๗๕๑. เรามาดูแลเด็กที่อ่อนแอกันเถอะ...


จัดกิจกรรมให้เด็กที่อ่อนแอได้เรียนรู้กับเด็กปกติ อย่าแบ่งแยก..อย่างที่หลายคนเคยเห็นมา เวลามีประเมิน ประกวดประชันขันแข่ง..เด็กเหล่านี้..บางครั้งต้องอยู่บ้าน หรือไม่..ก็เก็บไว้ ไม่ให้คณะกรรมการเห็น..

              การถอดบทเรียน..จากเหตุการณ์ ๑๓ ชีวิต ทีมหมูป่า อคาเดมี ติดถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย คงเป็นเรื่องที่ภาครัฐให้ความสำคัญ และเร่งดำเนินการ”ถอดบทเรียน”ให้ได้ในทุกภาคส่วน ไม่เว้นกระทั่งกระทรวงศึกษาธิการ

            การถอดบทเรียน..ทำให้ได้มุมมอง ในเชิงป้องกันแก้ไขและพัฒนา เกิดองค์ความรู้ใหม่ เพื่อการเรียนรู้และต่อยอด ได้แนวทางปฏิบัติที่เข้าใจได้โดยง่าย

            บทเรียนอย่างหนึ่งที่ผมได้รับก็คือ..การตัดสินใจของ ดร.ริชาร์ด แฮร์ริส วิสัญญีแพทย์และนักดำน้ำมืออาชีพระดับโลก ชาวออสเตรเลีย

            ท่านมีแนวคิด..ที่จะนำเด็กที่อ่อนแอออกมาก่อน ไล่เรียงจากอ่อนแอมากที่สุด ไปจนถึงแข็งแรงที่สุด..ซึ่งในถ้ำหลวง ณ เวลานั้น “โค้ชเอก” ก็เข้าใจสถานการณ์

            หลายคนคาดผิด เพราะคิดว่า น่าจะนำเด็กที่แข็งแรงออกมาก่อน จะได้เดินทางสะดวกคล่องตัว เมื่อผ่านออกมาได้ ก็จะสร้างขวัญกำลังใจให้คนต่อไปที่อ่อนแอกว่า...

            ดร.ริชาร์ด แฮร์ริส..คิดในทางตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง  ทำให้การดำเนินงาน “ผ่านฉลุย” โดยมีโค้ชเอกเป็นที่ปรึกษา ร่วมตัดสินใจว่า..จะนำเด็กคนใดออกมาก่อนหลัง..

            มองในมุมนี้เพียงมุมเดียว ทำให้ผมคิดถึงการศึกษาในช่วง ๑ ทศวรรษที่ผ่านมา ก็พอจะมองเห็นว่า เราใช้สื่อ/ นวัตกรรมและตำราจากต่างประเทศมากมาย นำมาใช้ในวงการศึกษาบ้านเรา

            ใช้งบประมาณมากมาย เพื่อการนี้ ด้วยการจัดอบรมสัมมนา ประชาสัมพันธ์ กำหนดเป็นนโยบายกันทุกปี เพื่อบรรจุไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอน..

            แต่บางครั้ง..เราอาจจะลืมแนวคิดบางอย่างของฝรั่ง ที่มันเป็น”ความรู้สึก”ลึกๆ ที่อาจจะไม่ต้องใช้เหตุผลและไม่มีอยู่ในตำรา ใช้แค่ความเมตตา ความเป็นกัลยาณมิตรและจิตอาสา ตลอดจนการสังเกตปัญหาจากสถานการณ์จริงๆ

            ปัญหาสังคม ชุมชน และครอบครัวในปัจจุบัน เป็นที่ทราบกันดีว่า..ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนอย่างมาก มีเด็กที่อ่อนแอเกิดขึ้นทุกวัน และกำลังเดินเข้าสู่ประตูรั้วโรงเรียน..

            “เด็กอ่อนแอ” ในที่นี้ หมายรวมถึงเด็กพิเศษ และเด็กที่ไม่ตั้งใจเรียน อ่านไม่คล่อง เขียนไม่คล่อง..และมักจะถูกทิ้งให้เป็นเด็ก “หลังห้อง”ร่ำไป

            ทั้งเด็กพิเศษและเด็กที่เรียนไม่รู้เรื่อง..จะเป็นเด็กที่อ่อนแอทันที ไม่มีพัฒนาการใดๆเกิดขึ้น..ถ้าครูไม่ให้ความใส่ใจ..

            ครูย่อมจะรู้ดี ว่าทุกวันนี้มีเด็กพิเศษเรียนร่วมทุกโรงเรียน แต่ด้วยเกณฑ์จำนวนนักเรียน ทำให้หลายโรงเรียน ไม่สามารถจะมีครูพิเศษได้

            จึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน..ที่ครูจะต้องไม่โยนความผิดให้พวกเขา และไม่มองเขาว่าเป็นภาระของโรงเรียนหรือสังคม..

            จัดกิจกรรมให้เด็กที่อ่อนแอได้เรียนรู้กับเด็กปกติ อย่าแบ่งแยก..อย่างที่หลายคนเคยเห็นมา เวลามีประเมิน ประกวดประชันขันแข่ง..เด็กเหล่านี้..บางครั้งต้องอยู่บ้าน หรือไม่..ก็เก็บไว้ ไม่ให้คณะกรรมการเห็น..

            เราคงเรียกร้องไม่ได้..ให้มีครูพิเศษ สำหรับเด็กพิเศษและเด็กที่อ่อนแอในทุกโรงเรียน แต่ครูเท่านั้น..ที่จะรู้ว่า..ควรทำอย่างไร..?

            ครูบางท่านใช้ศิลปะเข้ามาช่วย ใช้การว่ายน้ำ ใช้อาชาบำบัด และใช้จิตวิทยา

            ผมใช้ดนตรีเข้ามาเสริมการเรียนรู้ ให้เขาภูมิใจและมั่นใจในตนเอง ตลอดจนให้การเสริมแรง อยู่ใกล้ครูและพูดคุยให้เพื่อนๆยอมรับ

            การศึกษาในระดับรากหญ้า..ไม่มีเวทีให้เด็กพิเศษหรือเด็กที่อ่อนแอได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้..ได้เปิดประตูสู่โลกกว้าง การแข่งขันทางวิชาการในทุกระดับ ส่วนใหญ่ล้วนทำเพื่อ “เด็กเก่ง” หรือ เด็กที่แข็งแรงทั้งสิ้น..

            ผมจึงเชื่อว่า..ถ้าการศึกษาไทย ยังมุ่งแข่งขันทางความเป็นเลิศ หาผู้ชนะเพื่อรับโล่และเหรียญกันอยู่อย่างนี้..เราจะมีเด็กที่ไม่ได้รับการพัฒนาสมอง อ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้ นั่งเล่น และรอครูอยู่หลังห้องอีกมากมาย

            ถึงเวลาแล้วหรือยัง?...ที่เราจะดูแลเด็กที่อ่อนแอ..มากกว่าที่เป็นอยู่

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๑๔  กรกฎาคม  ๒๕๖๑

 

          

            

หมายเลขบันทึก: 648927เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2018 21:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กรกฎาคม 2018 21:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เห็นด้วยที่สุดค่ะ การเรียนพิเศษโดยส่วนใหญ่กลายเป็นการเรียนสำหรับเด็กที่เก่งวิชาการอยู่แล้วให้เก่งขึ้นไปอีกเพื่อการสอบเข้าแข่งขัน

ช่วย ๆ กัน มาแบ่งปันความรู้เพื่อเด็ก ๆ กัน คะครู จริง ๆ ครูจะเป็นผู้ให้โอกาสแก่เด็กเป็นด่านแรกเลยคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท