“วังพิณพาทย์” งานศพไม่เมา อาทิตย์เสาร์ปลอดแอลกอฮอล์


          ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ระบุว่าคนไทยดื่มเหล้ามากเป็นอันดับ 5 ของโลก หรือประมาณ 16.2 ล้านคน โดยมีนักดื่มหน้าใหม่ ที่มีช่วงอายุระหว่าง 15-19 ปี เพิ่มขึ้นปีละ 4.96% ขณะเดียวกันเมื่อเทียบกับประชากรทั่วโลก ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 2,000 ล้านคน หรือราว 1 ใน 3 ของประชากรโลก ดื่มเฉลี่ยคนละ 6.13 ลิตรต่อปี แต่คนไทยดื่มเฉลี่ยถึงคนละ 58 ลิตรต่อปี ถือเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ และสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น นอกจากความสิ้นเปลือง คือปัญหาด้านสุขภาพ รวมทั้งการเกิดอุบัติเหตุ การทะเลาะวิวาท

            ธีรวัฒน์ ฉัตรธง กำนันตำบลวังพิณพาทย์ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย กล่าวถึง ต้นเหตุของปัญหาว่ามาจากพื้นนิสัยของคนไทยขี้เกรงใจ เมื่อมีคนมาช่วยงานก็จะเลี้ยงอาหาร ทั้งของคาวและของหวาน พ่วงด้วยสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้เมื่อมีคนเสียชีวิตในหมู่บ้าน ค่าใช้จ่ายในงานศพจะตกอยู่ 120,000-130,000 บาท กลายเป็นภาระหนักที่เจ้าภาพต้องแบกรับอย่างปฏิเสธไม่ได้ เจ้าภาพหลายรายเป็นหนี้สินหลังจากจัดงานศพเรียบร้อยแล้ว เข้าลักษณะ “คนตายขายคนเป็น”

            กำนันธีรวัฒน์ ยังเล่าด้วยว่า เมื่อเหล้าเข้าปาก ก็จะพูดคุยกันเสียงดัง ไม่ค่อยฟังพระสวดอภิธรรม บางรายมาขอเหล้าจากเจ้าภาพขณะพระกำลังสวด พอเจ้าภาพไม่ให้ก็เอะอะ นอกจากนี้ยังเคยเกิดอุบัติเหตุจากการดื่มถึงขั้นพิการ และเสียชีวิต จึงได้หารือกับพระสงฆ์ นายอำเภอ สาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และแกนนำคุ้มบ้าน เพื่อหาทางออก เพราะคนตายแล้ว ไม่ควรซ้ำเติมกัน เนื่องจากเกิดความสูญเสียมากพอแล้ว

            เมื่อชุมชนประสบกับปัญหานี้ แกนนำชุมชนจึงหาทางออกร่วมกัน จึงขอรับทุนสนับสนุนจากสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำโครงการลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (งานศพปลอดเหล้า เสาร์-อาทิตย์ปลอดแอลกอฮอล์) หมู่ 3 บ้านป่ามะม่วง ต.วังพิณพาทย์

            ช่วงเริ่มต้นโครงการได้มีการประชุมคุ้มบ้านทั้งหมด 6 คุ้ม ว่าจะดำเนินงานอย่างไร บางคนเสนอขอกินเหล้าเฉพาะวันขนของ-เก็บของ บางคนเสนอให้แบ่งโซนดื่ม-ไม่ดื่ม ในทีสุดได้ข้อสรุปว่าอนุโลมให้ดื่มได้ในวันขนของ-เก็บของ แต่ขอความร่วมมือไม่ดื่มช่วงพระสวดอภิธรรม พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมการลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จำนวน 21 คน ประกอบด้วยคณะกรรมการคุ้มละ 3 คน รวม 18 คน กับผู้นำชุมชนอีก 3 คน โดยมี ผอ.รพ.สต. และเจ้าอาวาสเป็นที่ปรึกษา

            กว่าชาวบ้านจะรับและยอมปฏิบัติตามกติกาได้ ต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก ยิ่งก่อนทำโครงการ ภายในหมู่บ้านมีคนตายปีละ 4-5 ศพ พอทำโครงการยังไม่ครบปี มีคนตายแล้ว 7 ศพ ทำให้ชาวบ้านคิดมาก และหวาดวิตก ต้องคอยปลอบใจว่าเป็นเรื่องธรรมชาติของคนที่หมดกรรม ไม่ใช่อาถรรพ์จากโครงการ ขณะเดียวกันเจ้าอาวาสก็ช่วยพูด ช่วยเทศน์ ทำความเข้าใจกับชาวบ้านตามวาระโอกาส และยังขยายผลให้หมู่บ้านอื่นรับรู้ว่าหมู่ 3 ทำโครงการงานศพปลอดเหล้า อีกทางหนึ่งคือดึงหน่วยงานที่เกี่ยวกับนโยบายเข้าร่วม อาทิ ให้นายอำเภอเซ็นคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ ลงนามในใบประกาศ แจกใบประกาศ ฯลฯ และที่สำคัญในการติดตามตรวจสอบของคณะกรรมการนั้น จะใช้สายตรวจจักรยานเป็นหลัก เพราะไม่มีเสียง สามารถเข้าถึงได้ทุกจุดโดยคนไม่รู้ตัว ถ้าพบว่ามีการดื่มแอลกอฮอล์ไม่ว่าจะเป็นงานศพ หรือวันเสาร์-อาทิตย์ ก็จะตักเตือน ขอความร่วมมือในงด และนำมาพูดคุยกันในที่ประชุมของคณะกรรมการ เพื่อหาทางออกต่อไป

            กำนันธีรวัฒน์ ย้ำว่า ผลที่ได้คือชาวบ้านมีระเบียบวินัยมากขึ้น ฟังพระสวดอย่างสงบ และค่าใช้จ่ายก็ลดลงมากไม่ถึง 1 แสนบาท จึงได้ขยับมาเพิ่มมาตรการเสาร์-อาทิตย์ ปลอดแอลกอฮอล์ด้วยความเห็นชอบจากชาวบ้าน เพราะมองว่าวันหยุดน่าจะเป็นวันครอบครัว แต่พอพ่อบ้านหันไปใช้เวลาดื่มสังสรรค์กับเพื่อน ก็ทำให้ครอบครัวมีปากเสียง ขาดความอบอุ่น การงดดื่มในวันเสาร์-อาทิตย์ จึงช่วยสานสัมพันธ์ในครอบครัวให้กลับมาเหนียวแน่นอีกครั้ง พร้อมๆ กับคนในชุมชนมีสุขภาพดี จากที่เคยตรวจพบความดันโลหิตสูง 126 คน จากประชากร 800 คน และมีเบาหวาน ไขมันในเลือดสูงร่วมด้วย ปัจจุบันสามารถควบคุมได้เพิ่มขึ้น

            ทางด้าน ทองสุก ฉัตรกัน คณะกรรมการคุ้มที่ 1 และเจ้าภาพงานศพในระหว่างทำโครงการงานศพปลอดเหล้า เสาร์-อาทิตย์ปลอดแอลกอฮอล์ เล่าว่า ในช่วง 4-5 ปีก่อน ได้สูญเสียพ่อและแม่ไปในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน ปรากฏว่าเสียค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพถึง 120,000 บาท/ศพ โดยในจำนวนนี้เป็นค่าเหล้า แอลกอฮอล์ต่างๆ หลายหมื่นบาท เสร็จงานแล้วในฐานะเจ้าภาพก็เหงาเศร้าทั้งจากการสูญเสียบุพการี และค่าใช้จ่ายที่บานเบอะ

            “พอเข้าร่วมโครงการ ภรรยาผมเสียชีวิต ก็ต้องจัดงานศพอีก และถือเป็นศพแรกที่เกิดขึ้นในชุมชนหลังจากเข้าโครงการแล้ว แต่ค่าใช้จ่ายลดลงอย่างเห็นได้ชัด ตกราว 7-8 หมื่นบาท เพราะเป็นงานศพปลอดเหล้า แถมงานทำบุญ 7 วัน และ 100 วัน ก็ไม่เลี้ยงแอลกอฮอล์” ลุงทองสุก อธิบาย

            ด้วยความที่เป็นงานแรกของชุมชนที่ไม่เสิร์ฟเหล้า งานค่อนข้างเงียบมาก จนทั้งเจ้าภาพ และแขกที่มาร่วมงานรู้สึกอึดอัด กดดัน ไม่ชินกับการไม่ได้ดื่มเหล้าในงานศพ ซ้ำตัวของลุงทองสุกเองก็เป็นนักดื่ม ในยามปกติเมื่อกลับจากไร่นา มักจะซื้อติดมือกลับไปดื่มที่บ้าน 1-2 กรึ๊บ แก้ปวดเมื่อย และทำให้เจริญอาหาร พอมาร่วมโครงการถึงหยุด เพราะรู้สึกอาย และตระหนักดีว่าในฐานะคณะกรรมการ ซึ่งถือเป็นแกนนำหลักต้องหยุดเป็นตัวอย่างก่อน ภายในงานศพจึงมีผู้นำหมู่บ้านและคณะกรรมการลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คนอื่นๆ นั่งอยู่เป็นเพื่อนตลอด ไม่ให้เงียบเหงาจนเกินไป และในงานถัดมาชาวบ้านก็เริ่มปรับตัว ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ส่งผลให้งานศพปลอดเหล้าเป็นที่กล่าวขานถึง และได้รับการยอมรับจากคนในตำบลด้วย

 

หมายเลขบันทึก: 647052เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2018 19:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2018 19:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท