วิจารณ์เรื่อง เสียงขานจากลานเก่า


 

เล่าขานสู่หลานฟัง

                                                                                                มุกดา แผนประดิษฐ์

          เสียงขานจากลานเก่า เรื่องนี้ ของมุกดา แผนประดิษฐ์ รวมเรื่องสั้นที่ได้รับรางวัลชมเชย โครงการ“ประกวดเรื่องสั้นส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น เทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” เรื่องสั้นเรื่องนี้มีเทคนิคทางวรรณศิลป์ ตีแผ่ให้เห็นถึงการผูกเรื่องราว สืบสานวัฒนธรรมประเพณี เพลงพื้นบ้านและสอดแทรกวิถีชีวิตของชาวจังหวัดกาญจนบุรี แม้จะมีภาษาเขียนด้วยภาษาที่ เรียบง่าย ทิ้งท้ายประโยคให้ได้คิดตาม แต่มุกดาก็สามารถตีแผ่ปมปัญหาต่างๆ ได้อย่างเข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาความเป็นปัจเจกเอง การที่มุกดาตั้งชื่อเรื่องว่า เสียงขานจากลานเก่า น่าจะมีประการดังที่ปรากฏอยู่ใน “เนื้อเรื่องผู้เขียน” ว่า “สายลมที่หอบเอาความเจริญเข้ามาทาบทับเงาของชนบททำให้บางสิ่งบางอย่างกำลังสูญหายไป ที่เคยเงียบสงบกับวุ่นวาย เมื่องูใหญ่สีดำมะเมื่อมลาดยางมะตอยพาดผ่าน รถราวิ่งสวนกันไปมาน่าเวียนหัว เสียงเครื่องยนต์ครางกระหึ่มกลบเสียงบรรเลงเพลงพื้นบ้าน ลานตากข้าวถูกทิ้งร้างอย่างไร้ความหมาย ก่อนวันเข้าพรรษาไม่มีวี่แววของนักบุญที่ยืนรอบริจาคข้าวของเข้าโรงครัว รางรถไฟรกทึบไปด้วยพงหญ้า ฝูงวัวก็พากันแหกคอก” ( หน้า ๑๑๓ ) “เศษฟางกลางทุ่งลอยคว้างกลางอากาศเมื่อเจอลมบ้าหมูลูกใหญ่มาปะทะฤดูกาลแห่งการเก็บเกี่ยวหมดไปคงมีเวลาในการร้องเล่นเต้นรำกันเต็มที่ หลังจากอิ่มหนำจากการกินข้าวหลาม ข้าวเม่า ก็มารวมตัวกันที่ลานตากข้าว ต้นคูนใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขาน่าเกรงขามใบน้อยใหญ่กำลังเปลี่ยนสีท้าทายหนอนชาเขียวผู้ทโมนอีกไม่นานดอกสีเหลืองคงออกมายั่วยวนสายตา ให้ต้นคูณมีแค่ที่ทำจากไม้ไผ่ผ่าซีกตั้งอยู่ ถัดไปทางขวามือเป็นไร่ยาสูบออกใบใหญ่ใกล้จะเก็บมาฝอยตากแห้งได้แล้ว นอกจากคนรุ่นคุณปู่คุณย่าแล้ว มองหาเด็กรุ่นหนุ่มรุ่นสาวไม่เห็นมี”  “เราก็ร้องรำทำเพลงของเราไป สักวันหนึ่งเขามองเห็นคุณค่าเขาคงจะกลับมาร่วมวงกับเราเอง” ( หน้า ๑๑๒ ) ประการนี้มุกดาต้องการจะเปรียบปัญหาของปัจเจกทั้งหลายที่ดูเหมือนจะเล็กน้อย  ลานเก่าอาจไม่มีชีวิต แต่มีความทรงจำเก่ามากมาย คือเสียงขานกับวัฒนธรรมที่หายไป เหลือเพียงเสียงขานจากลานเก่า ที่ปรากฏและฉายชัดอยู่ในสังคมที่เราเคยมีอยู่เมื่อคืนวัน 

          เนื่องจากเรื่องสั้นนี้ เน้นการเล่าเรื่องผ่านพฤติกรรมของตัวละคร เป็นหลัก การสร้างตัวละครของมุกดา จึงต้องมีความสมจริง กล่าวคือ มีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงได้  เพื่อให้คล้ายกับคนทั่วๆไป ของสังคม การเปลี่ยนแปลงลักษณะนิสัยจะขึ้นอยู่กับเหตุผลตามสถานการณ์แวดล้อม ส่วนกลวิธีการนำเสนอนั้น มุกดาแบ่งลักษณะการเล่าเรื่องออกเป็น ๒ แบบด้วยกัน คือ ตัวละครหลักเป็นผู้เล่าเรื่อง โดยใช้คำว่า “เด็กชาย” เล่าเรื่องแบบสลับไปมาแบบคู่ขนาน และมีปมขัดแย้ง คือ การตัดสินใจของเด็กชาย  มุมมองในการเล่าส่วนใหญ่จะเป็นของตัวละครผู้เล่าทุกสิ่งอย่างที่ประสบพบเจอหรือรู้สึกนึกคิดหรือนำเสนอความขัดแย้งภายในใจของตัวเอง โดยจะถูกนำเสนอแบบกระแสสำนึก อย่างไรก็ตาม จะปรากฏมุมมองการเล่าแบบรู้แจ้ง เมื่อมุกดาต้องการที่จะบรรยาย พรรณนาถึงความรู้สึกนึกคิดของตัวละครอื่นที่เห็นเด่นชัด โดยใช้คำว่า “ชายชรา” เป็นเพียงเสียงบนหน้ากระดาษ จะเล่าถึงตัวละครทุกตัวโดยใช้สรรพนามบุรุษที่ ๓ มุมมองการเล่าจะเป็นแบบรู้แจ้ง แต่ควรจะสร้างชื่อตัวละครเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจและไม่สับสน จะทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สมบูรณ์มากขึ้น

          ฉากที่ปรากฏในเรื่องเสียงขานจากลานเก่า มุกดาใช้ฉากที่มีอยู่จริงในจังหวัดกาญจนบุรี ไม่ว่าจะเป็น ฉากริมแม่น้ำแควน้อย  ฉากรถไฟ ฉากชาวบ้านหนองบัว ฉากเมืองกรุง ทั้งหมดที่ปรากฏในเรื่องล้วนเป็นสถานที่จริง รวมกับบรรยากาศในเรื่อง  ทำให้มองเห็นภาพและคิดตามได้ โดยมุกดาได้ใช้การบรรยาย พรรณาให้เห็นถึงสถานที่ได้อย่างชัดเจน จะเห็นได้ว่าทั้งตัวละคร ฉาก บรรยากาศ มีความกลมกลืนกับเนื้อหาและชื่อเรื่องที่ต้องการนำเสนอ

          แก่นของเรื่องสั้นเรื่องนี้จะเน้นปมขัดแย้งของปัจเจก ( ตัวละคร )ที่เปลี่ยนผันไปตามสังคมเศรษฐกิจทำให้หลงลืม วัฒนธรรมประเพณี เพลงพื้นบ้าน รวมถึงวิถีชีวิต ได้เปลี่ยนผันตาม โดยมุกดา ใช้เมืองหลวงตัดกับชนบท ทำให้เกิดการขัดแย้ง เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นตอนที่  “ทุ่งข้าวเขียวกำลังเปลี่ยนฤดูกาลกำลังเปลี่ยนฝนหรือโลกกำลังเปลี่ยนแปลงในจักรวาลใหญ่นี้มีอะไรบ้างที่ยั่งยืน สังคมเศรษฐกิจกำลังเกิดการเปลี่ยนผัน เมล็ดเงินมีค่ามากกว่าเมล็ดผัก เรื่องปากท้องกำลังสำคัญรองลงมาจากอำนาจชาติติพันธ์กำลังถูกเหยียดหยาม วัฒนธรรมตะวันตกเข้าครอบงำดั่งเงามืดแห่งรัตติกาล คนแก่เรื่องเตรียมตัวตาย คนรุ่นใหม่เริ่มลาจากถิ่นฐาน ยุคข้าวแลกหมู  ปลาปูแลกหมาก กำลังหมดไป มีอะไรบางอย่างที่เข้ามาแทนที่”

“ท้องฟ้าวันนี้สีหม่นๆ รังนกกระจาบบนยอดไผ่ไหววูบตามแรงลม ความเร่งรีบ ค่านิยม เงินทอง การแก่งแย่งทำให้คิดถึงช่วงเวลาแห่งความทรงจำไม่อยากอยู่กับปัจจุบัน อยากให้อดีตหวนคืนกลับมาทั้งปิ่นโตข้าวที่บรรจุอาหารพื้นบ้านอร่อยเลิศ  หมากเก็บ  เป่ากบที่เคยเล่นใต้ร่มคูณใหญ่นึกถึงเสียงโห่ร้องเพลงร่อยพรรษา หนุ่มๆสาวๆ ร้องเพลงพาดผ้าขาวม้าหรือเพลงเหย่ย อยากกลับไปดูการแข่งขันเรือหางยาวที่มีฝีพายร่างกายกำยำแข็งแกร่ง ดอกบัวที่แม่เคยเก็บไปไหว้พระคงบานเต็มบึง”

“สายลมที่หอบเอาความเจริญเข้ามาทาบทับเงาของชนบททำให้บางสิ่งบางอย่างกำลังสูญหายไป ที่เคยเงียบสงบกับวุ่นวาย เมื่องูใหญ่สีดำมะเมื่อมลาดยางมะตอยพาดผ่าน รถราวิ่งสวนกันไปมาน่าเวียนหัว เสียงเครื่องยนต์ครางกระหึ่มกลบเสียงบรรเลงเพลงพื้นบ้าน ลานตากข้าวถูกทิ้งร้างอย่างไร้ความหมาย ก่อนวันเข้าพรรษาไม่มีวี่แววของนักบุญที่ยืนรอบริจาคข้าวของเข้าโรงครัว รางรถไฟลุกพรึบไปด้วยพงหญ้า ฝูงวัวก็พากันแหกคอก”  มีการใช้เทคนิคทางวรรณศิลป์ สะท้อนวิถีชีวิตออกมาได้อย่างชัดเจน

          ในเรื่อง เสียงขานจากลานเก่า เป็นเรื่องสั้นแนวสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่น ของชาวจังหวัด กาญจนบุรี ไม่ว่าจะเป็น เพลงพื้นบ้าน ของชาวจังหวัดกาญจนบุรี ที่กำลังจะจางหายไป เพราะรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา ทำให้วัฒนธรรมประเพณี เพลงพื้นบ้านห่างหายไป ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปในภายหน้า จะเหลืออะไรไว้ให้คนรุ่นหลังได้สืบทอด มุกดา จึงได้นำเสนอเรื่องราววัฒนธรรม สอดแทรกวิธีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวจังหวัด กาญจนบุรี  มุกดานำเสนอเรื่องราวประเพณีวันเข้าพรรษา โดยพ่อเพลงแม่เพลงจะมาร้องเพลงร่อยพรรษาส่วนชาวบ้านต่างก็จะหยิบมะพร้าว ข้าวสาร พริกแห้ง และข้าวของออกไปยืนคอย  เพื่อนำไปบริจาคเก็บไว้ที่โรงครัว ทำให้มีอาหารมากพอตลอดฤดูฝน แต่ตอนนี้ทุกอย่างได้จากหายไปไม่มีชาวบ้านออกมายืนรอบริจาคของ รวมไปถึงฤดูเก็บเกี่ยวข้าว คนในหมู่บ้านจะมารวมตัวกันที่ลานฟาด ร้องรำทำเพลงกันสนุกสนาน แต่ตอนนี้ไม่มีอีกแล้ว ทุกคนสนใจกับเจ้ากล่องพลาสติก ซึ่งเป็นของเล่นใหม่ (มือถือ) ทำให้ลานฟาดกลายเป็นเพียงความว่างเปล่า เหลือแต่เพียงชายชรา พ่อเพลงแม่เพลง ที่ยังร้องรำทำเพลง หวังว่าสักวันหนึ่งเด็กหนุ่มสาวจะมองเห็นคุณค่ากลับมาร่วมวงอีกครั้ง  ซึ่งมุกดาได้ให้ตัวละคร “เด็กชาย” ซึ่งเป็นตัวละครหลัก เป็นตัวดำเนินเรื่องราว และได้เกิดความขัดแย้งกับตนเองระหว่างเดินทางไปเมืองกรุง ก็นึกถึงถิ่นที่จากบ้าน นึกถึงเพลงร่อยที่ชายชรา พ่อเพลงแม่เพลงร้องรำกันสนุกสนาน จึงได้ให้ครูสอนร้องเพลง และตัดสินใจนั่งรถไฟกลับบ้านเกิด และทิ้งท้ายประโยคไว้ให้ผู้อ่านคิดตามว่า “ใครหนอ จะทำหน้าที่แทนชายชราได้อย่างสมบูรณ์”

          อาจกล่าวได้ว่าเรื่องสั้น เสียงขานจากลานเก่า เล่มนี้เป็นเรื่องสั้นที่สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่ง อย่างแท้จริง ด้วยต้องการจะบอกโดยนัยว่าปัจเจกบุคคลทั้งหลายไม่ว่าจะอายุใด ก็ล้วนต้องประสบกับปัญหาด้วยกันทั้งนั้น  ดังจะเห็นได้จากเรื่องสั้นที่ปมขัดแย้งของการตัดสินใจของเด็กชาย ขัดแย้งในจิตใจของตัวละคร ในที่สุดแล้วผู้ที่เป็นผู้ดับทุกข์ได้ก็คือตัวเรา โดยการตัดสินใจกลับบ้านเกิด ร้องรำทำเพลงกับพ่อแก่แม่แก่ ชายชรา เพื่อสืบสานวัฒนธรรม ประเพณี เพลงพื้นบ้านสืบต่อไปยังคนรุ่นหลัง แต่ควรจะต้องดูคำให้เหมาะสม ให้กลมกลืนกัน โดยเฉพาะตัวละคร ควรใส่ชื่อเพื่อจะไม่เกิดความเข้าใจผิด โดยมุกดามีสารัตถะ สืบสานวัฒนธรรม เพลงพื้นบ้านให้คงอยู่สืบไป ผ่านการเล่าเรื่องสลับไปมาแบบคู่ขนาน และยังสอดแทรกวิถีชีวิตของจังหวัด กาญจนบุรี ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เพราะทำให้ผู้อ่านเข้าใจในเนื้อหาและได้รับความรู้เพิ่มมากขึ้น  อีกทั้งยังมีการใช้สำนวนภาษาที่เข้าใจง่าย  มีเทคนิคทางวรรณศิลป์สะท้อนให้เห็นชัดในเนื้อเรื่อง ถือว่าเป็นเรื่องสั้นที่มีครบองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นตัวละคร บรรยากาศ สถานที่ ปมขัดแย้ง รวมถึงมีเทคนิคด้านต่างๆในการดำเนินเรื่องให้น่าติดตาม

 

 

“ใครหนอ จะทำหน้าที่แทนชายชราได้อย่างสมบูรณ์”

         

 

         

 

 

หมายเลขบันทึก: 645814เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2018 18:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2018 18:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท