เก็บตกวิทยากร (51) : รู้จักฉันรู้จักเธอ (ความฝันของว่าที่คุณครูจากวิทยาลัยแม่ฮ่องสอน)


​กิจกรรมนี้ประหนึ่งการทบทวนชีวิตในเรื่องของทิศทางอันเป็นจุดหมายของชีวิต เพราะใครสักคนหนึ่งหากค้นพบตัวเองได้เร็ว อันหมายถึงค้นพบปลายทางของตนเองได้เร็ว ก็มีสิทธิ์ที่จะประสบความสำเร็จได้เร็ว หรือสัมผัสได้กับความสุขของการใช้ชีวิต การค้นพบที่ว่านั้นก็จะนำไปสู่การเปิดใจที่จะเรียนรู้กระบวนการบ่มเพาะตัวเอง ทั้งจากตัวเองและสังคม เพื่อให้ตัวเองแกร่งกล้า และเติบใหญ่อย่างมีคุณภาพ

วันนี้  (เสาร์ที่ 18 สิงหาคม 2561)  เดิมผมไม่ได้กำหนดที่จะเปิดเวทีการเรียนรู้ด้วยกระบวนการ  “รู้จักฉันรู้จักเธอ”  แต่พอได้รับการเสนอแนะกึ่งรบเร้าร้องขอจากทีมงานของวิทยาลัยแม่ฮ่องสอน  มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่   ผมจึงต้องปรับแต่งกระบวนการใหม่อย่างเร่งด่วน

ด่วนถึงขั้นว่าทำสไลด์ประกอบไม่ทันเลยก็ว่าได้   จำต้องงัดเอากรุสมบัติเก่ามาใช้ 

งานที่ว่านี้เป็นโครงการ “ครูดี คนดี พลเมืองดี”  ที่เป็นชุดกิจกรรมในกระบวนการทั้งหมดของโครงการ “ผลิตครูสู่ความเป็นเลิศ”  ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ได้ขยายผลจากรุ่นที่ 1 มาจนถึงรุ่นที่ 2 และ 3


ร้างเวทีไปนาน  :  ทบทวนตนเองไปพร้อมกับนักศึกษา


ยืนยันอีกครั้งว่าเวทีครั้งนี้เดิมไม่ได้ออกแบบกระบวนการรู้จักฉันรู้จักเธอไว้เลย  แต่พอมีแฟนคลับรุ่นเก่ารบเร้า  เลยต้อง “ปล่อยของ” เสียหน่อย   หนึ่งในเหตุผลที่อยากให้ผมจัดกระบวนการนี้  เท่าที่ฟังก็คือคณะทำงาน 2-4 คนเป็นคณะทำงานใหม่  ยังไม่เคยเห็นกระบวนการนี้  จึงอยากให้ผมจัดการเรียนรู้ให้ดูพอสังเขป  เพื่อจะได้นำไปต่อยอดประยุกต์ใช้

ก่อนงาน  ผมยืนยันว่าผมรางเวทีประมาณนี้ไปนาน   การหยิบจับมาจัดเช่นนี้ก็เป็นการทบทวนศักยภาพของผมไปในตัวด้วยเหมือนกัน  ว่าจะยังคงเหมือนเดิม   หรืออืดเอื่อย  จนไม่สามารถกระตุกกระตุ้นให้คนในเวที “เปิดเปลือยตัวเอง” ออกมาได้

จะว่าไปแล้ว  กระบวนการรู้จักฉันรู้จักเธอก็ก่อเกิดเป็นรูปธรรมในเมื่อครั้งที่ผมสัญจรมาจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงไม่นั่นแหละ  ทว่าครั้งนั้นเป็นโครงการ  “โรงเรียนแห่งความสุข”   ประสบความสำเร็จถึงขั้นมหาวิทยาลัยฯ  นำภาพวาดและข้อเขียนเล็กๆ ของนักศึกษาไปจัดพิมพ์เป็นหนังสือเนื่องในวันปัจฉิมนิเทศเลยทีเดียว

การหวนคืนกลับมาจับกระบวนการครั้งนี้จึงมีสถานะไม่ต่างจากการทบทวนความทรงจำของตัวเองในวิถีปั้นแต่งกระบวนการในยุคแรกเริ่ม   ควบคู่ไปกับการ “เคาะสนิม”  ว่าแท้จริงแล้วผมยังสามารถทำกระบวนการนี้ได้อยู่อีกหรือไม่


รู้จักฉันรู้จักเธอ :  ประหนึ่งสาธิตกระบวนการเรียนรู้จากผมสู่ครูและนักเรียน


ในกระบวนการของวันนี้   ผมกำหนดให้นักศึกษาวาดภาพในหัวข้อ “ความทรงจำของชีวิต”  หรือ “ความฝันของชีวิต”   โดยให้เลือกวาดหัวข้อใดหัวข้อหนึ่ง –

ผมยังคงนำเข้ากระบวนการเหมือนเช่นในอดีต  มีกลอน (วรรณศิลป์)  มาให้ทุกคนอ่านร่วมกัน เป็นการเรียกสมาธิและเสพศิลปะไปพร้อมๆ กัน   ขณะที่วาดภาพก็เปิดเพลงคลอเบาๆ  สร้างบรรยากาศให้เป็นลักษณะของสุนทรียภาพ   มีบางจังหวะที่ผมเดินสังเกตการณ์การวาดภาพของแต่ละคน   พอเห็นบางคนคิดนานมาก  ก็เสนอทางเลือกให้เขียนบรรยายแทนการวาดภาพ 

หรือแม้แต่การอนุญาตให้วาดภาพผ่านมือถือ   เพราะเชื่อว่าเรื่องราวบางอย่างถูกจัดเก็บไว้ในเครื่องมือการสื่อสารที่ว่านั้น


ครั้นพอวาดเสร็จ  ก็ขับเคลื่อนเหมือนเดิมคือให้จับคู่ 2-3 คน  เพื่อสลับกันเล่าเรื่องราวในภาพให้เพื่อนฟัง   เพื่อฝึกการ “สื่อสาร”  หรือการ “ใช้สื่อ”  รวมถึงการ  “แบ่งปัน”  และการ  “ฟัง”  โดยมิให้ซักถามใดๆ   เรียกได้ว่า “ฟังอย่างเดียวโดยไม่ต้องถาม” นั่นเอง

เป็นที่น่าสังเกตว่า   ขณะที่วาดภาพ  ระยะแรกก็มีเสียงดังเล็กน้อย  หลายคนยังทักถามพูดคุยกัน  แต่พอผ่านไปสักระยะทุกอย่างเข้าโหมดสมาธิกันหมด   ต่างคนต่างอยู่ในโลกส่วนตัว  เคารพตนเองและคนอื่นไปอย่างง่ายงาม  มีบางคนวาดภาพไปน้ำตาไหลไปด้วย 

เช่นเดียวกับในช่วงที่เล่าเรื่องราวให้เพื่อนฟัง  ก็พบว่ามีบางคนต่อมน้ำตาแตกเหมือนกัน   ซึ่งผมก็ยังมองว่ากระบวนการนี้มีมิติของศิลปะบำบัด  ไม่ใช่การจัดกระบวนการเพื่อล้อเล่นกับความรู้สึกของใคร 

ยอมรับว่าในเวทีนี้ดูอืดเอื่อยอยู่มาก  เพราะร้างเวที “รู้จักฉันรู้จักเธอ” มานานมากนั่นเอง   และด้วยความที่ร้างเวทีมานาน  กระบวนการต่างๆ  จึงไม่ลื่นไหลเหมือนที่เคยทำมาเมื่อหลายปีก่อน   เวลาที่มีอยู่ก็ยืดเยื้อออกไปสักเล็กน้อย  ส่งผลให้กระบวนการเล่าเรื่องไม่สามารถขยายวงกว้างได้อย่างที่ใจคาดหวัง

แต่ก็อย่างว่า  เหมือนที่คุยกันเบื้องต้นแล้วว่า  กิจกรรมนี้ เน้นกระบวนการเป็นหัวใจหลัก  ยังไม่ต้องหยั่งรากลึกลงให้ถึงผลลัพธ์ก็ได้  เพื่อให้เกิดการละลายพฤติกรรมในแบบบันเทิงเริงปัญญามากกว่าบันเทิงเริงรมย์   รวมถึงการทำเป็นกรณีศึกษาให้คณะทำงานที่มีทั้งอาจารย์และนักศึกษาได้เห็น- ได้เรียนรู้- และนำไปประยุกต์ใช้ในบริบทของตนเอง


รู้จักฉันรู้จักเธอ :  ถามทักทัศนคติผ่าน “ความฝันของชีวิต”


ก่อนหน้าจะลงมือจัดกระบวนการรู้จักฉันรู้จักเธอ   ทั้งผมและทีมงานเจ้าภาพแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันหลายประเด็น  จนค้นพบว่าผู้เรียน (นักศึกษา)  มองความเป็นครูด้วยทัศนคติใด  เพราะข้อมูลที่ได้มาก่อนหน้านี้ทำให้ชวนคิดว่านักศึกษาเข้าใจบทบาทและหน้าที่ของครูในเชิงอุดมคติมากหรือน้อย

และมีทัศนคติต่อกระบวนการผลิตครูเนื่องในโครงการผลิตครูสู่ความเป็นเลิศอย่างไร   หรือแม้แต่นักศึกษาเชื่อและศรัทธาต่อกระบวนการบ่มเพาะ-ผลิตครูของที่นี่มาก  หรือน้อย   

ด้วยข้อจำกัดเรื่องเวลาที่ไม่ได้ตระเตรียมกระบวนการมาล่วงหน้า   ประกอบกับเวลาที่ไม่อยากให้ไปกระทบต่อกระบวนการอื่นที่จะมีคนมาช่วยหนุนเสริมกระบวนการของผม  ซึ่งต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1  ชั่วโมง   ผมจึงทำกระบวนการในแบบเครื่องยนต์เบนซินอยู่พอสมควร   จะบอกว่าผมเน้นกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ก็ไม่ผิด  เพราะในข้อเท็จจริง มันก็เป็นจริงเช่นนั้นจริงๆ

เป็นที่น่าสังเกตว่า  90 % ภาพที่นักศึกษาวาดออกมานั้น  ส่วนใหญ่ล้วนยังมีความใฝ่ฝันที่จะเป็นครู  หรือประกอบอาชีพครูอยู่ดี   มีทั้งที่การเป็นครูทั่วไป  และการเป็น “ครูดอย”   ที่เหลือก็เป็นความฝันอื่นๆ เช่น  การเป็นลูกที่ดี  การเรียนให้สำเร็จการศึกษาเพื่อให้พ่อแม่ได้ภาคภูมิใจ

ด้วยเหตุที่ไม่มีเวลามากพอที่จะให้มีการเล่าเรื่องในวงกว้าง   ในช่วงที่วิทยากรท่านอื่นกำลังทำกระบวนการอยู่นั้น  ผมก็ให้นักศึกษาช่วยงานและอาจารย์ที่ดูแลงานนี้ได้นำภาพวาดไปแปะไว้ที่ผนังห้อง  แต่ไม่ได้บอกว่าให้แยกแยะเป็นหมวดหมู่  หรือจัดวางการแปะติดด้วยรูปแบบใด   เพราะต้องการสอนงานในเชิงกระบวนการไปในตัวด้วยนั่นเอง

พอแปะติดเสร็จ  ผมก็ค่อยๆ  เคลื่อนตัวไปดูรายละเอียดของภาพวาดเหล่านั้น 

ใช่ครับ – ยืนยันว่าค่อยๆ เคลื่อนตัว  เพราะไม่อยากให้กระทบต่อกระบวนการที่กำลังจัดอยู่

ครั้นยิ่งดูภาพวาดยิ่งสัมผัสได้ว่าในภาพวาดเหล่านั้นมีเรื่องราวมากมายให้ “คิดตาม”  อย่างมหาศาล  จนผมและทางเจ้าภาพมา “โสเหล่”  นอกรอบกันอีกยกประมาณว่า  “เสียดายที่ไม่มีเวลาทำกระบวนการนี้ให้ลึกซึ้ง ยาวนาน และเปิดกว้าง”  เพื่อให้แต่ละคนได้เปิดเปลือยตัวเองให้มากกว่านี้  จะได้เป็นต้นทุนที่ดีต่อการเรียนรู้ในเวทีนี้  รวมถึงการใช้ชีวิตร่วมกันของทุกคน

ครับ – เสียดาย แต่ก็ไม่เสียใจ


แต่ที่แน่ๆ  ผมไม่ลืมบอกกับนักศึกษาและทีมเจ้าภาพในบางประเด็น  เช่น  

  • กิจกรรมนี้ประหนึ่งการทบทวนชีวิตในเรื่องของทิศทางอันเป็นจุดหมายของชีวิต  เพราะใครสักคนหนึ่งหากค้นพบตัวเองได้เร็ว  อันหมายถึงค้นพบปลายทางของตนเองได้เร็ว ก็มีสิทธิ์ที่จะประสบความสำเร็จได้เร็ว หรือสัมผัสได้กับความสุขของการใช้ชีวิต   
  • การค้นพบที่ว่านั้นก็จะนำไปสู่การเปิดใจที่จะเรียนรู้กระบวนการบ่มเพาะตัวเอง  ทั้งจากตัวเองและสังคม  เพื่อให้ตัวเองแกร่งกล้า และเติบใหญ่อย่างมีคุณภาพ 

เขียน : อังคารที่ 21 สิงหาคม 2561
ภาพ : พนัส ปรีวาสนา

หมายเลขบันทึก: 650198เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2018 12:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 สิงหาคม 2018 12:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

-สวัสดครับอาจารย์-การเดินทางของชีวิต บางครั้งก็ต้องอาศัยพลังใจ พลังกาย อย่างมากมาย แต่สิ่งที่เร่งขับพลังได้มากที่สุดนั่นก็คือพลังจากตัวเราเอง…-มีความสุขในทุกครั้งที่ได้อ่านบันทึกเช่นนี้ครับ-วันอาทิตย์ที่ผ่านมาได้ทำกิจกรรมร่วมกับผู้คนแบบ”ไม่รู้จักฉันไม่รู้จักเธอ”แต่มิได้มีอะไรจะมาปิดกั้นมิตรภาพได้เลยครับ-อาจารย์ครับ ผมมักจะใช้คำว่า”เกษตรกรรมบำบัด” ณ บ้านไร่ของผมด้วยล่ะครับ-หรือนี่คือสิ่งที่กำลังค้นพบทางแห่งความสุข…ของตนเอง…หรือเปล่า…-วันก่อนคุยกับ”คุณสตังค์”พิธีกรรายการภัตตาคารบ้านทุ่ง ทราบข่าวว่าประสานเรืื่องโครงการ 9 ต่อ กับอาจารย์ด้วย…..-ด้วยความระลึกถึงอาจารย์ครับ..-ณ เวลานี้กำลังสานต่อกิจกรรมของ FarmSchool ณ บ้านไร่ของผมครับ..

มีความคิดเช่นเดียวกันครับว่า

“ใครค้นพบตัวเองได้มากแค่ไหน ย่อมเดินเร็วกว่าคนที่ยังไม่รู้จักตัวเองเท่าไหร่”

กระบวนนี้เช่นนี้แหละครับที่แม่ฮ่องสอนต้องการและเรียนรู้อย่างเแท้จริง

ขอบคุณ…ท่านวิทยากรที่ใช้เวลาเดินทางอันยาวนานและมึนหัว 555ขอบคุณ…ที่ได้พบกันอีกครั้งหนึ่งครับ ;)…

สวัสดีครับ อ.เพชรน้ำหนึ่ง

ดีใจจังเลยครับที่อาจารย์ก็รู้จักคุณสตังค์จากภัตตาคารบ้านทุ่งเหมือนกัน ประหนึ่ง “เส้นทางบุญ” ที่มาบรรจบกันโดยแท้เลยนะครับ

และผมเห็นด้วยครับกับวาทะ “เกษตรกรรมบำบัด” เพราะนั่นคือการวิถีของการเรียนรู้และให้ความเคารพต่อโลกใบนี้อย่างแท้จริง และยิ่งขับเคลื่อนในแบบทีม แบ่งปัน อาทรต่อกัน ยิ่งบอกย้ำให้รู้ว่านี่คือสิ่งที่ยืนยันว่า แท้จริงแล้ว มนุษย์คือผู้มีจิตใจอันละเอียดอ่อนและดีงาม

ชื่นชม และให้กำลังใจนะครับสู้ๆ ครับ

สวัสดีครับ อ.Wasawat Deemarn

ไปครานี้ ไม่ได้เตรียมตัวอะไรไปมาก นึกว่าจะเป็นกลุ่มคนในลักษณะเดิม จึงยังคงประเด็นเดิมๆ ไว้ สไลด์เดิมเพื่อยืนยันถึงเส้นทางอดีตสู่ปัจจุบันให้เด็กๆ รุ่นนี้ได้สัมผัส และเชื่อมโยงสู่เครือข่ายรุ่นพี่ในรุ่นที่ 1 ของพวกเขาเอง

แต่ที่แน่ๆ ตกดึกก่อนนอน ต้องรื้อเนื้อหา แทนด้วยคลิปเรื่องใหม่ๆ ผูกเป็นปมการเรียนรู้แทนการบรรยายกึ่งกระบวนการ

แต่ก็พยายามแล้วนะครับ พยายามทำอย่างเต็กำลังท่ามเวลาอันจำกัด ถ่ายกระบวนการลงที่เด็กและอาจารย์เพื่อขับเคลื่อนกันต่อไป

และยืนยันว่า ผมมีควาสุขมากๆ กับกิจรรมครานี้ หวังว่า จะได้อะไรกันบ้างอยู่นะครับ 555

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท