ร่วมมือ ร่วมใจ มีไมตรี หลักการแก้ปัญหาจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ ชุมชนตรอกวัดสะพานสูง


การจัดการจุดเสี่ยงเพื่อป้องกันอุบัติเหตุในชุมชน

          กรุงเทพมหานครมีชุมชนอยู่ในความรับผิดชอบมากถึง 2,067 ชุมชน กระจายอยู่ในทั้ง 50 เขต มากบ้างน้อยมากตามสัดส่วนของพื้นที่ แต่ละชุมชนจะมีปัญหาหลักๆ แตกต่างกันออกไป เช่น สิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ หรือระบบสาธารณูปโภค และมีชุมชนอีกไม่น้อยที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จำกัด ทำให้มีความแอดอัด ทั้งการอาศัยและการสัญจร

            เช่นที่ชุมชนตรอกตรงข้ามวัดสะพานสูง เขตบางซื่อ ชาวชุมชนที่นี่ตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่เลียบคลองประปา ด้วยมีพื้นที่จำกัดจึงทำให้มีการรุกล้ำลำคลอง ขณะเดียวกันถนนหนทางภายในก็คับแคบ สวนทางกับปริมาณรถที่สัญจร ซึ่งถนนที่คับแคบนี้เองกลายเป็น “จุดเสี่ยง” ของคนในชุมชน

            เมื่อชุมชนเห็นพ้องต้องกันว่าจุดเสี่ยงที่มีมากถึง 4 จุดด้วยกัน ทั้งยังมีการร้องเรียนจากผู้ใช้รถใช้ถนนอยู่เป็นประจำ กลายเป็นข้อพิพาทของคนในชุมชน จึงอยากแก้ปัญหา โดยได้ขอรับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อทำโครงการ “การจัดการจุดเสี่ยงเพื่อป้องกันอุบัติเหตุในชุมชนตรอกตรงข้ามวัดสะพานสูง” นำมาซึ่งการแก้ปัญหาจุดเสี่ยงอย่างได้ผลและถาวร

            สุทธิดา โกษจนาท ผู้รับชอบโครงการ เล่าถึงสภาพปัญหาจุดเสี่ยงทางถนนที่เป็นอันตรายในชุมชน ว่า ภายในชุมชนจะมีถนนสายหลักอยู่ 3 สาย คือถนนเลียงคลอบเข้าหมู่บ้าน ถนนหลักในหมู่บ้าน และถนนที่เป็นซอยเล็กขนาดแค่คนเดินและรถมอเตอร์ไซค์วิ่งได้เท่านั้น ยังไม่รวมถึงถนนสายใหญ่นอกหมู่บ้านที่เชื่อมต่อมายังทางเข้าหมู่บ้านอีก

            ชุมชนอาศัยอยู่ค่อนข้างแออัด อาศัยอยู่ 97 ครัวเรือน เพราะมีพื้นที่จำกัด อย่างถนนสายหลักที่ใช้สัญจรกว้างแค่พอรถสวนกันได้เท่านั้น ไม่มีพื้นที่หรือไหล่ถนน เพราะถนนอยู่ติดบ้านคน หากมีรถจอดแช่ไว้ก็จะเหลือช่องสัญจรแค่ช่องเดียวก็จะทำให้รถติดยาว และเมื่อสำรวจแล้ว ก็พบว่า ภายในชุมชนมีจุดเสี่ยง 4 จุด ได้แก่ บริเวณช่วงหัวโค้งหน้าร้านสะดวกซื้อ, บริเวณสถานีสูบน้ำและหน้าโรงเรียน, สะพานข้ามคลอง และถนนทางเดินภายในชุมชนที่อนุญาตให้รถมอเตอร์ไซค์วิ่งได้ ซึ่งทั้งหมดถือเป็นปัญหาอย่างมาก โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน ตอนเช้าและเย็น 

            “คนใช้รถก็เดือดร้อน คนเดินก็เดือดร้อน เวลามีปัญหาก็หงุดหงิดฉุนเฉียวใส่กัน หนักจนถึงขึ้นมีการร้องเรียนไปที่สำนักงานเขตบางซื่อ ให้เข้ามาจัดการ โดยเฉพาะร้านค้าที่ขายของซึ่งถูกร้องเรียนมากที่สุด กลายเป็นข้อพิพาทของคนในชุมชนด้วยกันเอง” สุทธิดา กล่าว

            กระทั่งชุมชนได้รู้จักกับ สสส. และขอรับสนับสนุนเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่คนในชุมชนได้หันหน้ามาคุยกัน และช่วยกันมองและพร้อมใจกันแก้ปัญหาร่วมกันอย่างเป็นระบบ  

            สุทธิดา แกนนำคนสำคัญคนเดิม กล่าวถึงการแก้ปัญหาหลังเข้าร่วมโครงการกับ สสส. ว่า เมื่อเราค้นพบจุดเสี่ยงทั้ง 4 จุดแล้ว ก็ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 10 คนเพื่อช่วยกันขับเคลื่อนงาน พร้อมทั้งออกประชาสัมพันธ์โครงการ และเรียกประชุมชาวชุมชนให้รับทราบปัญหา เพื่อช่วยกันระดมความเห็นในการแก้ปัญหาร่วมกัน โดยเราได้แก้ปัญหา คือ จุดแรกบริเวณหน้าร้านสะดวกซื้อ ได้ขอความร่วมมือกับวินมอเตอร์ไซค์ให้คอยช่วยดูช่วยโบกรถที่จะเข้าจะออกให้มี ขณะเดียวกันร้านค้า หน้าบ้านริมถนนก็ให้ขยับแผงร้านค้าหรือสิ่งของต่างๆ ไม่ให้กินพื้นที่ถนน ทำให้การสัญจรคล่องตัวขึ้น

            จุดที่สอง ร้านค้าหน้าโรงเรียน ที่มีมากกว่า 20 ร้าน จะไม่ให้เขาขายของก็ไม่ได้ ตรงนี้เราก็เห็นใจคนซื้อ-คนขาย และคนใช้รถ จึงได้ขอความร่วมมือกับแม่ค้าในการช่วยจัดระเบียบไม่ให้ตั้งร้านค้าแบบถาวร ทุกร้านจะต้องทำเป็นรถเข็นเคลื่อนย้ายได้ และช่วยขยับร้านให้ชิดเปิดพื้นที่ถนนให้กว้างมากขึ้น ไม่อนุญาตให้กางร่มกินพื้นที่ ขณะเดียวกันยังได้กำหนดช่วงเวลาที่ขายได้ คือช่วงเช้า 04.00-11.00 น. และช่วงบ่าย 14.00-22.00 น. เมื่อขายเสร็จแล้วก็เก็บกวาดอย่างสะอาด พร้อมทั้งเก็บข้าวของออกจากพื้นที่ให้หมด

            จุดที่สามสะพานข้ามคลอง เบื้องต้นได้ขอความอนุเคราะห์จาก สน.บางซื่อ ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมาช่วยโบกรถให้ในชั่วโมงเร่งด่วน และได้ทำเรื่องไปยังสำนักงานเขตบางซื่อเพื่อขอติดตั้งสัญญาณไฟจราจร เพื่อบรรเทาความเดือนร้อน ซึ่งกำลังดำเนินเรื่องอยู่ในขณะนี้ และจุดที่สี่ถนนตรอกในชุมชน มีการติดป้ายประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้รถและคนเดินระมัดระวังมากขึ้น และขอความร่วมมือไม่ขับรถเร็ว

            “เมื่อทุกคนร่วมมือกัน ช่วยกันดู ช่วยกันโบก ช่วยกันปฏิบัติตามกฎ และที่สำคัญ มีไมตรีเอื้ออารีย์ต่อกัน ปัญหาก็จะหมดไป ขอเพียงทุกคนร่วมใจกันก็พอ” ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าว

            อุษา ร่วมเจริญ ตัวแทนแม่ค้า กล่าวว่า บริเวณที่มีการร้องเรียนมากที่สุด คือ หน้าโรงเรียนที่มีร้านค้าตั้งขายของอยู่ ซึ่งช่วงเช้ามีไม่ต่ำกว่า 20 ร้าน และช่วงเย็นกว่า 30 ร้าน เวลาคนมาซื้อของบางครั้งขี่มอเตอร์ไซค์มาจอดซื้อของทำให้รถคันที่ตามมาต้องจอดรอ รถก็ติดยาว ไหนจะต้องระวังคนยืนซื้อของ คนข้ามถนนอีก เราจึงมาช่วยกันแก้ปัญหา ในส่วนของร้านค้าก็จัดระเบียบพื้นที่กันเอง ส่วนของผู้ซื้อ เราก็บังคับว่า ถ้าจะมาซื้อของก็ให้จอดรถไว้ข้างนอก ไม่ให้มาจอดซื้อได้เหมือนแต่ก่อน ซึ่งทุกคนก็ทำตามเป็นอย่างดี ก็เห็นว่าปัญหาเบาบางลงไป

            ด้าน พ.ท.สิทธิชัย แสงพันธุ์ หน่วยจัดการร่วม สสส.ระดับพื้นที่ (NODE) กล่าวถึงการดำเนินงานของชุมชนแห่งนี้ ว่า สสส. ได้อนุมัติโครงการให้กับชุมชนตรอกวัดสะพานสูงในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาจัดเสี่ยงภายในชุมชน แม้จะเป็นงบประมาณที่ไม่มากนัก แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของชุมชนได้หันหน้ามาคุยกัน ได้ช่วยกันสำรวจปัญหาและหาทางออกร่วมกัน นี่คือผลลัพธ์ ไม่ว่าเขาจะรวมตัวได้มากหรือน้อย ไม่ว่ากัน ขอแค่ให้เขาได้ร่วมกลุ่มได้ระดมความเห็นร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาร่วมกันก็ถือว่าประสบผลสำเร็จแล้ว

            ปัญหาจาการสัญจรของชาวชุมชนตรอกวัดสะพานสูง ได้รับการแก้ปัญหาสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือร่วมใจกันของชุมชน แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เหนือสิ่งอื่นใด นี่คือจุดเริ่มต้นของการหันหน้ามาคุยกันของคนในชุมชน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการความร่วมมือในด้านอื่นๆ อีกในอนาคต

 

หมายเลขบันทึก: 649352เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2018 01:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 สิงหาคม 2018 01:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท