รักที่หลุดพ้น (ตอนที่ 8 เพิ่งกระจ่างทางพ้นทุกข์)


วรรณกรรมอิงธรรมะ เสริมสร้างศิลปะการดำเนินชีวิตที่มีความสุข...

               
   จากนั้นอาจารย์ก็ให้เราสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันได้ แต่ขอให้ระวังที่จะต้องพยายามรักษาศีลและดูแลสติในทุกอิริยาบทให้ได้มากที่สุดตลอดเวลา  พอออกจากห้องปฏิบัติรวมทุกคนยังรักษาความสงบ ภาพแรกที่พบคือ ทุกคนต่างไหว้และกล่าวคำอนุโมทนาบุญซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะกับธรรมบริกร จะกล่าวขอบคุณที่คอยดูแลอำนวยความสะดวกให้ในทุกเรื่อง     
        นิศมาและกรนุชรี่มาหานิพาดา กล่าวอนุโมทนาบุญ และพูดชื่นชมในขันติความมุ่งมั่นพยายามของเพื่อนจนตลอดหลักสูตร  นิพาดายังคงวางเฉยเพราะยังปรับอารมณ์ไม่ถูกว่าจะต่อว่าหรือขอบใจเพื่อนดี  แต่ในส่วนลึกเธอรู้สึกขอบใจเพื่อนที่ชี้ทางให้เธอได้เจอสิ่งดีๆในชีวิต  
         สักครู่ธรรศเดินมาสมทบ ยิ้มและกล่าวอนุโมทนาให้นิพาดาก่อนแล้วตามด้วยเพื่อนอีกสองคน  นิพาดาเริ่มปรับอารมณ์เข้าสู่โหมดปกติได้แล้ว จึงยิ้มให้ทุกคน  นิศมาถามนิพาดาก่อนใครว่าเป็นยังไงบ้าง  เธอก็เล่าทุกสิ่งที่เธอประสบ ทั้งทุกข์ สุข  ความแปลกประหลาดที่เจอให้ทุกคนฟัง  ทุกคนยิ้มและแสดงความชื่นชมนิพาดาอีกครั้ง            
        กรนุชบอกว่า “ครั้งแรกของการปฏิบัติ นุชก็พบเหตุการณ์คล้ายๆกันแบบนี้แหละ”  นิศมาจึงเสริมว่า
       “ เราประเมินแล้วว่าคนเก่งและทำอะไรต้องสำเร็จอย่างนิ จะต้องผ่านประสบการณ์นี้ด้วยดีจึงวางแผนหลอกเธอมา เอาเรื่องเที่ยวมาล่อ  อย่าโกรธพวกเราเลยนะ  ส่วนพี่ธรรศเขาจำเป็นต้องตกกระไดพลอยโจนไปกับเราด้วย”          
        ทุกคนหัวเราะพร้อมกัน  นิพาดายิ้มให้และขอบใจเพื่อนๆ  แล้วทิ้งท้ายว่า
        “วันแรกที่ปฏิบัตินิโกรธทุกคนมากๆ คิดว่าจะไม่คบกันอีกแล้ว  แต่พอเริ่มพบความจริงด้วยตนเองก็ค่อยๆคลายไป แต่ยังโกรธอยู่นะ ที่ไม่ยอมบอกกันแต่แรก”   แล้วเธอก็หัวเราะแบบเข้าใจเพื่อน  และเปิดเผยความลับให้เพื่อนฟังว่า         
       “วันแรกๆที่อาจารย์ให้ไปปฏิบัติด้วยตนเองที่ห้องพักนั้น บางครั้งนิแอบไปงีบหลับด้วย ก็มันปวดร้าวไปทั้งร่าง ยังปรับตัวไม่ได้ พยายามหาเหตุผลเข้าข้างตนเองว่าคงไม่ผิดศีลข้อมุสาหรอกนะ เพราะเราเดินตามคำสอนของพระพุทธเจ้าว่าให้เดินสายกลาง ไม่ตึงไม่หย่อนจนเกินไป ก็ฝึกออกโหดยังงี้ใครจะทนได้”   พูดแล้วเธอก็หัวเราะ  ทุกคนก็หัวเราะตาม  แล้วเธอก็หันไปกระแนะกระแหนธรรศว่า           
        “ตอนนิไม่มีสมาธิ มองไปที่พี่ธรรศเห็นนั่งตัวตรงเหมือนหุ่นไม่กระดุกกระดิกเลย นิยิ่งโกรธมากรู้ไหม  ที่โกรธเพราะพี่หมื่นไม่ยอมแผ่พลังมาช่วยการะเกดบ้างเลย”
  แล้วทุกคนก็หัวเราะอย่างมีความสุข
           ธรรศเล่าให้ฟังว่า ตอนก่อนมาปฏิบัติหลักสูตรนี้ ตนเองตระเวณไปปฏิบัติกับหลวงพ่อและผู้สอนในแนวทางต่างๆมาหลายสำนัก  ไม่ว่าจะเป็นการบริกรรมด้วยพุทโธ  พองหนอยุบหนอ  ท่ามือฝึกสติปัฏฐาน  มโนมยิทธิ  การเดินจงกรม ฯลฯ ยอมรับว่าทำให้จิตสงบมากขึ้นทีเดียว  แต่การปฏิบัติแค่วันสองวัน ก็ยังไม่เหมาะกับจริตของตนที่สะสมกิเลสไว้อย่างหนาเตอะ จึงต้องมาใช้ยาแรงรักษาตามหลักสูตรนี้  แต่ก็ยอมรับว่าทุกสำนักที่ไปปฏิบัติมาล้วนสอนตามคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น  จะต่างกันเพียงเทคนิคการสอนเท่านั้น และตนเองก็ได้พื้นฐานจากที่ฝึกปฏิบัติมาจากหลายสำนัก มาใช้ในการปฏิบัติหลักสูตรนี้ทำให้สามารถผ่านการปฏิบัติไปได้อย่างรวดเร็ว  จึงยังซาบซึ้งและสำนึกในพระคุณของอาจารย์แต่ละสำนักที่ผ่านมาอยู่เสมอ
          นิศมาบอกว่า  จำธรรมบรรยายวันที่สองได้ไหม ที่อาจารย์เล่านิทานเรื่องเด็กชายขอทานสองคน คนหนึ่งตาบอดและอีกคนตาดี  ที่เด็กตาดีอาสาไปขอทานแทนเพื่อนแล้วจะนำอาหารมาเผื่อ  และเด็กตาดีกลับมาเล่าให้เด็กตาบอดฟังว่ามีคนมาให้ขนมคีร์ซึ่งเป็นขนมเหลว ทำจากนมผสมข้าว น้ำตาล ผลไม้แห้ง และอื่นๆ มีรสชาติอร่อยมาก  แต่เด็กตาดีไม่ได้เตรียมภาชนะไปใส่จึงทานเองทั้งหมด  แล้วกลับมาเล่าถึงรูปร่างลักษณะของขนมคีร์ให้เพื่อนเด็กตาบอดฟัง  อธิบายยังไงเด็กตาบอดก็ไม่เข้าใจ เพราะเขาไม่ได้สัมผัส ด้วยตัวของเขาเอง  อาจารย์ก็สรุปว่า เหมือนกับการปฏิบัติภาวนามยปัญญาตามคำสอน ถ้าไม่ลงมือปฏิบัติเองก็จะไม่รู้ไม่เข้าใจด้วยตนเองเช่นกัน  และจำได้ไหมว่าในวันต่อมาทางศูนย์ปฏิบัติธรรมก็ทำขนมคีร์ให้เราทานกัน
          กรนุชบอกว่า ที่จริงเรามีพระสงฆ์ที่เป็นพระปฏิปทาทั้งปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างและสั่งสอนเราตามคำสอนของพระพุทธเจ้าตามแนวทางที่เราปฏิบัติกันนี้หลายๆท่าน เช่น หลวงปู่มั่น เป็นแบบอย่างของธุดงควัตร  หลวงพ่อพุทธทาส ท่านศึกษาหลักธรรมอย่างลึกซึ้งแล้วนำมาสอนพวกเราโดยเฉพาะเรื่องปฏิจจสมุปบาท  หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ  ท่านก็สอนให้เรานำหลักธรรมะมาใช้ในชีวิตประจำวัน  ท่านปยุตโต ท่านก็สอนให้เราเกิดปัญญาที่แยบคายด้วยการคิดแบบโยนิโสมนสิการ เป็นต้น
          ธรรศเล่าเพิ่มเติมอีกว่า  “เคยไปอบรมหลักสูตรสติปัฏฐานมาแล้ว เป็นการนำเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ปรากฏในพระสูตรมาอธิบายเป็นวิธีปฏิบัติให้ลึกซึ้งมากขึ้น  โดยเน้นที่สติปัฏฐาน 4 คือ กาย เวทนา จิต และธรรม แต่วิธีปฏิบัติก็ใช้การวิปัสสนากรรมฐานเหมือนกับที่เราปฏิบัตินี่แหละ”   นิศมาซึ่งเคยไปปฏิบัติหลักสูตรนี้มาเหมือนกันกล่าวเสริมอีกว่า
       “พระพุทธเจ้าท่านฉลาดลึกล้ำในการสอนคนแต่ละคนแต่ละกลุ่ม ท่านมีเทคนิควิธีสอนที่ไม่เหมือนกัน โดยคำนึงถึงบัวแต่ละเหล่า ขนบธรรมเนียม ประเพณี ความเชื่อ จริตของแต่ละคนแต่ละกลุ่มด้วย  ว่าควรจะสอนด้วยวิธีใด  จึงปรากฏหลักคำสอนต่างๆเพิ่มขึ้นมา เช่น สติปัฏฐาน4 โภชฌงค์7 เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดก็มาจากหลักอริยสัจ4 ที่พระองค์ตรัสรู้ทั้งสิ้น”                
         
        ก่อนปิดการอบรมอาจารย์ได้สอนได้เตือนผู้ผ่านการอบรมให้ตระหนักว่า  การอบรม10 วันนี้ เป็นการฝึกให้เราได้ปฏิบัติตามคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรื่องอริยสัจ4 จนครบทั้งการรักษาศีล  ฝึกสมาธิด้วยอานาปานสติ และปฏิบัติวิปัสสนาให้เกิดปัญญารู้ความจริงในตัวเราทั้งกายและจิต เพื่อให้เราหลุดพ้นจากความทุกข์อย่างแท้จริง  โดยจัดหลักสูตรอย่างเข้มข้นให้ทุกคนได้อยู่ในบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดผลดีต่อการปฏิบัติอย่างจริงจัง  แม้ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกว่าหนักมากเพราะไม่คุ้นชินกับการปฏิบัติอย่างจริงจังเช่นนี้มาก่อน  แต่พอสิ้นสุดการอบรมก็คงจะพอรู้แล้วว่า จิตของเราที่ถูกครอบงำด้วยอนุสัยกิเลสที่เป็นต้นตอของความทุกข์มานาน จะคอยปฏิเสธต่อต้านไม่ให้เราปฏิบัติในทุกรูปแบบ  ผู้ปฏิบัติจึงต้องใช้ความพยายามอย่างมากจึงจะบรรลุผล       
        การอบรมเพียงแค่ 10 วันแม้จะปฏิบัติอย่างเข้มข้น แต่ก็เป็นการฝึกในเบื้องต้นเท่านั้น   หลังจากนี้เราจะต้องไปเผชิญกับโลกของความจริง ที่มีสิ่งแวดล้อมทั้งที่บ้าน  ที่ทำงาน  ในสังคมที่เราต้องพบปะผู้คนต่างๆอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้  เราจะไปนั่งหลับตาและอยู่ในบรรยากาศเช่นที่ฝึกปฏิบัตินี้ตลอดทั้งวันไม่ได้แล้ว  แต่การมาปฏิบัติครั้งนี้แม้จะเป็นระยะเวลาอันสั้นแต่ก็สามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้เราสามารถไปเผชิญกับสิ่งแวดล้อมต่างๆได้อย่างมีสติและสัมปะชัญญะได้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน  แต่ถ้าเราไม่พยายามฝึกจิตอย่างต่อเนื่องกิเลสทั้งหลายก็จะมีอิทธิพลเข้ามาครอบงำเราอีก   ดังนั้นจึงขอให้ทุกคนพยายามใช้เวลาในการปฏิบัติเช่นนี้ให้ต่อเนื่อง อย่างน้อยก็ในตอนเช้าและตอนเย็นก่อนเข้านอนทุกวัน ก็จะทำให้เราสามารถรักษาศีล สมาธิและปัญญา  มีสติ รู้เวทนาและสามารถวางอุเบกขาในทุกขณะจิตได้อย่างต่อเนื่องยาวนานมากขึ้นเรื่อยๆ   และหลังปฏิบัติก็จะต้องไม่ลืมที่จะอุทิศบุญกุศลให้แก่ตนเองและผู้อื่นด้วยการทำเมตตาภาวนาด้วยทุกครั้ง   นี่คือเส้นทางของธรรมะ  นี่คือคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นวิถีทางให้เราหลุดพ้นจากความทุกข์ได้อย่างแท้จริง
        


        การอบรมครั้งแรกก็ผ่านไป  นิพาดารู้สึกราวกับว่า ชีวิตใหม่ของเธอเริ่มต้นขึ้นแล้ว เธอพร้อมยอมรับการปฏิบัติอันมหัศจรรย์นี้แล้ว  และกระหายที่จะแหวกว่ายลงไปในมหาสมุทรแห่งธรรมะราวกับปลาในน้ำฉันนั้น
        เมื่อสิ้นสุดการปฏิบัตินงชนกก็มารับคณะตามเวลา  แล้วพาไปกราบหลวงพ่อซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวนครฯเพื่อเป็นสิริมงคล ซึ่งวัดก็อยู่ในอำเภอใกล้เคียงกับที่ปฏิบัติธรรม  แล้วพาไปส่งขึ้นเครื่องบินกลับกรุงเทพมหานคร
            ------------------------------
                  

หมายเลขบันทึก: 649534เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2018 10:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 สิงหาคม 2020 14:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท