ชมรมตามรอยเท้าพ่อ_ (๕) เรียนรู้เรื่องน้ำเสีย


วันที่ ๙-๑๐ พ.ย. ๒๕๖๑ ชมรมตามรอยเท้าพ่อ ได้เรียนรู้เรื่องการบำบัดน้ำเสียภาคปฏิบัติกับ ผศ.ดร.เพชร เพ็งชัย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำเสีย จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มมส. (นี้เอง) ท่านมาแบบจิตอาสาและพาทำ พร้อมทั้งสนับสนุนงบซื้อจุลินทรีย์ที่ใช้ในการบำบัดน้ำเสียในวงการอุตสาหกรรม แถมยังซื้อปั๊มฉีดจุลินทรีย์ให้ใช้ถึง ๒ ตัว เพียงเพื่อจะให้นิสิตจิตอาสาที่มาร่วมวันนี้ได้เรียนรู้จากการลงมือทำ ได้ลงมือฉีดจุลินทรีย์ด้วยตนเอง  ... ผมคิดว่าเป็นกิจกรรมที่ดีมากๆ และเข้าใจว่า เป็นความร่วมมือกันของกลุ่มเครือข่ายนิสิตจิตอาสาและชมรมตามรอยเท้าพ่อ ... ก็ขออนุโมทนากับทั้ง ดร.เพชร และนิสิตที่ไปร่วมทุกคน ณ ตรงนี้อีกครั้งครับ

ความเป็นไปต่อมา (อัพเดทเหตุการณ์ต่อจากบันทึกก่อน)

การแนะนำให้นิสิตชมรมตามรอยเท้าพ่อทดลองเอาผักตบชวามาบำบัดน้ำเสียและวัดค่าคุณภาพน้ำเป็นระยะที่ผ่าน มุ่งประโยชน์ด้านการเรียนรู้วิธีการ "เดินตามรอยเท้าพ่อ" ของนิสิตในชมรมเป็นสำคัญ มุ่งหวังผลด้านการศึกษาและเรียนรู้วิธีการใช้ "อธรรมปราบอธรรม" ตามหลักการทรงงาน การมุ่งหวังจะบำบัดหรือป้องกันน้ำในสระเสียนั้น เกินกำลัง เกินศักยภาพของชมรมฯ (ปริมาณผักตบชวาต้องมีมากกว่าที่เห็นเยอะ ไม่น่าจะควบคุมได้ไหว)... ผู้สนใจอ่านบันทึกที่ผ่านมาอย่างละเอียดเถิด (บันทึก  และ  )

ช่วง ๒ เดือนก่อน เกิดความเข้าใจผิดของนิสิตส่วนหนึ่ง (น่าจะกลุ่มใหญ่พอสมควร ผมเข้าใจอย่างนั้น) ว่า ผักตบชวาที่ชมรมฯ เอามาลงสระนั้น เป็นต้นเหตุของน้ำเสียในสระ กอปรกับแปลงผักตบชวาที่แตกกระจายไปอยู่ตามขอบรอบสระประปราย ทำให้ดูไม่เรียบร้อย (เหตุเพราะกำลังคนน้อย) แม้ว่าชมรมจะจัดระเบียบแปลงผักตบชวาส่วนใหญ่ ไปผูกไว้ข้างสะพานรื้อผักตบแล้ว ทั้งที่ความจริงผักตบช่วยดูดซับสารอาหารและสารโลหะหนักในน้ำทำให้น้ำดีขึ้น (ตามที่ทรงทำให้เห็นเป็นตัวอย่างแล้ว)  ความเข้าใจผิดนี้ทำให้เกิดการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางในบรรดากลุ่มแกนนำนิสิต ... ซึ่งถือเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ดีโดยบังเอิญ

ผมได้เรียนไปในบันทึกที่แล้ว (บันทึกที่ ) ว่าผมเป็นผู้ทำ "สะพานรื้อผักตบชวา" ขึ้นมาเอง เป็นสะพานไม้ชั่วคราว ด้วยเหตุผลว่า หากปล่อยไว้นานเกินไปจะไม่สามารถควบคุมผักตบชวาได้ ไม่สามารถจะรอให้นิสิตทำโครงการทำเองตามปกติ และตามทฤษฎีจะต้องลงเก็บผักตบชวาที่แก่เต็มที่ออกจากแปลงทุก ๆ ๔๕ วัน รวมถึงแผนที่จะส่งเสริมให้นิสิตทดลองสร้างผลิตภัณฑ์จากผักตบชวา สร้างสรรค์และพัฒนาให้เกิดปัญญาปฏิบัติ (Phronesis) ต่อไป ...  มหาวิทยาลัยเป็นเหมือนบ้านของผม ผมเห็นอะไรจะดีต่อบ้านหลังนี้และทำได้ ผมจะทำเลยทันทีหลังจากที่ใคร่ครวญดีแล้วว่าเกิดผลดีกับมหาวิทยาลัย และไม่ส่งผลเสียต่อใครแน่ๆ

ผมเองรู้ดีและมั่นใจว่าผักตบชวาสามารถบำบัดน้ำเสียได้จริง (เหมาะสมกับปริมาณที่มี) และเป็นเพราะผักตบชวานั่นเองที่ทำให้ส่วนสระน้ำทิศตะวันตกเฉียงใต้ใกล้สามแยกไฟแดงไม่ส่งกลิ่นเหม็น  แต่ผมตั้งใจพานิสิตรื้อผักตบชวาบริเวณนั้นออกด้วย เอาผักตบไปรวมไว้ไกลฝรั่งข้างถนน เพื่อไม่ให้ไปรกหูตาของผู้สัญจรไปมาและรวบรวมไว้ให้สามารถควบคุมปริมาณได้... เพียง ๒ สัปดาห์น้ำเสียบริเวณนั้นส่งกลิ่นเหม็นจนกลายมาเป็นประเด็นให้เกิดการอภิปรายกันมาก   แม้ว่านิสิตหลายคนอาจไม่เข้าใจ แต่การ "ชี้แจงเชิงประจักษ์" ครั้งนี้ สามารถทำให้ทุกคนเห็นชัดว่าผักตบชวาแก้ปัญหากลิ่นและน้ำได้จริง ...  สิ่งที่คุ้มค่าที่สุดก็คือ การทำให้สมาชิกชมรมฯ เอง เกิดความมั่นใจและศรัทธากับการแก้ปัญหาตาม "ศาสตร์พระราชา" ที่เราเพียรทำมาตั้งแต่ต้น

ความรู้เรื่องน้ำเสีย

น้ำเสียคือน้ำที่นำไปใช้ไม่ได้ ปลาอาศัยอยู่ก็ไม่ได้ รวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ด้วย นักวิทยาศาสตร์บอกว่าน้ำเสียหรือไม่ด้วยค่า DO (Dissolved Oxygen) คือ ปริมาณออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำ น้ำเสียจะมีค่า DO น้อยกว่า ๓ มิลลิกรัมต่อลิตร ถ้าค่า DO มีค่าตั้งแต่ ๓ ขึ้นไป จัดไว้ว่าเป็นน้ำดี

น้ำเสียสามารถแบ่งออกได้เป็น ๕ ประเภท ตามชนิดของสารเคมีหลักที่เป็นเหตุให้เกิดน้ำเสีย ได้แก่

  • น้ำเสียที่เกิดจากสารอินทรีย์ ซึ่งเกิดจากน้ำกินน้ำใช้ไหลลงสู่แหล่งน้ำ นักวิทยาศาสตร์จะพิจารณาค่าน้ำเน่าเสียจากค่า BOD (Biochemical Oxygen Demand) เป็นค่าที่บ่งบอกปริมาณออกซิเจนที่แบคทีเรียต้องการในการย่อยสลายสารอินทรีย์ น้ำที่มีค่า BOD ตั้งแต่ ๑๐๐ มิลลิกรัมต่อลิตรขึ้นไปจัดเป็นน้ำเสีย  ส่วนน้ำที่มีค่า BOD น้อยกว่า ๑๐๐ ถือเป็นน้ำดี 
  • น้ำเสียที่เกิดจากสารเคมี ซึ่งมักเกิดจากการปล่อยหรือทิ้งสารเคมีลงในแหล่งน้ำ หรือเป็นน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม นักวิทยาศาสตร์จะวัดค่าน้ำเสียประเภทนี้ด้วยค่า COD (Chemical Oxygen Demand) คือ ปริมาณของออกซิเจนที่ต้องการในการออซิไดซ์เพื่อให้ได้คาร์บอนไดออกไซด์และน้ำ ค่า COD จะมากกว่า BOD เสมอ  ... ค่า DO, BOD จะบอกว่าน้ำเสียหรือไม่ ค่า COD จะบอกว่า น้ำนั้นเสียเพราะสารอินทรีย์หรือสารเคมี 
  • น้ำเสียในรูปแบบของสารแขวนลอย  คือน้ำเสียที่มีสารแขวนลอยผสมอยู่มาก นักวิทยาศาสตร์จะพิจารณาปริมาณสารแขวนลอยด้วยค่า TDS (Total Dissolved Solid) และวัดค่าความเป็นกรด-เบสด้วย
  • น้ำเสียประเภทที่มีโลหะหนัก (จากโรงงานอุตสาหกรรม)
  • น้ำเสียจากสารเคมีอื่น ๆ

วิธีการบำบัดน้ำเสีย

วิธีการบำบัดน้ำเสียอาจแบ่งได้เป็น ๓ ประเภทตามระดับความรุนแรงของการเน่าเสีย ได้แก่

  • การบำบัดทางกายภาพ  สำหรับน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมหรือชุมชนขนาดใหญ่ ได้แก่วิธีต่างๆ ต่อไปนี้ เช่น 
    • การดักขยะขนาดใหญ่ 
    • การดักไขมันและน้ำมัน 
    • การตกตะกอนด้วยสารเคมี 
    • การกำจัดสารโลหะหนัก 
  • การบำบัดทางชีวภาพ  คือการบำบัดน้ำเสียโดยใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำ เหมาะสำหรับน้ำเสียจากชุมชนขนาดใหญ่หรือน้ำเสียจากนิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ  สามารถแบ่งออกได้ตามประเภทของจุลินทรีย์ เป็น ๒ ประเภท ได้แก่ 
    • จุลินทรีย์ที่ต้องการอากาศ  (ออกซิเจน) ในการเจริญเติบโต และ 
    • จุลินทรีย์ที่ไม่ต้องการอากาศ 

  • วิธีการบำบัดน้ำเสียโดยใช้จุลินทรีย์ที่ต้องใช้ออกซิเจนคือ ต้องเติมอากาศลงไปในน้ำโดยทำให้น้ำเคลื่อนไหวไหลวนหรือใช้กังหันตีฟองล่องลอยไปในอากาศก่อนตกลงไปในน้ำ ทำให้แบคทีเรียได้รับออกซิเจน จึงจะขยายตัวเปลี่ยนสารอินทรีย์ในน้ำ ไนโตรเจน และฟอสฟอรัส  เป็นคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ พลังงาน และเซลล์ใหม่ ซึ่งจะจับกันเป็นตะกอนหล่นลงก้อนสระ 

  • วิธีบำบัดน้ำเสียโดยใช้จุลินทรีย์ที่ไม่ใช้ออกซิเจน เป็นที่นิยมมากสำหรับการบำบัดน้ำเสียจากชุมชน เพราะทำได้ง่าย ทำเป็นก้อนจุลินทรีย์แล้วโยนลงในน้ำ แต่ปัญหาคือ ผลิตผลที่ได้จากการย่อยสลายสารอินทรีย์นั้นเป็นก๊าซมีเทนและมีกลิ่นเหม็น 

(ที่มา http://www.stou.ac.th/Schools/Shs/booklet/6_2548/OccHealth.htm )

การบำบัดน้ำเสียด้วยแบคทีเรีย Bacillus subtilis 

จุลินทรีย์ที่ ดร.เพชร  นำมาพาฉีดวันนี้ ชื่อ แบคซิลลัส ซัปทิลลิส (bacillus subtillis) ความจริงท่านบอกว่ามี ๗๗ ชนิด แต่ชนิดนี้เป็นหลัก  เป็นแบคทีเรียชนิดใช้ออกซิเจน เป็นผลงานวิจัยของหน่วยงานเทคนิคเกษตรของญี่ปุ่นและใต้หวัน เป็นจุลินทรีย์ที่ขยายพันธุ์เร็ว เพิ่มขึ้นเป็นแสนเท่าภายใน ๒๐ นาที  เป็นแบคทีเรียนที่เข้มแข็ง ปลอดภัย ไร้สารพิษ มีสรรพคุณ ดังนี้

  • รักษาความชื้นได้อย่างแข็งขัน ดีเยี่ยม ในกรณีที่ฉีดที่ผิวดิน 
  • มีพลังในการย่อยสลายที่เข้มข้น ขยายพันธุ์รวดเร็ว
  • สร้างสรรค์สารอินทรีย์ต่างๆ ที่เป็นอาหารพืชสัตว์ได้มากมายหลายชนิด
  • มีพลังในการยึดครองพื้นที่ ป้องกันไม่ให้จุลินทรีย์ที่ไม่ดี ป้องกันไม่ให้จุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคขยายตัว 
  • กำจัดกลิ่นเหม็นได้อย่างมีประสิทธิภาพ  สามารถขจัดกลิ่นของสารประกอบอินทรีย์ประเภทกัมมะถัน ไนโตรเจน ทำให้สภาพแวดล้อมดีขึ้น 
การฉีดวันนี้ผสมด้วยอัตรา  ๓ ฝา ต่อน้ำ ๒๐๐ ลิตร ท่านบอกว่า หมดน้ำยาไป ๑.๕ ลิตร (ขวดครึ่ง ราคาขวดละพันกว่าบาท) ท่านแสดงภาพก่อน กำลัง และหลังฉีดไว้ดังภาพนี้ 


(ขอขอบคุณภาพทั้ง ๓ นี้จากเฟสบุ๊ค ดร.เพชรครับ)

ช่วงเย็นวันนี้ก่อนจะกลับมาบ้าน  ผมเดินไปพิสูจน์กลิ่น ... ผมไม่ได้กลิ่นเหม็นแล้วครับ อาจจะเพราะชินหรือฝนเพิ่งตกไม่รู้  วันจันทร์นี้ไปดูอีกที ...

(ขออภัยที่ไม่มีภาพลืมตาครับ)

สุดท้ายนี้ก็ขออนุโมทนาบุญกับ ผศ.ดร.เพชร เพ็งชัย อีกครั้งครับ ทางชมรมตามรอยเท้าพ่อ ได้มอบพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ลายเส้นที่ประธานชมรมฯ เพียรวาดด้วยตนเอง เพื่อมอบให้เป็นสัญลักษณ์แทนความขอบคุญจากทางชมรมฯ ... ผมรู้สึกว่าเด็กๆ รู้สึกภูมิใจและมีความสุขมาก

ที่มา

หมายเลขบันทึก: 657785เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2018 01:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2018 09:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท