ศิษย์เก่านักกิจกรรม (4) : คิดอะไรไม่ออก แต่ไม่จ่อมจม (พลิกแพลงปล่อยงานเป็นระยะๆ)


ไม่มีอะไรมากครับ แค่อยากจะบอกว่า นี่คือกระบวนการทำงานของผม ในวันที่อะไรๆ ยังไม่แจ่มชัด ผมก็จะไม่จ่อมจมชะงักงัน ตรงกันข้ามคือการพลิกแพลงรูปแบบกระบวนการอื่นๆ ขึ้นมาแทน และวางแผนปล่อยงานออกสู่สาธารณะเป็นห้วงๆ มิใช่ปล่อยทีเดียวในแบบ "ตูมเดียวแล้วจบ"

งานคืนสู่เหย้าเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา   ถือเป็นงานอันท้าทายของผม  อย่างน้อยก็เป็นครั้งแรกที่กองกิจการนิสิตจะจัดขึ้น  ท้าทายในเรื่องจำนวนคนที่จะเข้าร่วม  ท้าทายในเรื่องการบริหารจัดการที่จะนำไปสู่ความเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง  

ยอมรับว่าในระยะต้นๆ  ผมแอบเครียดอยู่บ้าง   เพราะมันเหมือนเริ่มต้นจาก "ศูนย์" แถมผู้คน และองค์กรในระดับสถาบันก็คาดหวังเอาไว้สูงมาก

ผมใช้เวลาคิดรูปแบบอยู่เป็นเดือน  สุดท้ายมาลงเอยในแก่นคิดประมาณว่า เรียนเชิญศิษย์เก่ากลับมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน  ทั้งระหว่างศิษย์เก่ากับศิษย์เก่า  ศิษย์เก่ากับอาจารย์  เจ้าหน้าที่และนิสิต  โดยคำว่าแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ว่านั้น  คิดบนฐานคิดหลักคือการเชื่อมั่นว่า "ทุกคนมีเรื่องเล่า-ทุกคนมีตำนาน"

ฉะนี้แล้ว  จึงเป็นที่มาของตำว่า "บอกเล่าเก้าสิบ"  หรือ "ศิษย์เก่า มมส คืนเหย้าบอกเล่าเก้าสิบ ครั้งที่ 1"  


ในระยะแรก  ผมยัง "ไม่ตกผลึกในด้านรูปแบบ"   ยังไม่สามารถ "ปล่อยกำหนดการ"  ออกมาสื่อสารได้อย่างแจ่มชัด  แต่ด้วยอารมณ์ที่ห่วงว่าจะกีระชั้นชิดมาก  เกรงว่าข่าวสารจะเดินทางช้าและไม่ทั่วถึง  ผมจึงตัดสินใจให้น้องออกแบบเพจประชาสัมพันธ์ให้  เพื่อนำไปลงในสังคมอ่อนไลน์   พร้อมๆ กับการเขียนบทกลอนสั้นๆ ในแบบสไลต์ของตัวเองประกอบ  ดังว่า

กลับบ้านกันดีไหม
กลับมาฟังลมหายใจ เธอและฉัน
ว่าที่ห่างและหายหลายร้อยวัน
แท้จริงนั้น ยังคงมั่นมิผันแปร

เชื่อไหม  ปล่อยเพจคู่กับกลอนข้างต้นเพียงไม่กี่ชั่วโมง หรือไม่ถึงวัน  กระแสตอบรับจาก "ศิษย์เก่า"  มีมาเยอะมาก  

หลายคนทักมาถามให้มั่นใจว่าจะจัดจริงไหม  บ้างทักถามถึงรูปแบบ  บ้างทักถามว่าจำกัดจำนวนคนหรือไม่  - มีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องหรือเปล่า ฯลฯ

แน่นอนครับ  นี่คือการคืนเหย้าครั้งแรกของฝ่ายพัฒนานิสิตในรอบ 40-50 ปีในวิถีกิจกรรมนอกหลักสูตร  จึงไม่แปลกเลยว่า  จะได้รับเสียงตอบรับกลับมาค่อยข้างเยอะ  

และนั่นคือพลังอันยิ่งใหญ่ที่ทำให้ผมฮึกเหิม  เบิกบานที่จะขับเคลื่อนงานนี้  หลังจากครุ่นคิดหม่นเครียดเงียบๆ  มาพักๆ ใหญ่

สารภาพกันตามตรงว่า  ไม่ได้เจาะจงกลุ่มเข้าร่วมงานที่เป็นแค่ "อดีตนักกิจกรรม" หรือ "อดีตผู้นำนิสิต"  

ด้วยความที่ "ผม"  เป็นคนในวิถีนี้  พอขยับตัวเช่นนี้  คนจึงเหมารวมว่า  งานคืนเหย้าครั้งนี้โฟกัสไปยังกลุ่มนี้ล้วนๆ  ซึ่งจริงๆ ยืนยันว่าไม่ใช่เลยสักนิด  

แต่อย่างว่า  เอาเข้าจริงๆ ผมก็มีความสุขมาก  เพราะนี่คือความฝันของตนเองมาหลายแรมปีที่จะชวนเหล่าผู้นำกลับบ้านกันสักครั้ง  ผู้นำในที่นี้ไล่เรียงมาตั้งแต่เมื่อครั้งมีสถานะเป็น วิทยาลัยวิชาการศึกษา มหาสารคาม  มาสู่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม และปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ซึ่งบางคนที่ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมงาน  เชื่อไหมจบการศึกษาไปแล้วร่วมๆ จะ 40 ปีเลยก็มี  - ยังผลให้ผมอิ่มเอมและเต็มไปด้วยพลังอย่างบอกไม่ถูก


ภายหลังการเปิดตัวประชาสัมพันธ์แบบกว้างๆ ไปได้สองสามวัน  ผมไหว้วานน้องในทีมงานสร้างระบบสารสนเทศ (ออนไลน์)  มารองรับเพื่อให้ศิษย์เก่าลงชื่อเข้าร่วมงาน  ขณะที่กระบวนการรับสมัครดำเนินการไปเรื่อยๆ  ผมก็เริ่มออกแบบกิจกรรมให้ตกผลึก  เรียกได้ว่า "ทำไป คิดไป ตัดสินใจ" ไปเองอย่างเบ็ดเสร็จ  พร้อมๆ กับประสานศิษย์เก่าที่เกี่ยวข้องมาช่วยเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน

เช่นเดียวกับการลงแรงสื่อสารไปยังศิษย์เก่าด้วยตนเอง  ทั้งที่เป็นรุ่นพี่ เพื่อน และรุ่นน้อง  

ไม่ใช่ผมไม่เชื่อใจใคร  ไม่ใช่ผมไม่ใส่ใจต่อกระบวนทัศน์การสร้างการมีส่วนร่วม  แต่ผมได้สร้างเวทีแลกเปลี่ยนกับผู้เกี่ยวข้องมาเป็นระยะๆ แล้ว  ให้ทีมงานช่วยในส่วนที่เขาพอทำได้  เพราะผมรู้ดีว่างานนี้  หรืองานในระยเริ่มต้นในเวลาอันจำกัดนั้น  "ไม่ใช่ใครก็ได้-หลายเรื่องมันต้องเจาะจงคนประเภทผมเท่านั้นที่จะต้องลงลุยเอง"  



อันที่จริง ผมฝากงาน หรือแจกแจงงานไปหลายส่วน  อาทิ  ให้ช่วยสืบค้นภาพมาทำนิทรรศการ  ออกแบบเสื้อ  ออกแบบของที่ระลึก  ออกแบบสถานที่  ออกแบบโลโก้  จัดเตรียมอาหารการกิน  ฯลฯ

พอมอบหมายไปแล้ว ก็ขยับตามงานเป็นระยะๆ

แต่ด้วยความที่ห่วงว่าการประชาสัมพันธ์จะไม่ต่อเนื่องและหลากหลาย   หรืออีกนัยหนึ่งก็คือไม่ "เร้าใจ"   ผมจึงให้น้องนิสิตฝึกงานได้ช่วยออกแบบเพจเป็นรายบุคคลขึ้นมา  โดยมีสาระประกอบคือ ชื่อ-ชื่อสกุล ชื่อเล่น  ชื่อรุ่นและภาพประกอบ

เอาจริงๆ เลยนะ  ผมให้นิสิตทำให้ เพราะเจตนาสร้างการเรียนรู้ให้กับเขานั่นแหละ  เป็นการเรียนรู้หลากเรื่อง  เช่น  การสืบค้นผ่านเทคโนโลยี  ฝึกการออกแบบ/จินตนาการ  ฝึกการสอบถามสัมภาษณ์ สังเกต ทั้งจากผู้คนใกล้ตัวในองค์กรและะอื่นๆ อีกจิปาถะ

เอาจริงๆ เลยนะ  ผมไม่ได้ให้ข้อมูลใดๆ กับน้องนิสิตมากนัก  

ผมแนะนำแค่ว่าให้สืบค้นเรื่องราวของรุ่นพี่จากเฟสบุ๊คด้วยตนเอง  ค้นภาพ ค้นข้อมูล หรือหากจำเป็นต้องติดต่อพี่ๆ ก็ดำเนินการเองได้  หรือหากจำเป็นจริงๆ ก็กลับมาถามผมด้วยก็ได้

ตอนแรกน้องนิสิต และเจ้าหน้าที่ก็ไม่เข้าใจหรอกว่า  ทำขึ้นมาทำไม เป็นร้อยๆ  คน ร้อยๆ แผ่น

ดังนั้นผมจึงจำต้องอธิบายให้ชัดว่า  1) ผมจะเอามาประชาสัมพันธ์เป็นระยะๆ  เพื่อมิให้กระแสข่าวขาดหายเป็นไฟไหม้ฟาง แต่ต้องการให้ข่าวสารได้เดินทางอย่างต่อเนื่อง 2)  เพื่อให้ศิษย์เก่ารู้ว่าเราจริงจังจริงใจกับงานนี้มาก รักและใส่ใจกับการต้อนรับทุกคน เห็นค่าและความสำคัญของทุกคนที่กำลังจะกลับบ้านหลังนี้ 3) ยกระดับเพจเล็กๆ เป็นโปสการ์ดให้เจ้าตัวเขียนถึงมหาวิทยาลัยในแง่มุมต่างๆ  4) ยกระดับเพจเล็กๆ เป็นของที่ระลึก หรือจดหมายเหตุในอนาคต ฯลฯ

ใช่ครับ - นั่นคือวิธิคิดของผม  

ผมยืนยันว่าผมให้ค่าความสำคัญกับศิษย์เก่าแต่ละคนมาก  จริงจังและจริงใจกับงานนี้มาก  มิใช่ทำเพราะมีใครสั่ง หรือทำเพราะตัวชี้วัดใดๆ  แต่ทำด้วยหัวใจ  เพราะรู้ตัวดีว่าผมรักและเฝ้ารอที่จะจัดงานในทำนองนี้มายาวนานมากแล้ว  ซึ่งสองปีก่อนเคยเสนอแผนทำนองนี้ไปแล้ว  แต่ไม่มีคนเข้าใจนัก  จวบจนวันนี้  จึงเป็นวันที่ทุกคนเข้าใจและเปิดทางให้ผมได้ทำในสิ่งที่คิดฝัน ...


ทั้งหลายทั้งปวงที่เล่ายืดยาวมานี้  ไม่มีอะไรมากครับ แค่อยากจะบอกว่า  นี่คือกระบวนการทำงานของผม  ในวันที่อะไรๆ ยังไม่แจ่มชัด  ผมก็จะไม่จ่อมจมชะงักงัน  ตรงกันข้ามคือการพลิกแพลงรูปแบบกระบวนการอื่นๆ ขึ้นมาแทน  และวางแผนปล่อยงานออกสู่สาธารณะเป็นห้วงๆ  มิใช่ปล่อยทีเดียว-ครั้งเดียวในแบบ "ตูมเดียวแล้วจบ"  

รวมถึงการออกแบบการสื่อสารเจาะรายบุคคล  เพื่อบอกย้ำว่า เราให้ความสำคัญกับทุกคน  เราทำงานในแบบใจนำพาศรัทธานำทางล้วนๆ  มิใช่ทำให้มันเสร็จๆ 

ซึ่งก็น่าดีใจ ชื่นใจ เบิกบานใจเป็นที่สุด เนื่องเพราะการสื่อสารดังที่ผมกล่าวนี้สามารถสร้างกระแสอันดีงามอย่างมหัศจรรย์  ทั้งต่อศิษย์เก่าเป็นรายบุคคล และองค์รวมเกี่ยวกับงานที่จัดขึ้น

และในวันงาน  ผมก็ให้เกียรติน้องนิสิตฝึกงาน (ศักดิ์สิทธิ์ งามสวย)  ด้วยเช่นกัน  กล่าวคือ ในช่วงท้ายก่อนปิดงาน  ผมทำการเอ่ยชื่อและแนะนำให้ทุกคนได้รับรู้ว่า "เขานั่นแหละคือคนที่ออกแบบเพจที่ว่านั้น"


หมายเหตุ
เขียน : เสาร์ที่ 11 สิงหาคม 2561
ภาพ/กราฟฟิก : เบียร์

หมายเลขบันทึก: 649474เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2018 11:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 สิงหาคม 2018 16:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท