ประเด็นร่าง พรบ. บริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นฉบับใหม่ ตอนที่ 30 : ระบบอาวุโสและลูกหม้อท้องถิ่น


ประเด็นร่าง พรบ. บริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นฉบับใหม่ ตอนที่ 30 : ระบบอาวุโสและลูกหม้อท้องถิ่น

5 กรกฎาคม 2561

ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]  

กว่า 8 เดือนตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 ที่ผ่านมาผู้เขียนได้พยายามวิพากษ์ประเด็นร่าง พรบ.นี้มาหลายตอน แต่ยังมีข้อวิพากษ์ที่หลงเหลือให้หยิบมาวิพากษ์ได้อีก ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องบุคคลเป็นเรื่องยาก ที่มีประเด็นหลากหลายครอบคลุมมากในหลากหลายองค์ความรู้ (Body of Knowledge) [2] จะขอจบประเด็นไว้ก่อนเพียงเท่านี้ เพื่อจะได้สรุปในประเด็นสำคัญที่ชาว อปท. ถกเถียงกันมากในร่าง พรบ.ฉบับใหม่ต่อไป

 

ระบบอาวุโสในข้าราชการส่วนท้องถิ่น

การสั่งสมประสบการณ์ในงานท้องถิ่นเป็นองค์ประกอบสำคัญหนึ่งในการ “สรรหาบุคคล” เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น รวมทั้งการเลื่อนระดับ (ระดับควบ เลื่อนไหลประสบการณ์) การเปลี่ยนสายงาน (เปลี่ยนแท่ง) การเปลี่ยนสายงานจากสายผู้ปฏิบัติเป็นสายผู้บริหาร (เปลี่ยนแท่งทั่วไป แท่งวิชาการมาเป็นแท่งอำนวยการ หรือเปลี่ยนแท่งอำนวยการเป็นแท่งบริหารท้องถิ่น) เหล่านี้คือ “เส้นทางความก้าวหน้า” (Career Path) ซึ่งในทางความเป็นจริงนั้น ระบบอาวุโสตามเส้นทางความก้าวหน้านี้ หาได้มี “นัยยะสำคัญ” ในการสอบคัดเลือก หรือ การคัดเลือกในสายงานผู้บริหาร (แท่งอำนวยการและแท่งบริหารท้องถิ่น) แต่อย่างใด เพราะ อิทธิพลของ “ระบบอุปถัมภ์” (Patronage System) ที่ให้อำนาจนายก อปท. มาก ทั้งอำนาจในเชิงบริหาร (Strong Executive) [3] และ การบริหารงานบุคคล (Tremendous personnel decision) [4] ที่มีบริบทขัดแย้งกันคือ มีอำนาจมาก แต่ความรับผิดชอบยังมีไม่มาก (With great power does not come great responsibilities)

ว่ากันว่าข้าราชการส่วนท้องถิ่นบางรายมีคุณวุฒิสูง อีกทั้งดำรงตำแหน่งยาวนานทั้งชำนาญการและชำนาญการพิเศษ (เดิมซี 6-7-8) เช่น อายุราชการ 23 ปี ก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนแท่งหรือเปลี่ยนสายงานมาเป็นสายงานผู้บริหารได้ เพราะที่ผ่านมา มีผู้สมัครสอบ(บริหารอำนวยการ)ท้องถิ่นคนเดียว สอบคนเดียว ไม่มีผู้สมัครแข่ง หรือ มีการล็อกตัวบุคคลในการสอบไว้แล้ว ในเรื่องการทดสอบวิสัยทัศน์ในตำแหน่งหมดความจำเป็นไปโดยปริยาย ระบบอาวุโสขาดการเหลียวแล ที่เกิดปรากฏการณ์เหล่านี้ซ้ำซาก การทักท้วงป้องกันเป็นกรณีตัวอย่างเพื่อไม่ให้เกิดกับคนรุ่นหลังด้วยกระบวนการศาลปกครองมันช่างยาวนานเสียเหลือเกิน ว่ากันว่ายาวถึง 7 ปี หลายรายจนเกษียณอายุราชการ แต่การรับฟังความเห็นต่างมีประโยชน์ ที่คนท้องถิ่นต้องออกมาแสดงจุดยืน ความต่างทางความคิดเหมือนกระจกเงาสะท้อนปัญหา แม้จะเป็นเสียงส่วนน้อยก็ตาม เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการเยียวยาทางปกครอง แต่ปรากฏว่า การเยียวยาในลักษณะเช่นนี้ ไม่ได้รับการใส่ใจจาก ก.จังหวัด และ ก.กลาง และมักปรากฏเสมอ ๆ ว่า “การเยียวยา” กลับกลายเป็นว่า ส่วนใหญ่เป็นการเยียวยาในกระบวนการที่ผิดพลาดของ ก.จังหวัด เช่น การเข้าสู่ตำแหน่งที่ผิดพลาด เนื่องจากขาดคุณสมบัติ หรือ ไม่มีกรอบอัตราตำแหน่ง หรือ เข้าสู่ในกรอบอัตราตำแหน่งที่กำหนดไว้ผิด (ไม่ได้กำหนดกรอบตามระเบียบฯ) ในกรณีของเทศบาลขนาดกลางเดิม ที่มีประกาศ ก.กลาง กำหนดให้ “ปลัดเป็นระดับ 8” (ระดับกลาง) และ “หัวหน้าส่วนราชการเป็นระดับ 7” เป็นต้น ซึ่งมีเทศบาลขนาดกลางเดิมหลายแห่งทั่วประเทศ ในแต่ละ ก.จังหวัดยึดแนวทางปฏิบัติที่แตกต่างกัน ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ขาดมาตรฐานอย่างชัดเจน เพราะ ก.กลาง (กรมกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น-สถ.) ไม่สามารถควบคุมการเข้าสู่ตำแหน่งดังกล่าวว่าถูกต้องหรือไม่อย่างไร เพราะ อำนาจอยู่ที่นายกเทศมนตรี และ อำนาจสิ้นสุดที่ ก.จังหวัด และโดยที่ ก.กลาง ขาดการรายงานและการเก็บบันทึกข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน เนื่องจากข้อมูลการรายงานตำแหน่งไม่เป็นระบบ และ หมกเม็ดยืดยาดยาวนานล่าช้าฯ

ข้าราชการส่วนท้องถิ่นบางรายโอนมาจากข้าราชการสังกัดอื่นหรือจากทหารมีความภาคภูมิใจในตำแหน่งท้องถิ่น เช่น การสอบเปลี่ยนสายงานเป็นสายสามด้วยบัญชีกรมคุมประพฤติปี 2546 เป็นต้น ปัญหาในตำแหน่งชำนาญการพิเศษหาตำแหน่งยาก มีเฉพาะ อปท. ใหญ่ การข้ามแท่งวิชาการไปแท่งอำนวยการได้ แต่ได้เงินประจำตำแหน่งลดลง

ฉะนั้น ในคุณวุฒิสูง มีความรู้ความสามารถ ที่มีฝีมือแต่ไม่รู้จักใช้ความรู้ความสามารถก็ไม่มีประโยชน์ อีกทั้งยิ่งไม่มีประโยชน์หากไม่มีผู้อุปถัมภ์ค้ำชูให้เติบโต หรือที่เรียกกันว่าคนไม่มี “ ด ว ง “ [5] ที่ว่า “ฉันหมดไฟก่อนได้เติบโต” [6] จึงพบเห็นกันมากในระบบราชการทุกแห่ง โดยเฉพาะท้องถิ่น

 

ลูกหม้อ สถ.คือใครมั่วดี

การเติบโตตามเส้นทางสายอาชีพ (Career path) นั้นต้องเป็นคนในองค์กรนั้น ๆ หากต่างองค์กรกัน ไม่สังกัดกันและกัน ย่อมไม่สามารถเติบโตในเส้นทางสายอาชีพนั้นได้ อันเป็นความหมายของ “ลูกหม้อ” แม้ข้าราชการที่เป็นลูกหม้อของ สถ.เอง ก็ไม่อาจได้เติบโตถึงตำแหน่งผู้บริหาร สถ.สูงสุดได้ เพียงดำรง ผอ.สำนักฯ ผอ.กองฯ เท่านั้น ส่วนผู้บริหาร สถ.ระดับสูงที่มากำหนดนโยบายต่างมาจากกรมอื่น ระดับหัวดังกล่าวอาจเข้าใจคนท้องถิ่นได้ยากกว่าลูกหม้อของ สถ.เอง เป็นต้น พอหันมามอง อปท. ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะ อปท. กับ สถ. ไม่เกี่ยวกันในเส้นทางสายความก้าวหน้าอาชีพเลย คนละเส้นทางกัน คนละลูกหม้อกัน

นอกจากนี้ระบบการปกครองท้องถิ่นแบบ Decentralization ลอกเขามา แต่เมื่อนำมาใช้ในไทยมันได้ผิดรูปผิดร่างบิดเบี้ยวไปตามบริบทของไทย ไม่เป็นไปตามทฤษฎีที่ลอกเลียนมา อาทิ (1) เรื่องการกำกับดูแลว่า ใครกำกับดูแลใคร ใครคุมใคร ใครสั่งใคร แม้รัฐธรรมนูญจะบัญญัติไว้แล้ว บางอย่างต้องมาแปลความ และแก้ไขกันใหม่ หรือ  (2) เรื่องงบยุทธศาสตร์ มองที่อำนาจหน้าที่และภาพรวมแล้วแปลก  อำเภอซึ่งเป็นฝ่ายปกครองกลับลงมาทำโครงการแทนท้องถิ่นซึ่งเป็นหน้าที่ของท้องถิ่นเอง โดยใช้คนท้องถิ่นทำงาน เท่ากับว่าฝ่ายผู้กำกับบริหารงบประมาณ เช่น งบประชารัฐ งบไทยนิยม

การมองว่าสังคมวงราชการท้องถิ่นแย่ป่วย ต้องแก้ไข มิได้เป็นเช่นนั้นทั้งหมด เพราะสังคมย่อมมีทั้งสองด้านดีและไม่ดี สังคมมีกลไก การทำงานท้องถิ่นต้องทำให้ประชาชนเขาพึงพอใจ ไม่ว่าด้วยจิตคิดดีสำนึกในหน้าที่ก็ดี ด้วยฐานเสียงก็ดี หากคนทำไม่ดี มีช่องทางร้องเรียนสื่อโซเชียลก็สะดวก ประชาชนเก่งฉลาดขึ้น ภาคประชาสังคมเข็มแข็งแกร่งขึ้น กรณีพบคนไม่ดีทุจริตตรงไหนก็เชือดเป็นรายท้องถิ่นไป ไม่ได้เน่าทั้งหมด ประชาชนพื้นที่จะรู้  การมองเปรียบเทียบระบบราชการดังกล่าวในภาพรวมของประเทศไทย จะเห็นว่า ท้องถิ่นยังดีกว่า การที่ส่วนกลางส่วนภูมิภาคมีข่าวการทุจริตมากขึ้น เพราะเขาไม่มีกลไกประชาชนดังเช่นท้องถิ่น

 

วิพากษ์การสอบบริหารอำนวยการท้องถิ่น [7]

อดไม่ได้ที่จะวกมาวิพากษ์เรื่องนี้บ้าง นับแต่การยึดอำนาจการบริหารงานบุคคลมาจากนายก อปท. และ ก.จังหวัดมาให้ ก.กลางแล้ว ก็มิวายมีประเด็นให้โต้แย้ง ถกเถียงวิพากษ์ จนถึงการพึ่งบารมีศาลปกครอง [8] ถือเป็นจุดอ่อนด้อยของท้องถิ่นประการหนึ่ง ประหนึ่งว่า ผู้ที่เคยกำกับดูแล อปท. มาตลอดยังมีวิสัยทัศน์ที่เหมือนเดิมเคร่งครัด ยืนยันในการกระทำทางปกครองของตนเองว่าถูกต้อง ชอบแล้ว เพราะสะท้อนออกมาด้วยถ้อยคำที่ว่า [9] การร้องเรียนการสอบบริหารท้องถิ่นนั้นหากเรื่องไปสู่กระบวนการศาลแล้ว สถ. ไม่อาจดำเนินการรับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ไว้ได้ เพราะจะเป็นการละเมิดอำนาจศาล และนอกจากนี้การเข้าสู่กระบวนการศาล สถ. ถือว่า ผู้ร้องทุกข์ร้องเรียนได้รับหลักประกันในเรื่องความเป็นธรรมแล้ว ซึ่งในประเด็นนี้มีเหตุผลในทางปกครองว่า [10] (1) การอ้างว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาลไม่จริงเสมอไป เพราะ หากเป็นความผิดพลาดบกพร่องของฝ่ายปกครองหรือ ด้วยเหตุผิดพลาดบกพร่องด้วยประการอื่นใดก็ตาม ฝ่ายปกครองสามารถใช้อำนาจพิจารณาวินิจฉัย เพื่อ ยกเลิก เพิกถอน แก้ไข เปลี่ยนแปลง เพิ่มเติมฯ "การกระทำทางปกครอง" (คำสั่งทางปกครองรวม ปฏิบัติการทางปกครอง) "ของตนเอง" ได้ทุกเมื่อ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งบารมีศาล (2) การอ้างกระบวนการศาลตามข้อ (1) จึงไม่ชอบด้วยเหตุผลเพราะ มิเช่นนั้น หลักการ "ยุติธรรมทางเลือก" (ADR-Alternative Dispute Resolution) [11] คงไร้ผล และคงไม่มีศาลหรือหน่วยงานใด ๆ นำ ADR มาใช้แน่นอน (3) ฉะนั้นคำตอบตามเหตุผลของฝ่ายปกครองดังกล่าว จึงไม่อาจรับฟังได้  นอกจากนี้ เมื่อคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองแล้ว ฝ่ายปกครองยังสามารถ “ทบทวนคำสั่งทางปกครองได้” [12] ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีไว้เพื่อการยุติธรรม (jus aequum) ที่มีบัญญัติไว้ในระบบกฎหมายของการพิจารณาข้อพิพาททุกประเภท ทั้งเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรและหลักกฎหมายทั่วไป ในการพิจารณาทบทวนคำสั่งทางปกครองนั้น ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ การทบทวนคำสั่งทางปกครองไว้ 3 กรณี คือ (1) การอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง (2) การขอให้พิจารณาใหม่ และ (3) การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองโดยเจ้าหน้าที่นั้นเอง

การพยายามคัดค้านของฝ่ายปกครองในกรณีที่ถูกร้องเรียนและฟ้องคดีจากผู้เข้าสอบบริหารอำนวยการท้องถิ่น ด้วยเหตุบกพร่องผิดพลาดของ ก.กลาง โดย กสถ. ถือว่าเป็นการยื้อเวลา การอาศัยกระบวนการศาลที่ค่อนข้างยาวนาน อาจสร้างกระแสการเก็บกดแก่ข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่เข้าสอบเป็นจำนวนกว่าสองสามหมื่นรายได้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในความบกพร่องโต้แย้งมีตั้งแต่เรื่องใหญ่ไปจนถึงเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้

เรื่องใหญ่เรื่องเล็กรวม ๆ กัน อาทิ (1) ประเด็นการมอบอำนาจของ คสช. ให้แก่ ก.กลาง แต่ ก.กลาง มอบอำนาจให้ กสถ. [13] ที่มี อ.สถ.เป็นประธานดำเนินการ ชอบด้วยกฎหมายเพียงใดหรือไม่ อย่างไร เพราะเมื่อคณะอนุกรรมการฯ สร้างความไม่ชอบธรรมในการสรรหานั่นอาจเป็นสภาพที่ร้ายแรงที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของ คสช. ที่ ก.กลางต้องเข้ามาร่วมรับผิดชอบแก้ไข เป็นต้น (2) ความเที่ยงตรงและความน่าเชื่อถือของข้อสอบ (Validity & Reliability) โดยเฉพาะข้อสอบปรนัยที่ต้องมีคำตอบชัดเจน แน่นอน [14] และ คำตอบอัตนัยที่ต้องมีผู้เชี่ยวชาญตรวจเช็ครอบสอง (Double Check) โดยเฉพาะผู้สอบที่ทำคะแนนตกต่ำกว่าเกณฑ์เพียงเล็กน้อย [15]  (3) การประกาศผลสอบที่คะแนนผิดพลาด คนสอบคะแนนผ่านแต่ไม่มีรายชื่อว่าผ่าน (สอบตก) (4) การประกาศรายชื่อกับเลขประจำตัวสอบไม่ตรงกัน (5) การประกาศรายชื่อผู้สอบบริหารสูง ไม่ต้องพิจารณาเรื่องเกณฑ์คะแนนการสอบข้อเขียน โดยอ้างว่าเป็นการสอบที่วัดสมรรถนะสูง ต้องสอบต้องวัดทุกคน (6) ลายมือชื่อลงนามกำกับเอกสารประกาศผลการสอบไม่ชัดเจน (7) ระยะเวลาการตรวจข้อสอบอัตนัยที่รวดเร็วมาก ผู้สอบหลายรายได้คะแนนน้อยกว่าที่ตนเองคาด (8) การไม่ยอมเปิดเผยธงคำตอบข้อสอบ (9) รวมไปถึงเรื่องการล็อกรายชื่อผู้สอบได้ (การทุจริต) ที่เป็นข่าวกรณีของเมืองพัทยา [16] (10) การทุจริตอื่นใด ฯลฯ เป็นต้น [17]

 

การจัดการฝึกอบรมแก่บุคคลากรส่วนท้องถิ่น

ขอแถมท้ายในการพัฒนาศักยภาพแก่บุคลากรส่วนท้องถิ่นทั้งฝ่ายข้าราชการประจำ และฝ่ายการเมืองยังเป็นสิ่งจำเป็นที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ สถาบันพัฒนาบุคลากรส่วนท้องถิ่น” (สบ.พถ.) [18] กรมส่งเสริมการปกครองการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) ซึ่งเดิมเป็นภารกิจของกรมการปกครองที่ได้แยกส่วนราชการมาตั้งใหม่ตั้งแต่ 9 ตุลาคม 2545 เป็นต้นมา แต่อย่างไรก็ตามการฝึกอบรม การประชุมชี้แจงระยะสั้น ยังมีการดำเนินการโดยหลายหน่วยงาน ทั้งหน่วยงานภายนอก และ การดำเนินการโดยบุคลากรของ สถ. ที่ร่วมกับหน่วยดำเนินการอื่นทั้ง สถาบันการฝึกอบรมของหน่วยราชการอื่น มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา สมาคม ชมรม ฯลฯ อีกมากมาย

ในกระบวนการบริหารจัดการให้ความรู้ด้านต่างๆ ให้ อปท. ปฏิบัติตามหนังสือสั่งการ ระเบียบฯ กฎหมาย อาทิ งานบริหารบุคคล งานแผนฯ งานการคลัง การศึกษา สาธารณสุข ฯลฯ หรืออื่นใด  สถ. จึงไม่ดำเนินการโดยสถาบันของกรมฯ (สบ.พถ.) ที่สร้างมาด้วยเงินมหาศาล แต่กลับให้มหาวิทยาลัยดำเนินการและเป็นผู้รับผิดชอบโครงการอบรม นัยว่ามหาวิทยาลัยเป็นผู้รู้หรือว่าชำนาญงานเฉพาะทางเหล่านั้น แต่ลืมไปว่า สถ. เป็นคนคิด ร่าง เขียน เสนอ ฯ ระเบียบสั่งการฯ นั้น ๆ ฉะนั้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่วิทยากรหลักของการประชุมอบรมในลักษณะเช่นนี้ ก็ต้องอาศัยบุคลากรของ สถ. เช่นเดิม การดำเนินการในลักษณะเช่นนี้มีการย้อนคำถามว่าเหมาะสมเพียงใด หรือไม่ อย่างไร มีความจริงใจกับ คน อปท.หรือไม่ มีผลประโยชน์แอบแฝง ผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ การกำกับดูแล อปท. ในบริบทของ สถ. เหมาะสม เพียงพอแล้วหรือยัง เพราะ อปท. มีจำนวน และปริมาณงานที่เกินกว่า สถ. จะรับผิดชอบ ตรงนี้ สถ. และ มท. ยอมรับความจริงหรือไม่ อย่างไร

ในระยะยาวเห็นว่าควรมีการวางแผนงานการฝึกอบรมโดย สบ.พถ. สร้างหลักสูตรขึ้นมาเอง แล้วจ้างผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหานั้น ๆ มาเป็นวิทยากร จะประหยัดงบประมาณ และได้ประโยชน์เต็มที่กว่า เช่น การอบรมการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น [19] การอบรมการพัสดุฯ เป็นต้น

 

[1]Phachern Thammasarangkoon, Municipality Officer ทีมวิชาการสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 65 ฉบับที่ 43 วันศุกร์ที่ 6 - วันพฤหัสบดีที่ 12 กรกฎาคม 2561, เจาะประเด็นร้อน อปท.หน้า 66 

[2]องค์ความรู้ (body of knowledge), www.dcy.go.th/km/knowledge/kvj_21_12_49.pdf  

หมายถึง ความรู้ที่อยู่ในศาสตร์ได้แก่ความคิดรวบยอด หลักการ วิธีการ ที่อยู่ในตำรา อยู่ในห้องสมุด ซึ่งอยู่ภายนอกตัวบุคคล ที่สั่งสมกันมาเพื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้

[3]หมายถึง การบริหารท้องถิ่นแบบนายกเทศมนตรีที่มีอำนาจมาก (Strong Executive)

ดู มรุต วันทนากร, ผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงของเทศบาลภายหลังการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีโดยตรงภายในประเทศไทย, วิทยานิพนธ์ คณะรัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 31 มีนาคม 2548, บทที่ 2 หน้า 36,

http://digi.library.tu.ac.th/thesis/po/0679/01TITLE.pdf  & http://digi.library.tu.ac.th/thesis/po/0679/10CHAPTER_2.pdf

แนวคิดว่าด้วยฝ่ายบริหารท้องถิ่นเข้มแข็ง (Strong Executive) แพร่หลายมากที่สุดในโลกก็ว่าได้ เนื่องจากเป็นรูปแบบที่มีการแบ่งแยกฝ่ายบริหาร กับ ฝ่ายสภา ฝ่ายบริหารคือ นายกเทศมนตรี (Mayor - Council Form of Government) ซึ่งนายกเทศมนตรีมีอำนาจอย่างน้อย 3 ประการคือ (1) อำนาจในการบริหารงานบุคคล (Appointment Power) (2) อำนาจในการจัดทำงบประมาณ (Budgetary Power) (3) อำนาจในการยับยั้งกฎหมาย (Veto Power)

[4]“Generally, the act give mayors tremendous powers in making decisions in hiring, promoting, and transferring municipal personnel through the Committee for Municipal Personnel (ก.ท. คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล)”

อ้างจาก Public Administration in Southeast Asia: Thailand, Philippines, Malaysia, Hong Kong, and Macao, Edited by Evan M. Berman, CRC Press Taylor & Francis Group, 2011. Political Science, Section I By Ponlapat Buracom & Bidhya Bowornwathana (Assoc Prof. CU), pp.29-140., https://books.google.co.th/books?id=QB03DwAAQBAJ&pg=PA73&lpg=PA73&dq=committee+for+standard+of+local+personnel+administration+bureau&source=bl&ots=PFnXsxLycV&sig=xcyN72xnFd3sbnPWAZH7qRHmrKU&hl=th&sa=X&ved=0ahUKEwjMhZbl1eDXAhXJvo8KHUh6CE8Q6AEIJzAA#v=onepage&q=committee%20for%20standard%20of%20local%20personnel%20administration%20bureau&f=false

[5]ดวง ย่อมาจาก (1) ด=เด็กนาย (2) ว=ต้องวิ่งเต้น และ (3) ง=ต้องใช้เงิน  

[6]ฉันหมดไฟก่อนได้เติบโต : ข้อเสนอปรับระบบราชการเพื่อคนรุ่นใหม่, 13 พฤศจิกายน 2560, https://thematter.co/pulse/bureaucracy-burnout/39077

โดย 2 นักรัฐศาสตร์ รศ.ตระกูล มีชัย จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และ ผศ.ดร.อรทัย ก๊กผล จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

[7]ประกาศการขึ้นบัญชีและยกเลิกบัญชีผู้ผ่านการสรรหาเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสายงานผู้บริหาร ตามหนังสือสำนักงาน ก.จ. ก.ท. และ ก.อบต. ที่มท 0809.2/ว 108 ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2561, http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2018/6/20113_1_1529405461228.pdf?time=1529406395941

อบต.

http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2018/6/20113_4_1529405461275.pdf?time=1529406395941

เทศบาล

http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2018/6/20113_3_1529405461260.pdf?time=1529406395941

อบจ

http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2018/6/20113_2_1529405461260.pdf?time=1529406395941

เมืองพัทยา

http://www.dla.go.th/upload/document/type2/2018/6/20113_5_1529405461291.pdf?time=1529406395941

[8]ทราบว่ามีคดีปกครองที่ผู้เข้าสอบบริหารอำนวยการท้องถิ่นทั่วประเทศฟ้อง กสถ. ต่อศาลปกครองหลายคดี ซึ่งถือเป็นคดีที่น่าสนใจติดตามมาก ดู

เครือข่ายขรก.ท้องถิ่น7องค์กร เปิดแถลงการณ์ไม่ยอมรับผลการสอบคัดเลือกสายงานบริหารและอำนวยการท้องถิ่น, 7 พฤษภาคม 2561, https://siamrath.co.th/n/35202

& เครือข่ายขรก.ท้องถิ่น 7 องค์กร ตั้งโต๊ะแถลงการณ์ จี้แก้ปัญหาสอบคัดเลือกสายงานบริหารและอำนวยการท้องถิ่น, 24 มิถุนายน 2561, https://siamrath.co.th/n/38074

[9]ในทางวิชาการและทางปกครอง "ดุลพินิจทางวิชาการ" เป็น "ดุลพินิจเต็ม" ที่ไม่อาจโต้แย้งได้  โต้แย้งได้เฉพาะ "กระบวนการใช้อำนาจดุลพินิจ (ทางวิชาการ)" แต่อย่างไรก็ตาม มีตัวควบคุมอยู่บ้าง อาทิเช่น "จรรยาวิชาชีพ" และ "การตรวจสอบกระบวนการขั้นตอนการใช้อำนาจดุลพินิจโดยศาล" หรือ "กระบวนการร้องเรียน" หรือ "การใช้กระบวนการภายในร้องเรียนทักท้วงขอความเป็นธรรมถูกต้อง เพื่อให้หน่วยงานผู้กำกับดูแล ตรวจสอบ ทบทวนได้"  โดยเฉพาะ ข้อสอบเขียน "แบบอัตนัย" (Subjective or Essay Type) ที่เป็นข้อสอบปลายเปิด ธงคำตอบไม่ควรมีตายตัว เพราะเป็นข้อสอบ "ปลายเปิด" (Open end) ซึ่งมิใช้ข้อสอบ "ปลายปิด" (Close end) ที่มีคำตอบตรงตัวชัดเจน เช่น ปรนัย (Objective type or Multiple - Choices) ... ซึ่งหลักสำคัญของข้อสอบต้อง "มีความเที่ยงตรงและเชื่อถือได้" (Validity & Reliability) กล่าวคือ เป็นกระบวนการที่น่าเชื่อถือ สามารถตรวจสอบอ้างอิงได้ แม้เพียงแค่หลัก "ตรรกะธรรมดา" หรือ "ตรรกะพื้นฐาน" ที่มักเรียกกันว่า "กำปั้นทุบดิน" ได้... มิเช่นนั้น กระบวนใด ๆ ที่มีการใช้แบบทดสอบอัตนัยจะทำให้เป้าหมายที่ต้องการบิดเบือน หรือ เรียกว่า "เพี้ยนเสียศูนย์" (Abused)ได้ หรือ "ในกรณีที่มีการทุจริต" ซึ่งมีมาแล้วมากมาย โดยเฉพาะท้องถิ่น ได้แก่ การซื้อขายตำแหน่ง การเรียกรับเงิน/การเสียเงินให้ผู้มีอำนาจ (ไม่ว่าจะเป็นกรณีตกเบ็ด หรือสมยอม กินตามน้ำหรือใดๆก็ตาม...) การปล่อยข้อสอบรั่ว การขายข้อสอบ การแก้ไขคะแนนสอบ การเปลี่ยนไส้กระดาษคำตอบ รวมถึงการทุจริตใด ๆ ทางอนาล็อกหรือ ทางอิเล็กทรอนิกส์ ...ฯลฯ... (มากมาย จารนัยไม่หมด)... นักวิชาการทั่วไปพึงระวัง... , ความเห็นผู้เขียนใน Facebook เผยแพร่ 17 มิถุนายน 2561,

... ลองอ่านนี่ดู... หนูสอบไม่ผ่าน…ฟ้องศาลตรวจสอบอาจารย์ได้ไหม ???, MGROnline, 19 ธันวาคม 2555,

https://mgronline.com/crime/detail/9550000153657  

[10]ความเห็นผู้เขียนที่ไม่เห็นพ้อง สถ. กรณีที่ สถ.ยกคำร้องทุกข์ “ศูนย์ดำรงธรรมท้องถิ่น” ของผู้เข้าสอบบริหารอำนวยการรายหนึ่ง ดูใน Facebook  ผู้เขียนเผยแพร่เมื่อ 26 มิถุนายน 2561, 22.21 น.

[11]ทางปฏิบัติลึก ๆ ของ ADR ก็คือ ให้เอามาใช้ในทุกขั้นตอน ในกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้คดีน้อยลง เป้าหมายคือ ความ "เป็นธรรมถูกต้อง" (Justice & Fair = Legitimacy) ของ ประชาชน และสังคม เพราะ หากคดีขึ้นสู่ศาลแล้ว การกระทำหรือพิจารณาให้ได้ข้อยุติก่อนที่ศาลจะตัดสิน ไม่น่าจะถือเป็นการละเมิดอำนาจศาล เพราะเป็นกระบวนการภายในของฝ่ายปกครองในการ "ทบทวนคำสั่งทางปกครอง" ที่จะกระทำได้ทุกเมื่อ

ดู ความชอบธรรม (รัฐศาสตร์), วิกิพีเดีย, https://th.wikipedia.org/wiki/ความชอบธรรม_(รัฐศาสตร์)

&  ดู เปรมมิศา หนูเรียงงาม, การพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางเลือก กรณีศึกษาการนำกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเชิงบังคับมาใช้ในประเทศไทย, 28 สิงหาคม 2556, www.ncjad.go.th/index.php/files/download/32c48ffaf2972e7

& แม้ในการฟ้องคดีอาญายังต้องมีกฎหมายชะลอ ดู "ทำไมต้องมีกฎหมายชะลอฟ้อง", BRIGHT TVPublished, 11 มิถุนายน 2559, https://www.youtube.com/watch?feature=youtu.be&v=1hWfF3cHYOA&app=desktop

[12]ดู "การทบทวนคำสั่งทางปกครองโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เมื่อคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง" ใน Facebook หลักกฎหมายปกครองวันละเรื่อง, 27 มิถุนายน 2561, https://www.facebook.com/DroitAdministrative/posts/2233896219959609

[13]กสถ. หรือ “คณะอนุกรรมการสรรหาข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นให้ดำรงตำแหน่งสายงานผู้บริหาร” ของ ก.กลาง เดิมมี รศ.กฤษฎางค์ ปาณิกบุตร เป็นประธาน แต่ได้ขอถอนตัว

[14]เห็นว่า คำถามข้อสอบแบบ ปรนัย ต้องชัดเจน และต้องเป็น "ข้อเท็จจริงข้อกฎหมายที่นิ่งแล้วหรือได้ข้อยุติแล้ว" เท่านั้น

ยกตัวอย่างเช่น  คำถามว่า “ลำดับศักดิ์ของกฎหมาย คำสั่ง คสช.เทียบเท่ากฎหมายใด” โปรดดู  คำถามคำตอบในเวบ มีชัย ฤชุพันธุ์, 20 พฤษภาคม 2561, http://www.meechaithailand.com/ver1/?module=4&cateid=07&action=view&id=052856#q

& ดู กฤษฎีกา' ตอบสำนักเลขานายกฯ ชี้ประกาศคสช.เป็นกฎหมาย-คำสั่งบริหาร, PRACHATAI, 15 ตุลาคม 2557,  https://prachatai.com/journal/2014/10/56015

& ดู คำวินิจฉัย เรื่องเสร็จที่ 953/2557 ตามบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) เดือน ตุลาคม 2557

[15]ตัวอย่างเช่นการสอบข้อเขียนกฎหมายเนติบัณฑิต ดู ระเบียบสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ว่าด้วยการตรวจให้คะแนนการสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต พ.ศ. 2559 ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2559, http://www.thethaibar.or.th/thaibarweb/files/Data_web/3_%20Kong_Borikan/Borihan_Kansueksa/8_Check_the_ratings2559.pdf

ข้อ 4 "การตรวจให้คะแนนคำตอบแต่ละข้อ ให้กรรมการผู้ตรวจซึ่งประกอบด้วย กรรมการผู้ตรวจให้คะแนนอย่างน้อยสองคน ตรวจและให้คะแนนคำตอบตามหลักเกณฑ์การตรวจและให้คะแนนที่กำหนดท้ายระเบียบนี้ และให้ผู้สอบได้คะแนนตามค่าเฉลี่ยที่คำนวณจากคะแนนที่กรรมการผู้ตรวจแต่ละคนกำหนด

ในกรณีที่กรรมการผู้ตรวจให้คะแนนในข้อนั้นๆ ต่างกันตั้งแต่สี่คะแนนขึ้นไป ให้เลขาธิการสานักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาแต่งตั้งกรรรมการอีก 1 คนเพื่อเป็นผู้ตรวจและให้ถือการให้คะแนนใหม่เป็นที่สุด"

[16]นายพลกลาโหมฮั้วบิ๊กเมืองพัทยาล็อคผลสอบข้าราชการ, คมชัดลึก ภาพโดย Nation TV, 2 กรกฎาคม 2561, http://www.nationtv.tv/main/content/378637840/

[17]ดู Facebook อสถ. Suttipong Juljarern, 1 พฤษภาคม 2561, 16:59 น.

ท่านที่สงสัยคะแนนการสอบของตนเองทุกท่านสามารถขอดูได้หลังสอบสัมภาษณ์ไปแล้ว ครับ ไม่ต้องห่วงเพราะกระดาษคำตอบทั้งหมดเก็บใส่ห้องมั่นคงไว้ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ครับ ทั้งนี้เนื่องจากจะต้องมีการสอบสัมภาษณ์ ระหว่าง 28 - 31 พ.ค. 61 (ซึ่งจะมีการนำคะแนนในรอบแรกไปรวมด้วย หากคะแนนรอบแรกของผู้สอบผ่านเกิดรั่วไหลจะทำให้เกิดปัญหาในการสอบสัมภาษณ์) ดังนั้น เมื่อมีการประกาศผลการสรรหา และขึ้นบัญชีผู้ผ่านการสรรหาแล้ว จะได้มีการแจ้งให้ผู้สมัครเข้ารับการสรรหาที่ต้องการทราบคะแนนของตนเองสามารถเข้าดูคะแนนทั้งภาคความรู้ความสามารถ (ข้อเขียน) และภาคความเหมาะสม (สัมภาษณ์)ได้ ครับผลคะแนนระดับสูงไม่มีตกครับเป็นการทดสอบสมรรถนะ แต่มีเรียงลำดับคะแนนครับ ซึ่งหมายความว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะได้เลื่อนระดับ .... การสอบรอบต่อไปก็ต้องมีแน่นอนครับ เพราะมีตำแหน่งว่างอีกเยอะแยะ อ่านหนังสือตามกรอบในประกาศรับสมัครที่ผ่านมาให้ดี...

[18]สถาบันพัฒนาบุคลากรส่วนท้องถิ่น” (สบ.พถ.), http://www.lpdi.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=9&Itemid=27

[19]“ท้องถิ่น” โวยเก็บค่าอบรม “เตรียมพร้อมเลือกตั้ง” แพงเว่อร์, เดลินิวส์, 4 พฤษภาคม 2561, https://www.dailynews.co.th/politics/641607

หมายเลขบันทึก: 648754เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2018 14:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กรกฎาคม 2018 12:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท