ชุมชน “วิหารขาว” พลิกมุมมองเรื่องเพศ ชวนครอบครัวเปิดใจยุติปัญหาท้องก่อนวัย


เพศศึกษา ไม่ใช่เรื่องน่าอายที่อีกต่อไป

            “เพศศึกษา” กับ “เพศสัมพันธ์” สังคมไทยมักเหมารวมและเข้าใจมาตลอดว่า คือเรื่องเดียวกัน จึงทำให้ “เพศศึกษา” กลายเป็นสิ่งต้องห้ามและน่ารังเกียจ ที่จะหยิบยกมาพูดเหมือนเรื่องทั่วไปได้ โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชน ดังนั้นเพศศึกษากับเด็กและเยาวชน จึงถูกกีดกันออกจากกัน เราจึงเห็นเด็กไทยยังขาดทักษะจัดการเรื่องเพศ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการมีเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร

            เหตุนี้การสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องของเพศศึกษากันเสียใหม่ จึงเป็นสิ่งจำเป็นและต้องทำอย่างเร่งด่วน โดยที่พ่อ แม่ ผู้ปกครอง และสังคม ต้องเปิดใจยอมรับเป็น “เรื่องปกติ” สามารถพูดคุย ปรึกษากันได้

            อย่างที่บ้านวิหารขาว ต.วิหารขาว อ.ท่าช้าง จ.สิงห์บุรี พื้นที่นี้ได้ชื่อว่ามีอัตราการท้องก่อนวัยอันควรมากที่สุดในพื้นที่อำเภอเมืองสิงห์บุรี และยังเป็นการท้องซ้ำ คือท้องแล้วท้องอีกมากที่สุดด้วยเช่นกัน โดยคุณแม่วัยใสมีอายุตั้งแต่ 15-19 ปี

            “ครั้งหนึ่งเราเคยได้ยิน ยายบอกกับหลานสาวที่เริ่มมีประจำเดือนว่าห้ามเล่นกับเพื่อนผู้ชายอีก โดยไม่ได้บอกเหตุผล ทั้งๆ ที่ เป็นกลุ่มเด็กที่เคยเล่นด้วยกันมาตั้งแต่ยังเล็กๆ เด็กก็เกิดความสงสัยว่าทำไมถึงเล่นไม่ได้” สมหมาย บุญคำพง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) วิหารขาว เอ่ยถึงแรงบันดาลใจในการทำโครงการเพื่อเด็กและเยาวชนครั้งนี้

            ดังนั้นทางชุมชนวิหารขาว นำโดยผอ.สมหมาย จึงเห็นว่าความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศศึกษาในครอบครัวยังมีน้อยมาก การป้องกันการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งจะนำมาซึ่งการท้องก่อนวัยอันควร ไม่ใช่แค่การห้ามผู้ชาย ผู้หญิงอยู่ด้วยกัน ซึ่งปัจจุบันห้ามไม่ได้แล้ว ผู้ใหญ่ต้องยอมรับความจริงให้ได้ และควรพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้เด็กมีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถดูแลตัวเองในช่วงวัยรุ่นได้อย่างเหมาะสม

            ชุมชนวิหารขาวจึงจัดโครงการ  “ร้อยชุมชนสุขภาวะทางเพศ” ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ ปรับทัศนคติเรื่องเพศศึกษากับเด็กและผู้ปกครอง ตลอดจนลดช่องว่างการพูดคุยระหว่างพ่อ แม่ ลูก ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์และการตั้งท้องก่อนวัยอันควรในอนาคตได้

            ดร.เฉลิมศรี ราชนาจันทร์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลท่าช้าง จ.สิงห์บุรี กล่าวว่า เพศศึกษา คือ สิ่งจำเป็นของชีวิตตามช่วงวัย เด็กต้องรู้ทันความเปลี่ยนแปลงของตัวเอง ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ และรู้จักการควบคุมอารมณ์ การดูแลตนเองตามความเหมาะสมตามสุขลักษณะ ตลอดจนมีการจัดการทางเพศที่ถูกต้อง

            “เรา “สร้างทีม สร้างคน” นั่นคือ เอาคนในชุมชนมาร่วมเป็นทีมทำงาน เพราะคนในชุมชนกันเองจะมีสัมพันธภาพที่ดี ความร่วมมือมีมาก มาสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศศึกษา จากนั้นจะลงไปในครอบครัวตัวอย่าง 13 ครอบครัว เพื่อไปพูดคุยทำความเข้าใจ สร้างความรู้ความเข้าใจระหว่างพ่อ แม่ ลูก และสิ่งสำคัญ คือ ทุกคนต้องเปิดอก เปิดใจคุยกัน โดยส่วนนี้ทีมงานจะแยกพ่อแม่ กับลูก ออกจากกัน แล้วให้ทีมงานบันทึกสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายอยากจะสื่อสาร เราทำแบบนี้ 3-4 ครั้งร่วมกับการจัดอบรม จนได้ข้อมูลที่มากพอ จึงค่อยเอามาคลี่ปัญหาและสิ่งที่ต้องการของทั้งสองฝั่ง ให้ทั้งสองฝ่ายได้ปรับความเข้าใจ และพูดคุยกันได้” ดร.เฉลิมศรี เล่าถึงกระบวนการทำงาน

            วิธีการทำงานของคณะทำงาน “ร้อยชุมชนสุขภาวะทางเพศ” วิหารขาว จึงเป็นการกระตุ้นให้มีการพูดคุยระหว่างพ่อแม่ลูก ปรับเปลี่ยนแนวคิดให้ทุกคนในครอบครัวกล้าพูดกล้าคุยเรื่องเพศมากขึ้น เพื่อยุติการตัดสินใจด้วยตัวเองโดยไม่มีวุฒิภาวะ เฝ้าระวังไม่ให้เด็กหาความรู้จากเด็กด้วยกัน แล้วแนะนำกันไปในทางผิดๆ

            เมื่อถามว่าเป็นการชี้โพรงให้กระรอกไหม  ดร.เฉลิมศรี  ตอบว่า ใช่ แต่ผู้ใหญ่ต้องเลือกโพรงที่ปลอดภัยต่อชีวิตของเด็ก เมื่อห้ามไม่ได้ ยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ แต่ถ้ามีพ่อแม่คอยอยู่ใกล้ชิด เป็นเพื่อนให้คำปรึกษา เด็กก็จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ถลำลึกไปมากกว่านี้

            ขณะที่ เน่งน้อย ยะสะโร คณะทำงานในชุมชน กล่าวว่า การแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนจะประสบความสำเร็จได้ ชุมชนต้องเข้มแข็ง ช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา โดยเฉพาะในเด็กวัย 13-19 ปี  โดยการให้ความรู้ มีวิชาชีวิตติดตัวด้วยกระบวนการเข้าถึงบ้าน จัดกิจกรรมเข้าค่ายพูดคุย ปรับความเข้าใจกันระหว่างผู้ปกครอง เด็กและคนในชุมชน สิ่งสำคัญ คือต้องเปลี่ยนทัศนคติ ว่าการคุยเรื่องเพศ เป็นเรื่องธรรมชาติตามวัย ไม่ควรดุด่า

            การที่จะป้องกันปัญหาการมีเพศสัมพันธ์และการท้องก่อนวัยอันควรให้ได้ผลนั้น นอกจากความใกล้ชิดของครอบครัวแล้ว คือทำอย่างไรให้เด็กรู้ถึงสิ่งไหนควรหรือไม่ควร และมีความรับผิดชอบต่อตนเองและเพศตรงข้าม

            ขณะที่ น.ส.สุนิสา แสงพลาย หรือน้องสุ เยาวชนจากโรงเรียนสิงห์บุรี บอกว่า ความรู้เรื่องเพศศึกษาที่โรงเรียนมีน้อยมาก ไม่มีสอนในเชิงลึก สอนแค่ว่าป้องกันอย่างไร แต่จริงๆ แล้ว เรื่องเพศมีมากกว่านั้น เด็กส่วนใหญ่ติดเพื่อน ก็จะปรึกษาเพื่อน เข้าใจอะไรกันผิดๆ อย่างการมีแฟน สามารถมีได้ แต่ต้องรักษาระยะห่างให้ดี

            ส่วน นายอภิลักษ์ คงศิริ หรือน้อมพีม เยาวชนจากโรงเรียนสิงหพาหุ “ประสานมิตรอุมถัมภ์” กล่าวว่า ผู้ชาย ผู้หญิง ไม่ควรอยู่ด้วยกันสองต่อสอง ให้อยู่กันเป็นกลุ่มใหญ่ ช่วยป้องกันได้หลายๆ อย่าง มาเข้าค่ายกิจกรรมที่ทำให้รู้อะไรมากขึ้น เขาสอนเราทุกอย่าง สอนแม้กระทั่งการใส่ถุงยางอนามัยป้องกัน อย่างไรก็ตามผู้ชายก็ควรมีความเป็นสุภาพบุรุษ รู้จกควบคุมอารมณ์ตัวเอง ปัญหาก็จะไม่เกิด

          เพศศึกษา ไม่ใช่เรื่องน่าอายที่อีกต่อไป ในยุคสังคมเปิดกว้างเช่นปัจจุบัน เพศศึกษา จึงเป็นแค่เรื่องๆ หนึ่ง ที่สามารถพูดคุยกันได้ปกติ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นที่จำเป็นต้องรู้ เพราะ“รู้แล้วทำถูกต้อง” ย่อมดีกว่า “ไม่รู้แล้วทำอะไรผิดๆ” เป็นแน่แท

หมายเลขบันทึก: 649347เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2018 23:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 สิงหาคม 2018 23:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท