การดูแลสุขภาพวัยผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่องที่บ้านและในชุมชน


การดูแลสุขภาพวัยผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่องที่บ้านและในชุมชน

                                          อ. สายฝน อินศรีชื่น

          ประชากรสูงอายุ ถือเป็นกลุ่มวัยที่มีการใช้บริการด้านสุขภาพมากที่สุดเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน ส่งผลทำให้เกิดความเจ็บป่วยบ่อย ในทางเดียวกันการดูแลสุขภาพวัยผู้สูงอายุเพื่อลดความเจ็บป่วยจึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่ควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

การสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันการเจ็บป่วยในผู้สูงอายุ

          การสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันการเจ็บป่วยในผู้สูงอายุตามแนวคิดแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ( Health Belief Model) มีรายละเอียด ดังนี้

  1. 1. การรับรู้โอกาสเสี่ยงของการเป็นโรค (Perceived Susceptibility) ซึ่งเป็นความเชื่อของแต่ละบุคคลที่ไม่เท่ากันต่อการปฏิบัติตามคำแนะนำด้านสุขภาพทั้งในภาวะปกติและภาวะเจ็บป่วย ความเชื่อจะส่งผลเชิงบวกต่อพฤติกรรมสุขภาพในการป้องกันไม่ให้การเกิดโรคเดิมอีก
  2. 2. การรับรู้ความรุนแรงของโรค (Perceived Severity) เป็นการประเมินการรับรู้ความรุนแรงของโรค หรือผลกระทบจากการเกิดโรค ก่อให้เกิดความพิการหรือเสียชีวิต ซึ่งการรับรู้ความรุนแรงของโรคมีความสัมพันธ์ในทางบวกกับพฤติกรรมการป้องกันการเกิดโรค เช่น การป้องกันอุบัติเหตุ
  3. 3. การรับรู้ถึงประโยชน์ของการรักษาและป้องกันโรค (Perceived Benefits) เป็นการตัดสินใจที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำเมื่อเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียของพฤติกรรม และเลือกปฏิบัติในสิ่งที่เกิดประโยชน์มากกว่า
  4. 4. การรับรู้ต่ออุปสรรค (Perceived Barriers) เป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าของแต่ละบุคคลต่อการปฏิบัติพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพอนามัยของบุคคล ซึ่งทำนายพฤติกรรมการให้ความร่วมมือในการรักษาโรคได้ เช่น ค่าใช้จ่าย การตรวจต่างๆ
  5. 5. สิ่งชักนำให้เกิดการปฏิบัติ และแรงจูงใจ(Cues to Action and Health Motivation) ซึ่งสิ่งชักนำมี 2 ด้าน คือ สิ่งกระตุ้นภายใน (Internal Cues)ได้แก่ การรับรู้อาการของโรค และสิ่งกระตุ้นภายนอก (External Cues) ได้แก่ ข่าวสารผ่านทางสื่อหรือการเตือนจากบุคคล ส่วนแรงจูงใจ คือระดับความสนใจ ความใส่ใจ ทัศนคติและค่านิยมที่เกี่ยวข้องทางด้านสุขภาพ
  6. 6. ปัจจัยร่วม (Modifying Factors) เป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะส่งผลไปถึงการรับรู้การปฏิบัติ ได้แก่ ด้านประชากร เช่น อายุ ระดับการศึกษา ด้านสังคมจิตวิทยา เช่น บุคลิกภาพ สถานภาพทางสังคม กลุ่มเพื่อน วัฒนธรรม

แนวทางในการสร้างเสริมสุขภาพในผู้สูงอายุได้แก่

1.การให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพด้านต่าง ๆ เช่น

- การรับประทานอาหาร       

    ผู้สูงอายุควรได้รับอาหารครบ 5 หมู่ ที่มีปริมาณพอเหมาะกับความต้องการของร่างกาย เนื่องจากอาหารแต่ละหมู่มีความสำคัญต่อร่างกาย หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัด หรือ หวาน มัน เค็ม เพราะมีความเสี่ยงทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือด

- การออกกำลังกาย 

          ผู้สูงอายุควรออกกำลังกายสม่ำเสมอครั้งละ 20 – 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3  ครั้ง โดยต้องมีการอบอุ่นร่างกาย (warm up) ก่อนการออกกำลังกาย และ ควรมีการผ่อนคลายหลังการออกกำลังกาย (Cool down)  การออกกำลังกายนอกจากจะช่วยเรื่องของการเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อ ยังช่วยในเรื่องการทรงตัว และทำให้เกิดความสุขจากการหลั่งสาร endrophine จากต่อมใต้สมอง

- การงดเหล้า งดบุหรี่

          เนื่องจากเหล้า และบุหรี่ทำหเกิดผลเสียแก่ร่างกายในหลายด้าน ได้แก่          การสูบบุหรี่ทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบ ถุงลมโป่งพอง ความดันโลหิตสูง   การดื่มสุรา จะทำให้เกิดการกดประสาทส่วนกลางทำให้มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ขาดการยับยั้งชั่งใจ การตัดสินใจไม่ดี ความทรงจำไม่ดี

- การระมัดระวังอุบัติเหตุโดยเฉพาะการหกล้ม

          เนื่องจากในผู้สูงอายุมีความผิดปกติหลายด้าน เช่น ปัญหาการได้ยิน ประสาทสัมผัสต่างๆเสื่อม การควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อและระบบการทำงานไม่สัมพันธ์กัน และบางรายก็เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนท่าทาง ทำให้มีปัญหาในการขยับตัว ลุก นั่ง หรือยืน รวมทั้งปัจจัยสิ่งแวดล้อมอื่นๆก็ส่งผลเช่นเดียวกัน เช่น แสงสว่าง พื้นที่ลื่น สิ่งกีดขวางทางเดิน

- การไม่ใช้ยาที่ไม่จำเป็น

          เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีโรคร่วมกันหลายโรค จึงใช้ยาหลายชนิดในการรักษาและควบคุมอาการ ทำให้เกิดโอกาสเสี่ยงของการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา (drug interaction) การเปลี่ยนแปลงทางด้านเภสัชพลศาสตร์ที่กระตุ้นให้เกิดจากยาได้ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของผู้สูงอายุส่งผลต่อการใช้ยา ได้แก่

1)        การดูดซึมยา (drug absorption) พบว่าผู้สูงอายุมีพื้นที่ผิวของเยื่อบุลำไส้ลดลง เลือดที่ไปเลี้ยงระบบทางเดินอาหารลดลง ส่งผลให้มีการหลั่งกรดเพื่อย่อยน้อยลง ลำไส้มีการเคลื่อนไหวลดลง ทำให้ยาเกิดการดูดซึมลดลง

2)        การกระจายตัวของยา (drug distribution) พบว่าผู้สูงอายุมีปริมาณน้ำในร่างกายลดลงแต่มีเนื้อเยื่อไขมันเพิ่มขึ้น ทำให้ยาที่ละลายในน้ำมีการกระจายตัวน้อยลง ระดับยาในเลือดจึงสูงกว่าปกติจนอาจเกิดอันตรายได้ เช่น ยาขับปัสาวะ  ส่วนยาที่ละลายได้ดีในไขมันก็จะกระจายตัวได้มากขึ้นตามปริมาตรเนื้อเยื่อไขมัน ทำให้ค่าครึ่งชีวิตของยานานขึ้น ยาจึออกฤทธิ์ได้นานกว่าปกติ และเกิดการสะสมของยาได้ เช่น ยากลุ่มdiazepam, lidocaine  รวมทั้งในผู้สูงอายุยังพบว่ามีระดับอัลบูมินในเลือดลดลง ทำให้ยาบางตัวที่มีฤทธิ์จับตัวกับโปรตีนในระดับสูงอยู่ในรูปอิสระมากขึ้น ส่งผลให้ยาออกฤทธิ์นานขึ้น เช่น phenytoin

3)        กระบวนการเปลี่ยนแปลงยา (metabolism) ผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงของมวลตับ และการไหลเวียนของเลือดมายังตับลดลง ส่งผลให้กระบวนการเปลี่ยนแปลงยาในผู้สูงอายุลดลง ทำให้ค่าครึ่งชีวิตของยายาวนานขึ้นจึงเกิดการสะสมของยา           ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงยา จะมีการเปลี่ยนแปลงโมเลกุลยาที่ละลายในไขมัน และผ่านเข้าไปในเซลล์ ทำให้เป็นโมเลกุลละลายในน้ำ และขับออกทางไต ดังนั้นตำแหน่งแรกที่มีการเปลี่ยนแปลงยาคือ สมอง ปอด ลำไส้ ซึ่งมีเอนไซม์ในการเปลี่ยนแปลงยา (Oxidation metabolism) คือ cyntochrome P450 (CYP450) monooxygenase system

4)        การเปลี่ยนแปลงที่กระบวนการขับยา (elimination) พบว่าผู้สูงอายุมี ปริมาณเลือดไปเลี้ยงที่ไตลดลง อัตราการกรองที่หน่วยไตลดลงจึงทำให้การขับของเสีย (creatinine clearance ) ลดลง  ดังนั้นในผู้สูงอายุจึงควรให้ความรู้เรื่องยา ให้ทราบถึงชนิด ขนาด ฤทธิ์ของยา ผลข้างเคียงของยา วิธีใช้ให้ชัดเจน และที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาที่ไม่จำเป็น

2. การฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่เป็นปัญหาในผู้สูงอายุ

 เนื่องจากการฉีดวัคซีนเป็นการลดความรุนแรง และป้องกันการเกิดโรคอย่างมีประสิทธิภาพตามคำแนะนำการให้วัคซีนป้องกันโรคสำหรับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2557 ได้แนะนำวัคซีนที่ควรฉีด (Recommended vaccine) ในผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 65 ปีขึ้นไปไว้คือ

1)        วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก (Tetanus vaccine)  และคอตีบ (Diphtheria vaccine)โดยพบว่าภูมิคุ้มกันโรคบาดทะยักมีแนวโน้มลดลงในช่วงอายุ 15-30 ปี การให้วัคซีนทุก 10 ปี ช่วยในการสร้างภูมิคุ้มกันดีขึ้น และในปัจจุบันพบการระบาดของโรคคอตีบในบางพื้นที่ของประเทศไทย  โดยมีรายงานถึงการเกิดในกลุ่มผู้สูงอายุ ในผู้สูงอายุจึงควรมีการให้วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักและโรคคอตีบ (tetanus diphtheria toxoid :Td) ทุก 10 ปี แทนการให้วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก ( tetanus toxoids: TT) เพียงชนิดเดียว

2)        วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตาย (Inactivated influenza vaccine) ในผู้สูงอายุพบว่า จะมีอัตราการเจ็บป่วย การเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สูง และมีอัตราการเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่สูงที่สุดในผู้สูงอายุ การเกิดอุบัติการณ์จะมีตลอดปีแต่เพิ่มมากในช่วงฤดูฝน การให้วัคซีนในประเทศไทยจึงควรเริ่มให้ก่อนช่วงฤดูฝน การให้วัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามชนิดของไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่คาดว่าจะระบาดในปีนั้น(seasonal influenza) และแม้ว่าเชื้อไข้หวัดใหญ่จะเป็นสายพันธุ์เดิมของวัคซีนที่เคยฉีดก่อนหน้านี้ก็จำเป็นต้องฉีดทุกปี ปีละ 1 ครั้ง

3)        วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี (Hepatitis B vaccine) วัคซีนให้ความคุ้มครองจากการติดเชื้อตับอักเสบบีเป็นระยะยาวถึงตลอดชีวิต ผู้สูงอายุควรได้รับการฉีดวัคซีนนี้ ยกเว้นบุคคลที่เกิดภายหลังปี พ.ศ.2535 มีความประสงค์จะฉีดวัคซีน โดยที่ไม่ทราบประวัติการรับวัคซีนที่ชัดเจน ให้ฉีดวัคซีน 1 เข็ม แล้วตรวจ AntiHBs antibody ภายหลังการฉีดวัคซีน 2-4 สัปดาห์ หากพบว่าระดับภูมิคุ้มกันสูงกว่า 10 IU/ml แสดงว่าร่างกายมีภูมิคุ้มกันอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนอีก

4)        วัคซีนวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดโพลีแซคคาไรด์ (23-valent pneumococcal polysaccharide vaccine12 ; PCV 23) และชนิดคอลจูเกต (13-valent pneumococcal conjugate vaccine; PCV-13)    เชื้อนิวโมคอคคัส (S.pneumoniae) เป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อที่รุนแรงในผู้สูงอายุ เช่น การติดเชื้อในกระแสเลือด และการติดเชื้อที่เยื้อหุ้มสมอง

          วัคซีน PCV-23 พบว่าการใช้วัคซีนจะสามารถลดการติดเชื้อรุนแรงและมีความคุ้มทุนในการใช้วัคซีนป้องกันโรคในผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี โดยแนะนำให้ฉีด 1 ครั้ง ในช่วงวัยอายุ 65 ปีขึ้นไป

          วัคซีน PCV-13 ซึ่งเป็นวัคซีนที่ตอบสนองต่อการสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีในผู้สูงอายุ แต่ระดับภูมิคุ้มกันจะลดลงภายหลังการฉีดวัคซีนประมาณ 5-10 ปี ให้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 1 เข็ม ในผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป

3. การตรวจสุขภาพประจำปี

การตรวจสุขภาพ เพื่อตรวจหาสาเหตุความเจ็บป่วยใดๆ ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกในผู้สูงอายุมีความจำเป็น ทำให้สามารถค้นพบปัญหาสุขภาพบ่อยที่พบในวัยสูงอายุได้ ดังนี้

3.1 โรคที่อาจตรวจพบได้ในผู้สูงอายุจากซักประวัติ ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจ ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ การใช้ยาอย่างไม่เหมาะสมจนเกิดผลข้างเคียง การไม่สามารถที่จะออกไปพบปะสังคมกับผู้อื่น ภาวะหกล้มซ้ำซ้อน ภาวะทุพโภชนาการ                                                            

3.2 โรคที่อาจตรวจพบจากการการตรวจร่างกาย  ได้แก่ 

- ความดันโลหิตสูง จากการวัดความดันโลหิตที่ต้นแขน

- มะเร็งเต้านม จากการตรวจเต้านม

- ภาวะประสาทหูเสื่อมจากอายุ หูชั้นนอกอุดกั้นจากขี้หูปริมาณมาก  ภาวะประสาทหูเสื่อมจากการได้ยินเสียงดังมากซึ่งพบได้จากการตรวจหู

- โรคต้อกระจก โรคต้อหิน ภาวะประสาทจอรับภาพเสื่อม ภาวะสายตาสั้น หรือยาวผิดปกติ

- โรคผิวหนัง เช่น เชื้อราที่ผิวหนัง ผื่นแพ้ยา ภาวะผิวแห้ง มะเร็งผิวหนัง

- โรคเกี่ยวกับเหงือกและฟัน เช่น ฟันผุ เหงือกอักเสบ หรือมะเร็งในช่องปาก

- โรคเกี่ยวกับอวัยวะสืบพันธุ์ในสตรี เช่น มะเร็งปากมดลูกซึ่งผู้สูงอายุสตรีที่ไม่เคยได้รับการตรวจเซลล์ของปากมดลูกก็ควรได้รับการตรวจอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ถ้าปกติติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี สามารถลดความถี่ของการตรวจเป็นทุก 3 ปี

3.3 โรคที่ตรวจพบจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่

- ภาวะโลหิตจาง

- ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ

- โรคเบาหวาน

- โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

- ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยการตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ

- ต่อมไทรอยด์ทำงานลดลง

- ความผิดปกติของเกลือแร่ในกระแสเลือด โดยเฉพาะผู้ใช้ยาขับปัสสาวะหรือยาแก้ปวดข้อ

3.4 การตรวจสุขภาพจิต

ผู้สูงอายุในชุมชนอาจพบ 2 ภาวะคือ ภาวะซึมเศร้า (Depression) และภาวะสมองเสื่อม(Dementia)

ซึ่งจำเป็นต้องซักประวัติอย่างละเอียดทั้งจากตัวผู้สูงอายุเอง ญาติ และผู้ดูแลใกล้ชิด การตรวจชนิดนี้ญาติหรือตัวผู้สูงอายุต้องเล่าถึงอาการทางจิตเวชด้วย จึงต้องพิจารณาเป็นแต่ละรายบุคคล

การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุด้านร่างกายและจิตใจ

การดูแลผู้สูงอายุเน้นที่จะทำให้ร่างกายอยู่ในสภาพที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ ร่วมกับส่งเสริมให้

ผู้สูงอายุสามารถทำกิจกรรมต่างๆได้ตามที่สภาพร่างกาย จิตใจ และเวลาเอื้ออำนวย โดยยึดหลัก 11 อ. เพื่อสุขภาพกายใจที่ดี ดังนี้

  • 1) อาหาร อายุ 50 ปีขึ้นไป ลดปริมาณอาหาร กินให้ครบ 5 หมู่ กินผัก ผลไม้วันละ 5 จานเล็ก
  • 2) อากาศ
  • 3) ออกกำลังกาย อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที
  • 4) อนามัย สังเกตอาการผิดปกติของร่างกาย และจิตใจ
  • 5) อาทิตย์ รับแสงแดดตอนเช้าอย่างน้อยวันละ 30 นาที
  • 6) อารมณ์ ผ่อนคลาย มีสมาธิ
  • 7) อดิเรก ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
  • 8) อบอุ่น โอบอ้อมอารี มีเมตตา
  • 9) อุจจาระ/ปัสสาวะ กินผักผลไม้ ดื่มน้ำให้มาก ป้องกันอาการท้องผูก
  • 10) อุบัติเหตุ ระวังการพลัดตกหกล้ม สายตายาวต้องสวมแว่นตา หูได้ยินไม่ชัดต้องไปตรวจ
หมายเลขบันทึก: 657778เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2018 17:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2018 17:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท