๒๓. สัมผัสแหลมผักเบี้ย..โครงการพระราชดำริด้านสิ่งแวดล้อม


ผมเชื่อว่านักท่องเที่ยวมากมาย ได้ไปเที่ยวชมโครงการฯกันมาแล้ว ประทับใจทิวทัศน์และบรรยากาศ แต่เหนืออื่นใดที่ประทับใจที่สุด ก็คือ พระอัจฉริยภาพของ “พ่อหลวง”รัชกาลที่ ๙ พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถในการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อม เป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก..

              ปิดเทอมครั้งนี้..ใช้ชีวิตคุ้มค่าที่สุดแล้ว คือนอกจากจะได้ทำงานที่โรงเรียน ได้ทั้งงานพัฒนาสิ่งแวดล้อม งานเอกสารหลักสูตร และอื่นๆ ผมยังได้เดินทางไปเที่ยวชมโครงการพระราชดำริ ของในหลวงรัชกาลที่ ๙

            โครงการที่ผมบริหารจัดการว่าจะไปให้ได้เร็วที่สุด เพราะอยู่ใกล้แค่นี้เอง ก็คือ“โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

            ก่อนที่ล้อฮอนด้าซีวีคคู่ใจจะหมุนให้แล่นฉิวไปยังตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ด้วยอัตราความเร็วเฉลี่ย ๙๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ผมขอศึกษาความเป็นมาของโครงการฯ..โดยศึกษาจากกระแสพระราชดำรัสของพระองค์ท่าน..ดังนี้

           “…ปัญหาสำคัญ คือ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องน้ำเสียกับขยะ ได้ศึกษามาแล้วเหมือนกัน ทำไม่ยากนัก ในทางเทคโนโลยีทำได้ แล้วในเมืองไทยเองก็ทำได้… 

           …โครงการที่จะทำนี้ไม่ยากนัก คือว่า ก็มาเอาสิ่งที่เป็นพิษออก พวกโลหะหนักต่างๆเอาออก ซึ่งมีวิธีทำ ต่อจากนั้นก็มาฟอกใส่อากาศ บางทีก็อาจไม่ต้องใส่อากาศ แล้วก็มาเฉลี่ยใส่ในบึง หรือเอาน้ำไปใส่ในทุ่งหญ้าแล้วก็เปลี่ยนสภาพของทุ่งหญ้าเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ส่วนหนึ่งเป็นที่สำหรับปลูกพืช ปลูกต้นไม้…  

           …แล้วก็ต้องทำการเรียกว่า การกรองน้ำ ให้ทำน้ำนั้นไม่ให้โสโครก แล้วก็ปล่อยน้ำลงมาที่เป็นที่ทำการเพาะปลูก  หรือทำทุ่งหญ้า หลังจากนั้นน้ำที่เหลือก็ลงทะเล โดยที่ไม่ทำให้น้ำนั้นเสีย…”

           กระแสพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2533

            จากกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชในเรื่องของสิ่งแวดล้อม กลายมาเป็นโครงการศึกษาวิจัยหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาน้ำเสียและขยะในชุมชน ที่แสนจะประหยัด สะดวก ทำได้ง่าย และยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่อื่นๆในประเทศไทยได้อย่างกว้างขวาง

         โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นสถานที่ที่มีเสน่ห์ ไม่ใช่เพียงแค่การศึกษาวิจัยพัฒนาสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังมีเส้นทางเพื่อศึกษาในเรื่องของระบบนิเวศป่าชายเลน เพื่อให้ได้รับบรรยากาศและเข้าใจถึงระบบนิเวศป่าชายเลนอย่างแท้จริง

            การได้ไปสัมผัสแหลมผักเบี้ยครั้งนี้ ทำให้ผมได้ทราบว่า..ป่าชายเลน คือ สถานที่บำบัดน้ำเสียที่ดีที่สุด ก่อนที่น้ำนั้นจะไหลลงสู่ทะเล

          ในอดีตนั้นที่นี่พบกับปัญหาน้ำเสียถึงขนาดน้ำที่จะนำมาใช้ในการอุปโภค บริโภคไม่สามารถนำมาใช้ได้เลย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชดำริจัดตั้งโครงการดังกล่าวเพื่อบำบัดน้ำเสีย โดยให้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ มีด้วยกัน 4 ระบบ ดังนี้

          ระบบแรก คือ บ่อบำบัดน้ำเสีย เวลาที่มีน้ำเสียไหลมาแต่ละบ่อก็จะไหลล้นผ่านอาคารระบายน้ำด้านบน และเชื่อมต่อกันทางตอนล่างของบ่อถัดไปเป็นลำดับก่อนที่จะนำคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ

          ระบบที่สอง คือ ระบบพืชและหญ้ากรองน้ำเสีย ซึ่งให้พืชช่วยบำบัดนำเสียโดยการให้น้ำเสียไหลผ่านแปลงหญ้าและหญ้าที่ดีที่สุดก็คือ หญ้าธูปฤาษี ที่ช่วยปล่อยออกซิเจนจากรากลงไปเติมน้ำให้กลายเป็นน้ำดีได้ และเมื่อครบ 90 วัน ก็จะตัดพืชออก พอตัดแล้วก็นำไปให้กลุ่มแม่บ้านทำเครื่องสานเพื่อเพิ่มประโยชน์และสามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่มแม่บ้านได้

          ระบบที่สาม คือ ระบบพื้นที่ชุ่มน้ำเทียม กลไกก็จะคล้ายกับระบบพืชและหญ้ากรอง แต่จะแตกต่างกันด้วยวิธีการ

          ระบบที่สี่ คือ ระบบแปลงพืชป่าชายเลน โดยการให้ธรรมชาติบำบัดด้วยตัวของมันเองตามระยะเวลาการขึ้นลงของน้ำทะเลในแต่ละวัน อาศัยระบบรากของพืชป่าชายเลนช่วยปล่อยก๊าซออกซิเจนเติมให้กับน้ำเสียและจุลินทรีย์ในดิน

          เส้นทางที่ผมเดินศึกษาธรรมชาติระบบนิเวศป่าชายเลนนั้น มีระยะทางประมาณ 850 เมตร ก็ถือว่าไม่ไกล แต่ผมเดินจนเหงื่อตก ตามประสาคนสูงวัยครับ งานนี้ผมไม่กลัวร้อน  เพราะตลอดสองข้างทางเดินนั้นจะเต็มไปด้วยต้นโกงกางและต้นแสมมากมาย   

          ขณะที่เดินผมก็สำรวจสัตว์น้ำไปด้วย พบปลาตีนตัวไม่โต พบปูแสม ปูก้ามด้าม และนกนานาชนิด ที่รู้จักก็มีนกเด้าดิน นกเด้าลมและ นกยางเปีย มิน่าเล่าสถานที่แห่งนี้จึงได้รับการขนานนามว่าเป็น 1 ใน 10 สถานที่ดูนกที่ดีที่สุดของประเทศไทย

            ความพิเศษของทางเดินศึกษาธรรมชาติ  นอกจากความสมบูรณ์และสวยงามของป่าชายเลนแล้ว ก็คือ มีแหลมทรายยาวประมาณ 3 กิโลเมตร ที่กั้นระหว่างหาดโคลนกับหาดทราย และตรงนี้เอง คือ ทรายเม็ดแรกของอ่าวไทยตอนบน..

            ผมเชื่อว่านักท่องเที่ยวมากมาย ได้ไปเที่ยวชมโครงการฯกันมาแล้ว ประทับใจทิวทัศน์และบรรยากาศ แต่เหนืออื่นใดที่ประทับใจที่สุด ก็คือ พระอัจฉริยภาพของ “พ่อหลวง”รัชกาลที่ ๙ พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถในการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อม เป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก..

            ดังนั้น..เชิญชวนทุกท่าน ถ้าจะเที่ยวให้เพลิดเพลินและได้ความรู้ ต้องไปที่ โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีรถพาชม สะดวกสบาย หรือจะใช้บริการรถจักรยานก็ได้..ผ่อนคลายและออกกำลังกายในวันหยุดสุดสัปดาห์..ก็ดีนะครับ

ชยันต์  เพชรศรีจันทร์

๘  พฤษภาคม  ๒๕๖๑

 



หมายเลขบันทึก: 647053เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2018 20:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2018 21:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

คิดถึงสาหร่ายพวงองุ่นค่ะครู อร่อยมาก

สาระเยี่ยมมาก..ภาพสวยดูสบายตา ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท