ดอกไม้รายทางบนถนนสาย KM สหเวชฯ


ถนนสาย KM สหเวชฯ จะทอดไปถึงดาวดวงไหน ไม่มีใครในคณะสนใจกันหรอก เขาสนใจที่จะชื่นชมดอกไม้รายทางระหว่างทาง และเดินทางไปกับเพื่อนรู้ใจบนถนนสายนี้มากกว่า

          จดหมายข่าวราย 2 เดือนของสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) "ถักทอสายใยแห่งความรู้" ฉบับที่ 21 เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ซึ่งแจกใน "งานมหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ 3" มี theme เดียวกับงานมหกรรม คือ "ขับเคลื่อนเครือข่าย KM ประเทศไทย"

          ดังนั้นข้อเขียนต่างๆ ในฉบับนี้ จึงรวบรวมมาจาก Cops : ชุมชนนักปฏิบัติ ต่างๆ ทั่วประเทศ (ก็ว่าได้) ที่สำคัญ...Cop คณะสหเวชฯ มน. ก็ได้รับเกียรติให้ลงตีพิมพ์ในฉบับนี้ด้วยเจ้าค่า..เจ้าค่าเอ๊ย... : 0  :0

          ในฐานะผู้บริหาร นอกจากจะต้องเป็นนักพูด  นักเขียน  นักร้อง สารพัดนักแล้ว ยังจะต้องเป็นนักป่าวประกาศประชาสัมพันธ์ด้วย (ที่จริงก็เขินเหมือนกันนะคะ)

          แต่ยังงัยเสียก็ต้องบากหน้า ถือเสียว่า diary นี้เป็นโลกส่วนตัว (ที่ชอบเปิดเผย) เพราะดิฉันยังไม่แน่ใจอยู่ดีว่า  ชาวสหเวชฯแท้ๆ จะได้อ่านหรือปล่าว?? จึงขอใช้ Blog เป็นช่องทางสื่อสารสำทับอีกทางหนึ่ง


          ชื่อเรื่องและเนื้อความใน จดหมายข่าว หน้า ๓๘ (เรื่องท้ายสุดในฉบับ) มีดังนี้...

ดอกไม้รายทางบนถนนสาย KM สหเวชฯ
โดย  มาลินี   ธนารุณ

          ถ้าการจัดการความรู้เป็นวิถีไม่ใช่ปลายทาง ดอกไม้รายทางแต่ละดอกที่ดิฉันเก็บมาฝากอาจไม่งดงามนัก  ยิ่งถ้าคิดจะนำไปปักแจกันละก็   สู้หากุหลาบโรยๆ มาแทนยังจะดูดีเสียกว่า  แต่ถ้านำแต่ละดอกมารวมเป็นช่อใหญ่ จัดใส่แจกัน คงพอรับแขกมาเยือนได้

          ถ้าจะนับกันจริงๆ  ก็เมื่อราวปลายปี 2548  นี่เอง  ที่คณะสหเวชศาสตร์  มหาวิทยาลัยนเรศวร  เริ่มเอาจริงเอาจังกับ KM   แรกๆ ดิฉันคิดว่า  ตอนนั้นมีเพียงไม่กี่คนหรอกที่รู้ว่า “เรา” กำลังรื้อบ้านเพื่อปรับปรุงซ่อมแซมโดยใช้ เครื่องมือ High Tech. อย่าง  KM  เป็นหลัก “เรา” ในที่นี้  ดิฉันหมายถึง  ขุนพลคู่ใจ  2  ท่านของดิฉัน  คือ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและประกันคุณภาพ  อาจารย์ ดร.ศิริลักษณ์   ธีระภูธร  และหัวหน้าสำนักงานเลขานุการคณะ คุณอนุวัทย์  เรืองจันทร์

          ด้วยเครื่องทุ่นแรง KM  ที่ดิฉันพอมีทุนรอนสะสมไว้บ้าง เมื่อครั้งท่องยุทธจักรบนถนน KM  สายเมน NUKM  บวกกับการมีสายสัมพันธ์อันดีกับจ้าวยุทธ์ทั้งหลายที่ท่องบนถนนเมนนั้น  จึงค่อยๆ ผ่องถ่ายมรดกเท่าที่มีให้ไปพร้อมๆ กับผลักไสให้บุคคลทั้ง 2  ท่าน ไปเข้าก๊วน  NUKM  นอกคณะอยู่เสมอ

          อย่างที่เราท่านทราบกันดีว่า ผู้ที่เรียนรู้เร็ว และทำงานจริงจัง จะเป็นตัวคูณ  หรือตัวยกกำลัง ที่ประเสริฐสุด  ดังนั้นอาจารย์ ดร.ศิริลักษณ์   ธีระภูธร  และคุณอนุวัทย์  เรืองจันทร์  ผู้ที่มีคุณสมบัติดังกล่าวครบถ้วน  จึงนำ  KM  มาเจือในภารกิจและกิจกรรมสารพัดรูปแบบของคณะ  โดยเย็บต่อกับ QA  อย่างแทบไม่เห็นรอยตะเข็บ

          วันหนึ่ง  ในเดือนกันยายน 2549 คุณเจนจิต  รังคะอุไร  ผู้อำนวยการหน่วยประกันคุณภาพ มหาวิทยาลัยนเรศวร  มาสะกิดดิฉันให้หยุดพักและทบทวนหน่อยซิว่า ทั้งปีที่ผ่านมา  KM  .ให้อะไรกับมหาวิทยาลัยและคณะบ้าง  ดิฉันบันทึกไว้แล้วใน Blog http://gotoknow.org/blog/9nuqa/51414  ของดิฉัน

          คำตอบเฉพาะในส่วนของคณะ  ต่อคำถามที่ว่า  เครื่องมือของการจัดการความรู้ที่ท่านประทับใจ และการประยุกต์ใช้ในหน่วยงานคืออะไร ?  คัดมาอีกทีดังนี้

          เครื่องมือของการจัดการความรู้ที่ประทับใจ คือ  After action Review : AAR  เพราะสามารถประยุกต์ใช้ได้กับกิจกรรมทุกรูปแบบ  และใช้ได้ทั้งระดับปัจเจก  และกลุ่มคนจำนวนน้อยถึงมากได้  AAR  ช่วยกระตุ้นให้รู้จักคิด  วิเคราะห์  ประเมิน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ “การเรียนรู้ของตนเอง”  ตัวอย่างที่นำไปประยุกต์ใช้  ในหน่วยงาน  ได้แก่

  1. AAR  ปิดฉากการจัดเวทีเสวนา  การวิพากษ์แผน  การประชุม  อบรม  สัมมนาต่างๆ 
  2. การประเมินโครงการ / กิจกรรม ที่จัดในแต่ละเดือน ด้วยวาจาในที่ประชุม กค. ( ให้ผู้บริหาร AAR)
  3. การรายงานของบุคลากร หลังการไปฝึกอบรม ดูงาน ในรูปแบบของ AAR
  4. การเรียนการสอนนิสิต หลังจบการบรรยาย ( ให้นิสิต AAR)
  5. การเขียน Blog  (เขียน e- diary แบบ AAR)

          และต่อคำถามที่ว่า  การดำเนินงานด้านการจัดการความรู้ของมหาวิทยาลัยนเรศวร ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อตนเองและหน่วยงานของท่านอย่างไรบ้าง?  คำตอบคือ

          ต่อตนเอง  เปลี่ยนแปลงดังนี้

  • ทำให้ได้รู้จักและมีกัลยาณมิตร มากมายหลายท่าน 
  • ทำให้ได้โอกาสเรียนรู้  และใกล้ชิด  ผู้ทรงคุณวุฒิและทรงคุณธรรม
  • ทำให้เป็นคนทันสมัย ก้าวทันโลก  ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ได้
  • ทำให้ได้พัฒนาทักษะในการฟัง  พูด  คิด  เขียน อยู่ตลอดเวลา
  • ทำให้มีความรู้เชิงระบบ  เชิงโครงสร้าง ความเชื่อมโยง และมองภาพรวมได้ดีขึ้น
  • ทำให้เป็นที่ยอมรับของสังคม และเป็นที่รู้จักของบุคคลภายนอก
  • ทำให้มีโอกาสสร้างคุณประโยชน์แก่สังคมมากขึ้น

          ต่อหน่วยงาน (คณะสหเวชศาสตร์)เปลี่ยนแปลงดังนี้

  • อาจารย์รู้จักประยุกต์เครื่องมือของ KM เข้ากับงานประจำ เช่น การสอน  การประชุม ได้
  • บุคลากรสายสนับสนุน รู้จักประยุกต์เครื่องมือของ KM เข้ากับงานประจำ เช่น การสรุปโครงการ  การประชุม  การพัฒนางานด้านประกันคุณภาพ
  • ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ดีขึ้น  ฟังกันมากขึ้น ยอมรับกันมากขึ้น
  • ผลการดำเนินงานในงานด้านต่างๆ ตามตัวชี้วัดของ สมศ. ดีขึ้น
  • บุคลากรที่มีความสนใจเรื่อง KM  สามารถเป็นวิทยากร KM แก่หน่วยงานภายนอกได้
  • คณะสหเวชศาสตร์ มน. เป็นที่รู้จักของบุคคลภายนอกมากขึ้น

          ความจริง  นอกจาก AAR  ดิฉันอยากจะขอเพิ่มเติมในที่นี้ว่า  เครื่องมือของการจัดการความรู้ที่ดิฉันประทับใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า AAR คือ Blog  แรกๆ  ก็ยังไม่ประจักษ์ชัดนัก  จะชัดก็เฉพาะประโยชน์ส่วนตน  แต่มาระยะหลังนี้  พอดิฉันเริ่มเชี่ยวชาญเครื่องมือ KM มากขึ้น  ดิฉันสามารถใช้ Blog  กระตุ้นการพัฒนาคน  พัฒนางาน  และพัฒนาองค์กรได้ด้วย

          สมรรถนะของ Blog สัญชาติไทยแท้  อย่าง GotoKnow  ที่พัฒนาก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้งเป็น KnowledgeVolution   ทำให้อยู่มาวันหนึ่ง ดิฉันเกิด idea ปิ๊งปั๊ง  e-mail ไปหาบุคลากรของคณะทุกท่าน  ใจความว่า

          เรียนบุคลากรคณะสหเวชศาสตร์ ทุกท่าน

          ในปีงบประมาณ 2550  คณะมีนโยบายที่จะพัฒนาระบบ e-SAR ขึ้น  ด้วยวิธีการที่ง่ายที่สุด คือ การใช้โครงสร้าง  และระบบ Blog ของ Gotoknow  ซึ่งหัวใจสำคัญในการจัดระบบเก็บเอกสารหลักฐานต่างๆ คือ การติดป้าย (Tag) ในการบันทึกแต่ละครั้ง  จึงอยากเชิญชวนบุคลากรทุกท่าน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรสายสนับสนุน ได้โปรดสร้าง Blog ของประจำตัว   หากท่านไม่ทราบวิธีการ  โปรดแจ้งคุณอนุวัทย์ ได้ทุกเมื่อ คุณอนุวัทย์จะสอนให้

          การบันทึกใน Blog ของท่าน เปรียบเสมือนการกรอกแบบประเมินภาระงาน  เพื่อการประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปี โดยที่ในปีงบประมาณนี้  ท่านสามารถให้คณะประเมินผลงานของท่านจาก Blog ของท่านได้เลย   โดยไม่จำเป็นต้องเขียนรายงานให้ยุ่งยาก

          เพียงแต่ท่านต้องทยอยบันทึกสั้นๆ / หรือเก็บภาพ / เก็บ File ที่เป็นเอกสารหลักฐานที่ท่านเห็นว่าเกี่ยวข้อง หรือ สัมพันธ์ กับดัชนี / ตัวบ่งชี้ คุณภาพ ของการประกันคุณภาพไม่ว่าจะน้อยหรือมากเพียงใดก็ได้  โดยกระทำอย่างสม่ำเสมอ  เหมือนกับเก็บเอกสารอย่างเป็นระบบ

          ระบบการติดป้าย หรือ Tag ที่เป็นรหัสเฉพาะของคณะของเราเอง คือคำต่อไปนี้ (แต่ละคำต้องเขียนติดกันหมด)  ดัชนีที่1.1-50  ดัชนีที่1.2-50  ดัชนีที่1.3-50  ดัชนีที่2.1-50  ดัชนีที่2.2-50  ดัชนีที่2.3-50  ดัชนีที่2.4-50.........จนถึง   ดัชนีที่9.3-50  และ ตัวบ่งชี้ที่1.1-50............ถึง ตังบ่งชี้ที่7.2-50  กรณีของงานในสำนักงานเลขาฯ ก็จะมีดัชนีที่10.1......ถึง 10.5  อีกด้วย

          ดัชนีที่ หรือ ตัวบ่งชี้ที่ เท่าไหร่ เกี่ยวข้องกับเรื่องอะไร  เป็นหน้าที่ที่ท่านต้องขวนขวายศึกษาในเอกสาร  SAR/CAR/YAR ปี 2549 (ปีการศึกษา 2548) ที่คณะเพิ่งแจกให้ทุกท่านเอาเอง

          การที่มี -50  ต่อท้าย หมายถึง ข้อมูลทั้งหมดนี้ จะใช้ประเมินคุณภาพการศึกษาในปี 2550  ซึ่งเป็นข้อมูลที่รวบรวมในปีการศึกษา 2549 ทั้งหมด ( 1 มิ.ย. 2549 ถึง 31 พ.ค. 2550)

           เมื่อท่านบันทึกข้อมูลของท่านในแต่ละครั้ง  หากเห็นว่าเกี่ยวข้องกับการประกันคุณภาพ ก็ให้ติดป้ายชื่อซึ่งเกี่ยวข้องดังกล่าวข้างต้น ไว้ในบันทึกนั้นๆ ด้วย

          ดังนั้น  เมื่อถึงคราวประเมินคุณภาพ  เราก็ไม่ต้องจัดเอกสารให้แก่กรรมการอีก  แต่เราจะให้กรรมการตรวจเอกสารเหล่านั้นด้วยการค้นหา ชื่อป้ายแต่ละชื่อ  ซึ่งก็คือ แต่ละดัชนี และแต่ละตัวบ่งชี้นั่นเอง

          ทั้งนี้  ผู้ประเมิน สามารถตรวจเอกสารได้ก่อนถึงวันประเมินด้วยซ้ำ โดยไม่ต้องมาตรวจเอกสารถึงที่

         อนึ่ง  ด้วยเหตุที่การประเมินปริมาณภาระงานของบุคลากรสายสนับสนุนที่ผ่านมาด้วยการเขียนรายงาน  ไม่สามารถนับวัดปริมาณงานได้แน่นอน  ไม่เหมือนบุคลากรสายวิชาการ  ดังนั้น การทำ e-SAR ระบบนี้  จึงผูกกับการประเมินผลการปฏิบัติงานของท่านด้วย  ไม่ว่าจะเป็นผลงานของท่านที่ทำเป็นประจำ  / การพัฒนาตัวท่านโดยการไปฝึกอบรม ดูงาน / การAAR  / การวิจัยสถาบัน  ฯลฯ  มีความเกี่ยวข้องกับ QA ได้ทั้งหมด

          แต่ถ้าท่านคิดว่าเรื่องที่ท่านบันทึกไม่เกี่ยวกับ QA ท่านจะติดป้ายอย่างอื่น  ย่อมเป็นสิทธิที่ท่านจะกระทำได้เสมอ

          กล่าวอย่าง่ายๆ ก็คือ ถ้าท่านไม่เขียน Blog คณะจะไม่สามารถประเมินปริมาณภาระงานของท่านได้  โดยทั่วไป  บุคลากรสายสนับสนุนทุกท่านจึงควรเขียน Blog อาจยกเว้นได้เฉพาะบุคลากรที่มีวุฒิต่ำกว่า ป.ตรี (กรณีที่ต่ำกว่า ป.ตรี แต่บันทึก Blog ได้  จะได้รับการพิจารณาผลการปฏิบัติงานเป็นพิเศษ)

          สำหรับบุคลากรสายวิชาการ  ซึ่งมีความสามารถที่จะกระทำได้อยู่แล้ว  คณะก็อยากจะสนับสนุนให้ท่านทำอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดี

          วิธีการเข้า Gotoknow  แบบตรงดิ่งมายังโลกส่วนตัวของคณะสหเวชฯ  คือ  การไปที่หน้าแรก Website ของคณะ http://www.ahs.nu.ac.th/   แล้วคลิ๊กที่ปุ่ม AHS Planet ทางด้านขวามือ http://gotoknow.org/planet/AHS-NU  (งาน IT ของคณะได้จัดทำไว้ให้ท่านแล้ว)

          จึงแจ้งเพื่อทราบโดยทั่วกัน

          ถัดมาอีก 2 -3 วัน  คุณอนุวัทย์ ก็จัดเวทีถ่ายทอดเรื่อง Blog แก่บุคลากรทุกท่านอย่างไม่รีรอ

          และนับแต่นั้น  โลกใบน้อยๆ AHS in NU  Planet  ก็ครึกครื้นและคึกคัก  อย่างอัตโนมัติ  โดยไม่ต้องอาศัยการบังคับขืนใจผู้ใดเลย

          เฉกเช่นที่ท่านเคยรู้สึกว่า  รู้จักใครบางคนมากขึ้น  จนแทบเห็นชีวิตของเขาได้ใน Blog  AHS in NU  Planet ก็เช่นกัน  ถ้าหากติดตามดู ท่านก็จะได้รู้จักบุคลากรของคณะสหเวชฯ  ความเป็นไปและพัฒนาการของคณะสหเวชฯ ฉันใดก็ฉันนั้น

          ถนนสาย KM สหเวชฯ จะทอดไปถึงดาวดวงไหน  ไม่มีใครในคณะสนใจกันหรอก  เขาสนใจที่จะชื่นชมดอกไม้รายทางระหว่างทาง  และเดินทางไปกับเพื่อนรู้ใจบนถนนสายนี้มากกว่า


          ท้ายที่สุดนี้  ดิฉันขอขอบพระคุณ สคส. ที่เปิดโอกาสให้กับคณะสหเวชศาสตร์  มน.  คณะเล็กๆ  หน่วยงานน้อยๆ  ที่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก ได้ประชาสัมพันธ์หน่วยงานในจดหมายข่าว  ได้ถ่ายทอดความรู้ และส่วนเสี้ยวของความสำเร็จในงาน  ให้แก่ผู้คนในวงกว้างได้รับทราบ.... 

          ขอบพระคุณอีกครั้งค่ะ............  :)  :)        

  

หมายเลขบันทึก: 65850เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2006 22:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เรียนท่านคณบดี

 ชาว UKM ได้เรียนรู้หลายประเด็นครับ ขอบพระคุณครับ

กราบคารวะท่านอาจารย์ JJ ผู้ให้ความรู้แก่ดิฉันมากมายเช่นกันค่ะ

e-SAR นี่มีโอกาสที่จะเป็นต้นแบบให้กับคณะและหน่วยงานอื่น ๆ ด้วยครับ ตอนนี้รอติดตั้ง intranet เสร็จเมื่อไหร่คงต้องขอแรงอาจารย์มาลินีและทีมงานมาช่วยกันรณรงค์ทำความเข้าใจกันเป็นการใหญ่ ขอขอบคุณล่วงหน้าไว้ตรงนี้เลยครับ

ยินดี และเต็มใจเสมอค่ะ

อาจารย์อธิบายได้ชัดเจนทุกบล็อกเลยค่ะ

โดยเฉพาะ บล็อกนี้ ชอบมากค่ะ

เพราะตัวเองติดใจเสน่ห์ AAR ใช้แทบทุกวัน บางวันหลายครั้ง

และตอนนี้ติด บล็อก

บล็อกของอาจารย์ซะด้วย

  • ขอบคุณมากค่ะ
  • ทำไมเป็นโรคเดียวกันเลยละคะ ?
  • สงสัยจะรักษาไม่หายซะด้วย
  • นับวันอาการจะยิ่งหนัก แต่...
  • เหมือนว่าสมองจะใช้การได้ดีขึ้น...กว่าแต่ก่อน....
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท