รักที่หลุดพ้น (ตอนที่ 7 คำสอนที่กินใจ)


วรรณกรรมอิงธรรมะ เสริมสร้างศิลปะการดำเนินชีวิตที่มีความสุข...

   

     

    จาก
ธรรมะบรรยายของคืนนั้น ทำให้นิพาดาเข้าใจว่า ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะทรงตรัสรู้ค้นพบหนทางแห่งการดับทุกข์  พระองค์ได้ผ่านวิธีการปฏิบัติต่างๆมามากมาย  ไม่ว่าจะเป็นการฝึกสมาธิกับอาจารย์ทั้งสองสำเร็จถึงขั้นฌาณ8 ซึ่งเป็นฌานสูงสุด จนจิตมีความสงบสักเพียงใด  แต่ก็ช่วยชำระจิตให้บริสุทธิ์ได้ในระดับพื้นผิวคือจิตสำนึกเท่านั้น  แต่ลึกเข้าไปภายในจิตไร้สำนึกจะยังคงเต็มไปด้วยสิ่งที่เรียกว่าอนุสัยกิเลส  ซึ่งเป็นกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในส่วนลึกของจิต  เปรียบเสมือนภูเขาไฟที่สงบ แต่ยังไม่ดับ มันจะระเบิดขึ้นมาอีกเมื่อใดก็ได้  แม้ต่อมาพระองค์ไปทดลองปฏิบัติด้วยการทรมานร่างกายที่เรียกว่าทุกรกิริยา พระองค์ก็ยังทรงเห็นว่าไม่ใช่ทางแห่งการดับทุกข์อย่างแท้จริง  จนกระทั่งมาค้นพบวิธีการดับทุกข์ที่แท้จริงด้วยตนเองที่เรียกว่า อริยสัจ 4 คือวิถีทางแห่งปัญญาที่จะนำไปสู่การหลุดพ้นจากความทุกข์อย่างสิ้นเชิง
      ในธรรมบรรยาย  ยังกล่าวต่ออีกตอนหนึ่งว่า  นี่คือความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ  เมื่อทรงสำรวจเข้าไปภายในกายของพระองค์เอง  ด้วยจิตที่เป็นสมาธิอย่างแรงกล้า  ทรงสามารถเจาะลงไปถึงระดับลึกที่สุดของจิต  และพบว่าร่างกายทั้งร่างประกอบด้วยอนุปรมาณูที่เรียกว่ากลาปะ  ซึ่งเกิดขึ้นและดับไปอยู่ตลอดเวลา  ในชั่วขณะที่เราดีดนิ้วหรือกระพริบตา  อนุภาคเล็กๆเหล่านี้เกิดขึ้นและดับไปนับเป็นจำนวนล้านล้านล้านครั้ง  และนักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ก็ได้ค้นพบและยืนยันความจริงในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน
       มีนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันผู้หนึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ เขาใช้เวลานานในการค้นคว้าและศึกษาธรรมชาติของอนุปรมาณู อันเป็นอนุภาคที่เล็กที่สุดของสสาร ซึ่งเป็นส่วนประกอบของจักรวาล  ซึ่งอนุภาคเหล่านี้เกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็วตลอดเวลา  เขาได้ประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือขึ้นมาชนิดหนึ่ง  ซึ่งสามารถนับจำนวนครั้งที่อนุภาคเหล่านี้เกิดขึ้นดับไปภายในหนึ่งวินาที ชื่อว่า "บับเบิ้ล แชมเบอร์"  เพราะมันเป็นเสมือนฟองอากาศที่้เกิดขึ้นแล้วแตกหายไป เขาได้ค้นพบและประกาศว่า  ภายในหนึ่งวินาที อนุปรมาณูซึ่งเป็นอนุภาคที่เล็กที่สุดของสสาร จะเกิดขึ้นและดับไปเป็นจำนวนครั้งเท่ากับเลขหนึ่งตามด้วยเลขศูนย์ 22 ตัว หรือหนึ่งหมื่นล้านล้านล้านครั้ง
        นักวิทยาศาสตร์ผู้นี้ได้พบความจริงในลักษณะเดียวกันกับที่พระพุทธเจ้าได้ทรงค้นพบ  แต่นักวิทยาศาสตร์ผู้นี้ก็ยังเต็มไปด้วยความทุกข์และความเครียดเหมือนกับปุถุชนทั่วไป  เพราะเขายังไม่ได้ประจักษ์กับสัจจธรรมนี้ด้วยตนเอง  เขาเพียงแต่เข้าใจแค่ในระดับเชาวน์ปัญญา พบความจริงแค่โลกภายนอก แต่ไม่ได้สำรวจลึกลงไปภายในตัวเองดังเช่นพระสมณโคดมที่จะสามารถเปลี่ยนนิสัยของจิต ช่วยให้มีชีวิตที่สอดคล้องกับสัจจะแห่งธรรมชาตินี้ได้  เพราะความทุกข์เกิดจากการยึดมั่นในขันธ์ 5  อันได้แก่  รูป  วิญญาณ  เวทนา  สัญญา สังขาร  ที่เรายึดเอาไว้อย่างเหนียวแน่น จนต้องเป็นทุกข์       
      "ฟังดูเผินๆเหมือนง่ายนะ"   นิพาดาได้ประจักษ์กับตนเองตามคำสอนแล้วว่า ถ้าเราจะขจัดให้ถึงต้นตอของกิเลส คือสมุทัย(เหตุแห่งทุกข์) มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย  เพราะเมื่อเรารับรู้(วิญญาณ)จากสิ่งที่เข้ามากระทบเรา ก็จะถูกประเมินโดยสัญญา(ความจำ) ซึ่งเรามักถูกปรุงแต่ง(สังขาร)จากกิเลสต่างๆที่สะสมมานาน แล้วเก็บไว้ที่สัญญา พอมีสิ่งใดมากระทบสัญญาก็จะเตือนเวทนา(ความรู้สึก) ตามที่ถูกกิเลสครอบงำให้ปรุงแต่งด้วยกิเลสเก็บไว้ในสัญญาเพิ่มขึ้นอย่างแน่นหนา ซ้ำแล้วซ้ำอีก  เราจึงไม่สามารถหลุดออกจากวงโคจรแห่งความทุกข์(อวิชชา)ได้           
        การฝึกปฏิบัติเพื่อดับต้นตอแห่งทุกข์ก็คือเมื่อเกิดเวทนา(ความรู้สึก)ต้องไม่ปรุงแต่งด้วยกิเลส(สังขาร) แต่ให้วางอุเบกขา (วางเฉย รู้สึกเฉยๆ ไม่ต้องไปปรุงแต่ง)นั่นคือหลักไตรลักษณ์(อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา) ซึ่งมันยากตรงนี้แหละ เพราะเราถูกครอบงำจากกิเลส จนหนาเตอะ แล้วให้เราวางอุเบกขาในไม่กี่วัน มันจึงต้องฝึกบ่อยๆ นานๆ  เพื่อปรับเปลี่ยนสัญญาที่เคยเป็นที่เก็บของอวิชชาซึ่งเป็นต้นตอของความทุกข์ให้เกิดเป็นปัญญาให้ได้
      


       วันสุดท้ายของการปฏิบัติ อาจารย์ได้สอนให้ทำเมตตาภาวนากันเพื่ออุทิศผลบุญกุศลจากการปฏิบัติให้แก่ตนเองและผู้อื่นกันด้วยคำกล่าวที่กินใจว่า      
       “ขอให้ข้าพเจ้าจงปราศจากความโกรธ
  ความเกลียด  ความไม่สบายใจ  ความมุ่งร้ายใดใด  ขอให้ข้าพเจ้าจงเป็นบ่อเกิดแห่งความรัก  ความปรารถนาดี  ความสงบสุข  และมิตรไมตรี   
       ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลายจงมีส่วนในความสงบของข้าพเจ้า  มีส่วนในมิตรไมตรีของข้าพเจ้า  มีส่วนในบุญกุศลของข้าพเจ้า  ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลายจงมีความสุข  มีความสงบ  ได้พบกับความหลุดพ้น  จงหลุดพ้นเถิด  จงหลุดพ้นเถิด  จงหลุดพ้นเถิด”
                 -------------------------
                   
       

หมายเลขบันทึก: 649533เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2018 10:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 สิงหาคม 2020 14:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท