สอบโอเน็ตและพิซ่าให้ได้คะแนนดี : พุทธวิธีในการสอน


ข้อสอบพิซ่าและต่อมาโอเน็ต เป็นการปฏิรูปการออกข้อสอบด้วยการยกระดับจาก "การทดสอบความรู้" เป็น "การทดสอบการใช้ความรู้"  การเรียนการสอนจำเป็นต้องเปลี่ยนตามไปด้วย นักเรียนจึงจะสอบได้คะแนนดี อย่างไรก็ตาม การยกเรื่องคะแนนดีขึ้นมากล่าวเป็นเพียงการชี้ผลในเชิงปฏิบัตการเท่านั้น เป้าหมายที่แท้จริงคือ การยกระดับการเรียนรู้ของนักเรียนให้สูงขึ้น จึงต้องกล่าวถึง เรื่องการปฏิรูปการเรียนการสอน 

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้แสดง พุทธวิธีในการสอน ไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2513 แต่ทุกวันนี้ ก็ยังทันสมัยอยู่ และน่าจะใช้ได้ดีเพื่อการนี้ จึงขอนำส่วนหนึ่งของหลักการมาแสดงไว้ดังต่อไปนี้ 


"..... ภารกิจสําคัญของการศึกษาก็คือ การฝึกอบรมบุคคลให้พัฒนาปัญญา ให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ในข้อเท็จจริงและสภาวะของสิ่งทั้งหลาย มีทัศนคติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง ปฏิบัติและจัดการกับสิ่งทั้งหลายตามที่ควรจะเป็น เพื่อให้เกิดเป็นประโยชน์ตน คือ ความมีชีวิตอยู่อย่างสําเร็จผลดีที่สุด มีจิตใจเป็นอิสระ มีสุขภาพจิตสมบูรณ์  และประโยชน์ผู้อื่น คือ สามารถช่วยสร้างสรรค์ประโยชน์สุข แก่ชนทั้งหลายที่อยู่ร่วมกันเป็นสังคมได้ 
จากข้อความที่กล่าวมา มีข้อที่ควรกําหนด คือ:-

๑. ภารกิจสําคัญของการศึกษา ได้แก่ การช่วยให้บุคคลเกิดทัศนคติที่ถูกต้อง คือ รู้จักมองสิ่งทั้งหลาย ตามที่มันเป็น และสามารถจัดการกับสิ่งเหล่านั้นตามที่ควรจะเป็น ให้เกิดเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตน และสังคม ไม่ให้มองเห็นและจัดการสิ่งทั้งหลายตามอํานาจกิเลสตัณหา
๒. ทัศนคติที่ถูกต้อง และความสามารถจัดการดังกล่าวนั้น เกิดขึ้นได้ด้วยการพัฒนาปัญญา และปัญญา เป็นความรู้ความเข้าใจที่เกิดขึ้นในตัวบุคคลนั้นเองเท่านั้น ผู้อื่นจะนํามายัดเยียดให้หรือบังคับให้รับ เข้าไว้ไม่ได้
๓. ในเมื่อปัญญาต้องเกิดจากความรู้ความเข้าใจที่พัฒนาขึ้นในตัวบุคคลเอง ภารกิจของผู้สอนและ ให้การศึกษาทั้งหลาย จึงเป็นเพียงผู้ชี้นําทางหรืออํานวยโอกาส ช่วยให้ผู้เรียนหรือผู้รับการศึกษาอบรม ดําเนินเข้าสู่ปัญญา สิ่งที่ดีที่สุดที่ผู้สอนที่ดีจะทําได้ก็คือ ตั้งใจช่วยเหลือ พยายามสรรหาอุบาย กลวิธี และ อุปกรณ์ต่างๆ ที่จะมาช่วยผู้เรียนให้เข้าถึงปัญญาอย่างได้ผลดีที่สุด อย่างที่ สํานวนบาลีเรียกว่า เป็นกัลยาณมิตร
๔. โดยเหตุผลเดียวกัน ในระบบการศึกษาเช่นนี้ ผู้เรียนเป็นผู้มีบทบาทสําคัญในฐานะเป็นผู้สร้างปัญญา ให้เกิดแก่ตน จึงต้องเป็นผู้มีส่วนร่วมและเป็นผู้ได้ลงมือกระทําให้มากที่สุดเท่าที่จะช่วยให้ตัวเขาเกิด ปัญญานั้นขึ้นได้ และโดยนัยนี้ ความสามารถ ความถนัด อุปนิสัยต่างๆของผู้เรียน จึงเป็นสิ่งที่ผู้สอน จะต้องคํานึงอย่างสําคัญ เพื่อจัดสภาพการเรียนและกลวิธีสอนต่างๆ เป็นต้น ให้ผู้เรียนเรียนอย่าง ได้ผลดีที่สุด 
๕. ในเมื่อปัญญาเป็นของยัดเยียดบังคับให้รับเอาไม่ได้ การเรียนการสอนจึงต้องใช้วิธีการแห่งปัญญา คือ ผู้เรียนต้องเป็นอิสระในการใช้ความคิด และในการที่จะซักถามโต้ตอบสืบเสาะค้นหาความจริงต่างๆ ให้ได้รับความรู้ความเข้าใจขึ้นในตน ในระบบการศึกษาแบบนี้ จึงมีการปฏิบัติอย่างกาลามสูตร ไม่มีการบังคับให้เชื่อ ความเชื่อหรือศรัทธาในระบบการศึกษานี้ หมายเพียง ความเชื่อมั่นในหลักการ วิธีการและสมมติฐานต่างๆ ที่ ตนได้ตั้งขึ้น โดยมีเหตุผลเป็นฐานรองรับอย่างเพียงพอแล้วว่า จะนําให้ ดําเนินไปสู่จุดหมายได้อย่างแท้จริง และเป็นสิ่งที่จะพิสูจน์ได้ต่อไป ตามลําดับในระหว่างดําเนินไปสู่ เป้าหมายนั้น 
วางเป็นข้อสรุปที่เกี่ยวกับการสอน ดังนี้:- 

๑. ปัญญาเป็นสิ่งสร้างสรรค์ขึ้นภายในตัวผู้เรียนเอง
๒. ผู้สอนทําหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรช่วยชี้นําทางการเรียน 
๓. วิธีสอน อุบาย และกลวิธีต่างๆ เป็นสื่อหรือเป็นเครื่องผ่อนแรงการเรียนการสอน
๔. อิสรภาพในทางความคิด เป็นอุปกรณ์สําคัญในการสร้างปัญญา

 อนึ่ง โดยที่ปัญญาเป็นส่วนสําคัญยิ่งในระบบการศึกษานี้ เช่นที่กล่าวมาแล้ว จึงสมควรทําความเข้าใจ เกี่ยวกับเรื่องปัญญา ที่มักแปลกันว่า ความรู้  ไว้เพื่อกันความสับสนสักเล็กน้อย 

ความรู้ในที่นี้ ควรแยกเป็น ๒ ประเภท คือ:-
๑. สุตะ คือ ความรู้จากการสดับตรับฟัง หรือ เล่าเรียน อ่าน รับถ่ายทอดจากแหล่งความรู้อื่น การสั่งสม ความรู้ประเภทนี้ไว้ได้มาก เรียกว่า พาหุสัจจะ แปลว่า ความเป็นพหูสูต คือ ความเป็นผู้คงแก่เรียน หรือ ได้เรียนรู้มาก เป็นความรู้ประเภทประมวลหรือรวบรวมสิ่งอันจะพึงรู้ ทําตนให้เป็นคลังเก็บความรู้ ซึ่งถือ ว่าเป็นคุณสมบัติที่ดีของบุคคลอย่างหนึ่ง เป็นอุปกรณ์สําหรับนําไปใช้ทําประโยชน์ต่างๆ ได้มาก แต่ไม่ถือ เป็นองค์ธรรมแกนในระบบการศึกษา 
๒. ปัญญาคือความรู้ประเภทเข้าใจสภาวะ รู้คิด รู้เลือกคัด วินิจฉัย และรู้ที่จะจัดการ เป็นความรู้ประเภทที่ มุ่งหมายและเป็นส่วนสําคัญในระบบการศึกษานี้ ปัญญานี้มีไวพจน์มากมาย เช่น ญาณ วิชชา ปริญญา ปฏิสัมภิทา วิปัสสนา สัมมาทิฏฐิ เป็นต้น ซึ่งแสดงถึง ความหมายในแง่ต่างๆ และขั้นต่างๆของปัญญา นั่นเอง สิ่งที่ควรทําความเข้าใจอีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ ลักษณะงานสอน ซึ่งแตกต่างกันตามประเภทวิชา อาจแยกได้เป็น ๒ ประเภท คือ วิชาประเภทชี้แจงข้อเท็จจริง เช่น ภูมิศาสตร์ และประวัติศาสตร์ เป็นต้น การสอนวิชาประเภทนี้ หลักสําคัญอยู่ที่ทําให้เกิดความเข้าใจในข้อเท็จจริง การสอนจึงมุ่งเพียงหาวิธีการ ให้ผู้เรียนเข้าใจตามที่สอนให้เกิดพาหุสัจจะเป็นใหญ่ 
ส่วนวิชาอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวด้วยคุณค่าในทางความประพฤติปฏิบัติ โดยเฉพาะวิชาศีลธรรม และจริยธรรมทั่วไป การสอนที่จะได้ผลดี นอกจากให้เกิดความเข้าใจแล้ว จะต้องให้เกิดความรู้สึก มองเห็นคุณค่าและความสําคัญ จนมีความเลื่อมใสศรัทธาที่จะนําไปประพฤติปฏิบัติด้วย 
สําหรับวิชาประเภทนี้ ผลสําเร็จอย่างหลังเป็นสิ่งสําคัญมาก และมักทําได้ยากกว่าผลสําเร็จ อย่างแรก เพราะต้องการคุณสมบัติขององค์ประกอบในการสอนทุกส่วน นับแต่คุณสมบัติส่วนตัวของ ผู้สอนไปทีเดียว ..... "
 
หมายเหตุ - ผมใช้อักษรตัวหนาเพื่อเน้นข้อความ ความเข้าใจ ปฏิบัติ จัดการ ลงมือทำ และนำไปใช้ เพื่อเน้นความเชื่อมโยงกับการนำความรู้ไปใช้


อนึ่ง ในหนังสือพุทธวิธีในการสอนซึ่งมีความยาวเพียง 106 หน้า ยังมีประเด็นต่างๆที่น่าสนใจได้แก่ คุณสมบัติของผู้สอน หลักทั่วไปในการสอน ลีลาการสอน วิธีสอนแบบต่างๆ กลวิธีและอุปกรณ์ ประกอบการสอน รวมทั้งตัวอย่างการสอนจากพระธรรมเทศนาอาทิตตปริยายสูตร

อำนาจ ศรีรัตนบัลล์
27 มิถุนายน 2561
 

หมายเลขบันทึก: 648570เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2018 17:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ตุลาคม 2020 14:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

Thank you for this excellent info.May I add a link to download the book — free from พุทธวิธีในการสอน - วัดญาณเวศกวันwww.watnyanaves.net/uploads/…/buddha_s_teaching_method.pdf

เป็นหนังสือที่ดีมากเลยค่ะ ขอบพระคุณค่ะที่แชร์ไว้

ลิ้งก์ที่อาจารย์ใส่ไว้นั้นไม่พบข้อมูลนะคะ ต้องใช้ลิ้งก์นี้ค่ะ

พุทธวิธีในการสอน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท