร้างเอกภาพและสร้างความโดดเด่นเฉพาะด้าน โดยพัฒนาให้เหมาะกับวุฒิภาวะ เหมาะสมกับการสร้างประสบการณ์และความรู้ความคิดร่วม และเหมาะสมกับวุฒิภาวะที่จะพัฒนาไปสู่วิชาชีพ กิจกรรม กระบวนการเรียนการสอน และกระบวนการเรียนรู้ ต้องเริ่มต้นและสอดคล้องกับผู้เรียน มีเป้าหมายในการสร้างคน สร้างชุมชน และสร้างสิ่งแวดล้อมนำหน้า

3. พหุศิลปศึกษาเชิงพหุปัญญา (Multiple – Intelligen Arts Education)

แนวความคิดและทฤษฎี
การศึกษาคนคว้าเพื่อสร้างทฤษฎีใหม่ในวงการศึกษา และการนำทฤษฎีเหล่านั้นไปประยุกต์ใช้ในวงการศิลปศึกษาเกิดขึ้นตลอดเวลา ทฤษฎีที่น่าสนใจคือ ทฤษฎีวิวัฒนาการสมอง และทฤษฎีพหุปัญญา (Theory of Multiple Intelligences) ของโฮวาร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gradner) ว่าด้วยความฉลาดและเชาว์ปัญญาภายในตัวของมนุษย์ 8 ด้าน ได้แก่
1. ปัญญาด้านภาษา (Linguistic Intelligence)
2. ปัญญาด้านตรรกะและคณิตศาสตร์ (Logical-Mathematical Intelligence)
3. ปัญญาด้านมิติสัมพันธ์ (Spatial Intelligence)
4. ปัญญาด้านร่างกายและเคลื่อนไหว (Bodily-Kinesthetic Intelligence)
5. ปัญญาด้านดนตรี (Musical Intelligence)
6. ปัญญาด้านมนุษย์สัมพันธ์ (Interpersonal Intelligence)
7. ปัญญาด้านคนหรือความเข้าใจตนเอง (Intrapersonal Intelligence)
8. ปัญญาทางด้านนักธรรมชาติวิทยา (Naturalist Intelligence)

ทฤษฎีพหุปัญญาว่าด้วยความฉลาดและเชาว์ปัญญาภายในตัวของมนุษย์ทั้ง 8 ด้าน ซึ่งเกี่ยวข้องกับสมองทั้ง 2 ซีกของมนุษย์นั้น ถือเป็นกุญแจดอกสำคัญในการศึกษาค้นคว้าทางด้านจิตวิทยาและการพัฒนาไปสู่ทฤษฎีพหุศิลปศึกษาเชิงพหุปัญญา
การ์ดเนอร์จำแนกความสามารถหรือปัญญา ( Intelligence) ของมนุษย์ออกเป็น 8 ด้านคือ :
ปัญญาด้านภาษา (Linguistic Intelligence)
      ความสามารถสูงในการใช้ภาษา ไม่ว่าจะเป็นการพูด เช่น นักเล่านิทาน นักพูด นักการเมือง หรือการเขียน เช่น กวี นักเขียนบทละคร บรรณาธิการ นักหนังสือพิมพ์ ปัญญาทางด้านนี้ยังรวมถึงความสามารถในการจัดกระทำเกี่ยวกับโครงสร้างของภาษาเสียง ความหมาย และเรื่องเกี่ยวกับภาษา เช่น สามารถใช้ภาษาในการหว่านล้อม อธิบาย และอื่น ๆ

ปัญญาด้านตรรกะและคณิตศาสตร์ (Logical-Mathematical Intelligence)
      เป็นความสามารถสูงในการใช้ตัวเลข เช่น นักบัญชี นักคณิตศาสตร์ นักสถิติ และผู้ให้เหตุผลดี เช่น นักวิทยาศาสตร์ นักตรรกศาสตร์ นักจัดทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ปัญญาทางด้านนี้ยังรวมถึงความไวในการเห็นความสัมพันธ์แบบแผนตรรกวิทยา การคิดเชิงนามธรรมและการคิดที่เป็นเหตุผล (cause-effect) และการคิดคาดการณ์ (if-then) วิธีการที่ใช้ได้แก่ การจำแนกประเภท การจัดหมวดหมู่ การสันนิษฐาน สรุป คิดคำนวณ และตั้งสมมติฐาน
ปัญญาทางด้านมิติสัมพันธ์ (Spatial Intelligence )
      ความสามารถสูงในการมองเห็นพื้นที่ ได้แก่ นายพราน ลูกเสือ ผู้นำทาง และสามารถปรับปรุงและคิดวิธีการใช้เนื้อที่ได้มี เช่น สถาปนิก มัณฑนากร ศิลปิน นักประดิษฐ์ ปัญญาด้านนี้รวมไปถึงความไวต่อสี เส้น รูปร่าง เนื้อที่ และความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเหล่านี้ นอกจากนี้ ยังหมายถึง ความสามารถที่จะมองเห็นและแสดงออกเป็นรูปร่างถึงสิ่งที่เห็นและความคิดเกี่ยวกับพื้นที่
ปัญญาทางด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว (Bodily kinesthetic Intelligence)
      ความสามารถสูงในการใช้ร่างกายของตนแสดงความคิด ความรู้สึก ได้แก่ นักแสดง นักแสดงท่าใบ้ นักกีฬา นาฏกร นักฟ้อนรำ และความสามารถในการใช้มือประดิษฐ์ เช่น ความคล่องแคล่ว ความแข็งแรง ความรวดเร็ว ความยืดหยุ่น ความประณีต และความไวทางประสาทสัมผัส
ปัญญาทางด้านมนุษยสัมพันธ์ (Interpersonal Intelligence)
     ความสามารถสูงในการเข้าใจอารมณ์ความรู้สึก ความคิดและเจตนาของผู้อื่น ทั้งนี้รวมไปถึงความไวในการสังเกต น้ำเสียง ใบหน้า ท่าทาง ทั้งยังมีความสามารถสูงในการรู้ถึงลักษณะต่าง ๆ ของสัมพันธภาพของมนุษย์ และสามารถตอบสนองได้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เช่น สามารถทำให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลปฏิบัติตาม

ปัญญาทางด้านตนหรือการเข้าใจตนเอง (Interpersonal Intelligence)
     ความสามารถสูงในการรู้จักตนเองและสามารถประพฤติตนได้จากความรู้จักตนนี้ ความสามารถในการรู้จักตนจะได้แก่ รู้จักตนเองตามความเป็นจริง เช่น มีจุดอ่อน จุดแข็งเรื่องใด มีความรู้เท่าทันอารมณ์ ความคิด ความปรารถนาของตน มีความสามารถที่จะฝึกตนเอง และเข้าใจตนเอง
ปัญญาทางด้านธรรมชาติวิทยา (Naturalist Intelligence)
      ความสามารถในการรู้จักธรรมชาติของพืชและสัตว์ สามารถจัดจำแนกประเภท ชาร์ลส์ ดาร์วิน เป็นผู้หนึ่งที่มีปัญญาทางด้านนี้สูง

พหุศิลปศึกษา คือการบูรณาการแนวคิดและการสร้างสรรค์งานศิลปะโดยเลือกสรรสื่อแสดงออกที่หลากหลาย สื่อแสดงออกอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น สื่อสี สื่อวัสดุ สื่อร่างกาย สื่อเสียง สื่อภาษา เป็นการแสดงออกจากสภาพการรู้คิดและจินตภาพ เพื่อสะท้อนสุนทรีย ภูมิปัญญา และวัฒนาธรรม ความหมายและคำอธิบายดังกล่าวไม่เพียงแต่จะมีวินัยที่แตกต่างไปจากศิลปศึกษาแบบเดิมหรือความเข้าใจของสังคมแบบเดิม ที่เข้าใจว่า ศิลปศึกษาเป็นกิจกรรมทางทักษะ ไม่เกี่ยวกับปัญญา มีลักษณะแยกส่วน ดำรงอยู่แบบโดดเดี่ยว แต่ศิลปศึกษาในกรอบความคิดแบบพหุปัญญาของ โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ที่ถือว่าเรื่องของศิลปะเป็นเรื่องของปัญญาทางด้านมิติ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นความสามารถทางด้านปัญญา 1 ใน 8 ด้านของมนุษย์สัมพันธ์กับสมองซีกขวาที่มีความสามารถทางด้านทัศนมิติสัมพันธ์
นอกจากนั้น พหุศิลปศึกษาในความหมายดังกล่าว ยังได้แสดงความสัมพันธ์ระหว่างปัญญาทางด้านมิติสัมพันธ์กับสื่อร่างกาย เช่น การแสดงนาฏศิลป์ที่เป็นปัญญาทางด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว กับสื่อเสียงที่เป็นปัญญาทางด้านดนตรี กับสื่อภาษาที่เป็นปัญญาทางด้านภาษานอกจากนั้นแล้วพหุศิลปศึกษายังนำไปสู่การเข้าใจตนเอง มีมนุษย์สัมพันธ์ ตระหนักในธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาในเชิงเหตุผลด้วย พหุศิลปศึกษาในเชิงพหุปัญญาเป็นทฤษฎีที่เชื่อมโยงกับจิตวิทยา ศักยภาพของสมอง และปัญญา เพื่อการพัฒนาการเรียนการสอนให้บรรลุจุดหมายในการพัฒนาภูมิปัญญา ทัศนคติ สุนทรียะ ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ รวมทั้งการพัฒนาวัฒนธรรมบูรณาการ และการคิดแบบองค์รวม
แม้จะมีความชัดเจนขององค์ความรู้ แต่หากขาดกิจกรรมรับรองทฤษฎี การพัฒนาพหุศิลปศึกษาก็มิอาจเป็นจริงได้ดังนั้น กิจกรรมภายใต้พหุศิลปศึกษาเชิงพหุปัญญาจึงควรมีแนวทางที่คลอบคลุมประเด็นต่อไปนี้
1. เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนสร้างสรรค์ผลงานศิลปะโดยผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
2. เป็นกิจกรรมที่สนับสนุนให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาและบูรณาการทางปัญญาในทุกด้าน
3. เป็นกิจกรรมที่สนับสนุนให้ผู้เรียนมีประสบการณ์ในการใช้สื่อแสดงออกที่หลากหลาย
แบบศิลปะจินตทัศน์
4. เป็นกิจกรรมที่คำนึงถึงความแจกจ่าง คำนึงถึงพัฒนาการเรียนรู้ และให้ความสำคัญใน
กระบวนการสร้างทัศนคติที่ดี พัฒนาประสบการณ์ทางสุนทรียะ รสนิยม และจินตนาการ
5. เป็นกิจกรรมที่สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาการพัฒนาความเป็นคนที่สมดุล
6. เป็นกิจกรรมที่คำนึงถึงความสำคัญและความจำเป็นที่มีลักษณะร่วม คำนึงถึงชุมชน
สังคม ภูมิปัญญา และวัฒนธรรม เพื่อให้ศิลปศึกษา มีบทบาทร่วมในการพัฒนาสังคมไทยอย่างเป็นจริงและยั่งยืน

4. พหุศิลปศึกษาเชิงภูมิปัญญาไทย (Thai Wisdom Arts Education)
แนวความคิดและทฤษฎี
เมื่อเราพิจารณาถึง ภูมิปัญญาไทย คงพิจารณาผสานกันได้ทั้งสองด้าน ด้านหนึ่งคือภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ได้พัฒนาสืบต่อกันมาในชุมชน ท่ามกลางธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ซึ่งภูมิปัญญาพื้นบ้านนี้ได้ผ่านการพัฒนาเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมสอดคล้องในแต่ละช่วงเวลา และอีกด้านหนึ่งคือ ภูมิปัญญาที่คนไทยคิดค้นและสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ซึ่งภูมิปัญญาความรู้ที่เกิดขึ้น จะเกิดขึ้นในอดีต ในปัจจุบัน หรือในอนาคตก็ได้ เมื่อเรากล่าวถึง ภูมิปัญญา ย่อมหมายถึง ปัญญาติดดิน (ภูมิ =แผ่นดิน) มีคุณค่าบนโลกตามความเป็นจริง ภูมิปัญญาเป็นนามธรรม แต่ภูมิปัญญาเป็นนามธรรม แต่ภูมิปัญญาก็สะท้อนสู่พฤติกรรม วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีศิลปะ และวัตถุทีมนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น พิจารณาโดยภาพรวมของภูมิปัญญา สามารถแยกพิจารณาได้เป็น 8 ด้านดังนี้

1. วิถีการดำเนินชีวิต
2. ขนบธรรมเนียมประเพณี
3. ปรัชญาความเชื่อ
4. เรื่องเล่าพื้นบ้าน
5. ความเชื่อทางศาสนา
6. การละเล่นพื้นบ้าน
7. ศิลปะและงานช่าง
8. ภูมิปัญญาร่วมสมัย

 การศึกษาทางด้านพหุศิลปศึกษา สามารถเชื่อมโยงกับภูมิปัญญาไทย ทั้งที่สืบมอดกันมาจากอดีต ภูมิปัญญาพื้นบ้านหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น และภูมิปัญญาร่วมสมัย สามารถนำมาแยกพัฒนาเป็นกระบวนการเรียนการสอน ทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย โดยแยกกิจกรรมการเรียนรู้ได้ ดังนี้
        1. การแสวงหาความรู้ ภูมิปัญญาไทยจากบุคคล ในรูปแบบการพูดคุย สอบถาม สัมภาษณ์
จากผู้รู้พื้นบ้าน พระสงฆ์ ผู้สอนศาสนา ผู้เฒ่า ศิลปิน ช่างพื้นบ้าน ผู้ประกอบอาชีพแต่ละอาชีพฯลฯ ซึ่งภูมิปัญญามากมาย ทางด้านศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาที่เป็นความคิด ขนบธรรมเนียม ประเพณีต่างฯลฯ
       2. การแสวงหาความรู้ ภูมิปัญญาไทย จากเอกสารและบันทึกต่าง เช่น จากสมุดข่อย
หนังสือจดหมายเหตุ งานวิจัย ทั้งทางด้านปรัชญา ความคิด การดำรงชีวิต ศิลปวัฒธรรม ฯลฯ
3. การแสวงหาความรู้ภูมิปัญญาจากประสบการณ์ตรง เป็นการเดินทางไปสู่แหล่งข้อมูล
การใช้ชีวิตฝังตัวอยู่ในแหล่งข้อมูลหรือแหล่งประสบการณ์ เรียนรู้ สังเกต และซึมซับประสบการณ์รอบตัวด้วยตนเอง ซึ่งสามารถสัมผัสและเรียนรู้ภูมิปัญญาได้ทุกด้าน
4. การพัฒนาภูมิปัญญาไทย เมื่อเรามีชีวิตอยู่กับภูมิปัญญาของเรา ได้ศึกษาค้นคว้าหรือได้
มีประสบการณ์ตรง เราสามารถอนุรักษ์ สืบสาน และพัฒนาภูมิปัญญาให้เหมาะสมสอดคล้องกับปัจจุบัน เหมาะสมสอดคล้องกับชุมชน ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการสร้างสรรค์ขึ้นใหม่

5. การสร้างสรรค์กิจกรรมศิลปะและงานช่าง ทั้งศิลปะการแสดง ดนตรี และทัศนศิลป์
งานช่างที่มีความหลากหลายในแต่ละภูมิภาคและชุมชน เช่น เครื่องปั้นดินเผา เครื่องจักรสาน การทอผ้า การแกะไม้ การทำเครื่องถม เป็นต้น

การสร้างสรรค์กิจกรรมศิลปะจากภูมิปัญญาไทย จำเป็นต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจ แสวงหาประสบการณ์ตรง สร้างองค์ความรู้เพื่อพัฒนาไปสู่การสร้างสรรค์ กิจกรรมพหุศิลปศึกษาสามารถสร้างสรรค์ได้ ทั้งบูรณาการสื่อการแสดงออก ทัศนศิลป์ การแสดง ดนตรี เข้าด้วยกัน หรือการบูรณาการสื่อที่หลากหลาย เช่น ทัศนศิลป์สื่อผสม การแสดงผสมผสาน ดนตรีผสมผสาน การบูรณาการระหว่างอดีตกับปัจจุบัน ไทยกับสากล หรือบูรณาการกับกิจกรรมอื่นๆพร้อมกันนั้น ก็สามารถแยกการแสดงออก แยกสื่อ แยกลักษณะการสร้างสรรค์ได้เช่นกัน

5. พหุศิลปศึกษาเชิงหลังสมัยใหม่ (Post – Modern Arts Education)                       แนวความคิดและทฤษฎี
ปัจจุบันปรากฏการณ์ทางความคิดในการสร้างสรรค์ศิลปะในกระแสโลก ได้เปลี่ยนจากกระแสความคิดแบบ ลัทธิสมัยใหม่ ซึ่งมองศิลปะด้วยกรอบสายตาตามแบบวิทยาศาสตร์มาสู่กระแสความคิด ความเชื่อแบบ ลัทธิหลังสมัยใหม่ ซึ่งพัฒนามาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ทั้งนี้ หากเปรียบกับช่วงของมนุษย์ ก็นับว่าความคิดแบบหลังสมัยใหม่อยู่ในวัยหนุ่มเต็มตัว ผ่านร้อนหนาวมาจนถึงช่วงที่สุขุมพอสมควร พร้อมจะดำเนินการใหญ่ มิใช่กระแสความคิดที่เป็นเพียงแฟชั่นชั่วระยะ ชั่วครั้งชั่วคราว และเชื่อได้ว่า ในยุคที่จะมาถึง จะเป็นช่วงเวลาของความคิดแบบหลังสมัยใหม่อย่างแน่นอน อีกทั้งยังเป็นกระแสความคิดของชุมชนโลก มากกว่าจะเป็นเพียงความคิดของชุมชนชาติใดชาติหนึ่งเท่านั้น ซึ่งสามารถสรุปประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับศิลปะหลังสมัยใหม่ได้ ดังนี้

พหุศิลป์และพหุศิลปศึกษาเป็นรูปแบบขิงศิลปะตามแนวคิดของกลุ่มหลังสมัยใหม่ ศิลปะตามความคิดของกลุ่มหลังสมัยใหม่ ให้ความสำคัญกับการบูรณาการความคิดในการสร้างงานศิลปะด้วยสื่อที่หลากหลาย ปราศจากกำแพงกั้นระหว่างประเภทของศิลปะตามความคิดแบบเก่า หรือข้อกำจัดเรื่องการใช้สื่อในการแสดงออก การรับรู้ และจินตภาพ ในรูปแบบงานที่ไม่อาจสรุปได้ว่าเป็นชนิดหรือประเภทใด กลุ่มหลังสมัยใหม่มีแนวโน้มที่ให้อิสระในการใช้สื่อ ให้เสรีภาพในการจินตนาการ การใช้เทคนิคที่หลากหลาย ตลอดจนการให้เสรีภาพในการเลือกใช้แรงดลใจจากแหล่งที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากวัฒนธรรมสมัยนิยม

1. ผลงานศิลปะในความคิดของกลุ่มสมัยใหม่ ปราศจากความหมายในตัวของมันเอง
ความสัมพันธ์ระหว่างศิลปินและผลงานศิลปะ ในความคิดแบบหลังสมัยใหม่ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ความหมายในผลงานศิลปะเกิดจากการรับรู้ของผู้เสพ ผู้เสพงานศิลปะเป็นผู้ให้ความหมายงานนั้น จากเหตุผลและความเชื่อของกลุ่มหลังสมัยใหม่ ผลงานศิลปะมิได้มีคุณค่าอยู่ในตัวของมันเอง หากแต่คุณค่าของผลงานศิลปะ ขึ้นอยู่กับปฏิกิริยาของผู้เสพที่มีต่อผลงานนั้นๆ
2. ศิลปะในความคิดของกลุ่มหลังสมันใหม่จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับ สังคม เศรษฐกิจ และ
สิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้ บริบททางสังคมและวัฒนธรรมจึงนับเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญในการสร้างสรรค์และเรียนรู้ศิลปะ ศิลปะทั้งหลายมิอาจจะอยู่โดๆ ตามลำพังได้ นอกจากนี้ ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะหลังสมัยใหม่มักจะมีประเด็นสงสัยและวิพากษ์วิจารณ์ยุคสมัยของตน อีกทั้งมักจะมีสร้างผลงานที่เป็นศิลปะต่อต้าน ซึ่งต่อสู้เรียกร้องเพื่อสังคมและการเมือง
3. กลุ่มศิลปะหลังสมัยใหม่จะเป็นปฏิปักษ์กับระบบความคิดแบบศิลปะสมัยใหม่ และจะ
เป็นกลุ่มวิพากษ์ศิลปะสมัยใหม่กลุ่มศิลปะสมัยใหม่เห็นว่าศิลปะแบบสมัยใหม่ให้ความสำคัญกับจิตสำนึกส่วนตนโดยไม่สนใจอดีต และพยายามเน้นความคิดริเริ่มเฉพาะตนในการสร้างงานศิลปะ ขณะที่กลุ่มหลังสมัยใหม่ทั่วไป จะหยิบยกสาระจากอดีต และนำเอาสาระเก่านั้นมาใส่ในบริบทใหม่ นอกจากนี้ นักทฤษฎีและนักวิจารณ์หลังสมัยใหม่จะให้การยอมรับกิจกรรมสร้างสรรค์ศิลปะและรูปแบบงานศิลปะที่หลากหลาย ไม่จำกัดขอบเขตหรือเส้นแบ่งกั้นใดๆ ซึ่งต่างกับนักวิจารณ์และนักคิดกลุ่มสมัยใหม่ ที่ปฏิเสธผลงานของศิลปินที่มิได้เป็นไปตามทฤษฎีความเชื่อของลัทธิสมัยใหม่
4. กลุ่มความคิดแบบหลังสมัยใหม่ ไม่เชื่อในเรืองความเป็นไปได้ของการสื่อสารอันเป็น
สากลหรือภาษาสากล ซึ่งตรงข้ามกับกลุ่มสมัยใหม่ที่เชื่อและแสวงหาสิ่งที่เป็นสากล ตลอดจนความสามารถที่จะเป็นการสื่อสารสากล ทว่ากลุ่มหลังสมัยใหม่เชื่อในเรื่องลักษณะเฉพาะตนที่แตกต่าง ทั้งนี้ พวกเขาให้ความสำคัญกับเรื่อง เชื้อชาติ ชนชั้น เพศพฤติกรรมทางเพศ ธรรมชาติ พื้นถิ่น ดินแดนต่างๆซึ่งต่างกัน กลุ่มสมัยใหม่เห็นว่า ระบบสากลจำเป็นต้องคำนึงถึงลักษณะเฉพาะกลุ่มของชุมชนด้วย ด้วยเหตุนี้ จึงส่งผลไปสู่การสร้างสรรค์และการศึกษางานศิลปะ

แนวความคิดและแนวทางการจัดกิจกรรมศิลปะสำหรับเด็กปฐมวัย
(พหุศิลปศึกษา : แนวทางและกิจกรรมสำหรับพัฒนาเด็กปฐมวัย)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์จักรพงษ์ แพทย์หลักฟ้า หัวหน้าสาขาศิลปศึกษา คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้ให้แนวความคิดสำหรับแนวทางการจัดกิจกรรมศิลปะสำหรับเด็กปฐมวัยไว้ว่า การปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 เป็นแนวทางที่ดี โดยเน้นการปฏิรูประบบการศึกษาทั้งระบบ ทั้งการปฏิรูปครู นักเรียน การจัดกระบวนการเรียนรู้ สื่อและแหล่างเรียนรู้ แต่ในสภาพความเป็นจริง กระบวนการปฏิรูปการศึกษาอาจยังไม่สามารถบรรลุผลตามเจตจำนงของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ และไม่สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้เจาะเข้าถึงแก่นแท้ของการปฏิรูปการศึกษาอย่างที่ควรจะเป็น ดังที่ เสรี พงศ์พิศ (2545:109) ได้กล่าวเอาไว้ว่า

“ความพยายามในการปฏิรูปการศึกษาทำให้เกิดพระราชบัญญัติหนึ่งฉบับในปีพ.ศ.2542แต่ก็เหมือนพระราชบัญญัติที่ถูกลืม เพราะถูกเพิกเฉยและได้รับความสนใจน้อย ส่วนหนึ่งเพราะสังคมโดยรวมไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการปฏิรูปการศึกษานั้นอย่างแท้จริง ที่เห็นได้ชัดเจนกว่าอย่างอื่นคือการปรับระบบโครงสร้าง มีการรวม การลด การเพิ่มองค์กรหน่วยงาน โดยแก่นแท้การปฏิรูปการศึกษาไม่ได้เกิดขึ้นกระบวนการเรียนรู้ยังเหมือนเดิมยังท่องหนังสือไปสอบคุณภาพครูก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง ย่ำแย่ลงไปอีกถ้าพิจารณาจากปริมาณหนี้สินครูที่เพิ่มขึ้นทำให้คุณภาพชีวิตของครูเลวร้ายลงไปไม่มีสมาธิในการทำหน้าที่ครูที่ดี ต้องทำงานหาเงินไปใช้หนี้ ไม่มีเวลาหาความรู้เพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนนักศึกษา”

จากข้อความดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าสาระสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาที่ควรเน้นแต่กลับถูก
ละเลย คือ การปฏิรูปการเรียนรู้ ซึ่งการปฏิรูปการเรียนรู้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับครู ผู้เรียน สื่อและแหล่งการเรียนรู้ทั้งระบบของการจัดการเรียนรู้โดยองค์รวม การปฏิรูปการเรียนรู้ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพุทธศักราช 2542เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และให้ความสำคัญกับการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการดังนั้นการจัดการเรียนรู้จึงต้องเน้นถึงความสนใจของผู้เรียนบนฐานแนวคิดที่หลากหลายเน้นการพัฒนาจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์และเน้นการสร้างคุณธรรมจริยธรรมจิตสำนึกสาธารณะให้เกิดกับผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลตามสนใจและความถนัดตามวุฒิภาวะของผู้เรียน

การจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย นับว่าเป็นการจัดการเรียนรู้ในช่วงวัยที่สำคัญมาก เพราะเด็กปฐมวัยเป็นวัยที่ศักยภาพของการเรียนรู้ของเด็กเจริญงอกงามอย่างรวดเร็วมากถ้าได้รับการพัฒนาอย่างเข้าใจ นอกจากนี้พัฒนาการทางร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ก็สามารถส่งเสริมให้พัฒนาขึ้นได้เป็นปริมาณมากด้วยกิจกรรมการเรียนรู้บนฐานของความเข้าใจด้วยเช่นกัน เป็นที่ยอมรับกันว่าการส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กปฐมวัย รวมทั้งการส่งเสริมศักยภาพทางการเรียนรู้ของเด็กผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ทางศิลปะ เป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัยได้ ทั้งนี้เพราะกิจกรรมศิลปะสนุก จะและสามารถกระตุ้นความสนใจของเด็กให้อยากเรียนรู้ศิลปะได้เป็นอย่างดี จึงทำให้เด็กปฐมวัยชอบแสดงออกทางศิลปะนอกจากนี้กิจกรรมศิลปะยังเป็นกิจกรรมที่สามารถตอบสนองการแสดงออกทางด้านจินตนาการความคิดสร้างสรรค์ของเด็กได้อย่างอิสระเพราะเป็นกิจกรรมที่ยืดหยุ่นไม่มีหลักเกณฑ์เรื่องความถูก หรือผิด มากำหนด กิจกรรมศิลปะเกี่ยวข้องกับเรื่องของความชอบ ของผู้แสดงออกมากกว่า จึงมีธรรมชาติของกิจกรรมที่สอดคล้องกับความสนใจของเด็กปฐมวัย อย่างไรก็ตามการจัดกิจกรรมศิลปะเพื่อพัฒนาเด็กผู้จัดกิจกรรมจะต้องมีความรู้ความเข้าใจ ในการจัดกิจกรรมเป็นอย่างดีเพราะการสอนศิลปะเป็นดาบสองคม หากผู้จัดกิจกรรมหรือผู้สอนศิลปะเข้าใจเด็กก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าพัฒนาอย่างขาดความเข้าใจแทนที่จะส่งเสริมพัฒนาเด็กอาจกลายเป็นการทำลายไปเสียก็ได้

       การจัดกิจกรรมศิลปะเพื่อพัฒนาเด็กนั้นผู้จัดกิจกรรมจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการจัดกิจกรรม ต้องมีการศึกษาทดลองและพัฒนากิจกรรมอย่างเป็นระบบ เด็กปฐมวัยเป็นเด็กในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อที่พัฒนาการด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์กำลังเจริญเติบโตจึงต้องการการส่งเสริมด้วยกิจกรรมศิลปะที่มีคุณภาพ เพื่อการพัฒนาอย่างเข้าใจและยั่งยืน กิจกรรมศิลปะที่มีรากฐานมาจากความคิดที่หลากหลายและผ่านการทดลองอย่างเป็นระบบจึงเป็นกิจกรรมที่สำคัญต่อเด็กเป็นอย่างมาก เสรีภาพทางความคิดและการปฏิบัติกิจกรรมศิลปะตามความต้องการของผู้เรียนเป็นการสร้างบรรยากาศหรือสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ ที่ครูศิลปะจะต้องจัดประสบการณ์ให้กับผู้เรียน เพราะการที่เด็กแสดงออกได้มากเท่าไร นั่นย่อมหมายความว่า เขาได้ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาได้มากเท่านั้น และนั่นย่อมหมายถึงความพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เมื่อปัญหาเดิมได้รับการตอบสนองไปเรียบร้อยแล้ว และนั่นยอมหมายถึงความพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเมื่อปัญหาเดิมได้รับการตอบสนองไปเรียบร้อยแล้ว เด็กอาจยุ่งยากใจกับการแก้ปัญหาในโลกแห่งความเป็นจริงแต่ในโลกแห่งศิลปะมีวิธีการในการเข้าไปสู่ความสำเร็จในการแก้ปัญหาเสมอถ้าครูหรือผู้ปกครองไม่เข้าไปแย่งชิงช่วงเวลาอันมีคุณค่าของการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ตามเสรีภาพของเด็กด้วยความหวังดีที่ขาดความเข้าใจ

          กิจกรรมศิลปะ เป็นกิจกรรมที่สำคัญที่สามารถส่งเสริมความรู้ของเด็กได้ครบทั้ง 4 ด้าน ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ในการจัดกิจกรรมศิลปะสำหรับเด็กตามแนวทฤษฎีพหุศิลปศึกษา จะต้องให้ความสำคัญกับความแตกต่างระหว่างบุคคลและความสามารถของเด็กที่แตกต่างกัน เกิดเป็นกิจกรรมที่ผสมผสานศิลปะกับความถนัดเฉพาะตนของผู้เรียน เกิดสุนทรียะทางอารมณ์ เกิดความคิดสร้างสรรค์และจินตภาพ ออกมาเป็นศิลปะตวามความถนัดเฉพาะด้านของเด็ก เด็กจะเกิดความเข้าใจในตนเอง เมื่อเด็กเกดอารมณ์ทางบวก ได้คิด ได้ทำตามสิ่งที่ชอบ เด็กจะสามารถพัฒนาสติปัญญา และเกิดความสามารถที่เรียกว่าเชาวน์ปัญญา อันเป็นความคิด เป็นศิลปะที่มีอิสระ ไม่มีขอบเขต แต่มีเป้าหมายในการพัฒนากระบวนการคิดเชิงศิลปะ เกิดกระบวนการคิดที่เฉพาะตัว เป็นการปูพื้นฐานในการค้นหาความสนใจและความถนัดของเด็กเพื่อให้เด็กได้ค้นพบสิ่งที่ตนเองชอบ และพัฒนาต่อยอดสู่สายงานที่ตนเองถนัดในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

จักรพงษ์ แพทย์หลักฟ้า.(2553).แนวความคิดและแนวทางการจัดกิจกรรมศิลปะสำหรับเด็กปฐมวัย

(พหุศิลปศึกษา : แนวทางและกิจกรรมสำหรับพัฒนาเด็กปฐมวัย).สืบค้นเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2561,จาก http://www.artsedcenter.com

ศากุล ตานะเศรษฐ .(2553).พหุศิลปศึกษา Arts Education .สืบค้นเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2561,

จาก http://www.mcpswis.mcp.ac.th

เสรี พงศ์พิศ. (2545). ยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน .กรุงเทพฯ : สันติศิริการพิมพ์.

หมายเลขบันทึก: 658592เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2018 23:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ธันวาคม 2018 02:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท