ความยุ่งยากเกี่ยวกับการให้สัญชาติ


จากการแปลคนไร้สัญชาติของทีมหมูป่าทั้ง 2 คน ทำให้ผมพบว่า แม่สายคือบ้านของคนไร้สัญชาติใกล้เคียงถึงมากที่สุดในประเทศไทย เพราะอยู่ตรงสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งเป็นชายแดนติดกันระหว่างประเทศไทย พม่า ลาว และหรือจีน สามเหลี่ยมทองคำนี้มีชนชาติกลุ่มน้อยจำนวนมาก บางครั้งคนพวกนี้มีการขนถ่ายยาเสพติด มีการค้ามนุษย์ มีกลุ่มกองโจรที่ต้องการแยกเป็นอิสระจากพม่า มีชาวบ้านปกติที่ไม่ทำของผิดกฎหมาย (แต่สำหรับของผิดกฎหมายจำต้องดูเป็นรายบุคคล ว่าสาเหตุที่ทำให้เขาต้องทำผิดกฎหมาย)

การที่ไม่ได้รับสัญชาติ ทั้งๆที่ปู่ย่าตายาย หรือพ่อแม่อยู่มานานมาก คนที่ไร้สัญชาตินั้นจะเดินทางไปไหนก็ต้องขออนุญาต การแต่งงานก็ทำได้แต่รัฐไทยก็ไม่รับรู้ว่าเป็นการแต่งงาน การศึกษาและการสาธารณะสุข สำหรับคนพวกนี้ก็ไม่ได้รับเพราะไม่มีความพลเมืองติดอยู่ ขนาดโค้ชเอกยังเป็นหัวหน้าโค้ชไม่ได้ เพราะไม่มีสัญชาติไทย

มีสถิติจากแหล่งข่าวต่างๆถึงจำนวนคนไร้สัญชาติ แต่ก็มีความเหลื่อมล้ำกัน หรือไม่ตรงกัน เช่น สำนักงานข้าหลวงผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ เมื่อ พ.ศ. 2559 ระบุว่าในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้มอบสัญชาติให้คนไร้สัญชาติจำนวนมากถึง 23,000 คน จากจำนวนคนไร้รัฐไร้สัญชาติราว 438,821 คน และอีกแหล่งก็คือสำนักทะเบียนกลาง กระทรวงมหาดไทย ตามหลักฐานการขึ้นทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธ.ค. ปี 2560 ในจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักรไทยที่มีมากว่า 66.1 ล้านคน มีบุคคลที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยถึง 875,814 คน

สมัยก่อนรัชกาลที่ 5 คนต่างถิ่นสามารถเข้ามาเป็นคนไทยได้ ด้วยอาศัยแนวคิดพึ่งพระบรมโพธิสมภาร แต่เมื่อรัชกาลที่ 5 มีการหยิบยกแนวคิดตะวันตกเรื่องเขตแดนเข้ามา ทำให้คนต่างถิ่น จำเป็นต้องปรับตัวให้คล้ายกับหรือเป็นคนไทยภาคกลางกรุงเทพฯจนหมดสิ้น กล่าวคือในสมัยก่อนรัชกาลที่ 4 เราไม่กังวลเกี่ยวกับเรื่องดิน แต่กังวลเกี่ยวกับเรื่องคน การทำให้เป็นคนในรัฐง่ายที่สุดก็คือการมาพึ่งบรมโพธิสมภารนั่นเอง

แต่เมื่อมาถึงรัชกาลที่ 5 ทรงกำลังทำให้พระองค์เป็นกษัตริย์ที่มีความเด็ดขาด และต้องการคุมทุกหัวเมือง โดยนัยยะนี้ทรงต้องการจะสถาปนาให้พระองค์ทรงเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชขึ้น มีการกระจายอำนาจจากส่วนกลาง เมื่อที่ดินจำเป็นกว่าคน จึงจัดให้มีแผนที่ในการระบุเขตตามหัสเมืองต่างๆมากขึ้น ในแง่นี้คนหากจำเป็นต่อการรักษาเอกราชหรือการทำอย่างอื่นๆก็จะได้สัญชาติด้วย เช่น ในสมัย ร.5 อนุญาตให้ชาวมูเซอร์และชาวม้งสามารถเข้ามาปลูกฝิ่นให้กับรัฐบาลสยามได้ ซึ่งคนพวกนี้จะได้รับการอำนวยความสะดวกจากทางการ และได้รับสัญชาติในเวลาต่อมา หรืออย่างกรณีของชาวจีนก๊กมินตั๋งได้อพยพเข้ามาผ่านเขตอำเภอแม่สาย เมื่อ พ.ศ. 2493 และได้ตกลงกับรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามว่า จะทำหน้าที่เป็นแนวกันชนให้กับประเทศไทย ส่งผลทำให้คนกลุ่มนี้ได้สัญชาติไทยไป

แต่การแยกคนอื่นๆ (เรียกว่าชนกลุ่มน้อย) เริ่มมีการตรวจอย่างเข้มข้นในปี 2493 นี้เองที่รัฐบาลไทยเริ่มวิตกกังวลจากปัญหาภัยคอมมิวนิสต์ และมีจำนวนผู้อพยพลี้ภัยเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมหาศาล ด้วยเหตุนี้จึงเริ่มตั้งหน่วยงานต่างๆ ตามแนวชายแดน เช่น ตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งได้รับการสนับสนุนการก่อตั้งจากสหรัฐอเมริกา  นอกจากนี้แล้ว สมัยนั้นยังเป็นช่วงที่มีชนกลุ่มน้อยอพยพลี้ภัยสงครามจากปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง เช่น สงครามระหว่างพม่ากับกะเหรี่ยงที่ไม่ต้องการอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารพม่า

พอมาถึงสมัยจอมพลถนอม ได้ออกประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515 เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การได้สัญชาติไทยตามหลักดินแดน โดยการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมว่า บุคคลที่จะได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักดินแดนได้นั้น บิดามารดาต้องไม่ใช่คนต่างด้าวที่เข้าเมืองชั่วคราว หรือเข้าเมืองผิดกฎหมาย ทำให้คนที่เกิดในประเทศไทยโดยมีบิดามารดาเป็นคนต่างด้าวไม่ได้สัญชาติไทยเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ประกาศฉบับนี้ยังมีผลย้อนหลัง ทำให้คนที่เคยได้รับสัญชาติไปแล้วถูกถอนสัญชาติไทยอีกด้วย

กฎหมายข้างต้นแตกต่างจากหลักการสากลในการให้สัญชาติ ซึ่งปกติการได้สัญชาติโดยการเกิดจะมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ การได้สัญชาติตามหลักการสืบสายโลหิตจากบิดามารดา กล่าวคือ บิดามารดามีสัญชาติอะไร บุตรก็ย่อมได้สัญชาตินั้น  และการได้สัญชาติโดยหลักดินแดนที่เป็นถิ่นกำเนิด กล่าวคือ ผู้ใดเกิดในดินแดนของประเทศใดย่อมจะได้สัญชาติของประเทศนั้น ซึ่งประเทศไทยก่อนหน้า พ.ศ. 2515 ได้ใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวมาตลอด แต่มาเปลี่ยนเพราะประกาศคณะปฏิวัติฉบับนั้น

แต่เดี๋ยวนี้การให้สัญชาติกับคนไร้รัฐมีการปรับปรุงวิธีการใหม่กล่าวคือ เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และจะให้ได้เฉพาะบุคคลที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ตามมาตรา 7 ทวิ วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ซึ่งมีใจความหลักว่า การจะให้สัญชาติกับใครนั้นต้องคำนึงถึงความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรและสิทธิมนุษยชนประกอบกัน แต่ประเด็นที่เป็นปัญหาก็คือความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรคืออะไร กว้างแค่ไหน และแคบแค่ไหน

แต่สิ่งที่น่าห่วงเป็นอย่างยิ่งก็คือ คนไร้สัญชาติที่ทำความดีให้รัฐไทย เช่น หม่อง ทองดี จนป่านนี้ยังไม่ได้สัญชาติไทย แม้ว่านายกฯอภิสิทธิ์ จะการันตีแล้วก็ตาม หรืออย่างคนไร้สัญชาติในทีมหมูป่า เมื่อเรื่องเงียบลงแล้วจะได้สัญชาติหรือไม่ คงต้องดูกันต่อไป

หมายเลขบันทึก: 649293เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2018 18:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 สิงหาคม 2018 18:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

กรณีน้อง ๆ ทีมหมูป่า ถ้าจะได้สัญชาติไทยด้วยการให้ความเห็นชอบจากการพิจารณาของ รมต.กระทรวงมหาดไทย ตามที่กฎหมายกำหนดนั้น จากข้อเท็จจริงและหลักฐานจะกระทำได้มากน้อยเพียงใด และจะทำได้หรือไม่ หรืออยู่ที่ดุลพินิจของ รมต. คงต้องรอดูกันต่อไป ว่ามั้ย อ.ต้น

ใช่ครับ อย่างกรณีหม่อง ทองดี นั่นทำชื่อเสียงให้ประเทศ ผ่านมา 9 ปี เพิ่งไปขอสัญชาติ เอาผลงานที่ทำความดีไปนำเสนอครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท