สุพจน์ กรประสิทธิ์วัฒน์: เจ้าของบ้านสวน “ก้องวัลเลย์” เมืองระนอง


ปีหนึ่ง 3-4 หมื่นคนที่มาที่นี่ มีหลากสาขาอาชีพ ได้คุยกันหลายเรื่องจากมุมกาแฟ ตั้งแต่มุมสุนทรียะ ปรัชญาชีวิต เศรษฐศาสตร์ การเมือง สารพัดเต็มไปหมด อย่างน้อยมันไม่ใช่กาแฟที่เป็นกาแฟที่เราดื่มเพื่อให้หายง่วง แต่เป็นอะไรหลายๆ เรื่อง เป็นทั้งสำนักคิด ฝึกอาชีพ ทุกคนมาหาผมไม่ใช่แค่มาดื่มกาแฟ แต่เป็นกาแฟที่ดีที่ดึงพวกเขาเข้ามา หลายคนก็ได้งาน ได้เงิน ได้อาชีพต่อยอดกันไปหมด

สุพจน์ กรประสิทธิ์วัฒน์

เจ้าของบ้านสวน “ก้องวัลเลย์” เมืองระนอง

อรรถการ สัตยพาณิชย์

        “การเดินทางคือ การเปิดโลกทัศน์ เพราะทุกลมหายใจของชีวิตคือ การเรียนรู้” 

          บทสรุปจากการสนทนากับชายหนุ่มนักเดินทางที่ก่อร่างสร้างตัวจนประสบความสำเร็จ และเป็นต้นแบบให้กับคนรุ่นใหม่ ที่ใช้พลังกาย พลังใจ และพลังความคิดเข้าแลก เพื่อสร้างความฝันให้ “ก้องวัลเลย์” ได้กลายเป็นพื้นที่ที่ 3 หรือ third place ให้ผู้ที่รักจะเรียนรู้เรื่องกาแฟได้มาสัมผัส และมาซึมซับพักผ่อนกับบรรยากาศสบายๆ ท่ามกลางอ้อมกอดแห่งขุนเขา ณ อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง

 

ชีวิตที่ไม่ได้อะไรมาง่ายๆ

          กว่า “ก้องวัลเลย์” จะกลายเป็นตักศิลา และเป็นแหล่งพักใจให้ผู้หลงใหลกาแฟต้องมาเยือน คุณก้อง-สุพจน์ กรประสิทธิ์วัฒน์ เรียนรู้ว่าทุกสิ่งในโลกนี้ไม่มีอะไรได้มาอย่างง่ายดาย แต่สิ่งที่เขาภูมิใจที่สุดในวันนี้ก็คือ การทำให้พี่น้องเกษตรกรในจังหวัดระนองมีฐานะ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากการที่เขาได้นำเมล็ดกาแฟโรบัสต้าที่ปลูกกันเป็นจำนวนมากในบริเวณนี้มาสร้างมูลค่าเพิ่ม ผลิตเป็นเมล็ดกาแฟคั่ว ภายใต้ชื่อ “ก้องคอฟฟี่ (Gong Coffee)” พร้อมทั้งสาธิต และถ่ายทอดเรื่องราว ความรู้เกี่ยวกับกาแฟให้ผู้มาเยือนได้รับฟัง จนปฏิเสธไม่ได้ว่าคุณก้องได้กลายเป็นกูรูด้านกาแฟของจังหวัดระนองที่ดึงนักท่องเที่ยวและผู้สนใจมาเยี่ยมเยือนปีละไม่ต่ำกว่าหลักหมื่นคน และเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้เศรษฐกิจชุมชนของอำเภอกระบุรี และจังหวัดระนองดีมากขึ้น

 

จบ ปวช. การขาย- ปวส.การโฆษณา พณิชยการพระนคร

            คุณก้องได้ย้อนอดีตเมื่อครั้งเดินทางเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ เมื่อประมาณ พ.ศ.2527-2528 ว่ามาเข้าชั้น ม.1 ที่โรงเรียนสตรีวิทยา 2 และเริ่มอยู่คนเดียวตั้งแต่ชั้น ม.2 แต่นั่นก็ไม่ได้สร้างความลำบากให้เขาแต่อย่างใด เนื่องจากครอบครัวได้สอนให้ซักผ้า หุงข้าวมาตั้งแต่ชั้น ป.5-ป.6 ประกอบกับการเป็นคนชอบอ่านหนังสือ จึงทำให้เขาสะกดคำว่า “เหงา” ไม่เป็น

            จนกระทั่งจบชั้น ม.3 นับเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต คุณก้องสารภาพว่าเป็นช่วงเวลาที่มีความรู้สึกสับสนในการเลือกที่เรียน และถึงขั้นชวนเพื่อนไปสมัครเรียนก่อสร้าง แต่ในที่สุดพี่สาวก็โน้มน้าวให้มาเรียนที่พณิชยการพระนคร เพราะกลัวว่าถ้าไปเรียนก่อสร้างจะเกเร และในที่สุดก็เข้ามาเรียน ปวช. สาขาการขาย และเรียนต่อในระดับชั้น ปวส.ที่แผนกวิชาการโฆษณา หลังจากสำเร็จการศึกษาก็เข้าทำงานในบริษัทโฆษณาช่วงสั้นๆ ก่อนจะกลับไปตั้งหลักที่บ้านเกิดที่จังหวัดระนอง และหลังจากนั้นเป็นจุดสตาร์ทให้เขาก้าวออกจากบ้านเพื่อสัมผัสกับการเรียนรู้จากโลกกว้างใบนี้

 

จาก...เกาะเต่า สู่...การโบยบินเรียนรู้ชีวิตในต่างแดน

            เมื่อกลับไปบ้านเกิดก็ได้ไปเรียนรู้การทำนากุ้ง ก่อนที่จะตัดสินใจเดินทางไปเกาะเต่าในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งขณะนั้นเกาะเต่ายังไม่มีไฟฟ้า มีแต่นักท่องเที่ยวต่างชาติ เมื่อไปถึงเกาะมีเงินเหลืออยู่เพียง 100 บาท ก็ได้เข้าไปขอทำงานในร้านอาหาร โดยได้รับเงินเดือน เดือนละ 5,000 บาท  และเป็นช่วงเวลาที่เขาได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษ และภาษาต่างๆ รวมทั้งวิธีการคิด และการใช้ชีวิตจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาที่เกาะเต่า ในระหว่างทำงาน เขาได้เก็บรวบรวมเงินเดือนตลอดที่ทำงาน 6 เดือนที่นี่ เป็นจำนวน 30,000 บาท และตัดสินใจซื้อตั๋วเครื่องบินเดินทางไปเยอรมัน โดยมีเงินติดตัวแค่ 6,000 บาท และในครั้งนั้นเขาสามารถใช้ชีวิตในเยอรมันได้นานถึง 3 เดือนเต็ม หลังจากนั้นทุกปีเขาก็เดินทางไปประเทศต่างๆ เพื่อเปิดโลกทัศน์ให้กับตัวเอง

 

พ.ศ.2551 กลับมาบุกเบิกก้องวัลเลย์

            หลังจากได้เดินทางไปในหลายๆ ประเทศ คุณก้องก็กลับมาบ้านเกิด และมาเริ่มต้นสร้างก้องวัลเลย์  โดยตั้งใจให้สถานที่แห่งนี้เป็นบ้านสวนในฝันของทุกคน โดยมีกาแฟเป็นจุดเชื่อมต่อ และเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ใครๆ ก็สามารถมาดูเป็นต้นแบบเพื่อนำกลับไปพัฒนาชุมชนของตนเองได้

            “เราสอนเรื่องการตลาด เราสอนเรื่องการแปรรูป เพื่อนำมาเป็นโมเดลแก่เกษตรกรรุ่นใหม่ในหลายๆเรื่อง และที่สำคัญเรื่องราวของกาแฟมันเยอะ ปีหนึ่ง 3-4 หมื่นคนที่มาที่นี่ มีหลากสาขาอาชีพ ได้คุยกันหลายเรื่องจากมุมกาแฟ ตั้งแต่มุมสุนทรียะ ปรัชญาชีวิต เศรษฐศาสตร์ การเมือง สารพัดเต็มไปหมด อย่างน้อยมันไม่ใช่กาแฟที่เป็นกาแฟที่เราดื่มเพื่อให้หายง่วง แต่เป็นอะไรหลายๆ เรื่อง เป็นทั้งสำนักคิด ฝึกอาชีพ ทุกคนมาหาผมไม่ใช่แค่มาดื่มกาแฟ แต่เป็นกาแฟที่ดีที่ดึงพวกเขาเข้ามา หลายคนก็ได้งาน ได้เงิน ได้อาชีพต่อยอดกันไปหมด เกษตรกรอาจจะเปลี่ยนกระบวนการคิดมาทำเกษตรกรรุ่นใหม่ แผนใหม่ที่มาเป็น less is more คั่วเอง ดื่มเอง จัดการเอง เข้าใจมันเอง เปิดร้านเอง เข้าใจว่าศิลปะมันเป็นยังไง ถ้าเราเข้าใจแก่นและหัวใจของมันแล้ว ทุกอย่างง่ายหมด” คุณก้องสรุปภาพภารกิจของก้องวัลเลย์ในวันนี้ให้พวกเราฟัง

 

“ฝันให้ใหญ่ แล้วไปให้ถึง”

            เมื่อให้คุณก้องได้ฝากข้อคิดสะกิดใจที่เป็นวรรคทองให้เกิดความมุ่งมั่นเพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จในอนาคตก็คือ จงใช้โอกาสที่มีอยู่ในคุ้มค่า

          “โอกาสเป็นของทุกๆ คนและโอกาสมีอยู่รอบๆ ตัวเรา เพียงแต่ขอให้เราคว้ามัน หลายคนอาจมองว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะทุกคนไม่เคยฝัน และเชื่อไหมครับว่าทำไมผมถึงเดินมาแบบนี้ เพราะผมฝันใหญ่ ถ้าผมไม่ฝัน ไม่คิดถึงโอกาส ผมก็ไม่ได้นั่งอยู่ตรงนี้ แม้ผมคั่วกาแฟเล็กๆ ในกระทะ แต่ผมคิดถึงตลาดระดับ  Global จินตนาการเหนือสิ่งอื่นใดครับ”

           

 

  

------------------------------------

 

หมายเลขบันทึก: 647859เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2018 03:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ธันวาคม 2019 08:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท