Economic Cyber Crime ภัยคุกคามจากโลกออนไลน์สู่หายนะเศรษฐกิจชาติ (กรณีศึกษา : ประเทศเวเนซูเอล่า)


ดร.ปรเมศวร์ กุมารบุญ 

Cyber Criminologist
 

 

 

  ในปีที่ผ่านมา ผมเขียนบทความมากมายให้คนสนใจภัยร้ายจาก Virtual currency  (VC) อันจะทำให้สังคมไม่สงบสุขเพราะนอกจากบรรดาเหล่าอาชญากร และผู้ก่อการร้ายจะเติบโตได้ดีก็ด้วยเส้นทางการเงินของ VC ที่เข้มแข็งแล้ว ยังเป็นวิธีการฟอกเงินในการก่ออาชญากรรมทุกรูปแบบ ทั้งการ คอร์รัปชั่น การค้ายาเสพติด ของผิดกฎหมาย ตลอดจนการเรียกค่าไถ่หรือขู่วางระเบิด ค้ามนุษย์ และยังก่ออาชญากรรมเศรษฐกิจอีกด้วย 

             จากการเขียนบทความใน gotoknow และการประชุมวิชาการต่างๆ ผมก็สวนกระแสหยิบเรื่องราวของ Virtual Currency สู่สังคมแต่ในแง่ร้ายด้วยความแปลกใจเหตุใดไม่มีใครค่อยพูดถึงกัน  แต่ผมกลับได้รับเชิญบรรยายหลายแห่งทั้ง ภาครัฐ เอกชน และสถานศึกษา ตลอดจนให้คำปรึกษาหลายหน่วยงานรัฐ และร่วมเสนอความเห็นทางกฎหมาย นับวันผมเริ่มมองแต่แง่ร้ายเห็นแต่โทษมากกว่าประโยชน์ของเงินเสมือนที่จะส่งผลกระทบต่อสังคม และระบบเศรษฐกิจของโลก เพราะ "มูลค่าเสมือน" ต่างจาก "มูลค่าแท้จริง" อย่างไร อะไรคือ ความมั่นคงของสินทรัพย์ประชาชนที่รัฐอาจจะต้องเปลี่ยนบทบาทใหม่ในการกำกับดูแล  บทความนี้จะค่อยๆ เผยเรื่องราวอันซับซ้อนทางเศรษฐศาสตร์กับวิวัฒนาการเงินเสมือนที่สั่นสะเทือนโลก

      “เส้นทางการเงิน” เป็นดั่งเส้นเลือดหล่อเลี้ยงกลุ่มหรือองค์กรอาชญากรรม ขับเคลื่อนการปฏิบัติภารกิจการก่อการร้ายและองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ เงินเสมือน หรือ Virtual currency ช่วยหลบเลี่ยงเส้นทางการเงินของผู้ก่อการร้ายและองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ทำให้ไม่ถูกตรวจสอบจากระบบธนาคารและสถาบันการเงินทั่วโลกที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายการฟอกเงิน คือ AML/KYC และ CTF  

 

 

          เงินเสมือน ช่วยให้เคลื่อนย้ายเงินข้ามโลก (Transaction) ไปทุกหนแห่งที่มีอินเทอร์เน็ตอย่างไร้ร่องรอยการตรวจสอบในเสี้ยววินาที ไร้ตัวตนทั้งผู้โอนและผู้รับเงิน (Anonymous) สามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินสดกลับได้จาก VC Exchanger ที่เปิดให้บริการทั่วโลก และยังมีบัตร Debit Visa ที่ฝากด้วย Crypto Currencies ผ่านเว็บไซต์ ได้บัตรนำไปใช้ชำระเงินได้ทั่วโลกโดยไม่ปรากฎชื่อผู้ถือบัตร อีกทั้งการก่อการร้ายสามารถระดมทุนด้วย Virtual Currency จากผู้ศรัทธาทั่วโลกอย่างรวดเร็ว (Fund raising) อันจะทำให้อาชญากรรมทุกรูปแบบแข็งแกร่งเติบโตกว้างขวางอย่างรวดเร็ว โดยไม่สามารถป้องกันและปราบปรามเส้นทางการเงินได้ง่ายอีกต่อไป
 

 

 

 

 

          แต่วันนี้เราจะมาพูดเรื่อง อาชญากรรมเศรษฐกิจ ที่เป็นภัยคุกคามยิ่งใหญ่จาก Virtual currency ที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจของหลายชาติและโลก อาจต้องเกิดวิกฤติในเร็ววัน โดยเฉพาะเมื่อประเทศใดเริ่มเกิดอัตราเงินเฟ้ออย่างรุนแรง ประชาชนจะเคลื่อนย้ายมูลค่าสินทรัพย์ของตนไปถือครองสินทรัพย์อื่นที่มีความมั่นคงในมูลค่ามากกว่า และหากหลบหนีออกนอกประเทศก็ช่วยให้นำสินทรัพย์ติดตัวไปได้ง่ายกว่า แต่ถ้าหากป้องกันทัน หนักก็จะกลายเป็นเบา ในวงวิชาการ Cyber crime เรียกภัยคุกคามใหม่นี้ว่าว่า Economic Cyber Crime

          

 

          เงินเสมือนหรือ Virtual Currency เป็นส่วนหนึ่งของ Fintech นวัตกรรมการเงินยุคใหม่ ซึ่งเป็นเงินเสมือนที่ไม่ผูกติดกับระบบการเงินการคลังอันมีทองคำหรือพันธบัตรรัฐบาลหรือเงินตราต่างประเทศสำรองหนุนหลังรับประกันความมั่นคงมีมูลค่าที่แท้จริง และไม่เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายเหมือน Fiat currency ทั่วไป

          การไม่มีทรัพย์หรือสินทรัพย์ประกันความเชื่อมั่น แต่ใช้ความมั่นใจว่าระบบมั่งคงปลอดภัยและมีความต้องการในตลาดเป็นตัวกำหนดมูลค่าตามกลไกตลาด เรียกว่า Trustless กล่าวคือไม่ต้องอาศัยความเชื่อมั่นใดๆ อีกต่อไป แม้ไม่มีอะไรมารับประกันมูลค่า จึงนับว่ามีความเสี่ยงสูงในการประกันความมั่งคงของทรัพย์สิน

          ทุกวันนี้สกุลเงินเสมือนในโลกที่เป็นเงินเข้ารหัสในระบบ Block chain แบบ Distributed Ledger ทำให้เกิด Virtual Currency มากมายนับพันๆ สกุล อาทิเช่น Bitcoin, Ethereum, Ripple, Hyperledger, Dash, Litecoin, Peercoin, Dogecoin และ Monero ซึ่งในอดีตเงินเสมือนที่ไม่ใช่ บิตคอยน์ มักเรียกว่า Alt coin หรือ Alternative ทางเลือกอื่น  

 

 

หายนะของ Bitcoin ที่ก่ออาชญากรรมเศรษฐกิจ ต่อระบบการเงินการคลังของชาติ

          อาชญากรรมเศรษฐกิจ หรือ Economic crime นั้นหมายถึงการทำให้คนจำนวนมากได้รับความเสียหายทรัพย์สินรวมถึงธุรกิจและระบบเศรษฐกิจ เหยื่ออาชญากรรมเศรษฐกิจจาก Bitcoin ในมุมมองส่วนตัวผมเห็นว่ามี 2 ประเภทคือ ประชาชนทั่วไปเป็นเหยื่อ และ รัฐก็ตกเป็นเหยื่อเช่นกัน ดังที่จะยกตัวอย่างต่อไปนี้

          Bitcoin นั้นเป็นสิ่งที่ทำให้ "รัฐ" ได้รับผลเสียหายทั้งระบบการเงินการคลัง อาทิเช่น ภาคประชาชนเลิกใช้ระบบบัญชีธนาคารการจัดเก็บภาษีย่อมเป็นไปยากมากจนเป็นไปไม่ได้เลย ธนาคารจะต้องทยอยปิดตัวเมื่อไม่มีเงินฝาก ก็ไม่สามารถปล่อยกู้ได้ระบบเศรษฐกิจจะฝืดเคืองอย่างหนัก หรือถ้าหากประชาชนเลิกใช้ธนบัตรหรือเงินตรา (Fiat currency) เพราะ Bitcoin ระบบเงินทุนสำรองที่มีไว้ก็ไร้ค่า รัฐจะหารายได้มาจากไหนในการบริหารประเทศ รัฐจะเกิดอัตราเงินเฟ้ออย่างสูงที่สุด เงินจะถูกเก็บเข้ารัฐมากขึ้นๆ จนไร้ค่าไม่มีใครอยากได้ และข้าวของจะแพงขึ้น

           แต่เดิมนั้นเราใช้ทรัพยากรแลกกัน ใครเลี้ยงหมูเอามาแลกข้าว 1 ตัวได้กี่กระสอบว่ากันไป ใครเลี้ยงปลาเอามาแลกไข่ กี่ตัวกี่ฟองก็ว่ากันไป แต่มูลค่าของทรัพยากรอย่างนั้นย่อมไม่คงที่ จึงมีความพยายามหาตัวแทนทรัพยากรในแต่ละชาติมาเป็นสื่อกลาง ซึ่งเกิดความนิยมทองคำขึ้นมา และมั่นใจว่าทุกคนต้องการ จึงมีการนำทองคำมาประกันความมั่นคงทางมูลค่าของทรัพยากร (Securitized) ให้มีความมั่นคงน่าเชื่อถือในมูลค่าเหมือนกันทุกแห่งบนโลก รัฐต่างๆ จึงใช้ “ทองคำ” หนุนหลังเงินตรา หากใครได้เงินตราของชาติใดไปแล้วไม่มั่นใจในมูลค่าสามารถนำมาแลกเป็นทองคำกับรัฐนั้นได้ ทองคำจึงกลายเป็นหลักทรัพย์ที่สำคัญของเศรษฐกิจในยุคอดีตจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลไทยได้มีการตราพระราชบัญญัติเงินตรา พุทธศักราช 2501 มาตรา 30 การนำทรัพยากรทองคำมาเก็บไว้เพื่อรับประกันมูลค่าธนบัตรนี้เรียกว่า “ทุนสำรองเงินตรา”

          ยกเว้นบางประเทศ เช่น ดอลล่าร์ สหรัฐ สามารถพิมพ์ออกมาใช้จ่ายได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องมีทุนสำรองทั่วโลกก็เชื่อถือว่าชำระหนี้ได้แน่นอน มีมูลค่าขึ้นลงตามกลไกตลาด

          ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศเตือนประชาชนว่า Bitcoin ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย เพียงแต่การแลกเปลี่ยนซื้อขายอยู่ที่ความสมัครใจของสองฝ่ายกันเอง

          หายนะใหญ่หลวงของระบบการเงินการคลังของแต่ละรัฐจากอาชญากรรมเศรษฐกิจที่เกิดจากกลไกของ Bitcoin นั้น นอกจากประชาชนหรือผู้ถือครอง Bitcoin จะเสี่ยงต่อความมั่นคงของมูลค่าแล้ว เพราะไม่มีทองคำหนุนหลังสร้างความเชื่อมั่น โดยกล่าวว่านั่นคือ Trustless มิติใหม่ของระบบการเงินเพราะไม่ต้องใช้ความเชื่อมั่นอีกต่อไป แต่ใช้ความต้องการของอุปสงค์และอุปาทานตามกลไกตลาด และหากประชาชนหันไปถือครอง Bitcoin มากขึ้น ความเสียหายจะเกิดขึ้นกับมูลค่าของธนบัตรและเงินตราที่ถูกกฎหมายจะลดลง หากคนหวังเก็งกำไรจาก Bitcoin ที่มูลค่าเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ความเป็นจริงประชาชนไม่มีหลักประกันมูลค่าที่มั่นคงของ Bitcoin ก็แบกรับความเสี่ยงไว้ เมื่อ Trust หาย มูลค่า Bitcoin ก็จะหายในข้ามคืนเช่นกัน 

                Productivity จะลดลง ศักยภาพคนจะลดลง บางคนอาจจะคิดว่าไม่ต้องทำงานอีกต่อไปเมื่อเขาลงทุนทำเหมืองขุด Bitcoin หรือ VC ชนิดอื่น และทำให้เขาเกษียณได้เมื่อ Bitcoin ถึง 21 ล้าน Bitcoin ตามที่ระบบออกแบบไว้ บางคนไม่อยากทำงานแล้ว เด็กบางคนอยากได้ Bitcoin จากการเล่นเกม อาจจะไม่เห็นความสำคัญในการเรียนหนังสือหรือสร้างผลิตภาพ

 

เมื่อวิกฤติเศรษฐกิจมาเยือนเศรษฐีน้ำมัน

          ในต้นปี 2016 ประเทศ เวเนซูเอล่า มีอัตราเงินเฟ้อสูงถึง 600 % แต่พอช่วงปลายปีหลังจากมีข่าวว่าเด็กชาวเวเนซูเอล่าสามารถหา Bitcoin ได้จากอินเทอร์เน็ต แล้วได้สั่งซื้ออาหารและของใช้จากเว็บไซต์จนมาส่งถึงที่บ้านได้ อีกทั้งบทความต่างๆ ในเว็บไซต์ได้เผยข้อดีของ Bitcoim ที่จะเป็นที่พึ่งให้ประชาชนได้ยามวิกฤติเศรษฐกิจ ชาวเวนซูเอลาจึงมีความต้องการ Bitcoin อย่างสูง ชาวเวเนซูเอลาจึงทิ้งเงินสกุล bolivar ของตนไปถือ Bitcoin ไว้ ทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

 

          เข้าถึงปี 2017 ประเทศ เวเนซูเอล่า เป็นประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงที่สุดในโลกถึง 1,700 % ธนบัตรที่ออกโดยรัฐด้อยค่าลงมาก ประชาชนไม่ต้องการเงินของรัฐบาล เกิดวิกฤติเศรษฐกิจอย่างหนัก ประชาชนหิวโหย เกิดจลาจล ผู้คนอพยพออกนอกประเทศรัฐบาลถือธนบัตรเก็บไว้แต่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ เงินด้อยค่าลงอย่างมาก ทำให้ข้าวของแพงขึ้น เนื่องจากพ่อค้าไม่กล้ารับเงินสกุลหลักกลัวนำไปซื้อสินค้าอื่นต่อไม่ได้ คนที่ลำบากที่สุดคือคนจนจะยิ่งจนมากขึ้นเพราะเงินจำนวนเท่าเดิมซื้อของเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว ประเทศเวเนซูเอลาจึงเป็นกรณีศึกษาได้อย่างดีจากผลกระทบทางเศรษฐกิจจาก Bitcoin

       

 

 

 

          จากประเทศเศรษฐีน้ำมันแห่งหนึ่ง เกิดวิกฤติเศรษฐกิจขั้นรุนยิ่งขึ้น บ้างก็โทษว่าเป็นความล้มเหลวจากการบริหารของรัฐบาล แต่อันที่จริงสาเหตุใหญ่มาจากราคาน้ำมันที่ลดลง และผมเชื่อว่าวิกฤติเศรษฐกิจราคาน้ำมันลดลงจะเกิดกับประเทศผู้ค้าน้ำมันอีกจำนวนมาก เพราะจากการที่เคยลดการผลิตน้ำมันเพื่อกระตุ้นราคาขายให้สูงขึ้นกลับกลายเป็นแรงผลักดันครั้งใหญ่ในการพัฒนาเทคโนโลยีจักรกลที่ไม่ใช้น้ำมันมากมาย และสุดท้ายมนุษย์อาจจะเลือกน้ำมันเป็นทางเลือกสุดท้ายในการใช้พลังงาน

          ประชาชนเวเนซูเอล่า ยากจนลงเพราะข้าวของแพงขึ้น สินค้าก็ขายไม่ออก รัฐก็เก็บภาษีไม่ได้ ซ้ำประชาชนทิ้งเงิน โบลิวาร์ (ฺBolivar) สกุลของ เวเนซูเอล่า ไปถือ Bitcoin เพราะนอกจากมูลค่ามั่นคงแล้ว ราคายังสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังสามารถนำทรัพย์สินที่เปลี่ยนเป็น Bitcoin อพยพหนีไปยังประเทศอื่นได้โดยง่าย Bitcoin ต่างหากคือที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน บ้างก็แลกเป็น Bitcoin แล้วข้ามพรมแดนไปประเทศเพื่อนบ้านเพื่อขายแล้วซื้อเงิน ดอลลาร์ สหรัฐ กลับเข้ามาใช้จ่ายในประเทศตน ในประเทศเพื่อนบ้านนั้นไม่ว่าจะเป็น คอมลัมเบียหรือแม้แต่ปานามา มีตู้ ATM Bitcoin ให้แลกเปลี่ยนซื้อขายเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐได้ง่ายดาย

          ทำให้เศรษฐกิจ เวเนซูเอล่า ทรุดอย่างรวดเร็วกว่าชาติใดในโลกเคยเกิดขึ้นมา ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็คงไม่อาจตั้งตัวทัน เกิดจลาจลวุ่นวายไปทั่วประเทศ ผู้คนอดยากออกปล้นสะดม อาชญากรรมเกิดขึ้นมากมาย บ้านเมืองอยู่ในสภาพไร้ระเบียบ

 


 


 

          ญาติพี่น้องชาวเวเนซูเอล่าที่อยู่ต่างประเทศ ส่งเงินมาช่วยเหลือญาติพี่น้องเขาด้วย Bitcoin ชาวเวเนซูเอล่า ตื่นตัวการใช้ Bitcoin อย่างรวดเร็ว จนเกิดการทำเหมือง Bitcoin ขึ้น และประชาชนเริ่มหันไปลงทุนทำเหมือง Bitcoin มากขึ้นหวังจะเป็นโอกาสรอดทางเศรษฐกิจ

          แต่ในที่สุดเมื่อรัฐบาลพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นภัยคุกคามจึงสั่งกวาดล้างจับกุมประชาชนที่ทำเหมือง Bitcoin รวมถึงจับกุมเว็บไซต์ Mining pool และเว็บไซต์ซื้อขายแลกเปลี่ยน Bitcoin หรือเรียกว่า VC Exchanger ก็ถูกปิด และถูกสั่งอาญัติบัญชีธนาคาร เรียกได้ว่าบ้านไหนใช้ไฟฟ้ามากเกินจะถูกต้องสงสัยและจะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปเยี่ยมบ้าน

 

 


 


 

          การจับกุมเจ้าของเหมือง Bitcoin นั้นนับวันจะโดนตั้งข้อหารุนแรง ตั้งแต่กฎหมายการฟอกเงิน อาชญากรรมไซเบอร์ การค้าสิ่งผิดกฎหมาย ไปจน การก่ออาชญากรรมทางการเงิน

 

source: https://steemit.com/vincentb/@...

 

          รัฐบาล เวเนซูเอล่า แถลงการณ์แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนในการต่อต้าน Bitcoin กล่าวว่าเป็นเส้นทางการเงินของอาชญากรทางไซเบอร์และผู้ก่อการร้าย

          6 มิถุนายน 2017 รัฐบาล เวเนซูเอล่า พยายามแก้ไขปัญหา Virtual Currency ด้วยการรับรองเงินเสมือนสกุลแรกคือ Monkey coin เป็นเงินที่ถูกต้องตามกฎหมาย

          Monkey coin เป็น Crypto currency ที่รัฐบาลเวเนซูเอล่าร่วมมือใกล้ชิดในการร่างกลักเกณฑ์การกำกบดูแลร่วมกัน (Regulatory framework) โดยมีการแสดงตัวตนของลูกค้าตามกฎหมายการฟอกเงิน AML/KYC เหมือนสถาบันการเงิน มี Plat form แบบ Distributed ledger ที่โปร่งใสตรวจสอบได้ในการทำธุรกรรมโดยใช้ ซอฟต์แวร์ ชื่อว่า Draglet

 

          ชาวเวเนซูเอล่า สามารถซื้อขาย Monkey coin ได้อย่างถูกกฎหมาย และสามารถแลกเปลี่ยนไปยังเงินเสมือนสกุลอื่นได้ทั่วโลกแม้แต่ Bitcoin

          ผมเข้าใจว่า รัฐบาลเวเนซูเอล่า พยายามจะแก้ปัญหาที่คิดว่าความต้องการของประชาชนนั้นต้องการแค่ใช้ Crypto currency และเคลื่อนย้ายเงินได้ทั่วโลก แต่รัฐบาลอยากให้ตรวจสอบเจ้าของบัญชีได้เท่านั้น แต่นั่นไม่ใช่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

          ตรงกันข้ามต้นปีนี้ ค.ศ. 2018 เงิน โบลิวาร์ ของเวเนซูเอล่า เกิดอัตราเงินเฟ้ออย่างบ้าคลั่งไปถึง มากกว่า 5,400 % แล้ว



 

source : https://twitter.com/steve_hank… 

 

          ประธานาธิบดี Nicolás Maduro แห่งเวเนซูเอล่า ได้พยายามแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอีกครั้ง “โดยการสร้าง Crypto currency ของประเทศตัวเอง!!!”

          Crypto currency ที่ออกโดยประเทศเวเนซูเอล่า ถือว่าเป็นรัฐบาลแรกของโลก มีชื่อสกุลว่า “Petro” ประธานาธิบดี Nicolás Maduro ได้ประกาศในช่วง คริสมาสต์ว่า “The 21st century has arrived!”

          เงิน Crypto currency สกุล “Petro” ที่มีแผนปล่อยออกสู่ตลาด โดยรัฐบาลเป็นประกันความมั่นคงในมูลค่าด้วย น้ำมัน ทองคำ และแร่อันเป็นทรัพยากรธรรมชาติ....

          ในความคิดผมเห็นว่า มันคือสุดยอดการแก้ปัญหาวิกฤติการเงินของ ประธานาธิบดี Maduro แห่งเวเนซูเอล่า เพราะ Crypto currency มีมูลค่าในปัจจุบันเกิดจากอุปสงค์อุปาทานในตลาดด้วยความเชื่อมั่นในความมั่นคงของ Distributed ledger ในแต่ละสกุลเงิน โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันมูลค่าเหมือน Fiat currency อื่นที่ใช้ทองคำ เรียกว่า Trustless คือไม่ต้องการความเชื่อมั่นเลย

 

 

          แต่ประธานาธิบดี Maduro แห่งเวเนซูเอล่า สร้าง Crypto currency ที่มี Trust คือมีทรัพยากรของชาติหนุนหลังมูลค่าให้มั่นคง ใครไม่เชื่อมั่นในมูลค่าสามารถเอาเงิน Petro มาแลกน้ำ มัน ทองคำ หรือทรัพยากรอื่นได้เลย เป็นการเอาความเชื่อมั่นของ Fiat currency มาใส่ในระบบความมั่นคงของ Distributed ledger เชื่อว่ามูลค่าความเชื่อมั่นจะเกิดอุปสงค์อุปาทานในตลาดโลก ทำให้มูลค่าเงิน Petro พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นแน่ และหากเป็นเช่นนั้น เวเนซูเอล่า จะกอบกู้ระบบเศรษฐกิจขึ้นมาได้อีกครั้งหนึ่ง         

 

 

บทวิเคราะห์ และข้อเสนอแนะ

 

 

           การเกิดการยอมรับเทคโนโลยี (Technology adoption) ของระบบ Block chain ที่ใช้บริหารจัดการเงินเสมือนสกุล Bitcoin เกิดการยอมรับอย่างกว้างขวางนั้น เพราะความเชื่อมั่นในระบบ Distributed ledger คือการไม่เก็บข้อมูลไว้ใน Server ที่เป็นศูนย์กลาง แต่ใช้หน่วยประมวลผล (CPU) จากคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ จำนวนมากมาเชื่อมต่อกันและช่วยกันประมวลผล ยืนยันความถูกต้อง ทำให้ไม่สามารถเจาะระบบหรือแก้ไขข้อมูลได้หรือข้อมูลถูกทำลายได้หากในเครือข่ายยังมีคอมพิวเตอร์เหลืออยู่ จึงเชื่อกันว่าหากแม้โลกเกิดระเบิดถูกทำลายลงไปจากสงครามนิวเคลียร์ไม่มีคอมพิวเตอร์หลงเหลืออยู่บนโลกอีกต่อไป และคนเราหนีรอดไปยังดาวอังคารได้ ก็ยังเชื่อว่ามี CPU ของดาวเทียมเป็นเครือข่าย Block chain ของ Bitcoin ชวยประมวลผลอยู่ เพียงเปิดโทรศัพท์เคลื่อนที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ บัญชีทรัพย์สินใน Bitcoin ก็จะกลับคืนมาทันที

          จากกรณีศึกษา ประเทศ เวเนซูเอล่า ประชาชนทิ้งเงิน Fiat currency ของประเทศตนไปถือ Bitcoin นั้นมีสาเหตุมาจาก

          1. เชื่อว่ามูลค่า Bitcoin จะมั่นคงกว่าเงินประเทศตน มูลค่าไม่ลดลงตามอัตราเงินเฟ้อ

          2. ข้อมูลบัญชีสินทรัพย์ตนจะไม่สูญหาย หากฝากเงินไว้กับธนาคารต่อไป ศูนย์ข้อมูลธนาคารอาจถูกทำลายได้จากการก่อจลาจล ปล้นสะดม ทำลายธนาคารจากประชาชนผู้หิวโหย

          3. สามารถเคลื่อนย้ายบัญชีทรัพย์สินข้ามพรมแดนเพื่ออพยพได้โดยไม่โดนตรวจสอบ

   

          วิกฤตเศรษฐกิจที่ถูกซ้ำเติมจาก Bitcoin ทำให้รัฐบาล เวเนซูเอล่า สั่งห้าม Bitcoin และจับกุมคนทำเหมือง Bitcoin  นอกจากนั้นรัฐบาลยังแก้ปัญหาด้วยการรับรองเงินเสมือนที่มีเทคโนโลยี Block chain สกุล Monkey coin โดยกำหนดให้มีการทำ AML/KYC แต่นั่นไม่ช่วยตอบสนองความต้องการของประชาชนและแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้

          เมื่อวิเคราะห์ ประเทศเวเนซูเอล่า ความต้องการของประชาชนเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ และแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐบาล จะพบว่า

          เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจแม้เงินตราของรัฐบาลจะมีทองคำสำรองหนุนหลังมูลค่าหรือไม่ แต่เมื่อเกิดเงินเฟ้อรุนแรงมูลค่าเงินลดลง ประชาชนก็มีความต้องการรักษามูลค่าทรัพย์สินของตนไว้โดยทิ้งเงินสกุลหลักของประเทไปถือทรัพย์สินอื่นที่มีความมั่นในมูลค่ามากกว่า เช่น เพชร ทอง หรือเงินตราต่างประเทศ แต่ถ้าหากเป็นการอพยพออกนอกประเทศด้วยการถือสินทรัพย์จำนวนมากจึงเป็นไปได้ยากหรือโอนเงินเปลี่ยนสกุลออกนอกประเทศจึงเป็นไปไม่ได้ เทคโนโลยีเงินเสมือนหรือ Block chain จึงเป็นคำตอบของประชาชน

          ผมพบว่าการแก้ปัญหาด้วยแนวทางการสร้าง Crypto currency ของประเทศ เวเนซูเอล่า ในสกุลใหม่ที่ชื่อว่า Petro ด้วยการมีรัฐบาลใช้ทรัพยากรของชาติหนุนหลังเป็นแนวความคิดที่ถูกต้อง เพราะว่า

          เมื่อ Petro เป็นเงินตราที่รัฐบาล เวเนซูเอล่า รับรองตามกฎหมาย และเป็น Block chain ที่มีระบบ Distributed ledger ทำให้การเคลื่อนย้ายบัญชีเงินของประชาชนเป็นไปได้ง่ายและมีความมั่นคงข้อมูลตอบสนองความต้องการของประชาชน อีกทั้งสร้างระบบการขุดเหมืองให้เหรียญเป็นรางวัลเพื่อจูงใจประชาชนเข้าร่วมเครือข่ายความต้องการมูลค่าของเงิน เวนซูเอล่า จะกลับมาอีกครั้ง เงินเฟ้อจะลดลง จุดแข็งต่างจาก Crypto currency ทั่วโลกคือมีรัฐบาลรับรองมีทรัพยากรจริงหนุนหลัง โอกาสที่หากมีความต้องการในโลกมากขึ้นมูลค่าของ Petro ก็จะมากขึ้นเศรษฐกิจก็อาจจะฟื้นรวดเร็ว แต่ปัญหาในปัจจุบันคือ “ไม่มีใครเชื่อรัฐบาลเวเนซูเอล่า”

 

 

เมื่อมองโอกาสนี้กับประเทศไทย

          ในประเทศไทยเงินตราหรือเงิน “บาท” ที่ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อใช้โอนหรือซื้อขายสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ตเรียกว่า E-money แต่ถ้าหากนำเงินบาทมาทำเป็น Crypto Currency ด้วยเทคโนโลยี Block chain ที่มีระบบ Distributed ledger ที่สามารถ Trading แลกเปลี่ยนซื้อขายกับเงินเสมือนสกุลอื่นได้โดยมีรัฐบาลรับรอง ก็จะคล้าย Petro ของเวเนซูเอล่า นอกจากตอบสนองความต้องการของประชาชนส่วนหนึ่งที่ต้องการรักษาความมั่นคงของบัญชีตนแล้ว อาจจะยังทำให้เกิดความเชื่อมั่นและความต้องการจากนานาชาติส่งผลให้เงินบาทมีมูลค่าสูงขึ้นอีกด้วย แต่มีข้อดีก็ต้องมีข้อเสียก็คงในเรื่องการส่งออก

          ขณะเดียวกันยุคสมัยกำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคม Cashless Society นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่พกเงินสด แต่ใช้ QR code หรือ E-money  หรือ Virtual Currency ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ในการซื้อขายสินค้าหรือชำระค่าบริการ เมื่อนักท่องเที่ยวหลายสิบล้านคนเดินทางมายังประเทศไทยพวกเขาก็ไม่ได้พกเงินสดมา นำมาเพียงโทรศัพท์เคลื่อนที่ หากประเทศไทยมี Crypto Currency ที่เป็นเงินบาทหรือที่รัฐบาลรับรองมีทองคำสำรองตามกฎหมายที่นักท่องเที่ยวสามารถ Trading แลกเปลี่ยนซื้อขายกับเงินเสมือนสกุลอื่นได้ นับเป็นยุทธศาสตร์นำเงินตราเข้าประเทศจำนวนมากโดยง่ายได้เช่นกัน

         แต่สุดท้ายผมขอสรุปว่า Crypto currency ที่ไม่มีสินทรัพย์แท้จริงหนุนหลัง เป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เรียกว่าเป็นสินทรัพย์ฟองสบู่ (Bubble asset) ผู้ลงทุนสุดท้ายจะพบกับหายนะ แม้ผู้ลงทุนแรกๆ จะได้กำไรมหาศาล แต่คำตอบสุดท้ายมีเหยื่อ รัฐอาจจะตามไม่ทัน แต่ประชาชนควรจะเร่งหาความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์การเงินก่อนลงทุน

 

อ้างอิง

https://www.bot.or.th/Thai/FIP...

http://www.dailymail.co.uk/new... 

https://www.theatlantic.com/ma... 

http://www.news.com.au/technol... 

https://cointelegraph.com/news... 

http://reason.com/blog/2017/12...

https://steemit.com/vincentb/@...

https://www.bitcoinisle.com/20...

 

          

หมายเลขบันทึก: 644711เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2018 23:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 สิงหาคม 2021 18:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท