ป้าศรีมาลา


ผมรู้จัก “ป้าศรี” ในข่วงที่เป็นอินเทิร์นได้กระมัง

ป้าศรีเป็นเพื่อนของแม่ของแฟนผม เรารู้จักกันได้เพราะผมต้องไปที่ปากพนังอยู่บ่อยๆ แบบว่า จะขอลูกสาวเขาทั้งที ก็มาตีสนิทกันตั้งแต่แม่ยาย พ่อตา และผองเพื่อนของท่านยาวไปนู่น

เราสนิทกันแค่ไหนน่ะหรือ

เอาเป็นว่า ในวันที่ผมต้องตั้งขันหมากเพื่อไปขอเมียน่ะ แกบอกว่า ผมต้องไปเริ่มต้นออกจากบ้านของป้าศรีนี่แหละ เพียงแต่ว่าตอนนั้น แม่งานในการจัดดอกไม้ จัดพานต่างๆ ต้องทำกันที่บ้านของ “ป้าเทียบ” เราจึงจำเป็นต้องอยู่ที่บ้านของป้าเทียบแทน แต่ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะรั้วบ้านของเธอทั้งคู่อยู่ติดกัน 

มันก็แปลก 

แปลกตรงที่ทำไมผมต้องมาสนิทกับป้าศรีและสมาชิกของครอบครัวเธอ ทั้งๆที่มันก็แค่ผมเป็นแฟนของลูกสาวของเพื่อนเธอเท่านั้นเอง 

ผมกลายเป็นหมอประจำครอบครัวของเธอ ต้องดูแลพี่น้องของป้าศรีที่ทยอยกันเป็นมะเร็งไปทีละคน ดูแลลูกสาวของเธอที่ท้องอยู่แล้วบังเอิญมามีอาการน้ำเดินขณะเดินทางผ่านหาดใหญ่ และผมต้องมาทำคลอดให้แบบฉุกเฉิน ลูกหลานจำนวนหนึ่งผมก็ทำคลอดให้ รวมถึงทวดที่เป็นญาติไกลๆทางฝั่งเขย ผมก็ต้องดูแลเรื่องมดลูกโผล่ให้ท่าน

เรียกว่า ผมเกิดมาเพื่อรับใช้ “ป้าศรี” และเธอก็มาเกื้อกูลผมอีกต่อ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ป้าศรีเป็นมะเร็งเต้านมมานานก่อนที่จะเจอกับผม เธอรักษาโรคจนหายดีมาหลายปีแล้ว ทว่าในวันหนึ่งเธอก็ทราบข่าวร้ายว่า “มันกลับมา”

ในช่วงนั้น ผมเพิ่งจบเป็นอาจารย์แพทย์ใหม่ๆ

“ป้าเหนื่อยจัง” เธอบอกผมขณะที่นอนอยู่บนเตียง มีสายต่อออกซิเจนมาจ่อที่จมูกเพื่อช่วยลดอาการเหนื่อยของเธอ

ฟิล์มเอ็กซเรย์ปอดอยู่ตรงหน้าเรานั้น แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของโรคที่น่าสะพรั่นพรึง

“ครับ เราสามารถฉีดยาให้ป้าเพื่อช่วยลดอาการเหนื่อยได้นะครับ ไม่ต้องทนมาก บอกได้ตลอด” ผมบีบมือป้าศรีเบาๆ

ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ในสมัยนั้น ยาที่ใช้รักษาโรคมะเร็งเต้านมมีให้เลือกไม่มาก และการกลับมาเป็นซ้ำอย่างที่เธอกำลังประสบอยู่นั้น เราทำได้เพียงการบรรเทาอาการทรมานต่างๆที่มีพอให้คนไข้สามารถพักและหลับได้อย่างสงบ

หลังจากที่พูดคุยกันเข้าใจดี ครอบครัวของเธอจึงเลือกที่จะพาป้าศรีกลับบ้าน

“แล้วเราจะจัดการเรื่องอาการเหนื่อยของเธอได้ยังไง” ลุงเขียน สามีของป้าศรีเริ่มมีความกังวล

“ผมติดต่อไปที่โรงพยาบาลปากพนังให้เรียบร้อยแล้วครับ เค้าจะเตรียมรับป้าศรีอยู่ที่บ้านพร้อมถังออกซิเจน ทางโรงพยาบาลจะส่งพยาบาลมาดูแลให้อย่างใกล้ชิดด้วย” ผมบอกลุงเขียนถึงการเตรียมความพร้อมของที่บ้าน ซึ่งผมหมายถึงทีมหมอและพยาบาลของโรงพยาบาลปากพนังที่จะมาช่วยเหลือ

แล้วป้าศรีก็ได้กลับบ้าน

เสียงโทรศัพท์จากปากพนังปลุกผมในช่วงดึกเป็นระยะๆ พยาบาลที่ดูแลป้าศรีอยู่ที่บ้านของเธอนั้นเป็นผู้รายงานอาการต่างๆมาให้ทราบ

“คุณหมอ ป้าศรีเหนื่อยและนอนไม่หลับ” เสียงปลายสายยังรายงานสัญญาณขีพต่างๆมาให้ผมได้รับทราบด้วย

“ครับ ฉีดมอร์ฟีนตามที่แนะนำไปได้ตลอดนะครับ” ผมบอกออกไป

มานั่งนึกตอนนี้ ผมก็รู้สึกทึ่งกับระบบการดูแลคนไข้มะเร็งระยะสุดท้ายของคนใกล้ตัวในขณะนั้น ในช่วงเวลาที่เรายังไม่ค่อยคุ้นเคยกับการดูแลผู้ป่วยที่ใกล้จะเสียขีวิตที่บ้านแบบนี้ คนไข้ที่กำลังเหนื่อยหอบและกำหนดด้วยตัวเองว่าอยากจะเสียชีวิตที่บ้านท่ามกลางครอบครัวที่เธอรัก คุณพยาบาลและคุณหมอที่โรงพยาบาลปากพนังก็คงปรับตัวกับวิถีของเราอยู่มากเหมือนกัน ไหนจะต้องจัดพยาบาลหมุนเวียนกันออกมาดูแลคนไข้ที่บ้าน ไหนจะต้องฉีดยามอร์ฟีน ซึ่งเป็นยาที่ควรใช้เฉพาะในโรงพยาบาลและมีการรายงานการใช้ยาอย่างเคร่งครัด

ล่วงเข้ามาวันที่ ๓ หลังจากออกจากโรงพยาบาล ม.อ.ไป ป้าศรีเริ่มไม่มีสติเป็นช่วงๆ ยังคงหายใจหอบอยู่ แต่เธอดูสงบมากขึ้น

“ศรี หมดห่วงเถิดนะ พี่และลูกๆทุกคนอยู่กันได้” นั่นคือคำที่ลุงเขียนกระซิบข้างหู (เอิ่ม..อันที่จริงผมก็ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์หรอกนะครับ แต่ลุงเขียนมาเล่าให้ฟังทีหลัง)

เธอลืมตาตอบสนองเพียงเล็กน้อย พร้อมกับปัดมือของลุงออก

เธอยังไม่พร้อมที่จะไป

ไม่นานนัก ท่านเจ้าอาวาสวัดรามประดิษฐ์เดินทางมาถึงที่บ้านของป้าศรีและลุงเขียน ท่านเป็นพระที่ทุกคนในบ้านนับถืออย่างมาก

“โยมศรี ถึงเวลาแล้ว อาตมาจะมานำทางโยมไปนะ” ท่านพูดขึ้นมาอย่างอ่อนโยน

คืนนั้น ผมทราบข่าวพอเลาๆ ว่าป้าศรีน่าจะมีชีวิตไม่พ้นคืนนี้ แต่ก็ไม่มีข่าวคราวใดๆแจ้งมาอีกเลย เสียงโทรศัพท์ก็เงียบไป ผมกะว่าจะโทรไปถามอาการ แล้วก็ลืม เช้าขึ้นมาจึงออกไปทำงานตามปกติ

ผมเดินลงจากภาควิชาเพื่อที่จะไปตรวจคนไข้ที่โอพีดีตามปกติ ในช่วงเวลานั้น โอพีดีนรีเวชยังอยู่บริเวณห้องฉีดยาด้านตรงข้ามกับคลินิกตาในตอนนี้

และในช่วงเวลาที่ผมกำลังจะเลี้ยวขวาเพื่อเข้าคลินิกนั้นผมก็ได้ยินเสียงเรียก

“หมอแป๊ะ” นั่นคือเสียงของป้าศรี

ผมขนลุกซู่ทั้งตัว ผมหยุดเดินแล้วหันกลับไปหาตามเสียงเรียกนั้น

“สวัสดีครับป้าศรี เป็นยังไงบ้าง สบายแล้วใช่ไหมครับ” ขนผมหายตั้ง ตั้งแต่พบว่าป้าศรีนุ่งซิ่นสวมเสื้อลายดอกไม้เดินเข้ามาหาหน้าตายิ้มแย้ม

“ค่ะ ป้าสบายแล้ว ป้ามาลาหมอ”

ผมขนหัวลุกตั้งอีกรอบ แล้วก็ตื่นขึ้น

เหงื่อชุ่มทั้งๆที่เปิดแอร์เย็นเฉียบ เวลานั้นน่าจะเพิ่งผ่านเที่ยงคืนไปไม่นาน

ผมนอนไม่หลับ เลยตั้งใจสวดมนต์และระลึกถึงป้าศรี พร้อมแผ่เมตตา

เสียงโทรศัพท์ดังปลุกผมอีกครั้งในช่วงเช้า 

“แป๊ะ” นั่นคือเสียงแม่ยาย

“ครับแม่ แม่จะบอกเรื่องป้าศรีใช่ไหม” ผมยังงัวเงียเล็กน้อย

“ค่ะ ป้าศรีเสียชีวิตแล้วนะ เมื่อคืนราวๆเที่ยงคืน” แมายายบอกมา

“ครับแม่ เมื่อคืนป้าศรีมาบอกแป๊ะแล้ว” ปลายสายก็อึ้งไปพีกหนึ่ง

“ค่ะ” แม่ยายคงไม่รู้จะพูดอะไรต่ออีก

........................

“นี่ยาย หมอนัดปีหนึ่งนะ ยายมาหาหมออีกไหวไหมล่ะ” ผมมักจะถามคนไข้แก่ๆของผมแบบนี้เสมอๆหลังจากตรวจกันเสร็จเรียบร้อย

“คนไข้แก่ๆ”

แก่แค่ไหนน่ะรึ

อายุเฉลี่ยของคนไข้ผมในทุกวันอังคารก็จะอยู่ที่ ๗๐ ปี มากสุดก็เกือบร้อย

“มาไหวไหมก็ไม่รู้นะหมอนะ อาจจะไปเสียก่อนนัดก็ได้” นี่ก็เป็นคำตอบปกติของสตรีของหมอธนพันธ์นั่นแหละ คุยกันไป หัวเราะกันไป ประหนึ่งเรื่องการตายในวัยนี้เป็นเรื่องปกติ 

ก็ใช่ มันคือเรื่องปกติ 

ผมบอกคนไข้ของผมเสมอๆ ว่าคนที่ได้รับเกียรติในการเป็นมดลูกหย่อนนั้นก็คือคนที่มีอายุยืน หากตายไปเสียตั้งแต่อายุ ๓๐ ปี ก็ไม่มีสิทธิ์ได้เป็นหรอกนะ มดลูกหย่อนเนี่ย

“ยาย ถ้ายังอยู่ก็มาเจอกันนะ แต่ถ้ามาไม่ไหวก็ไม่ต้องมา และที่สำคัญ หากไปแล้ว ก็ไม่ต้องมาบอกหมอนะยายนะ หมอขี้ขลาด” ผมพูดกำชับเสียงดังเพราะกลัวแกไม่ได้ยิน

“เอ้า เป็นหมอแล้วกลัวผีกันหรือ” แกสัพหยอก

“เอ้า แล้วทำไมจะไม่ให้กลัว หมอธนพันธ์คนนี้ ขี้ขลาดผีอิบอบนิ” ผมหมายถึง กลัวชิ้ปหายเลยล่ะยายเอ๋ย

ธนพันธ์ ชูบุญขี้ขลาดผีจนขี้ขึ้นหัวเลย

๘ พค ๖๑

บันทึกไว้ในวันที่ระลึกถึง “ป้าศรี”

ปล. ชื่อตอนของตอนนี้ ธนพันธ์ไม่ได้คิดเองหรอกนะครับ มีรุ่นพี่คนหนึ่งกรุณาคิดให้ สบายไป

หมายเลขบันทึก: 647054เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2018 20:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2018 20:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

การสั่งลา ทำให้คนไข้ไปอย่างไม่มีอะไรติดค้าง

ป้าศรี คงมาลาอาจารย์ล่ะค่ะ

555


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท