วันครูกับการเรียนที่ง่ายสนุกและจำได้ดี


วันที่ 20 มกราคม 2556 ผมเขียนเรื่อง   การเรียนที่ง่ายสนุกและจำได้ดี เป็นเรื่องแรกใน Gotoknow เนื่องในวันครู เพราะระลึกถึงคุณครูท่านหนึ่งที่สอนผมโดยที่ผมไม่มีโอกาสได้พบได้เห็นตัวจริง เรื่องอื่นๆเกี่ยวกับการศึกษาที่เขียนต่อๆมาก็ใช้ Theme เดียวกันนี้ 

วันที่ 20 มกราคม 2561 ที่ผ่านมานี้เอง ผมได้ไปเยี่ยมอาจารย์โรจน์ ดุลยากร ที่โรงเรียนบรรจงรัตน์ จังหวัดลพบุรี เนื่องในวันครูเหมือนกัน แต่ต้องคอยให้เป็นวันหยุดงานจึงเป็นวันเสาร์ที่ 20  ท่านเป็นครูประจำชั้นของผมที่โรงเรียนอุตรดิตถ์ตลอดสามปีตั้งแต่มัธยมปีที่ 4-6 (พ.ศ. 2494-2496) ปีนี้ท่านอายุ 86 แล้ว แต่ก็พาผมและคณะ (ครอบครัว) รวมเก้าคน เดินขึ้นเดินลงบันไดชมทั่วโรงเรียนร่วมชั่วโมงโดยไม่มีท่าทีว่าจะเหน็ดเหนื่อย เนื่องจากท่านมีความภาคภูมิใจในโรงเรียนที่ท่านยังเป็นประธานที่ปรึกษาอยู่ ความประทับใจที่ทุกคนในคณะสัมผัสได้ คือความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย (โรงเรียนประถมศึกษาที่มีนักเรียนมากกว่าพันคน แต่สะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยมากกว่าบ้านผม) สมกับที่เป็นสถานศึกษารางวัลพระราชทาน (สนใจเชิญที่ Website ของโรงเรียน ) อย่างไรก็ตาม ท่านก็ยังกรุณาพูดถึงผมเมื่อสมัยเป็นนักเรียนอยู่หนึ่งประโยคว่า  "อำนาจนี่สมัยเรียนหนังสือ เวลาครูสอนจ้องมาที่ครูตาแป๋วเลย" ผมไม่มีโอกาสได้ตอบท่าน วันนี้เปิด Gotoknow แล้วนึกถึงประโยคนี้ขึ้นมา จึงขอนำมาเชื่อมโยงกับเรื่องที่เคยเขียนไว้หลายๆเรื่องก่อนหน้านี้ (คำว่า เชื่อมโยง เป็น Keyword ตัวหนึ่งของเรื่องการเรียนที่ง่ายสนุกและจำได้ดี) 

ผมมองครูตาแป๋วก็เพราะผมสนใจเรื่องที่ครูสอน ครูเสียงดังฟังชัด และท่าทางจริงจังกับเรื่องที่สอน ทำให้ผมรู้สึกว่าเรื่องที่ครูสอนคงจะสำคัญ ข้อนี้น่าจะเป็นคุณสมบัติที่สำคัญอย่างหนึ่งของความเป็นครูที่สามารถทำให้นักเรียนสนใจฟัง

เมื่อสนใจฟัง (อยากรู้) ก็จะฟังไปคิดไปเพื่อทำความเข้าใจกับเรื่องที่ครูกำลังสอน น่าจะตรงกับ การเรียนรู้ด้วยการเข้าใจความหมาย  ที่แนะนำให้เปรียบเทียบประสบการณ์ใหม่ (สิ่งที่ได้ยินได้ฟังหรือได้อ่านได้พบได้เห็น) กับความรู้ที่มีอยู่เดิม (ในโครงสร้างความรู้) เมื่อเชื่อมโยงกับความรู้เดิมได้ก็เข้าใจความหมาย เมื่อเข้าใจแล้วเรื่องนั้นก็เป็นเรื่องง่าย จำได้ดี และบางเรื่องอาจสนุกด้วย (หรืออย่างน้อยก็ไม่น่าเบื่อหน่าย)

การเรียนรู้ด้วยการเข้าใจความหมาย ที่ Ausubel เสนอให้ใช้แทนการเรียนรู้ด้วยการท่องจำนั้น ผู้เรียนต้องรู้จัก (จากการฝึก) เชื่อมโยงสิ่งที่ได้ยินได้ฟังหรือได้อ่านได้พบได้เห็น (ประสบการณ์ใหม่) เข้ากับความรู้ที่มีอยู่เดิม (โครงสร้างความรู้) หากเชื่อมโยงได้เมื่อใด ก็หมายถึงเข้าใจความหมายเมื่อนั้น รับมาเป็นส่วนหนึ่งของความรู้ นั่นคือมีการเรียนรู้เกิดขึ้น และนั่นก็คือโครงสร้างความรู้ถูกปรับให้ดีกว่าเดิม สิ่งที่อยู่ในโครงสร้างความรู้ (มโนทัศน์ย่อยๆ) เหล่านั้น จะเป็นความรู้ที่จำได้ดีและพร้อมใช้ สำหรับเพื่อการเรียนรู้สิ่งใหม่ต่อไป และเพื่อใช้แก้ปัญหา ดังที่พยายามแสดงไว้ในเรื่อง การวินิจฉัยโรคสำหรับนิสิตนักศึกษาแพทย์ และแม้แต่ การตอบปัญหาเกมทศกัณฑ์เด็กของน้องเดียว


สรุป 

สนใจ (อยากรู้ - ฉันทะ) ---> ตั้งใจ ฟัง ดู ---> คิด ---> เข้าใจ (เชื่อมโยงกับความรู้เดิม-ในโครงสร้างความรู้) ---> เรียนรู้ (ความรู้เพิ่มขึ้น - โครงสร้างความรู้ที่ปรับให้ดีขึ้นกว่าเดิม) 


อำนาจ ศรีรัตนบัลล์

25 มกราคม 2561    

หมายเลขบันทึก: 644173เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2018 10:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มกราคม 2018 10:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท