การเรียนที่ง่ายสนุกและจำได้ดี บทที่สี่ ทฤษฎีการเรียนรู้


เมื่อเข้าใจก็จำได้ (ดีขึ้น) และเมื่อเข้าใจก็ (มีโอกาสสูงที่จะ) นำไปใช้ประโยชน์ได้

เมื่อไม่นานมานี้ ผมเตรียมตัวเพื่อไปเป็นวิทยากรในการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการเรียนการสอนโดยใช้ทีมเป็นฐาน จึงทบทวนเรื่องทฤษฎีการเรียนรู้ เผื่อจะต้องตอบคำถามว่าทำไมจึงชวนให้ใช้การเรียนการสอนโดยใช้ทีมเป็นฐาน ทำให้ได้พบกับทฤษฎีการเรียนรู้ด้วยความเข้าใจความหมาย (Meaningful learning) ของ Professor David P. Ausubel ซึ่งล่วงลับไปแล้ว อ่านแล้วถูกใจมากๆ นอกจากจะนำมาใช้อธิบายเรื่องการเรียนการสอนโดยใช้ทีมเป็นฐานได้แล้ว ยังสามารถนำมาใช้อธิบายเรื่องที่เคยเขียนไว้แล้วและเรื่องที่คิดจะเขียนต่อไปได้อีกด้วย ผู้ที่น่าจะรู้เรื่องทฤษฎีนี้ดีที่สุดคนหนึ่งคือ Professor Joseph D. Novak (ผู้ให้กำเนิด Concept mapping) เพราะเคยร่วมเขียนหนังสือกับ Ausubel และเป็นผู้ที่ทำงานวิจัยระยะยาวที่ใช้ทฤษฎีการเรียนรู้ของ Ausubel มาตั้งแต่ปี 1964 จนทุกวันนี้ เนื้อหาของเรื่องนี้ส่วนมากจึงมาจากบทความของ Novak เรื่อง Meaningful Learning: The Essential Factor for Conceptual Change in Limited or Inappropriate Propositional Hierarchies Leading to Empowerment of Learners.

Ausubel เสนอทฤษฎีที่เรียกว่า ทฤษฎีการเรียนรู้ด้วยความเข้าใจความหมาย (Theory of Meaningful learning) เมื่อปี 1962 แต่ความคิดเกี่ยวกับทฤษฎีนี้ Ausubel เคยเสนอเป็น Term paper ไว้ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาที่ University of Pennsylvania เมื่อปี 1938 ในสมัยนั้นทฤษฎีการเรียนรู้ที่ได้รับความเชื่อถือกันทั่วไปคือ ทฤษฎีทางพฤติกรรมศาสตร์ และคนส่วนใหญ่ยังนิยมวิธีการเรียนรู้ด้วยการท่องจำ (Rote learning)

หลักการของทฤษฎีคือ การเรียนรู้เกิดจากการทำความเข้าใจความหมายของประสบการณ์ใหม่ โดยอาศัยการเปรียบเทียบกับความรู้ที่มีอยู่แล้ว เราทุกคนมีความรู้อยู่แล้วเก็บไว้ในความจำระยะยาวในรูปแบบที่เรียกว่า โครงสร้างความรู้ (Cognitive structure) เป็นโครงสร้างที่ประกอบด้วยชิ้นความรู้ย่อยๆที่เรียกว่ามโนทัศน์ (Concepts) เชื่อมโยงเข้าด้วยกันเพราะมีความสัมพันธ์กันอย่างมีความหมาย มโนทัศน์ทั้งหลายมีระดับสูงตำ่ต่างกัน มโนทัศน์ระดับสูงมีความหมายกว้างและครอบคลุม ส่วนมโนทัศน์ระดับถัดลงมามีความหมายเฉพาะและแคบลงๆ (ดูแผนภาพประกอบที่ 1 และ 2 ซึ่งแสดงเป็นมโนทัศน์ และความเชื่อมโยงระหว่างมโนทัศน์ระดับต่างๆ)




ตัวอย่างเช่น เด็กอายุหกขวบคนหนึ่งเห็นควายเป็นครั้งแรก ถามพ่อว่า "พ่อ ทำไมวัวพวกนี้มีเขายาว" แสดงว่าในโครงสร้างความรู้ (Cognitive structure) ของเด็กคนนี้มีมโนทัศน์ (Concept) ที่เรียกว่า 'วัว' ซึ่งเป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง และมโนทัศน์ที่เรียกว่า 'เขา' ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของวัว (ที่ทำให้ต่างจากสัตว์อื่นเช่น ม้า ดังแผนภาพที่1) เมื่อเด็กมีประสบการณ์ใหม่คือเห็นควายซึ่งไม่เคยเห็นมาก่อน พยายามเปรียบเทียบกับความรู้ที่มีอยู่ พบว่าที่ใกล้เคียงที่สุดคือวัว แต่ยังไม่สามารถยอมรับได้ว่าเป็นวัวเพราะเขายาวกว่าที่เคยเห็น จึงหาข้อมูลเพิ่มเติมด้วยการถามพ่อ ซึ่งพ่อก็ตอบว่า "นี่ไม่ใช่วัว เป็นสัตว์อีกชนิดหนึ่งเรียกว่า 'ควาย' ต่างจากวัวที่เขายาวกว่า และยังมีลักษณะอื่นที่ต่างอีก" เด็กสังเกตเห็นก็ตอบว่า "ควายสีดำ แต่วัวสีน้ำตาล" พ่อบอกว่า "ใช่แล้ว ยังมีอย่างอื่นที่ต่างกันอีก เช่น ควายชอบน้ำ เห็นไหมยืนอยู่ในน้ำบางตัวก็นอนแช่น้ำเลย แต่วัวไม่ชอบอยู่ในน้ำ" เมื่อเด็กเข้าใจก็มีความรู้เพิ่มขึ้นโดยปรับโครงสร้างความรู้ (Cognitive structure) ใหม่ภายใต้ มโนทัศน์ทั่วไปคือสัตว์ กลุ่มสัตว์มีเขาเคยมีวัว บัดนี้มีมโนทัศน์ 'ควาย' เพิ่มขึ้นมา และมโนทัศน์ เรื่อง 'เขา' ก็ปรับเป็นมีสองแบบได้แก่ เขาสั้นเป็นลักษณะของวัว และเขายาวเป็นลักษณะของควาย ลักษณะของวัวก็มีมากขึ้นคือ ผิวสีน้ำตาล และไม่ชอบน้ำ ต่างจากลักษณะของควายที่ผิวสีดำและชอบน้ำ อย่างนี้เป็นต้น เป็นการเรียนรู้ที่ต้องใช้ความคิดและการเข้าใจความหมาย โครงสร้างความรู้ใหม่จึงเป็นดังแผนภาพที่ 2

การเข้าใจความหมายของมโนทัศน์ใหม่ แสดงว่ามโนทัศน์ใหม่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับมโนทัศน์ที่มีอยู่แล้ว และอาจต้องปรับเปลี่ยน โครงสร้างความรู้ให้เกิดความสอดคล้องโดยอาศัยความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันเป็นตัวเชื่อมมโนทัศน์ใหม่จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของ โครงสร้างความรู้ นั่นคือเป็นส่วนหนึ่งของความรู้ที่มีอยู่ การเชื่อมโยงกันได้คือการเข้าใจความหมายหรือการสร้างความหมายใหม่ขึ้นมาได้จากการค้นพบความสัมพันธ์

ผลที่ตามมามีข้อดีอย่างน้อยสองประการคือ หนึ่ง เมื่อ 'ควาย' เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างความรู้ ย่อมจำได้ไม่ต้องคอยท่องว่าควายคืออะไร และสองถ้าจำเป็นต้องใช้ความรู้ส่วนนี้ เช่น เห็นควายอยู่กับวัว ก็นำไปเชื่อมโยงกับมโนทัศน์ควายและวัวในโครงสร้างความรู้ บอกได้ว่า ตัวนี้ควาย ตัวนั้นวัว การมีโอกาสได้ใช้ความรู้ซึ่งรวมถึงการนึกคิดทบทวนจะมีส่วนช่วยให้จำได้ดีขึ้นด้วย โดยสรุปก็คือ เมื่อเข้าใจก็จำได้ (ดีขึ้น) และเมื่อเข้าใจก็ (มีโอกาสสูงขึ้นที่จะ) นำไปใช้ได้ประโยชน์ได

ที่ผมสนใจทฤษฎีนี้มากเป็นพิเศษ เพราะเคยใช้ประโยชน์จากทฤษฎีการเรียนรู้ด้วยการเข้าใจความหมายตั้งแต่ยังเป็นนิสิตนักศึกษาโดยที่ไม่รู้ว่ามีทฤษฎีนี้ ซึ่งเป็นเหตุให้พยายามเขียนเรื่องชุดการเรียนที่ง่ายสนุกและจำได้ (โดยไม่ต้องท่อง) น่าจะเรียนรู้มาจากคำแนะนำเรื่อง "อย่าท่องดิคชันนารี" เมื่อ พศ 2495 (ในบทแรกของชุดนี้) รู้ตัวว่าใช้วิธีนี้เมื่อ พศ 2508 เมื่อมีคนมาขอลอกเล็คเช่อร์แล้วไม่มีให้ลอก (บทที่สอง) พบว่าน้องเดียวแชมป์เกมส์ทศกัณฑ์เด็กเมื่อ พศ 2549 ตอบคำถามถูกต้องติดต่อกัน 200 ข้อ ที่จำได้ดีเพราะเรียนรู้ด้วยความเข้าใจความหมายจากการสอนของแม่แบบเล่าเรื่องให้ฟัง (ในบทที่ว่าด้วย เราเรียนรู้อย่างไร) เป็นต้น

ในบทที่ห้า จะเขียนเรื่อง การเรียนการสอนแบบใช้ทีมเป็นฐาน ที่น่าจะทำให้เป็นการเรียนที่ง่ายสนุกและจำได้ดี เพราะเป็นไปตามทฤษฎีการเรียนรู้อย่างเข้าใจความหมายของ Ausubel

12 ธันวาคม 2558


หมายเลขบันทึก: 598352เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2015 17:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 มกราคม 2018 12:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นเรื่องที่น่ายินดีค่ะที่ สพฐ. ได้ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้แบบ Brain-based learning ค่ะอาจารย์ https://www.gotoknow.org/posts/597632 ตัวอย่างหนังสือที่ สพฐ. แจกฟรีค่ะ

ชอบบันทึกของอาจารย์มากครับ ผมกำลังเตรียมกิจกรรม Brain Based Learning ให้นศ.และคนไข้ที่ต้องการฟื้นความจำอยู่พอดีเลยครับผม ขอบพระคุณมากครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท