สรุปการประชุม“ทิศทางการขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศด้านการบริหารท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐” ๘-๙ ก.พ.๖๑ ณ โรงแรมนภาลัย จ.อุดรธานี


สรุป: ดร.โกวิท เสนอปรับความคิดทุกฝ่าย เสนอยุทธศาสตร์ “ปฏิรูปประเทศด้วยชุมชนท้องถิ่น” ให้ อปท.เป็นเจ้าภาพพัฒนาท้องถิ่นพร้อมกับยกชาวบ้านเป็นประชาสังคม   อ.สมพงษ์ เสนอ “ท้องถิ่นจรัสแสงด้วยตัวเอง” เดินสองกลยุทธ: เรียกร้องทางการเมืองกระจายอำนาจ ควบคู่กับสร้างนวัตกรรมงานพัฒนาพื้นที่ยั่งยืน  ดร.วิระศักดิ์ นายกสมาคมองค์กรบริหารท้องถิ่นประกาศรวมทุกฝ่ายเป็นพลังแก้ปัญหา คน งาน เงิน ของท้องถิ่น   ระยะยาววางเป้าผลักดันให้มีการกระจายอำนาจ ตาม รธน.๒๕๔๐   Fb:localthai reforming

(สรุปการประชุมสัมมนา “ทิศทางการขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศด้านการบริหารท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐”

จัดโดยสมาคมองค์กรบริหารท้องถิ่น วันที่ ๘-๙  กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑   ณ โรงแรมนภาลัย   จ.อุดรธานี  ผู้แทนท้องถิ่นอีสาน ๒๐ จังหวัด รวม ๓๑๐ คน)

 

กล่าวรายงานโดย ดร.วิระศักดิ์ ฮาดดา  นายกสมาคมองค์กรบริหารท้องถิ่น

สมาคมองค์กรบริหารท้องถิ่น ตั้งมาได้สองปี ที่ยังไม่มี “แห่งประเทศไทย”ต่อท้ายเพราะ ต้องทำงานนานกว่านี้และมีสมาชิกจากทั่วประเทศ   สมาคมฯ  มีวัตถุประสงค์นำพาท้องถิ่นตามความต้องการของท้องถิ่น ไม่แบ่งฐานะองค์กร เปิดกว้างถึงบุคคลซึ่งเคยเป็นผู้บริหารท้องถิ่น  การสัมมนาครั้งนี้มีผู้นำท้องถิ่นจาก ๒๐ จังหวัดภาคอีสานเข้าร่วม ๓๑๐ คน

 

เปิดการประชุม โดยนายปิติภณ โพธิ์ใต้  ท้องถิ่นจังหวัดอุดรธานี

            จุดแตกหักของการพัฒนาอยู่ที่ท้องถิ่น ถ้าท้องถิ่นล้มเหลวประเทศก็ล้มเหลว 

            การกระจายอำนาจมาถูกทางแต่สะดุด เนื่องจากการถ่ายโอนภารกิจให้ท้องถิ่นไม่เป็นไปตามแผน สตง.ตรวจเข้มโดยใช้มาตรฐานของตนเองไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อการทำงานของท้องถิ่น

            อบต.มีงบประมาณน้อย – แต่ถูกหน่วยงานอื่นมองว่าเป็นแหล่งเงินทำเรื่องขอมา  การจะให้ขอให้ดูว่าหน่วยงานที่ขอมีหน้าที่หรือไม่ สิ่งที่จะให้เป็นหน้าที่ของ อปท.หรือไม่   อบต.ส่วนใหญ่เป็นองค์กรขนาดเล็ก  บาง อบต.มีงบพัฒนาเพียง ๔.๕ แสน  ขณะที่ชาวบ้านคาดหวังสูง มีปัญหาอะไรก็ร้องนายก อบต.ทั้งที่เป็นงานของกรมอื่น ๆ   แต่กลายเป็นจุดแข็งคือ ชาวบ้านมอง อปท.เป็นที่พึ่ง

          แนวทางแก้ปัญหา อปท. – งบประมาณไม่พอเป็นเรื่องปกติให้ใช้เรื่องที่จำเป็นตามแผน  ดูช่องทางของบเพิ่มเติมจากแหล่งงบประมาณอื่น ๆ   การควบรวมท้องถิ่นแนวคิดดี แต่การปฎิบัติยังอีกห่างไกล คงทำไม่ได้ในสมัยรัฐบาลนี้

 

บรรยายเรื่อง “ทิศทางองค์กรปกครองท้องถิ่นในยุคเปลี่ยนผ่าน 

โดย ศาสตราจารย์ ดร.โกวิท พวงงาม คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

          ตนเองเลิกคาดหวังกับการปฎิรูปประเทศของรัฐบาล คสช.ซึ่งบริหารมากว่าสามปี  เพราะไม่เห็นรูปธรรม  ไม่สามรถแก้ปัญหา อปท.  รัฐบาลใช้งบประมาณก้อนโตในโครงการนโยบายใหญ่  เช่น โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจตำบลละ ๕ ล้าน  โครงการ ๙๑๐๑ หมู่บ้านละหนึ่งล้าน   โครงการธงฟ้า  กิจกรรมที่รัฐบาลทำงานใช้เงินมาก   แต่มีรูปแบบทำงานที่ล้าหลัง คือ เป็นการสั่งการจากส่วนกลาง  ระบบราชการก็ไม่สนอง มีข่าวการทุจริตตลอดทาง  หมดเงินกิจกรรมก็หยุดไม่เกิดการต่อเนื่อง เงินที่ลงมากก็กลับไปเข้ากระเป๋าบริษัทใหญ่ หรือนักรับเหมาในท้องถิ่นเหมือนเดิม  แก้จนในท้องถิ่นไม่ได้ ชาวบ้านก็ไม่เข้มแข็งกลายเป็นผู้พึ่งพารัฐ

            จะพัฒนาท้องถิ่นให้ยั่งยืน ต้องเปลี่ยน Mindset  คือเปลี่ยนระบบความคิดใหม่ ทั้งชาวบ้าน ผู้บริหารท้องถิ่น  อธิบดี ปลัดมหาดไทย รวมถึงคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี   ให้คิดใหม่ คือเห็นความสำคัญกับท้องถิ่น  กระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น  ให้ อปท.เป็นเจ้าภาพหลักในการแก้ปัญหาชาวบ้าน  การเปลี่ยนความคิดที่ดีที่สุดคือไปดูงานทีประสบความสำเร็จเป็นนวัตกรรม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 

            เสนอยุทธศาสตร์ “ท้องถิ่นปฎิรูปประเทศ” ประเด็นสำคัญ คือ 

๑)ให้ อปท.เป็นเจ้าภาพแก้ปัญหาท้องถิ่น เริ่มจาก   X-ray สำรวจปัญหาของชาวบ้าน  และ อปท.เป็นผู้ทำงาน  โดยรัฐบาลให้การสนับสนุน  มีตัวอย่างสำเร็จมาแล้วที่เมืองจีน  กลยุทธ์ในการทำงาน คือ เริ่มจากศึกษานวัตกรรมการพัฒนาเฉพาะเรื่องในแต่ละตำบลที่สำเร็จ  เช่น สร้างแหล่งน้ำ  พัฒนาผู้สูงอายุ  การดูแลคนพิการ   สร้างรายได้   แล้วขยายผลให้กว้างออกไปครอบคลุมถึงเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของชาวบ้าน

๒)รัฐบาลต้องส่งเสริมท้องถิ่นโดยสนับสนุนงบประมาณ และกระจายอำนาจให้เต็มรูปแบบ

 ๓)การพัฒนาท้องถิ่น ต้องพัฒนาประชาชนให้มีบทบาทด้วย การปฎิรูปต้องทำให้คนฉลาดด้วย  ให้มีสำนึกในการทำงานร่วมกัน ช่วยเหลือกัน  เกิดกลุ่มจิตอาสาขึ้นในตำบลหมู่บ้าน  ท้องถิ่นร่วมกับสถาบันการศึกษา เรียนรู้นวัตกรรมดีเด่นของท้องถิ่นตัวอย่าง  นำขยายผล

 

            แนวทางพัฒนายั่งยืนดังกล่าว มีตัวอย่างสำเร็จในหลายประเทศเพราะมีลักษณะเฉพาะที่เป็นจุดแข็งของแต่ละประเทศ เช่น  ประเทศจีน- นโยบายรัฐบาลชัดรูปธรรม  มีพรรคคอมมิวนิสต์กำกับจากท้องถิ่น  ประเทศฝรั่งเศส – คงท้องถิ่นขนาดเล็กเพราะประชาชนเข้มแข็งก่อรูปเป็นคอมมูน   ประเทศญี่ปุ่น- มีการกระจายอำนาจจริง  ท้องถิ่นรับผิดชอบงานพัฒนาระดับจังหวัด  ประชาชนประหยัดพึ่งตนเอง  

            ประเทศไทย  มีจุดอ่อนมากเนื่องจากประชาชนพึ่งพา ถูกทำลายด้วยประชานิยม ทั้งจากพรรคการเมืองและรัฐบาล  มีจุดแข็งที่ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ร.๙” ประชาชนทำเป็นตัวอย่าง แต่รัฐบาลครอบงำเข้าประชารัฐแบบทุนบวกราชการ

 

            สรุปว่าการพัฒนายั่งยืนมีเงื่อนไขสองอย่าง คือ ๑)นายกท้องถิ่นเข้มแข็ง   ๒)ประชาคมท้องถิ่นเข้มแข็ง   พัฒนาท้องถิ่นไม่ใช่แค่พัฒนาแต่ อปท.ต้องพัฒนาประชาสังคมด้วย ให้มีสำนึกและมีส่วนร่วมกับ อปท.  

 

ความเห็นเรื่องโครงสร้างท้องถิ่น

            เรื่อง อบจ. - งานบริการสาธารณะที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ควรให้ อปท.เป็นหน่วหลักรับผิดชอบ  ไม่ควรตั้งหน่วยงานส่วนกลางของกรมต่าง ๆ ขึ้นซ้อนอีก อบจ.เห็นว่าควรมีอยู่ แต่ให้ไปทำหน้าที่แทนผู้ว่าราชการจังหวัดทำงานพิธีการที่เป็นรัฐพิธี  และประสานงานระหว่าง อปท.   สมาชิก อบจ.ควรใช้ฐานจังหวัดเป็นพื้นที่ จะได้ไม่ต้องวิ่งเต้นเอางบประมาณลงฐานคะแนนอำเภอ  เพาะมี อปท.รับผิดชอบอยู่แล้ว

            เรื่องการควบรวมท้องถิ่น – ร่าง พรบ.ท้องถิ่นตั้งมาตรฐานควบรวมไว้ที่ ประชากร ๗,๐๐๐ คน  งบประมาณ ๒๐ ล้าน  เป็นการกำหนดตายตัวเกินไปโดยไม่คำนึงถึงบริบทท้องถิ่น  การควรรวมควรกำหนดเวลาเตรียมพร้อม เช่น ๕ ปี  และมีแรงจูงใจให้เกิดการควบรวม อปท.

           

สรุปสาระสำคัญที่นำเสนอต่อ อปท.

การพัฒนาท้องถิ่นต้องทำเชิงรุก  เสนอแนวทาง ปฎิรูปประเทศโดยชุมชนท้องถิ่น โดยการสนับสนุนของเครือข่ายวิชาการ  มีภารกิจสองอย่างทำควบคู่กัน คือ ทำงานงานบริการสาธารณะสนองชาวบ้าน พร้อมกับ ส่งเสริมพลเมืองให้เข้มแข็ง 

            ต้องเปลี่ยน Mindset (ระบบความคิด) ใหม่ เริ่มจากนายกรัฐมนตรี  สตง. ปลัดกระทรวง  บุคลากรท้องถิ่น รวมถึงชาวบ้าน  กลยุทธเปลี่ยนความคิดที่ได้ผล คือ การดูงานที่ประสบความสำเร็จ

 

นายพิพัฒน์ วรสิทธิ์ดำรง  นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย

          แผนปฏิรูปท้องถิ่นเสร็จแล้วกำลังเสนอ ครม. การอนุมัติแผนอาจเป็นอุปสรรคเพราะผู้มีอำนาจ รวมทั้ง สนช.ยังไม่เข้าใจท้องถิ่น อำนาจท้องถิ่นเกิดจากการรวมตัวของ อปท.  อย่าฟังอธิบดีกรมส่งเสริมท้องถิ่นมาก เพราะไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาโดยตรง  การตัดสินใจให้ถือประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก

คณะ คสช.ที่เป็น ครม.ไม่ปลื้มท้องถิ่นเพราะมีคนใกล้ชิดให้ข้อมูลท้องถิ่นที่ไม่ถูกต้อง  วางหลักการไม่ถูกต้อง เช่น กรมส่งเสริมท้องถิ่นเป็นคนกำหนดหลักเกณฑ์ใช้งบประมาณแต่ไม่แจ้งให้ สตง.ทราบ  ท้องถิ่นทำตามกรมส่งเสริมแต่ สตง.เรียกเงินคืน

            ทุกวันนี้การบริหารและกำกับ อปท.มีปัญหาทางนโยบายที่ไม่สนองรัฐธรรมนูญ  ระเบียบไม่ส่งเสริมท้องถิ่นมีความคล่องตัว  คณะกรรมการกระจายอำนาจซึ่งคาดหวังเป็นองค์กรหลักของท้องถิ่นก็โน้มเอียงไปทางส่วนกลาง  คณะกรรมการกระจายอำนาจไม่มีอำนาจจริง มีมติอะไรไปก็ไม่เกิดผล เพราะองค์กรไม่ทำตาม เช่น สำนักงบประมาณ  กรมส่งเสริมท้องถิ่น  เสนอให้มีการปฏิรูปใหม่จัดตั้ง “สภาท้องถิ่นแห่งชาติ” เป็นองค์กรอิสระ  ทุกกลไกเกี่ยวกับท้องถิ่นสังกัดสภานี้  มีผู้แทนท้องถิ่นเข้าร่วมอย่างเหมาะสม

            สถานการณ์ไม่ปกตินี้จะอยู่ไม่นาน ก็ต้องมีเลือกตั้ง  ขอให้ท้องถิ่นรักษาตัวให้รอด ขอให้ท้องถิ่นทำงานสนองความต้องการประชาชน อยู่ในใจประชาชนได้ก็จะมีเกราะคุ้มครอง  เรื่องภาพพจน์ท้องถิ่น  อยากให้ท้องถิ่นระดมคนที่มีศักยภาพ เช่น พูดภาษาอังกฤษได้  ช่วยตัวเองได้ มาเป็นโฆษกท้องถิ่นแก้ข่าวไม่ได้ เสนอภาพทางบวก

สมาคมปลัด อปท.ขอยืนยันร่วมกับสนมาคมองค์กรบริหารท้องถิ่น เพื่อสร้างท้องถิ่นให้เข้มแข็ง  ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของตนเอง

 

นายปราโมทย์ เพชรรัตน์  นายก อบต.ปากแพรก  อ.ดอนสัก  จ.สุราษฎร์ธานี

การกำหนดคุณสมบัติควบรวม อปท.ไว้ที่ ประชากร ๗,๐๐๐ คน งบประมาณไม่น้อยกว่า ๒๐ ล้าน เป็นการขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๔๙ ที่กำหนดให้จัดการปกครองท้องถิ่นตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น... แต่ นายวัลลภ พริ้งพงษ์  ประธานอนุกรรมการท้องถิ่น  อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมท้องถิ่นตีความว่า “การคำนึงถึงเจตนารมณ์ท้องถิ่นมิได้หมายความว่าต้องฟังความเห็นของประชาชน” เป็นการตีความแบบศรีธนญชัย    ถามว่าถ้าไม่ฟังความเห็นประชาชนแล้วจะถือว่าเป็นเจตนารมณ์ของประชาชนได้อย่างไร 

สามสมาคม อปท.ได้จัดทำร่าง พรบ.รูปแบบของท้องถิ่นเสนอเข้า สนช.เพื่อเป็นการคัดค้านควบรวมแบบที่นักวิชาการฝ่ายอำนาจคิดไปเอง

 

นายสมพงษ์ พัดปุย  ผู้ประสานงานเครือข่ายท้องถิ่นไทย และเลขาธิการเครือข่ายพลเมืองธรรมาภิบาล

รัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ กำหนดเจตนารมณ์ชัดเจนกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น และ ก็ตัดการบริหารราชการส่วนภูมิภาคออกไปแล้ว ปี ๒๕๔๒ มี พรบ.แผนกระจายอำนาจแต่องค์กรรัฐส่วนกลางไม่ทำตามทั้งเรื่องการจัดสรรงบประมาณและการมอบหมายงาน แต่ทั้งรัฐบาลและหน่วยงานส่วนกลางก็ไม่มีความผิดเพราะ พรบ.แผนและขั้นตอนกระจายอำนาจไม่มีสภาพบังคับ  

รัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ ให้ความสำคัญกับท้องถิ่นน้อยกว่า รธน.๒๕๔๐ และ รธน.๒๕๕๐  ยิ่งกว่านั้นกฎหมายลูกที่จะเสนอเข้า สนช.ก็ยังไม่สนอง รธน.๒๕๖๐ หน่วยงานส่วนกลางอ้างเหตุผลสารพัดที่จะไม่ส่งเสริมท้องถิ่นพร้อมกันก็ดึงอำนาจกลับ  การยื้ออำนาจระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่นเกิดขึ้นมาเกือบยี่สิบปี ไม่เป็นผลดีต่อประชาชนและประเทศ  ขณะนี้สังคมเปลี่ยนไปมากเกิดปัญหาใหม่ ๆ และประเทศไทยต้องต่อสู้ในเวทีโลก  กองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)ได้ให้ นิด้า (ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ) ทำการวิจัยหารูปแบบท้องถิ่นในอนาคต ผลวิจัยจะออกมาในสองปีนี้  คาดว่าจะให้ความหมายท้องถิ่นใหม่รับผิดชอบพัฒนาคนและสิ่งแวดล้อม  จะต้องปรับโครงสร้าง อปท.และปรับแนวทางกำกับทัองถิ่นใหม่

มาถึง พศ.๒๕๖๐  เกิดสถานการณ์ยื้ออำนาจกันอีกครั้งหนึ่ง เพราะ รธน.๒๕๖๐ กำหนดให้มีการเลือกตั้ง และให้เสนอกฎหมายลูกเกี่ยวกับท้องถิ่น  จากประสบการณ์ต่อสู้ ๑๗ ปีที่ผ่านมา ท้องถิ่นควรสรุปได้แล้วว่า “อำนาจมิได้มาด้วยการร้องขอ” ท้องถิ่นจะต้องเป็นเอกภาพและต่อสู้ให้ได้สิทธิของท้องถิ่นตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

ชาวท้องถิ่นต้องเจ้าใจว่า อปท.ไม่ใช้เป็นกลไกใต้บังคับของระบบราชการส่วนกลาง  แต่ อปท.เป็น “ทบวงการเมือง” มีประชาชนเป็นฐานจากการเลือกตั้ง  ต้องทำงานสนองประชาชน  อปท.ต้องจรัสแสง(เจตนารมณ์ทัองถิ่น)ให้ประจักษ์ด้วยตัวเองแม้มีข้อจำกัดที่ส่วนกลางยังไม่กระจายอำนาจ

ในสถานการณ์เปลี่ยนผ่านที่การเลือกตั้งครั้งใหม่ เสนอให้ใช้ยุทธศาสตร์สองขา : คือ การเรียกร้องกระจายอำนาจด้วยแนวทางการเมือง  ควบคู่กับสร้างงานพัฒนาเด่นในพื้นที่ด้วยศักยภาพของ อปท.และประชาชนฐานราก  

อปท.ต้องเน้นที่การเปลี่ยนแปลงตนเอง  เสนอแก่จุดอ่อนโดยร่วมมือกับ ปปท.ทำงานเป็นธรรมาภิบาล ต้องมองประชาชนเป็นเพียงหัวคะแนน หรือ ฐานคะแนน ต้องสร้างประชาชนให้เป็นพันธมิตรและเป็นเข้าของ อปท.จึงจะเกิดพลังใหม่ของท้องถิ่นในการต่อรองกับส่วนกลาง

นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง  นายกเทศบาลตำบลยางตลาด จ.กาฬสินธุ์

            อดีตปลัดมหาดไทยคนหนึ่งซึ่งเคยเป็นผู้ว่าราชจังหวัดในภาคใต้ ยืนยันว่าจะยุบท้องถิ่นให้ได้ บัดนี้ได้เลื่อนฐานะเป็นรัฐมนตรีกระทรวงใหญ่  เป็นตัวอย่างของความคิดผู้มีอำนาจส่วนกลาง ที่สำคัญคือกระทรวงมหาดไทย   การจัดสรรงบประมาณให้ อปท.ก็น้อยเกินไปและสร้างเงื่อนไขให้สามสมาคมขัดแย้งกันเรื่องงบประมาณ เช่น เรื่องจัดสรรภาษีล้อเลื่อน  อุปสรรคของท้องถิ่นเกือบทั้งหมดเกิดจากพลังรวมรวมศูนย์อำนาจที่กระทรวงมหาดไทย

            การควบรวมท้องถิ่นควรให้เป็นไปตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ และให้เป็นไปตามความพร้อมของแต่ละท้องถิ่น   การบริหารท้องถิ่นมีกฎหมายระเบียบที่ซับซ้อนมาก บุคลากรท้องถิ่นต้องใฝ่รู้ ขยันเข้าอบรมในทุกโอกาส  ถ้ารู้ไม่ทันก็จะยิ่งตกเป็นจำเลย  

            สมาคมองค์กรบริหารท้องถิ่น เปิดร่วมรับทุกฝ่ายเป็นสมาชิกไม่จำแนก อบต. เทศบาล หรือ อบจ.เปิดกวางรวมถึงผู้ที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย  วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมท้องถิ่นให้เข้มแข็งและเรียกร้องกระจายอำนาจตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ

 

นายประดิษฐ์ จันทร์แจ่มใส  เลขาธิการสมาคมองค์กรบริหารท้องถิ่น นายก อบต.ท่าเคย  จ.สุราษฎ์ธานี

            เป็นที่กล่าวกันว่าเรามี “กรมไม่ส่งเสริมท้องถิ่น” จึงทำให้ปัญหาท้องถิ่นไม่ได้รับการแก้ไข  เห็นด้วยกับการเป็นเทศบาลแต่ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมท้องถิ่น  อปท.เป็นหน่วยงาน “รัฐบริการ” เพื่อสนองท้องถิ่นที่หลากหลาย สามาระทำงานได้คล่องตัว  แต่ระบบราขการไทยทำให้ อปท.เป็น “รัฐปกครอง” ต้องฟังคำสั่งจากส่วนกลาง และต้องทำอะไรเหมือนกันหมดตามที่กระทรวง และ กรมไม่ส่งเสริมสั่งลงมา  โดยใช้งบประมาณ ระเบียบกฎหมาย  และเส้นสายบุคลากร เป็นเครื่องกำกับให้ท้องถิ่นอยู่ในกรอบของศูนย์อำนาจ

            จัดตั้งสมาคมองค์กรบริหารท้องถิ่น เพื่อเป็นสถาบันสนับสนุนท้องถิ่นให้มีศักยภาพในการให้บริการประชาชนที่หลากหลายในทุกเรื่อง

 

รับฟังความเห็นของท้องถิ่น จากการประชุม อปท.ภาคอีสาน วันที่ ๙ ก.พ.๖๑ ณ จ.อุดรธานี

 

ชี้แจงบทบาทของสมาคมฯ โดย นายวิระศักดิ์ ฮาดดา  นายกสมาคมองค์กรบริหารท้องถิ่น

            โครงสร้างสมาคมฯ - นายกสมาคมฯ ภาคอีสานได้แก่ นายธนรรณพ สมชัยยา  นายก อบต.นาทม  อ.ทุ่งฝน จ.อุดรธานี   นายกสมาคมฯ จังหวัดอุดรธานี ได้แก่ นายเกรียงศักดิ์ หอนงาน   นายก อบต.เพ็ญ จ.อุดรธานี  ต่อไปจะจัดตั้งที่จังหวัดมุกดาหาร

            บทบาทของสมาคมฯ - ตั้งใจเป็นองค์กรส่งเสริม “การบริหารท้องถิ่น” มากกว่าเป็นการปกครองท้องถิ่น 

ภารกิจสำคัญ คือ จะร่วมมือกับหลายฝ่ายรวมทั้งภาคประชาชน เพื่อผลักดันให้มีการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่น  คาดหวังให้ได้ตาม รธน.๒๕๔๐  จะเรียกร้องให้อำนาจการสอบบรรจุบุคลากรกลับมาเป็นของ อปท.

            จะรับข้อเรียกร้องของท้องถิ่น นำสู่กลไกแก้ปัญหาส่วนกลาง เช่น ก.กลางงานบุคคล  คณะกรรมการกระจายอำนาจ  กรมส่งเสริมท้องถิ่น

 

ข้อเสนอของผู้เข้าประชุม

เรื่องสิทธินายกท้องถิ่นควรได้

๑) เงินเดือนนายก อบต.น้อยกว่าปลัด เสนอให้เพิ่มเงินเดือนโดยมีตัวชี้วัดที่เหมาะสม

๒)ขอเครื่องราช – ได้เสนอมานานแล้วยังไม่มีความคืบหน้า

การกระจายอำนาจ

- ส่วนกลางไม่จัดสรรเงินอย่างพอเพียง  ไม่ถ่ายโอนภารกิจ ไม่ปฎิบัติตามแผนกระจายอำนาจ

-ปัจจุบันเข้ายุค ๔.๐ แล้ว แต่ส่วนกลางยังสั่งการในยุค ๐.๔  คือ ไม่ให้ท้องถิ่นคิด  ขออำนาจให้ประชาชนท้องถิ่นคิดได้เอง  มีสติปัญญาพอและทำได้

งานบุคคล

-การย้ายปลัด อบต. – ระเบียบให้ทำได้แต่มีการร้องอุทธรณ์ ทำให้ล่าช้า  ความขัดแย้งรุนแรง

-ขอกำลังคนไปแล้วล่าช้า ขอให้มีการเร่งรัด ติดตาม เช่น อัตราผู้ดูแลเด็ก

-เพื่อการประสานงานใกล้ชิดและส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรท้องถิ่น  ให้ย้ายศูนย์ราชการ   ศูนย์การอบรม มาอยู่ภาคอีสาน

งบประมาณ

-ท้องถิ่นมีงบประมาณน้อยอยู่แล้ว แต่ยังถูกหน่วยราชการมาขออุดหนุน ทั้งที่ไม่อยู่ในหน้าที่ ถ้าไม่ให้ก็เกิดขัดใจกัน

-การให้สัมปทานทรัพยากร เช่น  เหมืองแร่  น้ำมัน ควรให้ท้องถิ่นรับรู้และมีส่วนได้รับค่าภาคหลวง

-ปัจจุบัน เทศบาล/อบต. ได้ภาษีล้อเลี่ยนร้อยละ ๒๐  อบจ.ร้อยละ ๘๐  ขอให้ปรับใหม่ เทศบาล/อบต.ได้ร้อยละ ๘๐  อบจ.เหลือร้อยละ ๒๐

-งบอุดหนุนภัยพิบัติ ทำได้แก่ ซ่อมแซม  แก้ปัญหาไม่ได้ เช่น ถนนพัง ซ่อมไม่อยู่

-การจ่ายขาดเงินสะสมท้องถิ่นมีหลักเกณฑ์อย่างไร  - ถ้าเป็นความเดือดร้อนจ่ายได้แต่ต้องมีหลักฐานชัดว่าเป็นความเดือดร้อน ถ้าจำเป็นสำรองไม่ถึงหกเดือนก็ได้

- อบต.ยากกู้เงินได้จะทำอย่างไร  -  เทศบาลกู้ได้เพราะมีกองทุนสำรองเทศบาล

การเลือกตั้ง

            -อยากทราบว่าจะเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อไหร่  คุณสมบัติผู้สมัครท้องถิ่นเป็นอย่างไร

 

รายงานโดย Fb: localthai reforming Thailand

๑๒ ก.พ.๒๕๖๐

หมายเลขบันทึก: 644737เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2018 22:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2018 22:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท