ข้อสอบ


ข้อสอบแบบ PISA เป็นการทดสอบการใช้ความรู้ในสถานการณ์ที่เสมือนการใช้ความรู้ในชีวิตจริง นอกจากใช้ในการทดสอบได้แล้ว ยังใช้ในการสอนก็ได้ด้วย ความรังเกียจการสอบน่าจะลดลงไปได้บ้าง

องค์ประกอบหลักสามประการของการศึกษา ได้แก่ จุดมุ่งหมายการศึกษา การเรียนการสอน และการวัดและประเมินผล (1) ทั้งสามองค์ประกอบควรมีความสำคัญเท่าๆกัน น่าจะได้รับความนับถือเท่ากัน  แต่ในความเป็นจริง การวัดและประเมินผลได้รับความนับถือน้อยที่สุด อาจถึงกับถูกรังเกียจด้วยซ้ำไป เหตุผลสำคัญน่าจะเป็นเพราะเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผลยังดีไม่พอที่คนเห็นว่าเป็นประโยชน์คุ้มกับภาระและความยุ่งยากที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อสอบที่ใช้ประเมินผลการเรียนของนักเรียน 

ข้อสอบแบบที่ PISA ใช้ หรือที่เรียกว่า PISA - like น่าจะเป็นนวัตกรรมครั้งสำคัญที่อาจช่วยเปลี่ยนภาพพจน์ของข้อสอบ หลักการสำคัญของข้อสอบแบบ PISA คือ ใช้ข้อสอบเพื่อทดสอบการใช้ความรู้ ไม่ใช่แค่ทดสอบความรู้  มีข่าวดีว่าปัจจุบันนี้ O-NET ใช้ข้อสอบแบบ PISA แล้ว ตั้งแต่ พ.ศ. 2559 (1) แต่การเรียนการสอนจะมีการเปลี่ยนแปลงตามหรือไม่ยังเป็นปัญหา ถ้าเปลี่ยนจริงคะแนน O-NET ระดับชาติหรืออย่างน้อยระดับโรงเรียนน่าจะดีขึ้น 

ในความเป็นจริง วงการศึกษาแพทย์ไทยใช้แนวคิดข้อสอบแบบทดสอบการใช้ความรู้มานานแล้ว ก่อนที่จะมี PISA ด้วยซ้ำไป บังเอิญผมยังมีข้อสอบวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานของแพทสภาเมื่อกว่าสิบปีมาแล้วเก็บอยู่ในคอมพิวเตอร์ ข้อสอบเหล่านี้นักศึกษาแพทย์ที่เคยเข้าสอบช่วยกันจำไว้แล้วรวบรวมสะสมไว้ส่งต่อให้รุ่นน้อง ผมได้รับการร้องขอให้ช่วยติว (2) เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร (จากทั้งหมดประมาณสิบระบบ) ได้รับข้อสอบมา 65 ข้อ ข้อสอบซ้ำกันบ้าง ไม่สมบูรณ์บ้าง จึงมีที่นำมาวิเคราะห์ได้ 60 ข้อ ในจำนวนนี้เป็นการถามความรู้ (ดังตัวอย่างที่ 1) เพียง 6 ข้อ (ร้อยละ 10) ที่เหลือ 54 ข้อ (ร้อยละ 90) เป็นแบบทดสอบการใช้ความรู้ ซึ่งแบ่งย่อยเป็น การทดสอบการใช้ความรู้อย่างง่าย (ใช้มโนทัศน์เดียว ดังตัวอย่างที่ 2) 34 ข้อ และการใช้ความรู้แบบซับซ้อน 20  ข้อ (ใช้หลายมโนทัศน์ ดังตัวอย่างที่  3) 

 ตัวอย่างที่ 1 (ถามความรู้)

 Organelle ใดในตับทำหน้าที่ drug detoxification

   A. Nucleus

   B. Golgi complex 

   C. Mitochondria 

   D. SER

ตัวอย่างที่ 2 (ใช้ความรู้แบบง่าย หนึ่งมโนทัศน์คือ ระดับ AFP สูงใน Hepatocellular carcinoma)

     ชายไทยอายุ 60 ปี มีต่อมน้ำเหลืองที่คอโตมา 1 เดือน ผล Biopsy เป็น Metastatic tumor และพบว่าระดับ AFP สูงกว่าปรกติ คิดว่า Primary tumor มาจากที่ใด

   A. Prostatic tumor

   B. Renal cell carcinoma

   C. Colorectal adenocarcinoma

   D. Hepatocellular carcinoma

 

ตัวอย่างที่ 3 (ใช้ความรู้แบบซับซ้อน หลายมโนทัศน์)

     ชายอายุ 60 ปี หลังจากผ่าตัดลำไส้เล็กส่วนปลายออก แล้วมีอาการซีด เหนื่อย อ่อนเพลีย Hb 10, Hct 30, MCV 120 สาเหตุมาจากอะไร 

     A. การขาด B12

     B. การขาด Folic acid

     C. ......

     D. ......

มโนทัศน์ที่ 1: อาการของ Anemia ได้แก่ ซีด เหนื่อย อ่อนเพลีย

มโนทัศน์ที่ 2: Anemia แบ่งตามลักษณะของเม็ดเลือดแดง เป็นสามชนิด ได้แก่ Macrocytic anemia, Normochromic normocytic anemia, Microcytic hypochromic anemia

มโนทัศน์ที่ 3: Hb 10, Hct 30, MCV 120 เป็นลักษณะของ Macrocytic anemia

มโนทัศน์ที่ 4: สาเหตุของ Macrocytic anemia คือ B12 deficiency และ Folic acid deficiency

มโนทัศน์ที่ 5: การผ่าตัดลำไส้เล็กส่วนปลายออก ทำให้การดูดซึม B12 บกพร่อง

     ดูแล้วเหมือนจะยาก เพราะต้องใช้ความรู้ถึง 5 มโนทัศน์ แต่ความเชื่อมโยงกันใน โครงสร้างความรู้ทำให้ง่ายกว่าที่คิด เพราะทั้งหมดเชื่อมโยงกันเป็นส่วนหนึ่งของ B12 deficiency anemia ตามหลักมโนทัศน์ย่อยเชื่อมโยงกับมโนทัศน์ใหญ่

  ที่เสนอมาก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า เราอาจนำตัวอย่างข้อสอบมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนได้ด้วย (เคล็ดไม่ลับของอาจารย์กวดวิชา) เพื่อให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานและการแพทย์ทางคลินิก 

  

ข้อแบบ PISA เป็นการทดสอบการใช้ความรู้ในสถานการณ์ที่เสมือนการใช้ความรู้ในชีวิตจริง นอกจากใช้ในการทดสอบได้แล้ว ยังใช้ในการสอนก็ได้ด้วย ความรังเกียจการสอบน่าจะลดลงไปได้บ้าง

เอกสารอ้างอิง

(1) เอกสารประกอบการบรรยายเรื่อง "การนำผลการทดสอบการศึกษาระดับขั้นพื้นฐาน (O-NET) ไปสู่การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน"

http://www.niets.or.th/th/cont...

(2) การเรียนที่ง่ายสนุกและจำได้ดี บทที่สอง เคล็ดไม่ลับของอาจารย์กวดวิชา

Http://www.gotoknow.org/posts/... 

อำนาจ ศรีรัตนบัลล์

30 ม.ค. 61

หมายเลขบันทึก: 644290เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2018 11:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ตุลาคม 2020 13:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กราบคารวะครูครับ MD_CU 26

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท