ชีวิตที่พอเพียง 3230. ธรรมาธรรมะสงครามด้านนโยบายสุขภาพ



เช้าวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๑ ผมไปร่วมประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย (เมธีวิจัยอาวุโส) ของ ดร. นพ. ยศ ตีระวัฒนานนท์

งานวิจัยเป็นเรื่องการค้นคว้าหาความรู้หรือหลักฐานสำหรับกำหนดนโยบายด้านสุขภาพด้านสุขภาพถ้วนหน้า   วันนี้เสนอผลงาน ๕ เรื่อง    เรื่องหนึ่งเป็นของแคว้น Ontario ของแคนาดา    สี่เรื่องหลังเป็นของไทย    ฟังแล้วผมสรุปว่าเป็นเรื่อง political economy ของระบบสุขภาพ  

ความประทับใจแรกคือคำว่า real world data   ในหัวข้อเสนอผลงานวิจัยเรื่อง Using real-world data to confront real-world problem : Impact of smoking on health system cost among cancer patients in Canada  โดย ดร. วรรณฤดี อิสระนุวัติชัย มหาวิทยาลัยโตรอนโต้ ที่มา sabattical leave ที่ HITAP หนึ่งปี    โดยความรู้เกี่ยวกับบุหรี่คือ มีสารเคมีกว่า ๔,๘๐๐ ชนิด   เป็นสาเหตุการตายทั่วโลกปีละกว่า ๕ ล้านคน   ลดอายุขัยลง ๑๓ ปี    เพิ่มอัตราเสี่ยงโรคหัวใจ ๔ เท่าของคนไม่สูบ    เป้าหมายของการวิจัย (ที่แคว้นออนทาริโอ แคนาดา) คือ (๑) ดูผลของการสูบบุหรี่ ต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในคนที่เป็นมะเร็ง  (๒) เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยมะเร็ง ที่สูบกับไม่สูบบุหรี่      

งานวิจัยนี้ทำปีเดียว    จุดสำคัญคือการใช้ข้อมูลจริง  ไม่ใช้ใช้ข้อมูลจากวิธี econometric    ประเทศแคนาดาข้อมูลดีมาก  จึงทำวิจัยแบบนี้ได้   ผลการวิจัยบอกว่าคนเป็นมะเร็งที่สูบบุหรี่ค่าใช้จ่ายในการรักษามากกว่าคนไม่สูบบุหรี่ปีละ ๓,๐๐๐ เหรียญ     

ค่าใช้จ่ายครัวเรือนตามกลุ่มรายได้ พ.ศ. ๒๕๓๓ – ๒๕๕๘   โดยวิเคราะห์จากข้อมูลที่ได้จากการสำรวจสถิติด้านเศรษฐกิจและสังคม   จำแนกค่าใช้จ่ายออกเป็น ๑๗ หมวด    ได้แก่ (๑) ค่าที่อยู่อาศัย  (๒) ค่าปรับปรุงบ้าน  (๓) ค่าคนใช้  (๔) เสื้อผ้า  (๕) รองเท้า  (๖) เครื่องสำอาง  (๗) สุขภาพ  (๘) เดินทาง  (๙) สื่อสาร  (๑๐) การศึกษา  (๑๑) พักผ่อนหย่อนใจ  (๑๒)พิธีกรรม  (๑๓) เครื่องอุปโภค  (๑๔) อาหาร  (๑๕) เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์  (๖) เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์  (๑๗) บุหรี่ 

วิเคราะห์ข้อมูลโดยจัดกลุ่มครัวเรือนตามระดับรายได้  ออกเป็น ๓ กลุ่มคือ ร้อยละ ๑๐ บน    ร้อยละ ๔๐ กลาง   และ ร้อยละ ๕๐ ล่าง     

ข้อค้นพบคือ การใช้จ่ายส่วนใหญ่ จ่ายโดยคน ร้อยละ ๔๐ กลาง    โดยคนร้อยละ ๑๐ บนเป็นผู้จ่ายหลักด้าน รองเท้า  สุขภาพ  การเดินทาง  การสื่อสาร  และการศึกษา    ส่วนคนร้อยละ ๕๐ ล่างเป็นผู้จ่ายหลักด้าน อาหาร  ที่อยู่อาศัย  และบุหรี่  

ที่จริงมีการเปลี่ยนแปลงตามช่วงเวลาด้วย    และมีข้อถกเถียงเรื่องวิธีบ่งกลุ่มและวิธีวิเคราะห์ได้มากมาย    ประเด็นสำคัญคือ การใช้ผลการวิเคราะห์ข้อมูลนี้ในการกำหนดนโยบายของรัฐ ว่าจะหาทางสร้างความเท่าเทียมกันในสังคมได้อย่างไร  

ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนไทยในรอบ ๒๕ ปี กับผลของการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า   โดยสุรเดช ดวงทิพย์สิริกุล    สรุปข้อค้นพบสำคัญไว้ดีมาก คือ

  • จำนวนและมูลค่ารายจ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนไทยไม่ได้ลดลงภายหลังการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
  • สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนไทยลดลงเมื่อเทียบกับรายจ่ายด้านอื่นๆ
  • ครัวเรือนมีมูลค่ารายจ่ายในการซื้อยาและเวชภัณฑ์เพิ่มขึ้น
  • ตลาดสุขภาพเอกชนไม่ได้เล็กลงภายหลังมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า  กล่าวคือ ครัวเรือนยังจ่ายค่าบริการผู้ป่วยนอก และค่าบริการ รพ. เอกชน เพิ่มขึ้น
  • ตลาดเอกชนเป็นของคนรวย
  • ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประสบความสำเร็จในการสร้างหลักประกันทางสุขภาพของคนไทย   โดยเฉพาะสมาชิกครัวเรือนที่มีรายได้น้อย    สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้โดยไม่เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือน

ฟองสบู่ลูกใหม่ในตลาดสินค้าสุขภาพ  ค่าใช้จ่ายด้านวิตามิน ยาบำรุง และอาหารเสริมของครัวเรือนไทย  โดย นายศุภวรรธน์ เพิ่มผลสุข    ที่น่าตกใจไม่ใช่แค่ค่าใช้จ่าย   แต่เป็นด้านสินค้าปลอม ใช้แล้วเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต   

หลังมีระบบคุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้า ครัวเรือนจ่ายค่ายาและอาหารเสริมเพิ่มขึ้นมาก   ในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ค่ายา ๑๑,๐๓๓ ล้านบาท   ค่าอาการเสริม ๗,๗๑๑ ล้านบาท    สูงกว่ารายจ่ายค่าผู้ป่วยในใน รพ. เอกชน ซึ่งเป็นเงิน ๖,๑๘๕ ล้านบาท    ยิ่งคนมีฐานะดียิ่งจ่ายค่าวิตามิน ยาบำรุง และอาหารเสริมมาก    โดยที่มักคิดว่าเป็นยา    เป็นความท้าทายต่อสำนักงานคณะกรรมกาอาหารและยา และสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค ในการควบคุมการบริโภคให้สมเหตุสมผล        

ป้องกันความพิการเท่ากับป้องกันความยากจน ช่วยคนพิการเท่ากับช่วยเหลือคนจน  ข้อค้นพบจากการศึกษาสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน  โดย รักมณี บุตรชน     ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ มีคนพิการทั้งประเทศ ๑.๕ ล้านคน คิดเป็นร้อยละ ๒.๙ ของประชากร    ผู้พิการอายุ ๑๕ ปีขึ้นไป ๑.๔ ล้านคน  คิดเป็นร้อยละ ๓.๒ ของวัยแรงงาน   

ครัวเรือนที่มีคนพิการมีรายจ่ายด้านสุขภาพมากกว่าครัวเรือนที่ไม่มีคนพิการ    ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีผลลดช่องว่างของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนที่มีคนพิการกับครัวเรือนที่ไม่มีคนพิการ   

ข้อท้าทายคือมาตรการฟื้นฟูสมรรถนะคนพิการให้เป็นพลังบวกทางเศรษฐกิจและสังคมแก่บ้านเมือง

วิจารณ์ พานิช

๒๕ ก.ค. ๖๑


 

หมายเลขบันทึก: 649282เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2018 22:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 สิงหาคม 2018 22:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท