ชีวิตที่พอเพียง 3222. ความชุ่มชื่นในหัวใจ จากการได้มีโอกาสทำงานเพื่อผู้อื่น



วันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๑ ผมเข้าร่วมประชุมสามัญมูลนิธิรุ่งอรุณ ประจำปี ๒๕๖๑ และการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาและคณะกรรมการบริหารโรงเรียนรุ่งอรุณ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๑  

การทำหน้าที่กรรมการมูลนิธิถือเป็นการทำงานเพื่อสังคม หรือเพื่อผู้อื่น    ในกรณีของมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ เป็นการทำงานสาธารณะด้านการศึกษา หรือการเรียนรู้    โดยที่งานของมูลนิธิมีคุณค่าใหญ่หลวงต่อบ้านเมืองของเรา    คือทำหน้าที่เป็น change agent ด้านการศึกษาหรือการเรียนรู้ให้แก่สังคม    เป็น change agent ภาคประชาชน 

มูลนิธินี้มีบริษัทอยู่ภายใต้ ๒ บริษัท คือ บริษัทโรงเรียนรุ่งอรุณ  และบริษัทสานอักษร จำกัด    โดยมูลนิธิฯ ถือหุ้นเกือบ ๑๐๐%   และเป็นเจ้าของสถาบันอาศรมศิลป์ด้วย    กิจการทั้งสาม น่าจะถือได้ว่า เป็นการทำ “ธุรกิจเพื่อสังคม” (social enterprise)  

สังคมในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมาก   กิจกรรมเพื่อสังคมจึงต้องดำเนินการให้ทันสมัย    รายละเอียดมีอยู่ในรายงานการประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๖๐ เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๐   วาระที่ ๓ แผนพัฒนาโรงเรียนรุ่งอรุณ   และ แผนพัฒนาสถาบันอาศรมศิลป์   ซึ่งอ่านได้จากรายงานการประชุม  

มาคราวนี้ วันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๑ ได้รับทราบด้วยความยินดีว่า โรงเรียนรุ่งอรุณมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร  ดึงคนรุ่นใหม่มาทำหน้าที่ครูใหญ่โรงเรียนอนุบาล  ครูใหญ่โรงเรียนประถม  ครูใหญ่โรงเรียนมัธยม   รวมทั้งมีการปรับคณะกรรมการบริหารโรงเรียนรุ่งอรุณ  มีคนใหม่ๆ เข้ามา  และมีตัวแทนผู้ปกครองนักเรียน ๑ ท่าน คือคุณพัชรวลัย ตนานุประวัติ    

การเปลี่ยนแปลงใหญ่ของมูลนิธิฯ คือการก่อตั้ง ๓ กองทุน    ซึ่งที่จริงเป็นกิจการ เพื่อขยายบทบาทของมูลนิธิฯ แผ่ขยายสู่สาธารณชนมากยิ่งขึ้น   เน้นด้าน การผลิตสื่อ  การวิจัย  การปฏิรูปการเรียนรู้ของศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย   โดย ๓ กองทุน มีดังนี้  (๑) กองทุนเพื่อการศึกษาปฐมวัย  (๒) กองทุนเพื่อการศึกษาพระพุทธศาสนา  (๓) กองทุนเพื่อการพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ทั้งระบบ

ในเรื่องการพัฒนาโรงเรียน  สำนักรุ่งอรุณได้พัฒนาแนวทาง inquiry & phenomenon-based learning    โดยจัดกระบวนการให้ผู้เรียนบรรลุ ๓ ด้าน คือ (๑) literacy  (๒) บูรณาการสู่ชีวิต  (๓) สุขภาวะกาย จิต    ดู PowerPoint แสดงแนวความคิดในการพัฒนาสมรรถนะการเรียนรู้ได้ที่  

ในการประชุมนี้มีศิษย์เก่าของโรงเรียนรุ่งอรุณมาร่วมประชุม ๒ คน  คือนายณัฐวุฒิ ชื่นอารมณ์ ในฐานะกรรมการที่ปรึกษา โรงเรียนรุ่งอรุณ  และนายสุธีพรรณ สิทธิโชติ กรรมการบริหารมูลนิธิรุ่งอรุณ    ท่านหลังเป็นศิษย์เก่ารุ่น ๑ มาประชุมเป็นครั้งแรก บอกว่า ไม่ทราบมาก่อนเลยว่า โรงเรียนเป็นของมูลนิธิ   ไม่ได้เอากำไรไปเข้ากระเป๋าใครเลย    ทั้งสองท่านประทับในในการบริหารการเปลี่ยนแปลงของโรงเรียน   ที่มีการส่งต่อความรับผิดชอบจากรุ่นสู่รุ่น    รวมทั้งการที่โรงเรียนรุ่งอรุณมีส่วนสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่วงการศึกษาไทย   

วิจารณ์ พานิช

๑๒ มิ.ย. ๖๑



หมายเลขบันทึก: 649106เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2018 20:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กรกฎาคม 2018 20:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท