ความงดงาม และสุนทรียะคือศิลปะ คือ Soft Power ที่จะทำให้การขับเคลื่อนงานพัฒนาสังคมมีพลัง :


ในช่วงมหกรรมโชว์ แชร์ เชื่อม สสส. และตระกูล ส. อื่นๆ 19-21 ก.ค.2561 ที่ผ่านมานั้น

ประเด็นความเป็นชาติพันธุ์ได้รับความสนใจไม่น้อย 


ผมสังเกตและเงี่ยหูฟังผู้เข้าประชุม คุยกันตอนพักเบรก ถึงความสะดุดตาสะดุดใจในเครื่องแต่งกาย รวมทั้งศิลปะการแสดงของพีน้องกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ


หลายๆกลุ่ม มาแจ้งเกิดในเวทีนี้เลย อย่าง ชาติพันธุ์ปะโอ ที่น้อยคนจะรู้จัก 


"หน้าตาผิวพรรณเขาดีนะ" "ชอบเครื่องแต่งกาย อย่างผ้าโพกหัวเขานี่มัดได้สวยมากเลย"  แกนนำภาคประชาสังคมสองสามคน สนทนากับผมในช่วงพักดื่มกาแฟ พร้อมกับวานให้ไปถ่ายรูปให้ที

เหลียวมามองงานพัฒนาในพื้นที่ ที่มักจะเอาข้อมูลกับความทุกข์ยากของชาวบ้านนำ ไปที่ไหนก็คุยวนกันอยู่แต่เรื่องนี้ จนกลายเป็นพลังลบสะสมเกิดความเครียด ความอ่อนล้า


ผมก็เคยวนอยู่ในวิธีวิทยาแบบนั้น เราทำงานกันตัวเป็นเกลียวจนไม่มีเวลาใคร่ครวญ ครุ่นคิด ถึงการใช้ชีวิตและมุมมองต่อกระบวนการทำงานที่พ้นไปจากวงจรเดิมนั้น


การได้มาพบกับการนำเสนอศิลปะและความงามของกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายเวที การได้กลับมา Slow down มาใคร่ครวญครุ่นคิด จึงรู้ว่าตัวเองเดินกระบวนเป็นแบบสำเร็จรูปและยึดติดกับการนำเสนอปัญหาแบบนักวิชาการมากเกินไป

คนเราอยากกินอาหาร หาใช่เพราะมองว่าถ้าไม่กินแล้วจะมีปัญหา แต่ที่อยากกินเพราะอาหารมันดูสะอาด และหอมหวลน่ากิน 
เช่นกัน คนเราอยากจะปกป้องดูแลสิ่งต่างๆ ใช่เพราะว่าเห็นปัญหาเป็นหลัก แต่แท้จริงแล้ว เขาตราตรึงถึงความงามของสิ่งนั้นมาก่อน 
เด็กๆไม่เคยซาบซึ้งกับบรรยากาศในป่า เขาเห็นป่าแต่ในเว็บไซต์ พอครูพูดถึงปัญหาป่าไม้ก็ไร้พลัง รู้แต่ไม่เข้าใจ คือ ไม่เข้าถึงใจ

จะให้สังคมสนใจปัญหาอะไร ก็ต้องให้สังคมเห็นความงามของสิ่งนั้นๆก่อน ไม่ใช่จู่ๆให้เห็นปัญหา เห็นแต่ข้อมูล กฏเกณฑ์ นโยบาย บลาๆๆมานำเสนอ 
เฉกเช่น ในเวทีครั้งนี้ ชาวปะโอซึ่งแท้จริงมีปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเรื่องที่ทำกิน คุณภาพชีวิต สิทธิสตรี ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่พวกเขาเลือกที่จะนำเสนอความงามของผู้คน และสุนทรียะทางดนตรีให้โลกยินยลก่อน 

หลายครั้งที่การต่อรองอำนาจและใช้สิทธิของคนจน คนชายขอบ แบบ Hard Power ที่เปิดฉากด้วยปัญหา โครงสร้างและข้อมูล นำมาซึ่งการปะทะ ขัดแย้ง ลดทอนกำลัง และสั่งสมอารมณ์ลบๆต่อกันและกันไปเรื่อยๆ แต่ในอีกด้านการ ใช้สุนทรียะ ความงดงาม ผสมผสานศิลปวัฒนธรรมนำสู่การเสริมสร้างพลังแบบนุ่มนวล หรือ Soft Power ซึ่งเป็นพลังที่เอื้อสู่การบูรณาการได้ง่ายกว่า

ผมแอบสังเกตและสกัดเป็นแง่มุมถอดรหัสการเรียนรู้ จากพี่น้องปะโอ และงานสุขภาวะสตรีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆแม่ฮ่องสอน ที่ช่วยให้เราย้อนทบทวนถึงกระบวนการ Soft Power ในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

ขอบคุณภาพจากเครือข่ายพี่น้องภาคประชาสังคมหลายๆท่าน ขออภัยที่ไม่ได้ระบุชื่อนะครับ

หมายเลขบันทึก: 649109เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2018 23:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กรกฎาคม 2018 23:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท