สัมมนาผู้นำนิสิต : เสริมพลังคิด ผลิตกำลังใจ สร้างไฟให้ผู้นำ


การเข้าร่วมกิจกรรมครานี้ ทำให้ผมเติบโตทางความคิดหลายอย่าง ทั้งกระบวนการทำงาน การแลกเปลี่ยนทัศนคติความคิดให้รอบด้านมากขึ้น ตัวผมเองเชื่อว่า มนุษย์นั้นนิยมความเป็นเอกเทศ คืออิสระทั้งทางกาย ทางความคิด ดังนั้นหากผู้นำไม่ให้อิสระทางความคิด และปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์ แน่นอนว่า การทำงานย่อมยากลำบาก ไร้ความคิดสร้างสรรค์โดยแน่แท้

มหาวิทยาลัยไม่ได้สร้างคน                 
แต่คนสร้างมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยหล่อหลอมใครใคร
เพราะมหาวิทยาลัยสร้างจากคน

ผมคิดว่ากระบวนการสำคัญของการเรียนรู้  ที่คนในปัจจุบันพยายามสร้างกรอบมาอธิบายอะไรต่าง ๆ หลากล้นซึ่งทฤษฎีนั้น ผมชวนผู้อ่านทุกท่านหันมามองสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ควรตระหนักถึง นั่นคือ “กระบวนการเรียนรู้”

กระบวนการ (Pprocess) มีความหมายง่าย ๆ คือ วิธีกระทำ หรือลำดับของการกระทำที่ดำเนินต่อเนื่องจนสำเร็จ สำหรับกระบวนการเรียนรู้ ผมขอสรุปเอาไว้สั้น ๆ ก็คือ  ลำดับของการศึกษาเพื่อให้รู้ และเข้าใจ ซึ่งการเรียนรู้นั้น ถือเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต(Lifelong Learning) ของคน หากคน ๆ นั้นเขายอมรับที่จะเรียนรู้

จากค่ายสัมมนาผู้นำองค์กรนิสิต ปีการศึกษา 2561  ซึ่งจัดโดยกองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งรูปแบบกิจกรรมอาจแตกต่างจากการสัมมนาทั่วไป ที่ต้องมานั่งจดรายละเอียด และมีกิจกรรมบรรยายยืดยาน จนคนที่ไม่ชอบเนื้อหาวิชาการผล็อยหลับ  แต่การสัมมนาครั้งนี้แตกต่างออกไป คือเน้นไปที่ เสริมพลังคิด  ผลิตกำลังใจ สร้างไฟให้ผู้นำ

เสริมพลังคิด กระบวนการในสำคัญในกิจกรรมสัมมนา ฯ คือการพูดคุยแลกเปลี่ยนวิเคราะห์องค์กร ย้อนมองความคิด สิ่งสำคัญได้แก่การเรียนรู้แลกเปลี่ยน พูดคุย จากเพื่อน ๆ ผู้นำองค์กร หลายสโมสร ชมรมและกลุ่มนิสิตด้วยกัน  จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนทำให้เราได้มองเห็นบริบทแวดล้อมของแต่ละองค์กร พร้อมด้วยชุดความคิด ที่แต่ละคนเลือกหยิบฉวยออกมาใช้แก้ปัญหา  โดยการแลกเปลี่ยนครั้งนี้ มิใช่การมานั่งคุยกันเลย แต่พี่ ๆ กระบวนกร ใช้การจำลองสถานการณ์ (Simulation) ก่อนจำลองความคิด (Conceptual model) ทำให้เราเห็นมิติของการทำงานมากขึ้น โดยไม่ต้องไปย้อนมองอดีตของตนเองให้มากนัก เพียงแค่นำอดีตมาเป็นประสบการณ์นำมาถ่ายทอดเป็นเรื่องเล่า แล้วนำแนวคิดสำคัญจากกิจกรรมฐาน ซึ่งมีอยู่ 5 ฐาน ดังนี้

  • ฐานข้ามทะเล
  • ฐานตักตวง
  • ฐานรถไฟลูกโป่ง
  • ฐานใยแมงมุม
  • ฐานจุดศูนย์กลาง


ทั้ง 5 ฐานผมไม่ขออธิบายรายละเอียดเอาไว้นะครับ  แต่ผมคิดว่า ผังจำลองความคิด (Conceptual model) จากกิจกรรม เมื่อได้นั่งพูดคุยต่างหากสำคัญสุด เพราะทำให้เราเห็นการสะท้อน ย้อนมองของแต่ละบุคคลและแต่ละกลุ่มได้อย่างชัดเจน  ซึ่งแต่ละกลุ่มก็ได้สะท้อน “บทเรียนจากกิจกรรม Walk Rally” มีจุดร่วมที่ผมนำมาสรุปไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

  • การวางแผนเพื่อการแก้ไขปัญหา
  • ความไว้วางใจกับเพื่อนสมาชิกในการทำงาน
  • การพูดให้กำลังใจ และเสริมพลังให้ทีมผ่านพ้นจากอุปสรรคปัญหา
  • ลดความแตกต่างทางความคิด ผ่านการยอมรับข้อคิดเห็นที่แตกต่าง และเปิดใจยอมรับต่อการโต้แย้ง
  • การแก้ปัญหาหน้างาน

บทเรียนเหล่านี้ ส่วนหนึ่งมันถูกกลั่นกรองจากความรู้สึก และประสบการณ์ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าชุดความคิดเหล่านี้ ก็สารมารถนำมาเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาได้ หากแต่ต้องเพิ่มเรื่องทฤษฎีเข้าไปอีกนิดหน่อยเพื่อความสมบูรณ์และรู้จักบริบทของการนำไปใช้

ผลิตกำลังใจ เป็นสิ่งสำคัญที่ผมคิดว่าผู้นำของทุกองค์กรต้องมี เพราะเมื่อไหร่ที่การทำงานไม่มีเป้าหมายแล้ว แน่นอนว่างานย่อมไม่เสร็จ  และเป็นไปได้สูงที่จะถูกยกเลิกกลางคัน ดังนั้นการให้กำลังใจ จึงมีความสำคัญอย่างที่ไม่มีใครกล้าปฏิเสธ

กิจกรรมการแบ่งปันเรื่องเล่า  เป็นอีกกิจกรรมที่เราได้รับฟัง และพุดคุย โดยไม่ต้องแลกเปลี่ยน กระบวนการนี้ผมคิดว่าทำให้เรากล้าปลอกความคิด แล้วนำมาถ่ายทอด โดยไม่ต้องกลัวการโต้แย้ง และคำแนะนำ (ที่ไม่ต้องการ) เหล่านั้น เมื่อเรารู้ดีว่าควรแก้ แต่เรายังไม่ทำ การแลกเปลี่ยนรับฟัง เป็นการระบายและถ่ายทอดชุดข้อมูลสำคัญไปในตัวด้วย สิ่งที่เห็นประจำและสำคัญมากของคนที่เป็นผู้นำ คือความกดดันจากองค์กร  พร้อมวิธีแก้ไขซึ่งอยู่นัยคำพูดจากการแลกเปลี่ยนแล้วทั้งนั้น  

บทกวีจากพี่พนัส  ปรีวาสนา เป็นอาจารย์ที่ผมเคารพนับถือ ได้ถ่ายทอดให้เราได้อ่านไว้ว่า

ในโลกแห่งการงานและชีวิต
น้อยนิดแต่ใช่จะไร้ค่า
เมื่อเธอพูดฉันก็ฟังด้วยศรัทธา
เปิดประตูดวงตาสู่ประตูใจ
เมื่อฉันพูดเธอก็ฟังอย่างเป็นมิตร
ที่น้อยนิดจึงดุเป็นยิ่งใหญ่
โลกสองโลกจึงนิยามความเป็นไป
ว่าเราต่างก็ใช้ใจนิยาม
(พนัส ปรีวาสนา)

บทกวีดังกล่าวช่วยให้เราได้ย้อนมองตัวเอง และคนอื่นมากขึ้น ซึ่งผมคิดว่าคนทำงานควรมีสิ่งนี้ เพราะมันสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะคนทำงานกับคน

สร้างไฟให้ผู้นำ  ก่อนมีไฟก็ต้องมีเชื้อเพลิง เชื้อเพลิงที่ดี ผมคิดว่า “เรียนรู้ผ่านวรรณกรรม” เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญมาก เพราะช่วยให้ผู้นำได้คัดเลือกเชื้อเพลิงมาเติมไปของตนเอง

ทำไมต้องเป็นวรรณกรรม ? ในเมื่อมีเครื่องมือเยอะแยะมากมาย หากคนที่ชอบวรรณกรรม วรรณคดี บทกวี ผมคิดว่าเราคงไม่ต้องตอบ แต่คนที่ไม่มาสายนี้ ผมก็อยากจะอธิบายไว้สักหน่อยก็คือ วรรณกรรม วรรณคดี บทกวีนั้น เป็นเครื่องมือแสดงอารมณ์และถ่ายทอดพฤติกรรมของมนุษย์ จากมนุษย์ไปสู่เพื่อนมนุษย์ เรื่องราววรรณกรรมแม้จะเป็นเรื่องราวพิสดาร แต่ก็ย่อมแฝงความเป็นไปของมนุษย์เอาไว้อย่างแน่นอน เพราะมันสร้างจากมนุษย์ ดังนั้นอะไรคือบทเรียน

บทเรียนที่สำคัญจากวรรณกรรม ก็คือพฤติกรรมของมนุษย์ บทกวี คืออารมณ์ของมนุษย์ ดังนั้นไม่แปลกที่สิ่งเหล่านี้ มันจะมีอิทธิพลต่อการรับรู้ และปรับเปลี่ยนความคิดไปด้วย

เหมือนอย่างไม่เคย เป็นวรรณกรรมของรองศาสตราจารย์วิทยากร เชียงกูล ที่พี่พนัส ปรีวาสนา ได้หยิบยกให้ทุกคนได้มาร่วมกันวิเคราะห์ และวิพากษ์วิจารณ์  เป็นอีกกลิ่นอายหนึ่งที่น่าหลงใหล คือการมองวรรณกรรมผ่านปรากฏการณ์ทางการเรียนรู้ ที่ไม่ใช่การวิจารณ์แบบสายวรรณกรรมรม ที่นำความคิด ทฤษฎีมองไปในอีกรูปแบบ

การมองวรรณกรรมผ่านกิจกรรมทำให้ผู้นำ ได้เรียนรู้แบบอย่างอันน่าจะต้องประพฤติ และไม่ประพฤติ ซึ่งสะท้อนออกมาเป็นแง่มุม ให้ทุกคนสามารถนำไปปรับประยุกต์กับงานของตนเองได้อย่างดี ซึ่งตัวผมเองสรุปได้ดังนี้

  • การทำกิจกรรมควรอยู่บนฐานของสังคม วัฒนธรรม และประเพณีของชุมชน
  • ชุมชนควรเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนกิจกรรม
  • การเรียนรู้มิติวัฒนธรรม คติชน และฮีตคอง ผ่านบริบทชุมชน

ประเด็นดังกล่าว อาจถูกมองในกรอบบริบทของนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อชุมชน และใกล้ชิดกับสังคมชนบท ดังนั้นมุมมองดังกล่าวสามารถปรับเปลี่ยนไปได้ตามบริบทของการจัดกิจกรรม แต่สิ่งที่สำคัญเสมอคือกรอบบริบทของพื้นที่  เป็นสิ่งที่ต้องนึกถึงเสมอ

กิจกรรมสัมมนาในครั้งนี้ สิ่งที่ผมคิดว่าอยากให้เพิ่มเติม คือเรื่องของการอบรมเข้ามาด้วย เช่น การเบิกจ่าย การเขียนโครงการ และรายละเอียดสำคัญ ๆ ของการดำเนินกิจกรรม แม้การเรียนรู้หน้างาน หรือแก้ปัญหาเหตุการณ์ตรงหน้าจะเป็นประสบการณ์ตรง แต่การรู้เอาไว้ก่อนก็เป็นสิ่งดี เพราะทำให้หน้างานไม่เกิดความลำบาก และยุ่งยาก รู้จักปลายทาง ต้นทาง กระบวนการที่ถูกต้อง อันเป็นสิ่งสำคัญของการทำงานให้รวดเร็ว พร้อมด้วยคุณภาพ

การเข้าร่วมกิจกรรมครานี้ ทำให้ผมเติบโตทางความคิดหลายอย่าง ทั้งกระบวนการทำงาน การแลกเปลี่ยนทัศนคติความคิดให้รอบด้านมากขึ้น ตัวผมเองเชื่อว่า มนุษย์นั้นนิยมความเป็นเอกเทศ คืออิสระทั้งทางกาย ทางความคิด ดังนั้นหากผู้นำไม่ให้อิสระทางความคิด และปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์ แน่นอนว่า การทำงานย่อมยากลำบาก ไร้ความคิดสร้างสรรค์โดยแน่แท้

หมายเลขบันทึก: 649104เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2018 18:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กรกฎาคม 2018 18:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท