การสื่อสารผ่าน SBAR


“อันโตะ คูมูลุสสึ คลาวดึ” มันคือชื่อเมฆในภาษาญี่ปุ่นที่ผมกำลังแหงนมองอยู่ในขณะนี้ด้วยความรู้สึกเป็นสุข

โธ่เอ๋ย คนมีความสุขมองดูท้องฟ้า พร่ำพรรณาออกมาเช่นนี้ ก็อย่าว่ากันเลยนะครับ

ทำไมน่ะเหรอ

ผมกำลังจะเล่าให้ฟังอยู่นี่ไง

...................

ตั้งแต่สมัยที่อาจารย์สุธรรมเป็นหัวหน้าภาควิชาอยู่นั้น เราเคยคุยกันว่า งานของพวกเรามันเป็นงานที่คนไข้มีความเสี่ยง เราก็มีความเสี่ยง งานหลายอย่างต้องการการคิดและตัดสินใจในช่วงระยะเวลาที่รวดเร็ว ซึ่งหนึ่งในกระบวนการเชื่อมโยงความคิดต่างๆนั้น ก็คือ “การสื่อสาร” มันต้องมีการสื่อสารที่กระชับ ได้ใจความ และมีความถูกต้อง

และ SBAR ก็น่าจะคือคำตอบ

โห วันนี้มาแบบวิชาการจ๋าๆเลยครับ แต่ทนอ่านไปอีกนิดครับ ผมจำเป็นต้องเล่าเรื่องวิชาการก่อนเรื่องจริง เพราะจะได้อินไปด้วยกัน

ลองหลับตานึก (แต่ลืมตาอ่าน) ไปพร้อมผมนะครับ

หากมีกรณีผู้ป่วยตกเลือดในช่องท้องอย่างรุนแรงจากการแตกของการตั้งครรภ์นอกมดลูก จนมีอาการช็อก และจะต้องรีบพาไปห้องผ่าตัดอย่างเร่งด่วน 

หมอเวรที่ห้องฉุกเฉินจำเป็นต้องรีบแจ้งอาจารย์เพื่อมาช่วยกันผ่าตัด เขาอาจจะมีเวลาเพียงนาทีเดียวในการแจ้งเรื่องราวต่างๆให้อาจารย์แพทย์รับทราบ ขณะเดียวกันก็วิ่งกันไปห้องผ่าตัดในตอนนั้น เขาจะสื่อสารกับอาจารย์อย่างไร

ผมแนะนำว่า การสื่อสารโดยใช้เครื่องมือ SBAR น่าจะเป็นคำตอบที่ดีทีเดียว

S คือ situation สถานการณ์สำคัญคืออะไร

B คือ background เหตุการณ์ต่างๆ มีที่มาอย่างไร

A คือ assessment เราประเมินสถานการณ์แล้ว มันเป็นเช่นไร หนักหนาขนาดไหน

R คือ recommendation แล้วเราได้จัดการอะไรไปบ้างแล้ว และจะทำอะไรต่อไป จะขอความช่วยเหลืออะไรบ้าง

นี่ไงครับ การสื่อสารที่เราคิดว่า มันดีสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งผมเองก็ไม่รู้หรอกว่า มันเหมือนๆกับ “เมย์เดย์ เมย์เดย์ เมย์เดย์” (เมย์เดย์ทรีทามส์) อย่างที่เค้าจะเริ่มการสื่อสารกันหรือไม่

ลองดูนะครับ ว่าหมอจากห้องฉุกเฉินจะแจ้งอาจารย์แพทย์เวรสูติฯอย่างไร

“อาจารย์ครับ ผมโทรมาจากห้องฉุกเฉิน มีเคส ruptured ectopic bleed และ shock ครับ” นั่นไง situation คือ ท้องนอกมดลูก มันแตก เลือดออก และช็อกครับ สั้นๆ กระชับ และได้ใจความ ไอ้คำว่า “ช็อก” จะทำให้คนฟังปลายสายหยุดทุกกิจกรรม ยกเว้น หยุดหายใจ

“ว่ามา” นั่นแสดงว่า คนปลายสาย พร้อมจะฟังอย่างตั้งใจแล้ว

“ผู้หญิง ๒๑ ปี ครรภ์แรก อายุครรภ์ ๑๐ สัปดาห์ ยังไม่ได้ฝากครรภ์ มีอาการปวดท้องทันทีทันใดมา ๑ ชั่วโมงก่อน มีอาการวูบตั้งแต่อยู่ที่บ้าน มาถึงโรงพยาบาลวัดความดันได้ ๘๐/๔๐ ชีพจร ๑๑๐ จึงได้ให้ saline free flow (น้ำเกลือ) ไปก่อนแล้ว ตรวจหน้าท้องพบว่า ตึง generalized tender and guarding (มันเจ็บและมีการอักเสบจากเลือดออกในท้อง) ผมได้ตรวจอัลตราซาวนด์พบน้ำในท้องเยอะเลยครับ และพบว่ามีก้อนอยู่ที่ข้างมดลูกด้านซ้าย” เห็นไหมครับ นี่คือ background ที่ได้ทุกประเด็น คุณหมอเค้าได้ประวัติว่าคนไข้ท้อง มีอาการปวดท้อง (จากการแตก) และมีเลือดออกมากจนช็อก การตรวจร่างกายก็ได้ใจความแทบจะครบถ้วนเลย

“โอเค คุณหมอบอกว่า เขาเป็น ruptured ectopic and shock” ครับ อาจารย์ที่ปลายสายเค้าทวนมาเพื่อแสดงถึงความรับทราบ และในตอนนั้นก็คงเตรียมกุญแจรถ และอาจจะกำลังสตาร์ทรถอยู่ก็เป็นได้

“ครับอาจารย์ ตอนนี้สัญญาณชีพเอาอยู่ครับ” แค่สั้นๆ ได้ใจความ คือ assessment ที่คุณหมอที่ห้องฉุกเฉินสรุปง่ายๆ ว่าหลังจากการวินิจฉัย การให้สารน้ำไปแล้ว คนไข้เริ่มปลอดภัยในช่วงสั้นๆ 

“อาจารย์ครับ ผมเข็นคนไข้ไปห้องผ่าตัดเลยนะครับ อาจารย์รีบมาได้เลยครับ ผมเตรียมทุกอย่างไว้พร้อมหมดแล้ว” นี่คือ recommendation ที่อาจารย์ทราบได้ว่า เขาจะผ่าตัด และอาจารย์เหยียบคันเร่งได้เลย เขาอยากให้มาช่วย

“เออ ผมออกรถมาแล้ว” อาจารย์ตอบมา

อูย ว่าจะเล่าวิชาการสั้นๆ ขอโทษทีครับ

แล้วมันเกี่ยวอะไรกับ “อันโตะ คูมูลุสสึ คลาวดึ” ที่ทำให้ผมสุขใจได้ล่ะ

“พ่อ นี่จ้านะ” ผมฉงนกับเบอร์โทรศัพท์ที่แสดงขึ้นมา มันไม่ใช่ของลูกผมนี่นา

“นี่จ้านะพ่อ จ้าอยู่ที่ห้องฉุกเฉิน พ่ออย่าตกใจ จ้าสบายดี แต่จ้ากับครูพาเพื่อนมาส่งที่ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลของพ่อ เพื่อนจ้าหมดสติไป” ผมรู้สึกร้อนวูบขึ้นมาทั้งตัว แต่ยังดีที่ตั้งใจฟังลูกจบประโยค ลูกผมกำลังเล่าโดยใช้ situation เป็นตัวนำ 

“พ่อฟังนะ เวลา ๑๑ โมงจ้ากับเพื่อนสอบกระโดดเชือก ๓๐๐ ครั้ง จนจบ จากนั้นเพื่อนจ้าเริ่มมีอาการซึมลง เราไปกินข้าวกัน เค้าก็เริ่มไม่พูด หลังกินข้าวเดินมาห้องเรียนเค้าก็ดูซึมลงอีก เค้าจำชื่อตัวเองไม่ได้เลยพ่อ พูดจาก็ไม่รู้เรื่อง” ลูกสาวผมมีน้ำเสียงที่ดูตื่นเต้นแต่สามารถเล่ามาได้อย่างไม่ติดขัด นั่นคือ background ของอาการเจ็บป่วยของเพื่อนเธอ ผมรีบลุกขึ้นจากห้องประชุมแล้วเดินออกมาอย่างรวดเร็ว 

“พ่อ ยังฟังอยู่มั้ย”

“ครับลูก ฟังอยู่ ลูกพูดมาต่อ” และขณะที่เดินไปนั้น สมองผมก็เริ่มประมวลเหตุการณ์ตามไปด้วย

“จ้าพาเพื่อนไปห้องพยาบาล เล่าให้ครูฟัง แล้วครูก็พาขึ้นรถมาที่นี่เลยพ่อ” การ assessment ที่ลูกเล่ามาก็คือ มันแย่แล้ว และเขาขอความช่วยเหลือจากครู

“พ่อจ๋า พ่อว่างมั้ย” นั่นไง เทคนิคนี้เหมือนแม่เธอไม่ผิด การถามเช่นนี้คือ recommendation ที่สื่อมาว่า พ่อรีบมาได้ไหม

“พ่อกำลังรีบไปที่ห้องฉุกเฉินนะครับ ลูกใจเย็นๆ” ผมกึ่งวิ่งกึ่งเดิน ในหัวก็คิดไปพลางว่าจะขอความช่วยเหลือจากใครต่อไปได้อีกบ้าง และเพียงชั่วอึดใจ ผมก็ได้เจอน้องจ้ารออยู่กับครูอยู่ที่หน้าห้องฉุกเฉิน

ยัง ยังไม่จบครับ 

และเมื่อผมได้ขอความช่วยเหลือจากอาจารย์แผนกเด็กและเธอมาถึงที่นี่แล้ว เจ้าจ้ายังคงต้องเป็นผู้มาเล่าเหตุการณ์ทั้งหมดให้อาหมอฟังอย่างมีสติ

“จ้าเห็นเพื่อนมีมุมปากและหางตาด้านซ้ายกระตุกด้วยนะคะ” เธอเล่าและทำท่าให้ดู และเพียงประโยคเด็ดนี้คำเดียว เราก็ถึงบางอ้อ

การรักษาเริ่มต้นขึ้นได้ในทันที และถึงตอนนี้เพื่อนเธอก็รู้สึกตัวและปลอดภัยแล้ว

........................

และนี่ก็คือที่มา ว่าทำไมผมจึงรู้สึกเป็นสุขใจ

ธนพันธ์ ชูบุญเอสบาร์ฮ่าฮ่า

๑ สค ๖๑

หมายเลขบันทึก: 649284เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2018 23:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 สิงหาคม 2018 23:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท