ชีวิตที่พอเพียง : 3109. ทฤษฎีแห่งรักและผูกพัน



หนังสือ A General Theory of Love (2001) เขียนโดย Thomas Lewis, Fari Amini and Richard Lannon  บอกว่าความรักและความผูกพันเกิดจากสารเคมีในสมอง     มีสารเคมี ๓ ตัว สร้างขึ้นในสมอง และเป็นสื่อประสาท หรือควบคุมสมอง ให้แสดงความรักและผูกพัน

  • Serotonin มีฤทธิ์ลดความทุกข์จากความเศร้าโศกเสียใจจากการสูญเสียคนที่รัก   ยาลดเศร้า เช่น Prozac มีฤทธิ์เพิ่ม serotonin ในสมอง     
  • Oxytocin  เป็นฮอร์โมนที่หลั่งมากตอนมีบุตร ทำให้วิญญาณความเป็นแม่ขึ้นสูง    ฮอร์โมนนี้ยังเกี่ยวข้องกับความผูกพัน (attachment) ในตลอดชีวิตคนเรา    มีการวิจัยในสัตว์ป่าในท้องทุ่งต่างชนิดกันที่พฤติกรรมผัวเมียแตกต่างกันแบบตรงกันข้าม   vole มีพฤติกรรมผัวเดียวเมียเดียว และคลอเคลียกัน ตลอดชีวิต    ส่วน montane vole มากผัวหลายเมีย และบางทีทิ้งลูก   ความแตกต่างอยู่ที่ระดับ oxytocin ในสมอง
  • Opiates  เป็นฮอร์โมนระงับปวด ทั้งความเจ็บปวดทางกาย และทางอารมณ์   เป็นกลไกเพื่อการมีชีวิตรอดอย่างหนึ่ง    คือช่วยให้หลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นอันตราย    การที่สมองทำหน้าที่ทั้งรับรู้และขจัดความเจ็บปวดสำคัญมาก   กลไกการทำหน้าที่ขจัดความเจ็บปวดทางกายเข้าใจง่าย   แต่กลไกการทำหน้าที่ระงับการปวดใจมีความซับซ้อน   และเกี่ยวข้องกับสมองส่วนลิมบิก (limbic)    ซึ่งเป็นสมองส่วนควบคุมอารมณ์และความผูกพัน   เนื่องจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมต้องเลี้ยงลูกนาน   จึงต้องมีกลไกสร้างความผูกพันแม่ลูก    แต่ในที่สุดก็ต้องพรากจากกัน จึงต้องมีกลไกระงับความเจ็บปวดทางใจที่เกิดจากการพลัดพราก opiates จึงเข้าไปทำหน้าที่นี้ด้วย    

แต่ไม่ใช่ว่า อยู่ๆ สารเคมีในสมองของเราจะออกฤทธิ์บังคับโน่นนี่แบบเดียวกันกับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในโทรศัพท์มือถือ หรือเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ    ต้องมีการเรียนรู้ตั้งแต่แรกเกิด และเรียนรู้เรื่อยไป    มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ติดตัวมาแต่กำเนิด เป็นกลไกทางสัญชาตญาณตามธรรมชาติ   แต่ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากการฝึกฝนเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงของคนคนนั้น

คือความรักและผูกพันกำกับโดยสมองทั่วทั้งสมอง  เชื่อมโยงเครือข่ายเซลล์ประสาทโดยกลไกที่เรียกว่า Attractors   ซึ่งเป็นกลไกที่ทำให้สมองทำงานได้อย่างฉับพลัน และสามารถแก้ความผิดพลาดบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ ได้เอง   เป็นกลไกความจำที่ช่วยการรับรู้ การเรียนรู้ และสั่งสมประสบการณ์    ตัวอย่างเช่นเมื่อเราอ่าน วลี      “ความเจริฐก้าวหน้า”   เราจะอ่านว่า “ความเจริญก้าวหน้า” โดยไม่ต้องออกแรงเพิ่มพลังงานใดๆ    นี่คือผลของ Attractors    

Attractors พัฒนาขึ้นจากประสบการณ์ในชีวิต  ซึ่งเป็นบ่อเกิดของความจำด้วย     สมองของเราสร้าง Attractors ขึ้นมาเชื่อมโยงความจำเข้าด้วยกัน    และกลายเป็นกลไกควบคุมวิธีคิดของคนคนนั้น   โดยที่ attractors มีการพัฒนาตลอดชีวิต    อ่านถึงตรงนี้ผมตีความต่อว่า attractors นี่กระมัง ที่ช่วยให้เราเกิดการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง (transformative learning) ได้

ตอนเป็นทารก คนเราเรียนรู้และพัฒนาอารมณ์จากปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัว ซึ่งคนใกล้ชิดที่สุดคือแม่   ในคำไทยเราเรียกว่าฝึกนิสัย    ลักษณะนิสัยทางอารมณ์จึงมักจะถ่ายทอดในครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น    ทำให้คนเรามักพิจารณาคนอื่นจากข้อมูลว่าเป็นลูกเต้าเหล่าใครด้วย    แต่การเรียนรู้และพัฒนานี้ดำเนินไปตลอดชีวิตจากปฏิสัมพันธ์ทางสังคมด้วย   โดยเฉพาะปฏิสัมพันธ์แบบไว้เนื้อเชื่อใจกัน ซึ่งก็คือความผูกพัน    

สมองส่วน ลิมบิก (limbic) เกี่ยวข้องกับความรู้สึก (feeling)  ซึ่งความรู้สึกอย่างหนึ่งคือความผูกพัน    การเลี้ยงดูที่ดี ที่ให้ความรักแก่เด็ก  รวมทั้งประสบการณ์ชีวิตที่ดีในวัยเด็กจะช่วยให้เรามีความรู้สึกผูกพันที่แน่นแฟ้น    ผ่านการเชื่อมโยงใยประสาทส่วนลิมบิกที่ดี   แต่มีเด็กส่วนหนึ่งโชคร้าย มีความบกพร่องทางอารมณ์ รักและผูกพันใครไม่เป็น    เนื่องจากประสบการณ์วัยเด็กในทางลบ ทำให้ไม่มีความผูกพัน (attachment) ที่แข็งแรงกับพ่อแม่     เพราะพ่อแม่เองก็มีอารมณ์เชิงความรักและความผูกพัน (limbic attractors) ที่อ่อนแอ   การแก้ปัญหาของเด็กต้องแก้ที่พ่อแม่ด้วย    โดยวิธีการ จิตบำบัด (psychotherapy) เพื่อเปลี่ยนการเชื่อมโยงใยประสาท    หรือเปลี่ยน Attractors    หรือเปลี่ยนระบบลิมบิก ที่เรียกว่า limbic revision   ระบบเชื่อมโยงใยประสาทในสมองส่วนลิมบิกนี้เอง    ที่กำหนดรสนิยมในการเลือกคู่ เลือกเพื่อน   

 การตกหลุมรัก (in love)   กับการมีความรัก (loving) แตกต่างกัน   การตกหลุมรักเป็นการตกอยู่ใต้การควบคุมของอารมณ์ ๓ อย่าง  (๑) คิดว่า “คนนี้แหละ”  (๒) อยากใกล้ชิดผู้นั้น  (๓) ไม่สนใจเรื่องอื่นๆ     หนังสือบอกว่า การตกหลุมรักเป็นกระบวนการ “สร้างความจริงชุดใหม่”    แหม ช่างตรงกับสุภาษิตไทย “ความรักเหมือนมายา  บันดาลตาให้มืดมน” เสียจริงๆ   

หลังแต่งงาน คนเราจะค่อยๆ ถอนตัวจากสภาพ “ตกหลุมรัก” เปลี่ยนสู่สภาพ “มีความรักและผูกพัน”    และนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง honeymoon period    ช่วงสามเดือนนี้เป็น “เวลาทอง” ของการเปลี่ยนสภาพความสัมพันธ์    จาก “ตกหลุมรัก” สู่ความสัมพันธ์แบบ “มีความรักและผูกพัน”    คู่ไหนข้ามสะพานนี้ไม่สำเร็จก็จะเผชิญสภาพ “เตียงหัก”    อย่างที่เป็นข่าวอยู่บ่อยๆ  

ในช่วงเปลี่ยนผ่านดังกล่าว สมองของทั้งคู่จะต้องเปลี่ยนการเชื่อมโยงใยประสาท    ให้ไม่แค่เชื่อมโยงภายในสมองของแต่ละฝ่าย    แต่ยัง “เชื่อมแบบไร้สาย” ไปยังสมองของอีกฝ่ายหนึ่งด้วย   ทำให้มีการปรับความคิด และพฤติกรรมเข้าหากัน และ/หรือ เข้าใจกัน   ยอมรับความแตกต่าง  

ความรักและผูกพันจึงต้องการเวลาอยู่ใกล้ชิด  เพื่อให้สมองระบบลิมบิกของทั้งสองฝ่ายปรับตัวเข้าหากัน    เขาบอกว่าทั้งคู่จะมีกระบวนการ “แลกปลี่ยนลิมบิก” (limbic exchange)  ค่อยๆ เกิดโลกทัศน์ที่สอดคล้องกัน  

วุฒิภาวะอย่างหนึ่งของคนเราคือการเปลี่ยนแปลงตนเองจากสภาพ “ตกหลุมรัก” สู่สภาพ “มีความรักและผูกพัน”

วิจารณ์ พานิช                                   

๒๔ ม.ค. ๖๑

บริเวณที่นั่งรอ  โรงพยาบาลปิยะมหาราชการุณย์ 


     

หมายเลขบันทึก: 644706เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2018 21:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2018 21:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท