พลังแห่งวัยเยาว์ : 12. เส้นผมบังภูเขา


               

บันทึกชุด พลังแห่งวัยเยาว์ นี้ ตีความจากหนังสือ The Importance of Being Little : What Young Children Really Need from Grownups ซึ่งเป็นหนังสือ New York Times Bestseller  เขียนโดย Erika Christakis

ตอนที่ ๑๐ เส้นผมบังภูเขา  ตีความจากบทที่ 11  Hiding in Plain Sight : Early Learning and the American Dream   ซึ่งเป็นบทสุดท้าย     

หัวข้อของบทสุดท้ายของหนังสือเน้นที่เป้าหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา    แต่ผมจะพยายามตีความเข้าสู่สภาพและยุทธศาสตร์สำหรับสังคมไทย  

 

สภาพชีวิตวัยเด็กของเด็กสมัยปัจจุบัน แตกต่างจากเด็กสมัย ๔๐ ปีก่อนมาก   คือสมัยก่อนเด็กมีอิสระสูง  มีที่เล่น และโอกาสเล่นอย่างอิสระกว่าในปัจจุบันมาก    กล่าวได้ว่า เด็กสมัยก่อนมี “พื้นที่ดำรงชีวิต” (living habitat) ที่เอื้อต่อการเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติ      

สภาพในห้องเรียนสมัยก่อนกับสมัยนี้ก็แตกต่างกันมาก    ผู้เขียน (Erika Christakis) เล่าประสบการณ์ในห้องเรียนชั้นประถมที่อังกฤษสมัยสี่สิบปีก่อน    ครูสอนวิชาประวัติศาสตร์อังกฤษโดยบอกให้จด    เว้นจังหวะรอให้เด็กจดทันเป็นช่วงๆ    เป็นวิธีการที่ Mark Twain นักเขียนนวนิยาย และนักเสียดสีสังคม วิพากษ์ว่า “เป็นวิธีถ่ายทอดความรู้จากสมุดโน้ตของครูสู่สมุดโน้ตของนักเรียน โดยไม่ต้องผ่านสมองทั้งของครูและของนักเรียน”  

ผมเองก็โตมาใน “พื้นที่เรียนรู้” ทำนองเดียวกัน    พื้นที่นอกโรงเรียน อยู่ที่บ้านและในละแวกบ้านที่เป็นชนบท    เราได้เล่นอิสระ โดยจินตนาการเรื่องราวเอาเอง    ผมจดจำเรื่องราวในห้องเรียนชั้น ม. ๒ ที่โรงเรียน ชุมพร “ศรียาภัย” (ชื่อในขณะนั้น) ที่ในชั่วโมงเรียนวิชาประวัติศาสตร์    ครูผู้สอนมอบหมายให้ ดช. โสภณ พัฒนอิ่ม เป็นผู้อ่านจากสมุดของครู ให้นักเรียนทั้งชั้นจดประวัติศาสตร์อาณาจักรน่านเจ้า     

เด็กสมัยก่อนอย่างผู้เขียน (และผม) เติบโตเป็นคนมีความริเริ่มสร้างสรรค์ได้ แม้การเรียนในห้องเรียนไม่เอื้อ  แต่ “พื้นที่เรียนรู้” (learning habitat) นอกห้องเรียน เอื้อ

การเรียนรู้ กับ การเข้าโรงเรียน ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน    การเรียนรู้เกิดขึ้นในทุกขณะของชีวิตเด็ก    และชีวิตเด็กสมัยก่อนอยู่ใน prepared mode   ในขณะที่เด็กสมัยนี้อยู่ใน protected mode  

ความท้าทายต่อการศึกษาของพลเมืองรุ่นใหม่ท้าทายกว่าที่คิด   อยู่ลึกกว่าที่คิด    อยู่ในลักษณะ “เส้นผมบังภูเขา”   คือผลประโยชน์ของผู้ใหญ่ บังผลประโยชน์ของเด็ก  

 

ความสร้างสรรค์และนวัตกรรมของอเมริกัน

สหรัฐอเมริกาได้ชื่อว่าเป็นประเทศแห่งความสร้างสรรค์และนวัตกรรม    เป็นประเทศที่ส่งเสริมและเปิดโอกาสแก่คนนอกคอก    ที่เป็นนักวิทยาศาสตร์  วิศวกร  ผู้ประกอบการ  และศิลปิน    แต่น่าเสียดายที่การศึกษาเด็กเล็กในปัจจุบันถูกออกแบบให้ลดทอนศักยภาพในการสร้างสรรค์และนวัตกรรม    โดยที่โลกอนาคตต้องการคนที่มีวิญญาณสร้างสรรค์

ผู้เขียนบอกว่า เครื่องมือส่งเสริมวิญญาณนี้แก่เด็กอเมริกันในอดีตและดำรงต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน คือ ค่ายฤดูร้อน   เป็นโอกาสให้เด็กได้อยู่ร่วมกัน และทำกิจกรรมร่วมกันอย่างอิสระ    ที่สิ่งประเสริฐยิ่งที่เด็กได้ฝึกคือ ทักษะสังคมและอารมณ์  

อุดมการณ์สำคัญที่จะส่งเสริมความสร้างสรรค์ของสังคมคือ การเปิดโอกาสให้เด็กมีพัฒนาการตามอัตราความเร็วของตนเอง    และได้มีโอกาสเรียนอย่างลึกซึ้ง (deep learning)  ซึ่งไม่จำเป็นต้องเรียนในห้องเรียน    เพราะหลักสูตรที่กำหนดให้เรียนในปัจจุบันคับแคบเกินไป   และมนุษย์ในปัจจุบันไม่ได้อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงที่รู้กันแล้ว    แต่อยู่ในโลกที่ไม่สามารถคาดเดาล่วงหน้าได้    เด็กเล็กควรได้เติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมที่ฝึกฝนให้เคยชินกับความไม่แน่นอนและความเปลี่ยนแปลง   

ชั้นเรียนที่มีบทเรียนและแบบฝึกหัดตายตัว    ไม่ใช่สภาพแวดล้อมที่เอื้อ   แต่ชั้นเรียนที่เปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นแบบทำกิจกรรมที่ซับซ้อน จะเอื้อ  

ชั้นเด็กเล็กต้องการครูที่มีความรู้และผ่านการฝึกฝนมาอย่างดี    และครูต้องทำงานในบรรยากาศที่ครูร่วมมือกัน เพื่อร่วมกันสร้างนวัตกรรมในการทำหน้าที่ครูเด็กเล็ก    ซึ่งหมายความว่า ครูร่วมกันเรียนรู้จากการทำงาน ซึ่งก็คือ PLC (Professional Learning Community) นั่นเอง  

การเรียนรู้ของเด็กเล็กที่ถูกต้อง คือเน้นเรียนจากประสบการณ์จริง    ไม่ใช่เรียนตามแบบแผนที่กำหนด    การเรียนจากสถานการณ์จริง ประสบการณ์จริง จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถนำประสบการณ์ไปปรับใช้ในสถานการณ์อื่นๆ ที่มีความซับซ้อน และไม่ชัดเจน ได้

 

ให้คุณค่าแก่วัยเด็ก

การเรียนรู้ที่แท้ของเด็กเล็กคือให้ได้ซึมซับดื่มด่ำกับความเป็นเด็ก    การเรียนรู้ของเด็กวัย ๔ ขวบ ควรมีเป้าหมายเพียง ๒ อย่าง คือ  (๑) ให้ได้ใช้ชีวิตและพัฒนาวัย ๔ ขวบหนึ่งปีอย่างเต็มอิ่ม   และ (๒) เตรียมตัวเป็นเด็กวัย ๕ ขวบ   

น่าเสียดายที่ชีวิตของเด็กเล็กถูกนักการเมือง นักเศรษฐศาสตร์ และนักการศึกษาแย่งชิงไปในนามของ “การลงทุน”   ทำให้เด็กเล็กกลายเป็นหน่วยการผลิต    แทนที่จะเน้นที่ความสุข และสุขภาพของเด็ก   

สิ่งที่ผิดคือ การศึกษาเด็กเล็กกลายเป็นหน่วยการลงทุนที่จะต้องประเมินด้วยความคุ้มค่า (cost-effectiveness)  ที่เน้นผลระยะสั้น  และการพัฒนาขึ้นทีละน้อย    แทนที่จะมองผลระยะยาว    และให้คุณค่าต่อผลที่วัดได้ เหนือผลที่ไม่เป็นรูปธรรม   

การจัดการศึกษาเด็กเล็กแบบให้คุณค่าแก่วัยเด็ก  จะวางพื้นฐานชีวิตให้เด็กโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีทักษะปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์  มีทักษะเชื่อมโยงอารมณ์กับผู้อื่น

 

เข้าใจความเป็นเด็ก

ความเป็นเด็กคือเป็นวัยแห่งการเรียนรู้ตามธรรมชาติ   แบบที่เป็นการเรียนรู้บูรณาการ หรือเรียนรู้องค์รวม    หากเราเข้าใจเช่นนี้ เราจะไม่แบ่งการเรียนรู้ของเด็กเป็นท่อนๆ    แต่ให้โอกาสเด็กเรียนภาพรวมโดยการจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อ   แล้วเด็กจะเรียนรู้เอง

ดังนั้นหากจะประเมินการศึกษาเด็กเล็ก ให้ประเมินสภาพแวดล้อม    เพราะ “สภาพแวดล้อมคือหลักสูตร”  ที่แท้จริง  

 

ปราสาททราย 

ผู้เขียนเล่าความทรงจำสมัยเป็นเด็กของตนเอง และของสามี    ที่ชอบเล่นสร้างปราสาททรายที่ชายทะเล    โดยจินตนาการเอง คิดวิธีการเอง    แต่สมัยนี้ร้านจำหน่ายของเล่นเด็กมีเครื่องมือสร้างปราสาททรายขาย    ทำให้เด็กสร้างปราสาททรายได้สะดวก   

เด็กสมัยนี้จึงด้อยโอกาส ที่จะสร้างสรรค์ด้วยตนเอง     ด้อยโอกาสสร้างสรรค์จากการเล่น    เพราะถูกประเคนด้วยของเล่นสำเร็จรูป    จากความหวังดีของผู้ใหญ่ ที่จะให้สร้างปราสาททรายได้สะดวก

ทั้งหมดนั้นเกิดจากความเข้าใจผิด เรื่องการเรียนรู้ของเด็ก   คือหลงเอาผลผลิต (product) จากการเล่นเป็นเป้าหมาย   แต่ในความเป็นจริง กระบวนการ (process) ของการเล่นต่างหาก ที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้แก่เด็ก   

เราหลงเน้นผลผลิต   ละเลยกระบวนการ   ของการเล่นของเด็ก   

สะท้อนว่า หัวใจสำคัญที่สุด ต่อพัฒนาการเด็กเล็ก คือการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อ    สภาพแวดล้อมที่มีวัตถุพรักพร้อมเกินไป ไม่เอื้อ   สภาพแวดล้อมที่เอื้อที่สุดคือสภาพที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์   

วิจารณ์ พานิช        

๒๙ เม.ย. ๖๑


 

หมายเลขบันทึก: 649281เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2018 22:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 สิงหาคม 2018 22:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

It seems that these days ‘sandbox’, ‘folk game’ and ‘clay’ are replaced by TV, tablet, smart phone and Internet.

Physiological development of children is further restricted.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท