เมื่อไม่ให้เผา เราทำ “เสวียน” ภูมิปัญญาจัดการขยะในชุมชน


เสวียนนี้จะได้ใช้รองรับขยะอินทรีย์ ประเภทใบไม้ เศษหญ้า เพื่อหมักทำปุ๋ย โดยเสวียนดังกล่าวทางสภาผู้นำ กับชาวบ้าน นำวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น คือไม้ไผ่ มาช่วยกันจักสาน และใช้ประโยชน์ในชุมชน ขณะเดียวกันก็สอดคล้องกับมาตรการห้ามเผาของจังหวัดด้วย

            ทุกๆ ปี พอเข้าสู่ฤดูแล้ง หมอกควันมักสร้างปัญหาให้กับผู้คนในเขตพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน พะเยา แพร่ และน่าน ในแต่ละปีมีผู้ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจเป็นจำนวนมาก ทำให้หน่วยราชการต้องออกประกาศห้ามอย่างเด็ดขาดเป็นเวลา 60 วันในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงกลางเดือนเมษายน

            ที่บ้านสันต้นตุ้ม ต.แม่อิง อ.ภูกามยาม จ.พะเยา ก็อยู่ในเขตพื้นที่ห้ามเผาเช่นกัน แต่ชาวบ้านที่นี่ กลับไม่รู้สึกเดือดร้อน เพราะพวกเขาถือโอกาสช่วยกันทำ “เสวียน” เก็บเศษหญ้า เศษใบไม้ เพื่อนำมาทำปุ๋ยหมักบำรุงดิน พร้อมสร้างชุมชนให้สะอาด น่าอยู่


            บัญชา สุวรรณ ผู้ใหญ่บ้านสันต้นตุ้ม บอกว่า ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ -15 เมษายน 2561 จังหวัดพะเยาได้ออกประกาศมาตรการ “60 วันอันตราย ห้ามเผาเด็ดขาด” เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนในช่วงสถานการณ์หมอกควันปกคลุม และเป็นการเตรียมป้องกันแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าที่จะเกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้งของทุกปี ขณะเดียวกันก็กำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน หากมีผู้พบเห็นการลักลอบเผาในช่วงเวลาดังกล่าว และแจ้งไปยังฝ่ายปกครองในท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง จะถูกจับและปรับถึง 5,000 บาท

            ในฐานะที่หมู่บ้านสันต้นตุ้ม ดำเนินกิจกรรมด้านจัดการขยะตามโครงการชุมชนน่าอยู่ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทางสภาผู้นำชุมชน ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากทุกภาคส่วนในหมู่บ้านจำนวน 45 คน จึงได้หารือกันและมีมติว่าควรแจก “เสวียน” ให้คุ้มละ 10 เสวียนทั้งหมด 8 คุ้ม

            “เสวียนนี้จะได้ใช้รองรับขยะอินทรีย์ ประเภทใบไม้ เศษหญ้า เพื่อหมักทำปุ๋ย โดยเสวียนดังกล่าวทางสภาผู้นำ กับชาวบ้าน นำวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น คือไม้ไผ่ มาช่วยกันจักสาน และใช้ประโยชน์ในชุมชน ขณะเดียวกันก็สอดคล้องกับมาตรการห้ามเผาของจังหวัดด้วย” ผู้ใหญ่บ้านสันต้นตุ้ม บอก

            คำว่า “เสวียน” เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคเหนือ ชาวบ้านจะนำเอาไม้ไผ่มาสานรอบโคนต้นไม้เพื่อใช้เก็บขยะใบไม้ เป็นการลดการใช้ปุ๋ยบำรุงต้นไม้ ส่วนเสวียนที่บ้านสันต้นตุ้มจะมีขนาดใหญ่กว่าปกติ สามารถรองรับขยะอินทรีย์ได้มากกว่า

            ทั้งนี้บ้านสันต้นตุ้ม มีทั้งหมด 246 หลังคาเรือน 596 คน แบ่งเป็น 8 คุ้มบ้าน เดิมพบว่ามีปัญหาครัวเรือนขาดการจัดการขยะ ไม่คัดแยกขยะ ถึง 177 ครัวเรือน หรือ 71.95% แม้ว่าทางเทศบาลตำบลดงเจน จะเข้ามาจัดการขยะแบบมีส่วนร่วม ตั้งแต่ปี 2559 โดยกำหนดให้มีการแยกขยะ แล้วบริหารจัดการเรื่องการเก็บขนขยะ แต่อาจเป็นเพราะการประชาสัมพันธ์หรือกระตุ้นชุมชนไม่ต่อเนื่อง ชาวบ้านจึงมีส่วนร่วมแค่ช่วงเริ่มต้นเท่านั้น พอผ่านไปได้ระยะหนึ่งก็ทิ้งขยะรวมกันทุกประเภทเหมือนเดิม ดังนั้นเมื่อมีการทำประชาคมหมู่บ้าน ขยะจึงกลายเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

            ผู้ใหญ่บ้านบัญชา กล่าวว่าจากการสำรวจเชิงลึก พบว่าแต่ละวันหมู่บ้านมีขยะเฉลี่ย 187 กิโลกรัม หรือ 68,255 กิโลกรัม/ปี ในจำนวนนี้มีการนำขยะมูลฝอยกลับมาใช้ประโยชน์เพียง 13,561 กิโลกรัม/ปี คิดเป็น  20% โดยขายเป็นรายได้ 10% ทำปุ๋ย 5% และนำกลับมาใช้ใหม่ 5% ส่วนที่เหลือ 80% ถูกทิ้ง ทั้งที่เมื่อแยกองค์ประกอบขยะ เป็นขยะอินทรีย์ถึง 55.6% ขยะรีไซเคิล 30% ขยะทั่วไป 8% ขยะอันตราย 2% และขยะอื่นๆ เช่น ผงฝุ่นจากการทำความสะอาดบ้านเรือน เศษผ้า ถุงพลาสติกใส เศษวัสดุก่อสร้าง 4.4 %

            ส่วนการกำจัดใช้วิธีเผาถึง 12 ครัวเรือน คิดเป็น 4.9% ทิ้งขยะหลังบ้านในที่สาธารณะหรือในหมู่บ้าน 37 ครัวเรือน หรือ 15% ขณะที่แม่บ้าน เยาวชน ก็ขาดความรู้ ไม่เข้าใจและไม่ตระหนัก ถึงการคัดแยกขยะ ซ้ำยังมีทัศนคติต่อขยะเป็นสิ่งสกปรก น่ารังเกียจ คิดว่าการจัดการขยะเป็นหน้าที่ของเทศบาล ก่อให้เกิดผลกระทบตามมา คือกลิ่นเหม็น เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ แหล่งอาหารของแมลงวัน แมลงสาบ ตลอดจนเชื้อโรคต่างๆ และการกำจัดที่ไม่ถูกวิธียังสร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม

           สภาผู้นำชุมชนและชาวบ้านสันต้นตุ้ม จึงร่วมกันแก้ไขปัญหาของหมู่บ้าน โดยอาศัยแนวคิดการสร้างชุมชนน่าอยู่ กระตุ้นความร่วมมือจากคนในหมู่บ้านให้ร่วมคิดร่วมทำ เพื่อแก้ไขปัญหาและนำไปสู่การเป็นชุมชนน่าอยู่ ลดปริมาณขยะมูลฝอยในครัวเรือน จากเดิมเฉลี่ยครัวเรือนละ 1 กิโลกรัมต่อวัน เหลือไม่เกิน 0.5 กิโลกรัมต่อวัน มีการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับการคัดแยกขยะ สร้างจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ อบรมให้ความรู้แก่ตัวแทนครัวเรือนด้านการคัดแยกขยะ รณรงค์ใช้ถุงผ้าไปจ่ายตลาด เพื่อลดการใช้ถุงพลาสติก และสภาผู้นำชุมชนกับชาวบ้านมีส่วนร่วมการจัดการขยะย่อยสลายในหมู่บ้าน ด้วยการจัดตั้งกลุ่มตามความสนใจ เช่น กลุ่มทำปุ๋ยหมักจากขยะย่อยสลาย กลุ่มน้ำหมักชีวภาพ กลุ่มเลี้ยงไส้เดือนกำจัดขยะเปียกในครัวเรือน เป็นต้น

หมายเลขบันทึก: 649094เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2018 15:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2018 15:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท