รักที่หลุดพ้น (ตอนที่ 13 ชีวิตครูที่ต่างจังหวัด)


วรรณกรรมอิงธรรมะ เชื่อมโยงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับประวัติการศึกษาไทยในชนบทแห่งหนึ่ง ของยุคหนึ่ง ในหลายๆมิติ

สิ้นปีการศึกษา เขตพื้นที่การศึกษาต่างๆเริ่มประกาศรับสมัครสอบบรรจุครูในเขตพื้นที่ของตน ธรรศชวนนิพาดาไปดูข้อมูลตำแหน่งที่แต่ละเขตเปิดรับสมัคร  ดูแล้วที่กทม.และเขตปริมณฑลมีตำแหน่งเปิดสอบน้อยมาก จึงตกลงกันไปสมัครสอบในเขตพื้นที่มัธยมศึกษา เลือกที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งไม่ไกลจาก กทม.มากนัก และเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ที่ทั้งสองคนมีความผูกพัน  กรนุชเลือกไปสมัครสอบในเขตพื้นที่ ประถมศึกษาจังหวัดแม่ฮ่องสอนเพราะตั้งใจอยากไปสอนเด็กๆชาวเขาในพื้นที่ห่างไกลอยู่แล้ว และพ่อแม่ของเธอก็ไม่คัดค้านด้วย  ส่วนนิศมายังคงทำงานที่มูลนิธิฯอยู่ต่อไป

   ผลการสอบคัดเลือก ธรรศกับนิพาดาได้บรรจุที่โรงเรียนมัธยมประจำอำเภอแห่งหนึ่งใกล้ตัวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ส่วนกรนุชก็ได้เป็นครูในโรงเรียนประถมในอำเภอแห่งหนึ่งของจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้เป็นครูบนดอยสมใจ 
  เด็กๆที่โรงเรียนเดิมของธรรศและนิพาดาต่างอาลัยอาวรณ์ที่ครูของเขาลาออก  คุณป้านุชจรีย์แม้จะเสียดายที่หลานสาวไม่ได้มาช่วยสอนที่โรงเรียนอีก แต่ก็เห็นแก่อนาคตของหลาน และตอนนี้ได้ครูคนใหม่มาทดแทนแล้ว จึงไม่ทัดทานการออกไปของหลานสาว     ส่วนพ่อแม่ของนิพาดาพอทราบว่าทั้งสองคนสอบบรรจุได้และต้องไปอยู่บ้านพักครูต่างจังหวัดก็ใจหายเหมือนกัน เพราะตั้งแต่เล็กจนโตนิพาดาไม่เคยพรากไปจากอกพ่อแม่เลย  แต่เบาใจบ้างเมื่อมีธรรศไปอยู่ในโรงเรียนเดียวกัน จึงฝากให้ธรรศคอยดูแลน้องด้วย  ธรรศและนิพาดาสัญญาว่าจะดูแลกันและกันให้ดีและจะกลับมาบ้านบ่อยๆ เพราะโรงเรียนอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯเท่าไร  ธรรศเองก็ไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วงที่บ้านสวนเช่นกัน ทุกคนอยู่สุขสบายและทุกอย่างที่สวนก็ลงตัวหมดแล้ว
      โรงเรียนมัธยมที่ธรรศกับนิพาดาไปสอนอยู่ห่างจากตัวอำเภอไม่ถึงกิโล อยู่ท่ามกลางทุ่งนาและหมู่บ้านที่ตั้งอยู่เป็นหย่อมๆไม่ห่างไกลกัน  มีคูคลองเชื่อมจากแม่น้ำสายหลักไหลผ่านให้ชาวบ้านได้ใช้กัน  มีถนนหนทางติดต่อถึงกันระหวางหมู่บ้าน  ยังมีกลิ่นอายของชนบทให้สูดอากาศได้เต็มปอด  ดูจากสภาพภายนอกทั่วไปชาวบ้านที่นี่น่าจะอยู่เย็นเป็นสุขกัน
        โรงเรียนมีนักเรียนทั้งมัธยมต้นและมัธยมปลายรวม 600  กว่าคน มีครู 38  คน  ผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นชายวัยกลางคนดูท่าทางใจดี  ครูที่นี่อยู่ในวัยใกล้เคียงกันอายุเฉลี่ยน่าจะไม่เกิน 30 – 40 ปี ทุกคนต่างยิ้มแย้มแจ่มใสให้การต้อนรับธรรศและนิพาดาเป็นอย่างดี   โรงเรียนจัดที่พักให้ธรรศไปอยู่บ้านพักครูชายโสด นิพาดาอยู่บ้านพักครูหญิงโสด โดยต้องพักรวมกันกับครูคนอื่นๆที่อยู่ก่อนหน้าแล้ว  ตอนนี้ทั้งสองคนยังอยู่ในฐานะเป็นครูผู้ช่วยที่ต้องทดลองปฏิบัติราชการ  ต้องถูกประเมินเพื่อเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มเป็นเวลาสองปี ก่อนจะได้รับแต่งตั้งเป็นครูตามระเบียบที่กระทรวงกำหนด  ซึ่งก็ต้องทำหน้าที่สอนเหมือนครูทั่วๆไปนั่นแหละ  ธรรศได้รับมอบหมายให้สอนวิชาประวัติศาสตร์ทุกชั้นและโรงเรียนเปิดโปรแกรมสอนภาษาจีนด้วยเพราะเป็นจังหวัดท่องเที่ยว  พอผู้บริหารโรงเรียนทราบว่าธรรศสอนภาษาจีนได้ จึงมอบหมายให้สอนภาษาจีนเพิ่มขึ้นอีก  ส่วนนิพาดาได้สอนวิชาคณิตศาสตร์ทั้งระดับมัธยมต้นและมัธยมปลาย  ทั้งสองคนก็ได้สอนตามวิชาเอกที่แต่ละคนเรียนมา  จึงไม่มีปัญหาเรื่องวิชาที่สอนแต่อย่างใด  ธรรศและนิพาดารู้สึกพอใจ อบอุ่นใจที่ได้มาสอนโรงเรียนนี้ เพราะทั้งสภาพแวดล้อมและสังคมที่นี่ก็ดูน่าอยู่ น่าทำงานทีเดียว          
         วันหยุดสุดสัปดาห์ในเดือนแรก ธรรศชวนนิพาดาขี่จักรยานที่เพิ่งซื้อมาใหม่ๆไปสำรวจและดูวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นในตัวอำเภอและนอกอำเภอไปตามหมู่บ้านต่างๆที่ไม่ไกลนัก  พร้อมทั้งพูดคุยกับชาวบ้าน แนะนำตัวเองว่าเป็นครูคนใหม่  ก็ได้รับความสนใจและได้รับมิตรไมตรีที่ดีจากชาวบ้านตามสมควร ทำให้ทราบข้อมูลทั่วไปว่า  ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา และรับจ้างทั่วไป มีฐานะค่อนข้างยากจน   เด็กๆจำนวนไม่น้อยไม่ได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันทั้งครอบครัว ซึ่งมีทั้งครอบครัวแตกแยก ทั้งหย่าร้างและอพยพไปทำงานที่อื่น  เด็กนักเรียนจำนวนไม่น้อยต้องอาศัยอยู่กับปู่ ย่า ตา ยาย หรือลุง ป้า น้า อา  ตามผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง ที่ความเจริญทางวัตถุเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในชนบท  โดยมีสภาพคล้ายคลึงกันกับชนบทในหลายๆแห่งของประเทศ ซึ่งต่างจากสภาพภายนอกที่ธรรศกับนิพาดาได้เห็นในวันแรกที่เข้ามาเยือน           
        วันอาทิตย์ในสัปดาห์ถัดไปธรรศชวนนิพาดาไปกราบหลวงพ่อเจ้าอาวาสที่วัดในตัวอำเภอซึ่งอยู่ใกล้ๆกับโรงเรียน  ภายในวัดดูสะอาด สงบร่มรื่นด้วยร่มไม้ที่เขียวขจี มีลำน้ำคูคลองรอบวัด  ไม่มีสิ่งปลูกสร้างที่หรูหราเหมือนหลายๆวัด  มีเพียงโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญหลังหนึ่งที่กว้างขวาง มีศิลปะการสร้างที่แปลกกว่าวัดอื่นๆ และอาคารตึกแถวยาวๆท้ายวัดอีกสามหลัง หลังหนึ่งเป็นกุฎิจำพรรษาของพระภิกษุ  อีกสองหลังสำหรับเป็นที่พักของผู้มาปฏิบัติธรรม แยกอาคารชาย อาคารหญิง  พื้นที่วัดส่วนใหญ่เป็นลานโล่งแจ้งที่อยู่ในร่มไม้  มีร่องรอยว่าเพื่อใช้ในการปฏิบัติสมาธิภาวนา          
       พอขึ้นไปบนศาลาการเปรียญก็ได้ยินเสียงเทปคำสอนการฝึกปฏิบัติสมาธิวิปัสสนาที่ทั้งสองคนคุ้นชินดังแว่วมา  ธรรศกับนิพาดามองหน้ากันด้วยความแปลกใจ  ค่อยๆเดินเบาๆไปทางด้านหลังซึ่งเป็นที่มาของเสียง  พยายามรักษาความเงียบสงบ  ก็เห็นชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นสตรีอาวุโสสัก 30 กว่าคน มีหนุ่มๆสาวๆราว 5-6 คน นั่งขัดสมาธิบนอาสนะหลับตานิ่ง   มีภิกษุ 3 รูปนั่งบนอาสนะเบื้องหน้าที่ตั้งบนแท่นสูงกว่าชาวบ้าน รูปแรกดูทางด้านหลังอาวุโสกว่าอีกสองรูป  ธรรศกับนิพาดาเข้าใจว่าคงเป็นหลวงพ่อเจ้าอาวาสกับพระลูกวัด   ทั้งสองคนเข้าไปนั่งสมทบด้านหลัง  หลับตาลงและร่วมปฏิบัติด้วยความคุ้นชิน  จำได้ทันทีว่าเป็นเทปซีดีคำสอนของท่านอาจารย์ที่ทั้งสองคนปฏิบัติเป็นประจำ เพื่อใช้สำหรับการมารวมกลุ่มนั่งปฏิบัติกันภายหลังจากอบรมหลักสูตร 10 วัน   ซึ่งเทปซีดีนี้มีความยาว 1 ชั่วโมง       
       ตอนนี้ถึงตอนท้ายๆใกล้จบชั่วโมงแล้ว  ธรรศกับนิพาดาสงสัยว่าทำไมหลวงพ่อจึงใช้เทปซีดีนี้  หลวงพ่อเป็นศิษย์เก่าที่ไปอบรมหลักสูตรนี้กับอาจารย์มาแล้วแน่ๆ รอให้จบการปฏิบัติก่อนแล้วจะไปกราบและถามท่านให้ได้  เพราะตอนนี้มองจากด้านหลังก็ไม่รู้ว่าท่านหน้าตาเป็นยังไง          การนั่งปฏิบัติกลุ่มจบแล้ว  หลวงพ่อหันหน้ากลับมาเพื่อพูดคุยกับชาวบ้านต่อ ธรรศกับนิพาดาเห็นหน้าท่านชัดเจนขึ้น ทั้งสองคนพูดขึ้นพร้อมกัน
      “หลวงพ่อที่ไปปฏิบัติกับเราที่นครศรีธรรมราช”
         
     ทั้งธรรศและนิพาดาจำได้ชัดเจนว่าตอนอบรมท่านนั่งอยู่หน้าสุด ท่านนั่งนิ่งตัวตรงเหมือนหุ่น ไม่ไหวติงใดๆตลอดชั่วโมง บางชั่วโมงหมดขั่วโมงแล้วท่านยังนั่งต่อไปจนถึงขึ้นขั่วโมงใหม่  ท่านคงอายุราว 70 ปีเศษๆ แต่ดูหน้าตาผิวพรรณท่านยังเปล่งปลั่งอย่างผู้มีความสุข  ท่านเป็นแบบอย่างของพระปฏิบัติที่น่าศรัทธายิ่ง  และช่วยเพิ่มพลังสมาธิให้แก่ผู้เข้าร่วมปฏิบัติจนตลอดการอบรม
           ชาวบ้านกราบลาท่านกลับไปหมดแล้ว  ธรรศกับนิพาดาค่อยๆคลานเข่าไปกราบที่เบื้องหน้าท่าน ท่านมองทั้งสองคน  ส่งยิ้มให้  ทั้งสองคนรับรู้ได้ถึงจิตที่เต็มไปด้วยความเมตตา  ธรรศกับนิพาดาพนมมือและแนะนำตัวให้ท่านรู้จัก แล้วอดไม่ได้ที่จะบอกว่าตนเองได้ไปร่วมปฏิบัติหลักสูตร 10 วันกับหลวงพ่อที่นครศรีธรรมราช เมื่อปลายปีที่แล้วด้วย ท่านเพียงแต่ยิ้ม ไม่แสดงความตื่นเต้นดีใจแต่อย่างใด  ท่านพูดเพียงประโยคสั้นๆว่า
        “ดีแล้วมาช่วยกันสอนเด็กๆให้เป็นคนดีกัน”   ท่านพูดน้อย แต่ละประโยคล้วนมีสาระ ทุกกิริยาเป็นแบบอย่างของผู้รักษาสติและวางอุเบกขาได้ในทุกอิริยาบถ           
       ทั้งสองคนทราบข้อมูลคร่าวๆก่อนหน้ามากราบท่านแต่เพียงว่า ท่านคือพระครูธีรวัฒน์ เป็นเจ้าอาวาส เป็นเจ้าคณะอำเภอ และเป็นพระอุปัชฌาย์อุปสมบทพระภิกษุด้วย   แล้วท่านก็เล่าเรื่องราวถึงภารกิจของท่านและของวัดให้ฟัง ได้ความว่า  ท่านเกิดที่ตำบลและอำเภอนี้  พออายุครบอุปสมบทก็บวช  มีโอกาสไปจำพรรษาและเป็นศิษย์หลวงพ่อพุทธทาสสองพรรษา แล้วกลับมาจำพรรษาที่วัดนี้ ตั้งแต่เป็นพระลูกวัด เกิดความซาบซึ้งในรสพระธรรม เลยไม่สึกมาจนทุกวันนี้
           ท่านเล่าต่ออีกว่า ด้วยใจที่ไม่ค่อยชอบพิธีกรรมต่างๆอย่างไม่มีเหตุผล ท่านจึงพยายามสอนชาวบ้านให้ลดเลิกพิธีกรรมที่มืดบอด ไม่ส่งเสริมให้เกิดปัญญาลงบ้าง  แต่ก็แก้ยากมาก เพราะชาวบ้านเขาฝังรากลึกปฏิบัติสืบต่อกันมา ก็เลยต้องพยายามสอนเขาและเดินสายกลาง  พอดีเห็นหลักสูตรวิปัสสนาอบรมเข้ม 10 วัน แล้วเกิดความสนใจในหลักสูตรที่ยึดหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่เน้นพิธีกรรมและตรงกับที่หลวงพ่อพุทธทาสท่านสอนไว้ เลยมาลองปฏิบัติครั้งแรกเมื่อ 8 ปีที่แล้ว  และเกิดความเข้าใจในวิถีทางนำไปสู่ความหลุดพ้นที่ลึกซึ้งมากขึ้น  เลยไปปฏิบัติมาต่อเนื่องหลายๆหลักสูตร  แล้วเกิดความคิดว่าน่าจะส่งเสริมให้คนที่นี่ไปปฏิบัติบ้าง    
       พอดีเมื่อ 4 ปีที่แล้วได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์บวชพระ  เลยทดลองเริ่มต้นที่พระก่อน  พอบวชให้เสร็จก็ไม่ต้องสอนอะไร ส่งมาอบรมหลักสูตร 10 วันเลย เมื่อเขากลับมาก็นำเขาปฏิบัติต่อเนื่องเช้า-เย็น หลังจากทำวัตรเช้าทำวัตรเย็น พระบางรูปก็ขอไปอบรมต่อเนื่อง  ตอนนี้ก็มีพระที่ผ่านการอบรมอย่างน้อย 1 ครั้ง ได้ 10 กว่ารูป  แต่หลายรูปบวชได้พรรษาเดียวก็สึกไป เพราะความจำเป็นในครอบครัว  ก็ต้องเข้าใจเขา แต่ก็คิดว่าอย่างน้อยเขาก็ได้ธรรมะติดตัวไปน่าจะทำให้เขาได้วิธีการดำเนินชีวิตที่ดี และเป็นคนดีเมื่อไปอยู่ในสังคมภายนอก
         หลวงพ่อท่านเล่าต่ออีกว่า  พอท่านทำเรื่องนี้กับพระก็คิดจะทำกับฆราวาสบ้าง  เพราะสังคมที่นี่ก็เป็นที่รู้ๆกัน ก็เหมือนกับชนบททั่วๆไป  ต้องดิ้นรนทำมาหากิน  ความยากจนมีผลไปสู่การไปหางานทำที่อื่น บ้างก็มั่วสุมอบายมุขกัน  คนในหมู่บ้านจำนวนไม่น้อยเป็นคนแก่ที่อยู่ในวัยพึ่งพิง และเลี้ยงดูหลานๆให้ลูกที่ไปหางานทำที่อื่นบ้าง บางครอบครัวก็แตกแยกกันบ้าง  น่าสงสารก็คือพวกเด็กๆ   หลวงพ่อจะช่วยพวกเขาเรื่องปากเรื่องท้องก็คงลำบาก จึงพยายามช่วยเรื่องการอบรมกล่อมเกลาจิตใจก่อน และหวังว่าถ้าเขาเป็นคนดี อะไรๆก็คงจะดีขึ้นตามมา   จึงคิดส่งชาวบ้านไปอบรมหลักสูตรนี้  พอได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอและแก่พรรษามากขึ้น  ชาวบ้านเขาศรัทธาเพราะเห็นว่าหลวงพ่อเป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ  หลวงพ่อจะพูดอะไรเขาก็คล้อยตาม  จึงพยายามพูดคุยกับคนที่เขามีฐานะและมีใจอยากจะทำบุญช่วยเหลือชาวบ้านให้พ้นทุกข์  ตอนนี้ก็มีทั้ง ส.ส. นายทุน  ข้าราชการ  และคนที่อื่นๆ  พอรู้ว่าหลวงพ่อมีแนวคิดจะส่งชาวบ้านไปอบรมปฏิบัติธรรมตามหลักสูตรนี้จึงเข้ามาช่วย  จัดพาหนะและค่าใช้จ่ายพื้นฐานบ้าง  ผู้มีอุปการะคุณบางคนก็สมัครเข้าร่วมปฏิบัติด้วย และมาช่วยหลวงพ่อทำงานด้านธุรการ  ช่วยประสานงานให้ ก็เบาแรงขึ้น     
          ตอนนี้มีชาวบ้านและคนในอำเภอผ่านการอบรมแล้วร่วม 40-50 คน ส่วนใหญ่ก็เป็นคนเฒ่าคนแก่  สาวๆหนุ่มๆก็พอมีบ้างแต่ก็ยังน้อย  ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นผู้หญิง ก็เหมือนกับที่เราไปเห็นการอบรมแต่ละรุ่นนั่นแหละ  คนไหนที่ผ่านการปฏิบัติท่านก็จัดให้มีการนั่งปฏิบัติกลุ่มในทุกวันอาทิตย์วันละ 2 ชั่วโมง แบ่งเป็นสองช่วงเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง  ก็มาบ้างไม่มาบ้างดังที่เห็นเมื่อกี้นี้แหละ  ก็ผลัดเปลี่ยนกันไป  หลวงพ่อเข้าใจดีว่าแต่ละคนต่างมีภาระที่ต้องดูแล  จัดสรรเวลามาได้ขนาดนี้หลวงพ่อก็พอใจแล้ว  และหลังปฏิบัติหลวงพ่อก็ไถ่ถามทุกข์สุข  ผลการปฏิบัติ  ว่ายังปฏิบัติต่อเนื่องเช้าเย็นไหม  แล้วรู้สึกยังไง  ตลอดจนถามไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ ถ้าเขายังลำบากก็จะมีคนคอยจดข้อมูล แล้วท่านก็จะประสานข้อมูลไปยังผู้มีอุปการคุณต่างๆขอให้เข้าไปช่วยเหลือ  ตอนนี้ดูเหมือนว่าความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนที่นี่จะมีมากขึ้น
         ตอนท้ายหลวงพ่อฝากธรรศกับนิพาดาไปว่า  ท่านสามารถทำได้กับชาวบ้านเป็นส่วนใหญ่ แต่กับเด็กๆในโรงเรียน หลวงพ่อยังเข้าไปไม่ถึง ก็ฝากให้ทั้งสองคนดูแลด้วย  จะได้ครบ “บวร” คือบ้าน วัด และโรงเรียน          
         ธรรศกับนิพาดารับปากท่าน และบอกว่าจะพยายามหาเวลามาร่วมปฏิบัติกับขาวบ้านในวันอาทิตย์บ่อยๆ   แล้วเสนอโครงการหนึ่งให้หลวงพ่อพิจารณาให้การสนับสนุน  คือการส่งนักเรียนไปอบรมหลักสูตรอานาปานสติ 1 วัน ที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมใน กทม. ที่เขาเปิดรับสมัครเป็นประจำและไม่เสียค่าอบรมด้วย  หากมีรถบริการรับส่ง มีคนคอยดูแล และอาหารการกินให้  คิดว่า พ่อแม่ผู้ปกครองเขาคงไม่ว่าอะไร  หลวงพ่อก็เห็นด้วยกับแนวคิดนี้  และรับว่าจะคุยกับผู้มีอุปการคุณช่วยเหลือต่อไป         
          ธรรศกับนิพาดากราบลาท่านด้วยใจที่ปลื้มปิติ  มีพลังที่จะก้าวเดินไปสู่เส้นทางที่ปรารถนา  ด้วยมีหลวงพ่อเป็นกำลังใจสำคัญให้อย่างเต็มเปี่ยมแล้ว                                                      ---------------------------

                                                           

หมายเลขบันทึก: 649540เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2018 11:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กันยายน 2020 18:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท