หนังสั้นขาโจ๋ สื่อให้ถึงใจ “15 ปีไม่ขี่มอเตอร์ไซค์”


“วัยรุ่น” ช่วงวัย “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ต้องเจอกับ“ปัจจัยเสี่ยง” หลากหลายรูปแบบ ที่เข้ามามีผลกระทบต่อชีวิตทั้งในขณะนั้นและในอนาคต

ความคึกคะนอง โลดโผน ขาดวุฒิภาวะ ใจร้อน การยับยั้งชั่งใจ  อุปนิสัยของวัยรุ่นและจะแสดงทางพฤติกรรมทางด้านลบ ทำให้หลายๆ คน ไปไม่ถึงฝั่งฝันในการเติบใหญ่เป็นคนที่สมบูรณ์แบบได้

ปัญหาการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ “มอเตอร์ไซค์” เป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้วัยรุ่นนั้นสูญเสีย ทั้งทรัพย์สิน ร่างกาย หรือเสียผู้เสียคน

การสอนให้เด็กขับมอเตอร์ไซค์เป็นเท่ากับการติดปีกให้เด็กได้โบยบินอย่างอิสระ ควบคุมได้ยาก เด็กอยากไปไหนก็ไปได้ โดยเฉพาะเด็กผู้ชายที่มีความคึกคะนอง ชอบพฤติกรรมความเสี่ยง อยากโชว์ อยากอวด “บิดคันเร่งให้มิด-เร็ว แรง แซงทุกโค้ง”

นักขับมือใหม่ที่วุฒิภาวะทางการคิดและตัดสินใจทยังไม่พร้อมจึงทำให้เกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยๆ

ขณะเดียวกันมอเตอร์ไซค์ยังเป็นพาหนะพาเด็กไปจับกลุ่มมั่วสุม นำมาซึ่งปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ทั้งยาเสพติด และปัญหาชู้สาว

  โครงการ “เด็ก don’t drive:15ปี ไม่ขี่มอเตอร์ไซค์” ของ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นอีกหนึ่งโครงการที่เข้ามาหนุนเสริมการรณรงค์ไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ขับขี่มอเตอร์ไซค์ เพื่อลดการสูญเสียและปัจจัยเสี่ยงอื่นที่จะตามมา ด้วยการมอบทุนสนับสนุนโรงเรียนจำนวน 80 แห่ง ใน 25 จังหวัด สร้างเยาวชนแกนนำจัดกิจกรรมเพื่อลดอัตราการขับขี่รถจักรยานยนตร์มาโรงเรียนและหลังเลิกเรียนในเด็กวัยก่อน 15 ปี

            ประจวบ  ผลิตผลการพิมพ์ ฝ่ายสื่อสารของโครงการ “เด็ก don’t drive:15ปี ไม่ขี่มอเตอร์ไซค์” กล่าวถึงโครงการว่า จะให้อิสระกับทางโรงเรียนที่ได้รับทุนทั้ง 80 แห่ง ในการออกแบบกิจกรรมเพื่อรณรงค์ สร้างความตะหนัก ในการลดอัตราการขับขี่มอเตอร์ไซค์ในวัยก่อน 15 ปี เช่น การ ทำหนังสั้น ทำแผ่นพับ แผ่นสติ๊กเกอร์ หรือกิจกรรมเดินรณรงค์ หรือการจัดสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียน เป็นต้น

            โดยทุกกระบวนการจะมีทีมพี่เลี้ยงไปช่วยสอน หรือการจัดอบรมเพิ่มทักษะให้ เช่น การทำหนังสั้น เราก็จะไปช่วยสอนเรื่องของการใช้งานอุปกรณ์ การเขียนพล็อตเรื่อง การตัดต่อ เป็นต้น ซึ่งการทำหนังสั้นเพื่อรณรงค์นี้ได้รับความนิยมในหลายๆ โรงเรียน เพราะทำง่าย ใช้โทรศัพท์มือถือก็สามารถทำได้แล้ว

            “ไม่ต้องไปใช้อุปกรณ์แพงๆ เลย เด็กเดี๋ยวนี้ถ่ายวิดีโอด้วยมือถือเก่ง และออกมาสวยด้วย” ประจวบ กล่าวและว่า “เขาเรียนรู้เทคโนโลยีได้เร็ว เพียงแค่เราไปเสริมเรื่องของการเขียนพล็อตเรื่องและการตัดต่อให้โดนใจ พอเด็กทำเสร็จก็อัพโหลด และแชร์ เผยแพร่ในโซเชี่ยลได้รวดเร็ว  ซึ่งหนังสั้นหยิบไปใช้ได้ง่าย สามารถนำไปใช้เป็นสื่อเผยแพร่ภายในโรงเรียนได้ในทุกโอกาสอีกด้วย”

หนังสั้นฝีมือนักเรียนเพื่อช่วยกันไม่ให้เพื่อนๆ ใจเร็วด่วนได้ในการขี้มอเตอร์ไซค์จึงมีออกมาหลายเรื่อง อย่างเช่นที่โรงเรียนบ้านชำฆ้อ อ.เขาชะเมา จ.ระยอง ก็ทำหนังสั้นเช่นกัน โดย สาคร ก้อนนาค ครูโรงเรียนบ้านชำฆ้อ อ.เขาชะเมา จ.ระยอง กล่าวถึงการผลิตสื่อในโครงการของทางโรงเรียน ว่า การทำหนังสั้นจะช่วยให้การรณรงค์ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการไปพูดไปบอก เขาได้เห็นภาพว่าถ้าทำแบบนี้แล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง  ซึ่งในช่วงปีแรกๆ ของโครงการ มุ่งเน้นให้เด็กทุกคนมีส่วนร่วม เช่น เด็กประถมก็จะเป็นการวาดรูป ระบายสี ส่วนเด็กมัธยมหรือโตขึ้นมาหน่อยก็เป็นการเดินรณรงค์ แต่งคำขวัญ ทำป้ายแผ่นพับ ป้ายไวนิล เวลามีกิจกรรมของทางโรงเรียนจะเอาไปรณรงค์ร่วมด้วย

ขณะที่หนังสั้น เพิ่งจะมาทำปีที่ผ่านมา โดยใช้สโลแกน “15ปีไม่ขี่ชีวีปลอดภัย” ช่วยกันทำกับเพื่อนๆ ม.2  ทำเสร็จก็เอามาเผยแพร่เมื่อมีโอกาสต่างๆ

            ส่วนที่โรงเรียนบ้านบึง “มนูญวิทยาคาร” เป็นโรงเรียนหนึ่งที่โดดเด่นด้านการทำหนังสั้นเพื่อการรณรงค์  “15 ปี ไม่ขี่มอเตอร์ไซค์” ควบคู่กับการทำสื่อประเภทโปสเตอร์ ป้ายไวนิล สติ๊กเกอร์ รณรงค์ในหลายๆ งานกิจกรรมของโรงเรียน เช่น เดินรณรงค์ในวันเข้าพรรษา กีฬาสีภายในโรงเรียน หรือเดินรณรงค์เนื่องในวันสำคัญต่างๆ

            สำหรับการทำหนังสั้นของโรงเรียนมนูญวิทยาคารนั้น นักเรียนมีความรู้มีประสบการณ์การทำหนังสั้นมาพอสมควรจากการเข้าร่วมโครงการอื่นๆ ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะหลังจากผ่านเวิร์กช็อปและได้รับโจทย์การผลิตหนังสั้นกับทาง สสส. แล้ว ก็กลับไปช่วยกันคิดพล็อตเรื่องกันเอง ส่วนครูจะมาชัดขัดเกลาให้กระชับและเหมาะสมมากขึ้น

น.ส.วาสนา มันทะกะ นักเรียนแกนนำ เล่าว่า พล็อตเรื่องจะตีกรอบและสโลแกนไว้ว่า ก่อน 15 ปีไม่ขี่มอเตอร์ไซค์ และ วัยไม่ถึงอย่างเพิ่งรีบตาย โดยมุ่งเน้นไปที่แสดงให้เห็นปัญหาในทาง “พ่อแม่รังแกฉัน” คือ พ่อแม่ใช้ลูกขับมอเตอร์ไซค์ไปซื้อของ แล้วเกิดอุบัติเหตุ เกิดการสูญเสีย ทำให้เขาเห็นว่าถ้าไม่ใช้เขา ก็ไม่เกิดอุบัติเหตุ ส่วนทีมทำหนังมีประมาณ 10 คน จะแบ่งหน้ากันทำงาน เช่น ช่างภาพ นักแสดง ช่างแต่งหน้า-เครื่องแต่งกาย ผู้กำกับ ซึ่งใช้เวลาไม่นานในการถ่ายทำ เพราะพอจะมีประสบการณ์มาบ้างแล้ว อุปกรณ์ที่ใช้ก็เป็นของโรงเรียน

            “เราจะพยายายามขยายผลโครงการ “15ปี ไม่ขี่มอเตอร์ไซค์” ไปยังโรงเรียนใกล้เคียงอีกด้วย โดยเราจะเข้าไปจัดกิจกรรมภายในโรงเรียน ซึ่งจากการจัดภายในโรงเรียนของเราเองได้ผลตอบรับดีมาก เช่น ไบค์แรลลี่ น้องๆ จะชอบ เพราะสนุกสนาน ได้หาความรู้ได้หาคำตอบในแต่ละฐานกิจกรรม” แกนนำเยาวชนจาก ร.ร.บ้านบึง “มนูญวิทยาคาร” กล่าว และเชิญชวนเข้าไปชมผลงาน “วัยไม่ถึงอย่างเพิ่งตาย” ทาง https://www.youtube.com/watch?v=yweMSThK_ZY&feature=share

การส่งเสริมให้เด็กๆ ได้คิดได้ลงมือทำ ได้ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านมุมมองของวัยรุ่นสู่วัยรุ่น จึงน่าจะช่วยให้การณรงค์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีไม่ขับขี่มอเตอร์ไซค์ ประสบผลสำเร็จมากกว่าการคิดจากผู้ใหญ่ที่ยังไม่ค่อยเข้าใจในวัยรุ่นเท่าที่ควร



คำสำคัญ (Tags): #สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม#สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ#สสส.#15ปีไม่ขี่มอเตอร์ไซค์#dek don't drive#หนังสั้น#วัยรุ่น#ประจวบ ผลิตผลการพิมพ์#โครงการ “เด็ก don’t drive:15ปี ไม่ขี่มอเตอร์ไซค์”#สาคร ก้อนนาค#โรงเรียนบ้านชำฆ้อ อ.เขาชะเมา จ.ระยอง#โรงเรียนบ้านบึง “มนูญวิทยาคาร”#วัยไม่ถึงอย่างเพิ่งตาย#การส่งเสริมให้เด็กๆ ได้คิดได้ลงมือทำ ได้ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านมุมมองของวัยรุ่นสู่วัยรุ่น จึงน่าจะช่วยให้การณรงค์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีไม่ขับขี่มอเตอร์ไซค์ ประสบผลสำเร็จมากกว่าการคิดจากผู้ใหญ่ที่ยังไม่ค่อยเข้าใจในวัยรุ่นเท่าที่ควร​​
หมายเลขบันทึก: 644867เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2018 22:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2018 22:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท