คติเรื่องการปลงศพด้วยการเผาและการสร้างเจดีย์สำหรับบรรจุพระบรมอัฐิ


คติเรื่องการปลงศพด้วยการเผาและการสร้างเจดีย์สำหรับบรรจุพระบรมอัฐิ 

โดย วาทิน ศานติ์ สันติ (3/6/2561)

การปลงศพด้วยการเผา เป็นประเพณีนิยมของชาวอารยัน เนื่องจากชนกลุ่มนี้เป็นพวกเร่ร่อน เมื่อมีผู้ใดเสียชีวิตจึงต้องนำร่างไปเผาไฟเพื่อนำกระดูกใส่โกศเอาฝั่งไว้ในที่สำคัญ หรือติดตัวนำเดินทางไปด้วย ได้เป็นประเพณีนิยมของชาวพุทธในกาลต่อมา รวมถึงชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทย

การชำระศพด้วยไฟนั้นชาวอินเดียถือว่าเป็นการชำระบาปมลทินของผู้ตายให้หมดสิ้นไป และไฟเป็นผู้นำเอาส่วนที่ยังไม่ตาย คือวิญญาณล่องลอยไปสู่สวรรค์ในรูปแบบของควันที่ลอยขึ้นสู่ที่สูง การเผาศพต้องใช้ไฟศักดิสิทธิ์ซึ่งก่อให้ติดขึ้นตามลัทธิพิธีของศาสนาพราหมณ์สำหรับใช้จุดไฟ (รักษ์ไทย สิงห์สถิต, 2530, หน้า 6)

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวว่า แบบแผนการปลงศพด้วยการเผาของชาวอินเดียนั้นมี 2 คติความเชื่อคือ คติทางศาสนาพราหมณ์ใช้โกศใส่ศพ เมื่อเผาแล้วจะนำอัฐิธาตุลอยน้ำ ส่วนศาสนาพุทธจะใช้หีบใส่ศพ เมื่อเผาแล้วเอาอัฐิธาตุบรรจุใส่ในสถูป (กรมศิลปากร, 2555, หน้า 227 - 228)

ดังเช่นการปลงพระบรมศพของพระพุทธเจ้า กล่าวคือ ก่อนดับขันธ์ปรินิพพาน พระพุทธองค์ได้ตรัสแก่พระสาวกเรื่องการปฏิบัติต่อพระพุทธสรีระว่าให้ปฏิบัติต่อพระบรมศพพระเจ้าจักรพรรดิ หลังจากพระพุทธเจ้าทรงดับขันธ์ปรินิพพานจึงใช้ผ้าใหม่สลับกับสำลีบริสุทธิ์ห่อพระสรีระ 1,000 ชั้นแล้วอัญเชิญพระสรีระลงในรางเหล็กเติมด้วยน้ำมัน ใช้รางเหล็กอีกอันหนึ่งครอบ จิตกาธานทำด้วยไม้หอมล้วน แล้วอัญเชิญพระสรีระของพระผู้มีพระภาคขึ้นสู่จิตกาธาน พระมหากัสสปะและภิกษุ 500 รูป กระทำประทักษิณจิตกาธานครบ 3 รอบ ถวายอภิวาท แล้วจึงทำการถวายพระเพลิง (พระมหาวีรชน อคฺคธมฺโม, 2554 หน้า 11 -15)

เมื่อประกอบงานพระบรมศพของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วมีการแบ่งพระบรมอัฐิเป็นส่วน ๆ เพื่อแจกจ่ายกระจายไปยังเมืองต่าง ๆ เพื่อกระทำการบูชาในรูปของสถูปเจดีย์ เมื่อมีการขุดสถูปเจดีย์ครั้งใหญ่ในอินเดียและเฉพาะในสมัย พระเจ้าอโศกมหาราช หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็มีการแจกจ่ายพระบรมอัฐิ ไปทั่วอินเดียศรีลังกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อทำการสักการะบูชาอีกต่อหนึ่ง

ชาวล้านนา ชาวสุโขทัย ชาวอยุธยา หรือชาวพม่านิยมนำบรมอัฐิพระพุทธเจ้าไปฝังดินก่อนแล้วจึงก่อเจดีย์หรือพระปรางค์ไว้ด้านบน จึงมีระเบียบมิให้ผู้หญิงเข้าไปสักการะใกล้ฐานเจดีย์เพื่อมิให้ผู้หญิงที่มีประจําเดือนการก้าวข้ามพระบรมอัฐินั่นเอง

ในชั้นหลังโดยเฉพาะในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบรมอัฐิจะถูกบรรจุในตัวองค์ของเจดีย์ เช่นเจดีย์พระบรมธาตุมหาเจดีย์ วัดประยุรวงศาวาส วรวิหารสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้มีการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อเมื่อ พ.ศ.2548-2550 ได้ค้นพบพระบรมสารีริกธาตุและพระกรุจำนวนมากบนองค์พระเจดีย์

ตัวอย่างสำคัญสำหรับธรรมเนียมการบรรจุอัฐิของพระมหากษัตริย์ไว้ในเจดีย์คือ เจดีย์พระศรีสรรเพชญ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นเจดีย์ทรงลังกาหรือทรงระฆังคว่ำจำนวนสามองค์ที่วางตัวเรียงกันตามแนวแกนทิศตะวันออกและทิศตะวันตก สร้างขึ้นเป็นองค์แรกทางฝั่งตะวันออก โดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของพระราชบิดาคือสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ต่อสร้างเจดีย์องค์กลางบรรจุพระบรมอัฐิของพระเชษฐาต่างพระมารดาคือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 และเจดีย์ฝั่งตะวันตก สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 ทรงสร้างถวายบรรจุพระบรมอัฐิพระราชบิดาคือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2

ส่วนสามัญชนเมื่อทำการเผาแล้วอัฐิส่วนหนึ่งอาจเก็บไว้ในโกศขนาดเล็กบูชาที่บ้าน หรือสร้างโกศไว้หลังบ้าน หรือนำไปฝังไว้ใต้โคนต้นไม้ในที่นา หรือเก็บไว้ที่วัด หรือนำไปลอยน้ำที่เรียกว่าลอยอังคาร

สำหรับโกฐ เจดีย์ หรือปรางค์ มีพื้นฐานมาจากเนินดินฝังศพ แล้วพัฒนาการสร้างมาจากพื้นฐานคติความเชื่อตามจินตนาการจากการจำลองลักษณะของเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางของจักรวาล เป็นที่สิงสถิตของพระอินทร์ในศาสนาพุทธหรือพระอิศวรในศาสนาพราหมณ์ ดังนั้นการบรรจุพระบรมอัฐิ ไว้ใต้ฐานเจดีย์หรือในเจดีย์นั้นจึงเปรียบเสมือนกับ การส่งดวงพระวิญญาณ หรือดวงวิญญาณของผู้เสียชีวิตให้อยู่บนสรวงสวรรค์นั่นเอง

วาทิน ศานติ์ สันติ3/6/2561

ภาพถ่ายเจดีย์วัดพระศรีสรรเพชญ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถ่ายเมื่อเดือนเมษายน 2560

เอกสารประกอบการเขียน กรมศิลปากร. (2555). เครื่องประกอบพระอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่งจำกัด (มหาชน).

พระมหาวีรชน อคฺคธมฺโม. (2554). คุณค่าประเพณีปอยล้อล้านนา : กรณีศึกษาพระครูการุณยธรรมนิวาส (หลวงปู่หลวง กตปุญโญ). วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต. มหาวิยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

รักไทย สิงห์สถิต. (2530). การศึกษาการพระราชพิธีพระบรมศพ ณ ท้องสนามหลวงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์. มหาวิทยาลัยศิลปากร.

วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร. (ม.ป.ป.). พระประยูรภัณฑาคาร/พระเจดีย์. สืบค้นเมื่อ 3 มิถุนายน 2561, จาก watprayoon.com

หมายเลขบันทึก: 648925เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2018 20:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กรกฎาคม 2018 20:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท