คติความเชื่อเรื่องแม่ซื้อ กับภาพจิตรกรรมฝาผนังและภาพจิตรกรรมในสมุดไทย


คติความเชื่อเรื่องแม่ซื้อ กับภาพจิตรกรรมฝาผนังและภาพจิตรกรรมในสมุดไทยโดย วาทิน ศานติ์ สันติ (29/5/2561)

ในสมัยก่อนที่จะมีโรงพยาบาลแบบตะวันตกนั้นการคลอดลูกถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ และมีความเสี่ยงสูงมาก เนื่องมาจากการพยาบาลยังไม่มีระบบการดูแลรักษา และความปลอดภัยดีพอ หากผู้ทำคลอดไม่มีประสบการณ์หรือจัดการกับการทำคลอดไม่ถูกสุขอนามัยที่ดีแล้ว แม่หรือลูกอาจเสียชีวิตได้อันเนื่องมาจากการติดเชื่อนั้นเอง เมื่อรอดมาได้ทารกก็ยังต้องเสี่ยงจากโรคต่าง ๆ เพราะยังไม่มีวัคซีนภูมิคุ้มกัน ดั้งนั้นคนไทยจึงมีกุศโลบายความเชื่อเรื่องแม่ซื้อ เพื่อให้เกิดขวัญกำลังใจแก่พ่อ แม่และญาติ โดยมีความหวังว่าลูกจะมีชีวิตรอดได้หากปฏิบัติดีพลีถูก

ในหนังสือ "ชุมนุมพระนิพนธ์" พระนิพนธ์ของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าเรื่องแม่ซื้อไว้ว่า คติเรื่องแม่ซื้อ ทรงได้เคยพบในบทเสภาตอนขุนช้างเกิด มีการแสดงถึงความเชื่อว่าก่อนมนุษย์ที่จะเกิดขึ้นนั้น ผีจะปั้นรูปทารกขึ้นอย่างปั้นหุ่นก่อนแล้วหาวิญญาณใส่เข้าไปในหุ่นแล้วค่อยนำมาใส่ให้เข้ามาสู่ ครรภ์ของมารดา โบราณเชื่อว่าหากทารกคลอดใหม่มักตายภายใน 3 วัน เป็นเพราะผีปั้นหุ่นเห็นทารกคลอดออกมาแล้วรูปงามชอบใจจึงอยากจะเอาไปเลี้ยงซะเอง จึงทำให้เด็กกลับไปเป็นผีอีกครั้งหนึ่ง

มูลเหตุนี้เองจึงให้มีการป้องกันมิให้ผีเอาทารกกลับคืน บ้างนำสายสิญจน์มาล้อมบ้าน บ้างนำผ้ายันต์ปิดที่ประตูห้อง โดยเฉพาะการประกอบอุบายนำทารกใส่กระด้งร่อนแล้วร้องถามว่า "สามวันลูกผี สี่วันลูกคน ลูกของใครมารับไปชม" เป็นการลวงให้ผีเข้าใจว่าทารกไม่น่าชม ไม่ได้งามถึงขนาดที่ว่าแม่ผู้ให้กำเนิดยังไม่ชอบ จะมีผู้อื่นทำทีรับซื้อทารกด้วยเบี้ย 32 เบี้ย ผู้รับซื้อนั้นก็คือ "แม่ซื้อ" จึงเรียกว่าแม่ซื้อตามกันมา

ทรงอธิบายเพิ่มเติมว่า อุบายที่ลวงให้ผีรังเกียจมีหลายวิธีเช่น ชมว่าน่าชัง ตลอดจนตั้งชื่อทารกว่า "เหม็น" ตั้งชื่อเป็นสัตว์ที่ผิวไม่งามบ้างเช่น "กบ" "เขียด" เป็นต้น อีกหนึ่งอุบายคือสาดข้าวข้ามหลังคาให้ผี หวังผูกไมตรีจิตกับผีด้วยการเซ่นสรวงนั่นเอง

ในแง่ด้านศิลปะนั้น ปรากฏภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เกี่ยวข้องกับแม่ซื้อพบที่ศาลาหลังหนึ่งภายในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร หรือวัดโพธิ์ อันเป็นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการวาดภาพแม่ซื้อขึ้นภายในศาลารวมถึงจารึกเรื่องราวที่มาของแม่ซื้อ วิธีแก้ต่าง ๆ เอาไว้ในแผ่นหินด้วย จึงเรียกศาลาแห่งนี้ว่า "ศาลาแม่ซื้อ" อีกทั้งยังมีการจารเรื่องราวของแม่ชื้อและรวมถึงเหตุแห่งการเกิดโรคในทารกไว้ในสมุดไทยอีกด้วย จัดอยู่ในหมวดตำราเวชศาสตร์ เรื่อง "ลักษณะรูปแม่ซื้อประจำวันและที่ตั้งของแม่ทรางและลักษณะของลมบอกที่เกิด พร้อมทั้งวิธีแก้และตำรายาต่างๆ"

ดังตัวอย่างภาพที่ผู้เขียนนำมาเสนอนั้นคือแม่ซื้อวันอังคารมีนามว่า ยักษ์บริสุทธิ์ มีหัวเป็นกระบือ ภาพวาดในศาลาแม่ซื้อวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหารและภาพแม่ซื้อในสมุดไทยนั้นมีความคล้ายคลึงกันทั้งลักษณะท่าทางการยืน จึงเชื่อได้ว่าน่าจะมีการคัดลอกต่อกันมาจากแหล่งเดียวกัน

ภาพถ่ายแม่ซื้อ ถ่ายที่ศาลาแม่ซื้อวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร พ.ศ 2557ภาพถ่ายตำราแม่ซื้อ จากหอสมุดแห่งชาติ

หนังสือประกอบการเขียน ชุมนุมพระนิพนธ์ ของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

หมายเลขบันทึก: 648926เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2018 20:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กรกฎาคม 2018 20:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

น่าสนใจดีครับ ข้อมูลสามารถเชื่อมโยงทั้งศิลปกรรม วัฒนธรรม ของบ้านเมืองได้อย่างดี หากมีการพัฒนาประเด็นเพื่ออธิบายความเป็น “แม่ซื้อ” ทั้งในมิติวรรณกรรม มิติแพทย์ มิติสังคมวิทยา และมิติทางมานุษยวิทยา อาจเป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการด้านคติชนได้ไม่น้อย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท